• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัด

ไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในชีวิตประจำวันของเราจนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเลยที่จะไม่เคยเป็นหวัด บางคนอาจเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง บางคนอาจจะเป็นเกือบตลอดทั้งปี ในเด็กจะพบเป็นกันแทบทุกเดือนหรือเดือนเว้นเดือนก็ว่าได้ ในเด็กที่มีอาการไข้ตัวร้อน 10 คน จะพบว่า มีสาเหตุจากไข้หวัดเสีย 7-8 คน ปีหนึ่งๆ คนเราต้องเสียเงินเสียเวลาและเสียงาน เนื่องจากถูกไข้หวัดเล่นงานไปนับว่ามากมายมหาศาลเลยทีเดียว จึงน่าที่เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าเกลอเก่าของเราอันนี้กันอีกสักครั้งจะดีไหมครับ

อันว่าไข้หวัดนั้นเป็นฉันใด

คนที่เป็นหวัดก็ต้องมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล บางทีก็ไอค๊อกไอแค๊กด้วยนะซีครับ นอกจากนี้ก็อาจมีอาการปวดมึนศีรษะ จาม รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บในคอเล็กน้อย บางคนก็อาจรู้สึกเมื่อยตามเนื้อตามตัว แต่ไม่มาก

ถ้าเป็นในผู้ใหญ่ มักจะไม่มีไข้ หรือมีก็เป็นไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ถ้าเป็นในเด็กเล็กจะพบว่าอยู่ดีๆ ก็จับไข้ตัวร้อนขึ้นมาในทันทีทันใด แล้วจึงมีอาการของหวัดตามมา ขณะจับไข้เด็กมักจะซึม เบื่ออาหาร ไข้จะสูงเป็นพักๆ เวลาไม่มีไข้เด็กจะเล่นหัวได้ดี บางครั้งอาจมีอาการอาเจียนเวลากินข้าวหรือกินนม เนื่องจากเจ็บในคอ แต่อาการไม่รุนแรง บางคนอาจแน่นในจมูกจนหายใจลำบาก ต้องหายใจทางปากแทน

ในเด็กเล็ก (ประมาณ 6 เดือน- 5 ปี) ถ้าหากตัวร้อนจัด อาจมีอาการชัก ตาค้างเป็นพัก นานครั้งละ 2-3 นาที เนื่องจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนจากไข้สูง ยิ่งถ้าเด็กเคยชักมาก่อน หรือมีญาติพี่น้องเคยชักด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะมีโอกาสชักได้ง่ายขึ้น เด็กบางคนอาจมีอาการท้องเดิน ถ่ายเหลวร่วมด้วยก็ได้
เราจะตรวจได้อย่างไรละว่าเป็นไข้หวัดจริง ไม่ใช่ไข้ชนิดร้ายแรงอื่นๆ

สิ่งแรกที่สุด ก็คือ เป็นไข้หวัดจริง ก็ต้องมีน้ำมูกไหลให้เห็น ถ้าไม่มีก็ไม่น่าจะเป็นไข้หวัด ต่อไปก็ต้องดูว่า คนไข้ไม่มีอาการที่ร้ายแรง เช่น ปวดหัวรุนแรง ซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว แขนขาอ่อนแรง ชักติดๆ กันนาน หอบ เจ็บหน้าอกมาก ไอเป็นเลือด หน้าซีดเซียว ปากซีด มือซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ปวดเจ็บในท้อง แตะถูกหน้าท้องไม่ได้ อาเจียนรุนแรง ท้องร่วงอย่างมาก ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะขัด ฯลฯ ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ควรรีบหาหมอเสียแต่เนิ่นๆ

