“ใช้ยาลดไข้ผิด ทำลายชีวิตของลูกหลานท่าน”
ฟังชื่อแล้ว ท่านคงนึกถึงสยองขวัญบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็เป็นความจริงอย่างนั้น ส่วนจะเป็นจริงอย่างไรก็ลองอย่างไรก็ลองอ่านกันดูต่อไป
ไข้ หรืออาการตัวร้อน เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง จนถึงคนแก่คนเฒ่า มันเป็นเพียงอาการแสดงของโรค มิใช่ตัวโรค ยาที่เราใช้ลดไข้ทุกชนิดจึงเป็นเพียงยาบรรเทาอาการเท่านั้น ตราบใดที่สาเหตุของไข้ยังไม่ได้ถูกกำจัดออกไป อาการไข้ก็จะยังคงมีอยู่เรื่อยไป ท่านอาจจะสงสัย เอ ถ้าอย่างนั้น หากเราทราบสาเหตุของไข้ เราแก้แต่สาเหตุ โดยไม่ต้องให้ยาลดไข้เลยก็ได้นะซิ อันนี้นับว่าถูกต้องทีเดียวแต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้มีอาการไข้สูงๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาจจะทำให้เกิดอาการชักได้ เราจึงจำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อให้ไข้ลง
ในบ้านเราทุกวันนี้ มียาลดไข้ขายกันมากมายหลายชนิด แล้วเราจะเลือกซื้อยาอะไรมาให้ลูกเรากินดี จึงจะไม่เป็นพิษทำลายชีวิตลูกหลานของเรา ก่อนที่จะพูดถึงยาลดไข้ที่ควรใช้ เราก็น่าจะมารู้จักกับยาลดไข้ที่ไม่ควรใช้ แต่ก็มีคนนิยมซื้อมาใช้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ในจำนวนนี้ก็อาจจะมีท่านอยู่ด้วยคนหนึ่งก็ได้นะครับ) เราพอจะแบ่งยาพวกนี้ออกเป็น 3 พวกด้วยกัน คือ
1. ยาที่มีตัวยาสำคัญเป็นยาต้านจุลชีพหรือยาฆ่าเชื้อโรค อันได้แก่ เตตร้าซัยคลีน คลอแรมเฟนิค่อล เป็นต้น ยาต้านจุลชีพ มิใช่ยาแก้ตัวร้อน นอกจากไม่มีฤทธิ์ในการลดไข้โดยตรงแล้ว ยังเป็นยาที่มีอันตรายอย่างมากอีกด้วย โดยเฉพาะเตตร้าซัยคลีน (หรือเรียกสั้นๆ ว่า เตตร้า) และคอลแรมเฟนิคอล (หรือเรียกสั้นๆ ว่า คลอแรม) ทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ควรซื้อให้เด็กกินอย่างยิ่ง เพราะอาจมีพิษถึงตายได้ทีเดียว ยาต้านจุลชีพที่มีผู้หลงผิด ซื้อไปใช้เป็นยาลดไข้กันอยู่ทุกวันนี้ มักจะผลิตเป็นน้ำเชื่อมข้นๆ เหมือนตะกอนซึ่งเมื่อเขย่าเข้ากันแล้วมักมีสีเหลืองหรือสีส้ม บรรจุกล่องกระดาษ ใช้ชื่อการค้าต่างๆ กันมากมายหลายยี่ห้อที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วทุกแห่งราคาขายขนาด 1 ออนซ์ประมาณขวดละ 6 บาท หรือไม่อาจจะเป็นน้ำเชื่อมแบบเดียวกัน แต่บรรจุในหลอดพลาสติกเล็กๆ มักเป็นน้ำสีเหลืองใช้ดูดกินทีละหลอดเลย บรรจุอยู่ในซองพลาสติกอีกชั้นหนึ่งใช้ชื่อการค้าเหมือนชนิดขวด ขายกันซองละ 1 บาท นอกจากชนิดน้ำเชื่อมแล้ว ก็ยังมีชนิดที่เป็นผงบรรจุซองขายซองละ 1-1.50 บาท ใช้ชื่อการค้าเหมือนชนิดน้ำเชื่อมเช่นกัน