ถ้าคนไข้ไม่มีอาการดังกล่าว ยังเดินเหินหรือเล่นหัวได้ กินข้าวกินน้ำได้ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะได้เป็นปกติ ก็ขอให้อ้าปากตรวจดูภายในลำคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้ที่รู้สึกเจ็บในลำคอ ควรจะตรวจดูทุกราย (ดูรายละเอียดในเรื่อง “การตรวจภายในลำคอ” หน้า 50) ถ้าพบว่า ต่อมทอนซิลโตแดงเป็นหนองก็เป็น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ ถ้าพบว่ามีแผ่นป้ายผ้าขาวติดอยู่ที่ต่อมทอนซิลและผนังลำคอก็น่าจะเป็นโรคคอตีบ ทางที่ดีควรจะรีบไปหาหมอ เพราะถ้าเป็นไข้หวัดจริงก็ไม่ควรจะพบอาการเหล่านี้ เคยมีอยู่เสมอๆ ว่า เด็กที่มีอาการตัวร้อนไปหาหมอครั้งแรก หมอบอกว่าเป็นไข้หวัดแต่พอรักษาไป 3-4 วัน ไม่ดีขึ้น ไปหาหมอคนใหม่ หมอกลับบอกว่าเป็นไข้เลือดออกบ้าง ไข้ทัยฟอยด์บ้างเราจะแยกไข้หวัดออกจากโรคเหล่านี้ได้อย่างไร

ไข้หวัดต้องมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลให้เห็นอย่างชัดเจน ไข้ชนิดอื่นๆ มักจะไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ยกเว้น โรคหัด ซึ่งอาจมีอาการเหมือนไข้หวัดได้ แต่เด็กจะมีไข้สูงวันยังค่ำคืนยังรุ่ง นอนซึม หน้าตาแดงจัด แล้วอีก 3-4 วันต่อมาจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัวให้เห็น

ไข้หวัดมักไม่มีอาการตัวร้อนจัดตลอดทั้งวันทั้งคืน จะร้อนเป็นพักๆ และร้อนอยู่ 4-5 วัน อย่างมากไม่เกิน 7 วัน ถ้าพบอาการตัวร้อนจัดตลอดเวลา หรือตัวร้อนมากกว่า 7 วัน ก็น่าจะเป็นไข้ชนิดอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้ทัยฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ปอดบวม ฯลฯ

นอกจากนี้ ก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการเหมือนไข้หวัดนำมาก่อนก็ได้ เช่น สมองอักเสบ โปลิโอ ตับอักเสบ ปอดบวม ไอกรน วัณโรค ฯลฯ ถ้าพบอาการซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว ชักติดๆ กันนาน แขนขาอ่อนแรง ตัวเหลืองตาเหลืองปัสสาวะเหลืองเหมือนขมิ้น หอบ ไอเรื้อรัง หรือไข้เกิน 7 วัน ตามหลังอาการไข้หวัดแล้วละก็จงไปหาหมอแหละเป็นดี

แล้วไข้หวัดใหญ่ล่ะ จะมีอาการแตกต่างไปจากใช้หวัด (น้อย) อย่างไร

ทั้ง 2 โรคนี้มีอาการเหมือนกันมาก แต่เกิดจากเชื้อคนละตัว ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการโดยทั่วไปรุนแรงกว่าไข้หวัด คือ จะมีอาการตัวร้อนจัดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามหลังและแขนขามาก แต่ไม่ค่อยมีน้ำมูกไหลเหมือนไข้หวัดหรือจำง่ายๆ ว่าไข้หวัดใหญ่เป็นหวัดน้อย ไข้หวัด(น้อย) เป็นหวัดมาก แต่อย่าไรก็ตามทั้ง 2 โรคก็ให้การดูแลรักษาเหมือนกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป

เมื่อแน่ใจว่าเป็นไข้หวัด ควรจะให้การดูแลรักษาเองอย่างไร

ที่ว่าแน่ใจ ก็ต้องหมายความว่า คนไข้ไม่มีอาการร้ายแรงหรือผิดปกติอื่นๆ ดังกล่าว นอกจากนี้น้ำมูกควรจะใส อาการไอถ้ามีควรจะเป็นลักษณะไอไม่มีเสลดหรือมีเพียงเสมหะขาวๆ เล็กน้อย ไม่ใช่ไอเป็นเสลดสีเหลืองหรือสีเขียว ถ้าเป็นแบบนี้ก็สามารถให้การดูแลรักษาโดยพยายามพักผ่อนให้เต็มที่ห้ามทำงานหนัก ดื่มน้ำหวานหรือกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าต้ม โจ๊ก น้ำซุป เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ห้ามอาบน้ำเย็น ห้ามดื่มน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง ควรดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ และรักษาร่างกายให้อบอุ่น

ส่วนยาที่ให้

  • ในผู้ใหญ่

(1) ถ้ามีอาการปวดหัวตัวร้อนหรือปวดเมื่อยตามตัว ก็ให้ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 5-6 ชั่วโมง ตามปกติแอสไพริน ออกฤทธิ์แรงกว่ายาตัวอื่น แต่อาจจะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรือทำให้เกิดการแพ้มีลมพิษผื่นคันขึ้นได้ จึงห้ามใช้ในคนไข้ที่เป็นโรคกระเพาะ (ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่เป็นประจำ) หรือเคยแพ้ยานี้ ควรใช้พาราเซตามอลแทน

(2) ถ้ามีอาการจามหรือคัดจมูกน้ำมูกไหลก็ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน เช้าเม็ดเย็นเม็ด เมื่อหายจามหายคัดจมูกแล้วก็ไม่ต้องให้ต่อ ยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงหรือมึนศีรษะ จึงควรระวังถ้าต้องขับรถ ขับเรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือเสี่ยงต่ออันตราย

(3) จิบยาแก้ไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ หรือ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ขององค์การเภสัชกรรม เมื่อมีอาการไอ

  • ในเด็กโต

ก็ให้ยาแบบเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ให้ลดขนาดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่

  • ในเด็กเล็ก

(1) ให้ยาลดไข้ แอสไพริน บดให้กินครั้งละ 1/2-1 เม็ด (หรือให้ขนาด 1 เม็ดต่ออายุ 1 ปี) เด็กบางคนที่แพ้ยานี้ โดยมีอาการหนังตาบวมปิด และมีลมพิษเกิดขึ้นทั้งตัว (พบมากในเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคแพ้อากาศหรือหอบหืด) หรือเด็กที่กินยายากก็ให้กินยาพาราเซตามอล น้ำเชื่อมครั้งละ ½-1 ช้อนชา

(2) ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน เสี้ยวหนึ่ง (1 ใน 4 เม็ด) ถึง ครึ่งเม็ดวันละ 2 ครั้งเช้าเย็นร่วมกับยาแก้ไอน้ำเชื่อม 1/2-1 ช้อนชาทุก 6 ชั่วโมง (ถ้ามีอาการไอ) หรือให้กินยาน้ำเชื่อมที่มีทั้งยาแก้แพ้ผสมกับยาแก้ไอ เช่น ยาน้ำเชื่อมแก้หวัดแก้ไอคลอริเอตไพริตอน หรือ เบนเนดรีล ครั้งละ 1/2-1 ช้อนชาทุก 6 ชั่วโมง

(3) เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูง ให้กินยากันชักฟีโนบาร์ บิทอล (มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ) ในขนาด 5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งให้ 2 เวลาเช้าและก่อนนอน แต่ถ้ามีอาการชัก ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น (ดูรายละเอียดในเรื่อง “การช่วยเหลือเด็กชัก”) แล้วรีบไปหาหมอ

(4) ถ้ามีอาการท้องเดินร่วมด้วย ให้งดนมและอาหาร และให้น้ำผสมน้ำตาลทรายกับเกลือกินแทนนมเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง (ดูรายละเอียดในเรื่อง “ท้องร่วง” หน้า 38)

(5) ถ้าเด็กหายใจลำบากเนื่องจากแน่นในจมูกหรือมีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางหรือปากดูดเอาน้ำมูกออกจากรูจมูก และใช้น้ำมันยูคาลิปตัส หรือยาดมแก้หวัดขององค์การเภสัชกรรม ทาคอและหน้าอกวันละ 2-3 ครั้ง