บนซองบนกล่องหรือสลากยาของยาเหล่านี้ มักจะบรรยายสรรพคุณไว้อย่างมากว่า สามารถใช้แก้ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส คางทูม และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งมักจะ โอ้อวดเกินความจริง นอกจากนั้นโรคบางโรคที่อ้างถึงนั้น ยังเป็นโรคที่ห้ามใช้ยาเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยการโฆษณาดังกล่าว จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจอย่างผิดๆ ว่ายาพวกนี้เป็นยาแก้ตัวร้อน หรือไม่ก็เป็นยารักษาได้สารพัดโรค พอลูกหลานไม่สบาย ก็ซื้อยาพวกนี้กินเป็นประจำ โดยหารู้ไม่ว่ามันอาจเป็นพิษร้ายต่อร่างกายได้ พิษที่สำคัญๆ ของยาเตตร้า ก็คือ กินประจำทำให้ฟันเหลืองดำฟันผุเสียอย่างถาวร ถ้ายาหมดอายุ อาจทำให้มีพิษต่อไตกลายเป็นโรคไตได้ ส่วนยาคลอแรม ถ้าให้ในเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดพิษตายได้ หรือไม่ก็ไปกดไขกระดูกไม่ให้สร้างเม็ดเลือด กลายเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง ซึ่งอาจถึงตายได้ ยอกจากนี้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะกินไม่ครบขนาด ก็อาจทำให้เชื้อโรคบางชนิดเกิดการดื้อยา ต่อไปภายหลัง เมื่อถึงคราวที่จำเป็นต้องใช้ยาพวกนี้ในการฆ่าเชื้อโรค จะใช้ไม่ได้ผล เกิดปัญหายุ่งยากในการรักษา
2. ยาที่มีตัวยาสำคัญเป็นไดโพโรน ซัลไพรีน อมิโนไพรีน หรือ แอนติไพรีน ซึ่งเป็นยาลดไข้ที่มีอันตรายมาก คือ อาจทำให้เกิดเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำ (ซึ่งทำให้ความต้านทานโรคของร่างกายน้อยลง เป็นไข้อักเสบต่างๆ ได้ง่าย) และแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะในเด็กอาจได้รับอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ ยาพวกนี้ในอเมริกาเขาเลิกใช้ไปตั้ง 30 กว่าปีแล้ว แต่ในเมืองไทยเรากลับปล่อยให้มีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย ยาพวกนี้มักทำเป็นยาน้ำเชื่อมสีเหลืองหรือส้ม บรรจุกล่องกระดาษมีชื่อการค้าต่างๆ กัน ขนาดขวดละ 1 ออนซ์ ราคาประมาณขวดละ 3 บาท
3. ยาลดไข้ที่ผลิตขึ้นเป็นผงบรรจุซองชนิดอื่นๆ ส่วนมากใช้ตัวยาพวกแอสไพริน และอาจมีตัวยาอื่นผสมด้วย ขายซองละ 25 สตางค์บ้าง 50 สตางค์บ้าง ยาพวกนี้มักจะแต่งรสให้หวานล่อใจเด็ก ทำให้เด็กกินง่าย มีขายในท้องตลาดมากมายหลายยี่ห้อ
ความจริงแอสไพรินเป็นยาที่ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัย ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกขนาดและถูกวิธี แต่ยาผงบรรจุซองเหล่านี้ มักมีปริมาณของยาในแต่ละซองเกินกว่าขนาดที่เด็กเล็กๆ ควรจะใช้ ถ้าหากให้เด็กเล็กกินหมดทั้งซองก็อาจเป็นอันตรายได้ เพราะยาแอสไพรินที่เกินขนาดมากๆ สามารถกดศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำให้เด็กหยุดหายใจได้ หรือถึงแม้เราจะแบ่งให้กินทีละน้อย เนื่องจากยาเป็นผงเราก็ไม่สามารถจะแบ่งให้ได้ขนาดพอดี ไม่มากไปก็น้อยไป นอกจากนี้ยาพวกนี้มักจะมีการโฆษณามาก ทำให้ต้นทุนสูง เราจึงต้องเสียเงินไปจ่ายเป็นค่าโฆษณามากกว่าค่ายาเสียด้วยซ้ำไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านคงนึกสงสัยเสียแล้วก็ได้ว่า ยาอะไรๆ ก็ไม่ดีไปหมด แถมยังเป็นยาที่เคยใช้กันอยู่เป็นประจำทั้งนั้น ถ้าอย่างงั้น ก็อย่าเพิ่งตกใจเลยนะครับ เรายังมียาดีที่จะเลือกใช้เลยนะครับ เรายังมียาดีที่จะเลือกใช้กันอีกหลายชนิด และเป็นยาที่ปลอดภัยกว่ามากมายเสียด้วย ยาที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่
1. พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งเป็นยาลดไข้ทีได้ผลดีและให้ความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ ควรใช้ยานี้ โดยให้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก คือ ครั้งละประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของเด็ก 1 กิโลกรัม ให้กินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เฉพาะเวลามีไข้ (ถ้าไข้ลงแล้ว ก็ไม่ต้องให้ยา) ตัวอย่างเช่น เด็กน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ก็ต้องให้ครั้งละ 40 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เป็นต้น
ท่านคงจะต้องสงสัยอีกว่า ทำอย่างไรจึงจะแบ่งยามา 40 มิลลิกรัมได้ตามที่ต้องการ โดยทั่วไปในยาพาราเซตามอลน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา (5 ซี.ซี.) จะมีตัวยาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม ใน 1 ซี.ซี. ก็มีตัวยา 24 มิลลิกรัม เพราะฉะนั้นถ้าต้องการตัวยา 40 มิลลิกรัมดังกล่าว เราก็รินยามาประมาณ 2 ซี.ซี. ซึ่งถ้าเรามีถ้วยตวงยาหรือหลอดหยดยาที่มีขีดบอก ซี.ซี. ไว้ ก็นำมาใช้ตวงหรือหยดเอาได้ แต่ถึงจะไม่มีเครื่องมือดังกล่าว เราอาจหาเครื่องมือหยดที่ง่ายที่สุด ก็คือ หลอดกาแฟธรรมดาๆ นี่เอง วิธีใช้ก็คือ จุ่มหลอดกาแฟข้างหนึ่งลงในขวดยา เอานิ้วอุดปลายอีกข้างหนึ่งไว้ ยกหลอดกาแฟขึ้น พร้อมกับอุดปลายอีกข้างหนึ่งไว้ ยกมาไว้ เหนือช้อนที่จะนำไปป้อนให้เด็กกิน แล้วค่อยๆ คลายปลายที่อุดไว้ให้น้ำยาหยดทีละหยด นับหยดได้ 10 หยดก็คือ 1 ซี.ซี. แต่ต้องมีข้อระวัง คือ
ก. หลอดกาแฟนั้นต้องสะอาด
ข. เวลาหยดต้องให้หลอดกาแฟอยู่ในลักษณะตั้งได้ฉากกับพื้น
ค. ให้น้ำยาค่อยๆ หยดทีละหยด เพื่อจะนับได้ถูก
หรือถ้าเราไม่สะดวกที่จะใช้วิธีดังกล่าว เราก็อาจจะใช้ช้อนชา ซึ่งบริษัทยาใส่มาในกล่องยา หรือ
ขอเอามาจากร้านยา ส่วนมากเป็นช้อนพลาสติก ซึ่งจุยาได้ 5 ซี.ซี. (ห้ามใช้ช้อนกาแฟโดยทั่วไป เพราะความจุไม่ได้ขนาด 5 ซี.ซี.) เมื่อเราทราบว่าในยา 5 ซี.ซี. หรือ 1 ช้อน เพราะมีตัวยาอยู่ 120 มิลลิกรัม ครึ่งช้อนก็มีตัวยา 60 มิลลิกรัม เศษหนึ่งส่วนสี่ช้อนชาช้อนชามีตัวยา 30 มิลลิกรัม
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถคำนวณน้ำหนักของกล่องยาจากน้ำหนักของเด็ก หรือไม่ทราบน้ำหนักของเด็ก ก็อาจให้ขนาดโดยประมาณ ดังนี้คือ
- เด็กแรกเกิด ถึง 3 เดือน ให้ครั้งละ 1 ใน 4 ช้อนชา
- เด็ก 3 เดือน ถึง 8 เดือน ให้ครั้งละ ครึ่งช้อนชา
- เด็ก 8 เดือน ถึง 3 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา
- เด็ก 3 ขวบ ถึง 5 ขวบ ให้ครั้งละ 1 ช้อนชาครึ่ง
- เด็ก 5 ขวบ ถึง 8 ขวบ ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา
- เด็ก 8 ขวบ ถึง 12 ขวบ ให้ครั้งละ 3 ช้อนชา
ราคายาพาราเซตามอลน้ำเชื่อมโดยทั่วไป ราคาออนซ์ (30 ซี.ซี.) ราคา 3-5 บาท
2.พาราเซตามอลชนิดเม็ดสำหรับเด็ก ใน 1 เม็ด มีตัวยา 300-325 มิลลิกรัม ใช้สำหรับเด็กโตที่กลืนยาเม็ดได้ มีสรรพคุณเหมือนพาราเซตามอลน้ำเชื่อม ส่วนขนาดที่ให้ก็คิดเทียบน้ำหนักตัวของเด็ก เช่นเดียวกัน คือให้ยา 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักเด็ก 1 กก. หรือกะประมาณจากอายุได้ดังนี้
- เด็ก 3-6 ขวบ ให้ครั้งละ 1/2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง
- เด็ก 6-12 ขวบ ให้ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง
ยานี้มีราคา ประมาณร้อยละ 15-20 บาท
3. แอสไพรินชนิดเม็ดสำหรับเด็กหรือเบบี้แอสไพริน ใน 1 เม็ดมีตัวยาแอสไพริน 60-75 มิลลิกรัม หรือ 1-1 1/4 เกรน แอสไพรินเป็นยาลดไข้ชนิดแรกที่ใช้ได้ผลดี และยังนิยมใช้กันมาจนทุกวันนี้ ต้องใช้กินหลังอาหาร หรือกินพร้อมน้ำจำนวนมากๆ เพื่อกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะลำไส้ (มีอาการปวดแสบหรือแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ เวลาอิ่มจัดหรือหิวจัดเป็นประจำ) ควรเลี่ยงไปใช้ยาพาราเซตามอลดีกว่า และเพราะว่ายานี้สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความชื้นจึงควรเก็บยาไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และเก็บในที่แห้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าเก็บยาแอสไพรินไว้นานๆ เมื่อเปิดภาชนะออกดูเห็นว่า มีเกล็ดใสๆ เป็นเส้นๆ อยู่มากมายก็แสดงว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว ซึ่งถ้ากินเข้าไปจะมีอันตรายต่อกระเพาะอาหารได้
ขนาดที่ใช้จะคิดประมาณยาตามน้ำหนักตัวเหมือนยาพาราเซตามอล คือ ให้ 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ก็ได้หรือกะประมาณตามอายุ ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะแบ่งขนาดได้ยาก นอกจากนี้ความต้านทานของกระเพาะอาหารต่อยานี้ในเด็กเล็กยังมีน้อยเกินไปอีกด้วย ควรใช้ยาพาราเซตามอลน้ำเชื่อมแทน หรือใช้วิธีเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นแทนจะปลอดภัยกว่า
- เด็ก 6 เดือน ถึง 1 ขวบให้ 1/2-1 เม็ด
- เด็ก 1-5 ขวบ ให้ยาขวบละ 1 เม็ดต่อครั้ง เช่น เด็ก 1 ขวบ ก็ให้ครั้งละ 1 เม็ด สองขวบ 2 เม็ด สามขวบ 3 เม็ด
- เด็ก 5-10 ขวบ ให้เพียง 5 เม็ดหรือให้ยาแอสไพรินชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ 1 เม็ด ทั้งหมดนี้ให้กินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
ราคายาเม็ดแอสไพรินสำหรับเด็กหรือเบบี้แอสไพรินราคาร้อยละ 4-6 บาทเท่านั้น ซึ่งนับว่าถูกกว่ายาชนิดซองถึงเท่าตัวทีเดียว
ยานี้ควรเก็บไว้ในที่มิดชิด อย่าให้เด็กหยิบกินได้เอง เพราะถ้าเด็กหยิบกินได้เอง เพราะถ้าเด็กหยิบกินครั้งละมากๆ อาจเป็นพิษถึงตายได้เหมือนกัน
- อ่าน 43,140 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้