เมื่อดูแลรักษาเองสัก 2-3 วัน อาการไข้และอาการโดยทั่วไปมักจะทุเลา บางคนอาจยังมีอาการไอโคร่กๆ ต่อไปอีกหลายวัน ก็ไม่ต้องตกใจ ให้กินน้ำอุ่นมากๆ แล้วจะค่อยๆ หายไปเอง แต่ถ้าพบว่า ยังมีไข้สูงต่อไปอีก หรือไอมีเสลดสีเหลืองหรือสีเขียว น้ำมูกข้นเหลือง หายใจมีกลิ่นเหม็น เจ็บในหูหรือมีหูน้ำหนวกไหล ปวดในดั้งจมูกหรือรอบๆ กระบอกตา หรือมีอาการหอบ ก็แสดงว่ามีโรคแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น เกิดขึ้นก็ควรไปหาหมอ หมอมักจะให้ยาต้านจุลชีวัน (ยาฆ่าเชื้อโรค) เพิ่มจากเดิม ยาที่ใช้บ่อย และได้ผลก็คือ เพนวี ในผู้ใหญ่ให้อย่างเม็ดขนาด 4 แสนหน่วยเม็ด วันละ 3-4 ครั้ง แต่ต้องระวัง เพราะยานี้อาจทำให้เกิดการแก้มีลมพิษผื่นคันขึ้นได้ คนไข้ที่แพ้ยานี้ หมอจะเลี่ยงไปให้ยาฆ่าเชื้อโรคตัวอื่นแทน

ชาวบ้านส่วนใหญ่เวลาเป็นหวัดมักจะซื้อยาชุดแก้หวัดกินเอง ไม่ทราบว่าจะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่าครับ

ยาชุดแก้หวัดจะมียาแก้ปวดลดไข้กับยาแก้แพ้เป็นพื้น บางแห่งอาจจ่ายวิตามินซีให้ด้วย ถ้าลำพังยา 3 ตัวนี้ก็ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ยาชุดจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่จะใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น คลอแรมเฟนิคอล หรือ เตตร้าซัยคลีน ซึ่งนอกจากจะไม่มีความจำเป็นสำหรับไข้หวัดธรรมดาแล้ว ยังอาจมีอันตรายต่อร่างกายร้ายแรง และทำให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยาตามมาอีกด้วย นอกจากนี้บางแห่งอาจใส่ยา เพร็ดนิโซโลน ซึ่งไม่มีความจำเป็น ยานี้แม้จะช่วยให้อาการหายได้ดี แต่ก็มีโทษหลายอย่าง เป็นยาที่หมอจะเลือกใช้ในโรคบางโรคที่จำเป็นเท่านั้น

ทำไมยาฆ่าเชื้อโรค หรือยาต้านจุลชีพ จึงไม่มีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัด

เพราะว่าไข้หวัดเกิดจากเชื้อโรคประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ไวรัส ซึ่งยาต้านจุลชีพไม่สามารถฆ่ามันได้ เชื้อไวรัสเหล่านี้เมื่อทำให้คนเกิดโรคแล้ว ก็จะค่อยๆ ตายไปเองตามธรรมชาติ คนที่ร่างกายแข็งแรงก็สามารถหายจากไข้หวัดได้ เราจึงมักจะพูดกันว่าไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่ต้องรักษา หรือเพียงแต่รักษาตามอาการก็หายได้ แต่คนที่ร่างกายอ่อนแอก็จะเกิดมีเชื้อโรคอีกประเภทหนึ่ง คือ แบคทีเรียเข้าผสมโรงทำให้เกิดเป็นโรคแทรกซ้อนดังกล่าว ถึงตอนนี้แหละยาฆ่าเชื้อโรคจึงจะเกิดประโยชน์ ยาฆ่าเชื้อโรคตัวที่ใช้ได้ค่อนข้างดีและปลอดภัย ก็คือ เพนวี ส่วนคลอแรมเฟนิคอล อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางร้ายแรง เตตร้าซัยคลีนถ้าให้ในเด็กบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ฟันเหลืองดำและฟันเสียได้ เราจึงไม่แนะนำให้ใช้ยา 2 ตัวนี้อย่างพร่ำเพรื่อไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีด ยิ่งถ้าเป็นไข้หวัดระยะแรกที่ยังไม่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าซ้อนไวรัสด้วยแล้วยิ่งไม่แนะนำให้ใช้

ทำไมคนบางคนจึงชอบเป็นหวัดบ่อยๆ รักษาไม่หายขาดสักที

อาการหวัด นอกจากสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเข้าไปทำให้มีการอักเสบบริเวณจมูก และลำคอแล้วยังมีสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การแพ้หรือที่เราชอบเรียกกันว่า โรคแพ้อากาศ ซึ่งจะมีอาการคัดจมูก คันคอ น้ำมูกไหลและจามเป็นประจำเวลาถูกอากาศเย็นถูกฝุ่นละอองเกสร ฟางข้าว หรือถูกสิ่งที่แพ้ ส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องเป็นโรคแพ้อากาศ หอบหืดหรือชอบเป็นลมพิษบ่อย คนไข้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการตัวร้อน การรักษาให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน เช้าเม็ดก่อนนอนเม็ด ก็สามารถลดอาการหวัดได้ แต่ถ้าขาดยาก็จะเป็นได้อีก ถ้าทิ้งไว้นานๆ อาจกลายเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบ (ไซนัสอักเสบ) ได้

ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นหวัดบ่อยๆ โดยไม่มีไข้ก็ต้องนึกถึงสาเหตุที่เกิดจากการแพ้เป็นอันดับแรก แต่ถ้ามีไข้ตัวร้อนร่วมด้วยก็เกิดจากเชื้อไวรัสมากกว่าการแพ้ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดนั้นมีอยู่ร่วม 200 ชนิด ซึ่งจะเข้ามาทำให้คนเป็นโรคเพียงครั้งละหนึ่งชนิดเท่านั้น แล้วร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อตัวนั้น เชื้อไวรัสตัวใหม่ก็จะเข้ามาทำให้เกิดโรคครั้งใหม่หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ดังนั้นคนเราจึงมักจะเป็นหวัดได้ปีละหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะคนที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กขาดอาหารหรือคนที่มีโรคอื่นๆ ในร่างกายอยู่ก่อน เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด โรคธาลัสซีเมีย (โรคเลือดชนิดหนึ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด) ก็จะมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่าย ดังนั้นคนที่เป็นหวัดบ่อยๆ จึงควรจะไปหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่นอน

การตากลมตามน้ำค้าง หรืออากาศเย็นจะทำให้เป็นหวัดตามที่ผู้ใหญ่เขาชอบห้ามกันจริงหรือเปล่าครับ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การที่คนเราจะเป็นหวัดได้ก็ต้องมีเชื้อหวัดไวรัสเข้าสู่ร่างกาย หรือไม่ก็เกิดจากการแพ้ของร่างกาย 2 สิ่งนี้เป็นสาเหตุพื้นฐานของโรคหวัด ส่วนปัจจัยอื่น เช่น ลม น้ำค้าง อากาศเย็น การตรากตรำงานหนักหรือร่างกายอ่อนเพลียมากๆ การอยู่รวมกันอย่างแออัด ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสาเหตุชักนำ หรือช่วยหนุนให้เป็นหวัดได้ง่ายเข้า ดังนั้น เราจึงมักแนะนำให้ป้องกันโรคหวัดโดยการรักษาร่างกายให้อบอุ่น พยายามอย่าอยู่ในที่แออัด เช่น โรงหนังโรงละคร โดยเฉพาะในฤดูที่มีการระบาดของไข้หวัด พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำงานหนัก

เคล็ดลับในการป้องกันมิให้เป็นหวัด ก็คือ การออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

1-006-02
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
โรคน่ารู้
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