• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินถูกถูก

“สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันได้ทราบว่า อาจารย์จะเป็นผู้รับผิดชอบคอลัมน์ กินถูกถูก ในหนังสือหมอชาวบ้าน ใช่ไหมคะ”

“ครับ”

“เห็นชื่อแล้วรู้สึกสะดุดใจค่ะ ว่ามีความหมายอย่างไร”

“ครับ คำว่า ถูกถูก 2 คำนี้มีความหมายต่างกันนะครับ คำหนึ่งหมายถึง การกินอาหารราคาถูก ส่วนอีกคำหนึ่งหมายถึง กินอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้มีสุขภาพอนามัยดี เรียกว่า ได้โภชนาการที่ดีนั่นเอง”

“อย่างนี้คำว่า อาหาร และโภชนาการ นี่คงมีความหมายไม่เหมือนกันสินะคะ”

“ครับ 2 คำนี้มีความหมายต่างกันทีเดียว คงจะเคยสังเกตนะครับว่า เวลาเราพูดถึงเรามักพูดคู่กันว่าอาหารและโภชนาการ ความจริงแล้ว อาหาร หมายถึงสิ่งที่เรารับประทาน เพื่อตอบสนองความหิวหรือความอยากกินแต่อาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้บางทีอาจเป็นโทษก็ได้”

ส่วน โภชนาการ หมายถึง อาหารที่กินแล้ว เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย ร่างกายสามารถนำอาหารนั้นไปเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ด้วย ผู้ที่กินถูกจึงได้ชื่อว่ามีโภชนาการดีนั่นเอง และที่สำคัญอาหารที่กินเพื่อให้มีโภชนาการดีก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีราคาแพง อาหารถูกๆ มากมายที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีเพียงแต่เรารู้จักเลือกซื้อและรู้จักกิน เช่น ระยะไหนผัก ปลา ไข่ หรือผลไม้อะไรมีมาก ราคาก็จะถูก ควรเลือกซื้อหามาเป็นอาหาร หรือว่าผักที่ซื้อมาก็ไม่ใช่นำมาต้มกินอย่างเดียว ควรใช้กินสดๆ บ้างเพราะจะให้คุณค่าทางอาหารมากกว่า ผักต้ม

“ค่ะ ทีนี้ที่ดิฉันยังแปลกใจอยู่มาก คือ ไม่ทราบว่า อาหารและโภชนาการมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเจ็บป่วยอย่างไรคะ”

“อันที่จริงประชาชนโดยทั่วไปมักไม่ค่อยให้ความสนใจหรือลืมคิดไปว่าอาหารนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับทุกคนที่เลือกกินอาหารไม่เหมือนกัน ส่วนมากเรารู้เพียงว่า ถ้ารับประทานอาหารที่สกปรกจะทำให้ท้องเสีย เนื่องจากเชื้อโรคที่มีอยู่ในอาหาร ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเชื้อไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จะทำให้เกิดโรคตับอักเสบ โรคดีซ่าน จะเห็นว่ามีเป็นผลจากการที่มีเชื้อโรคอยู่ในอาหารแล้วทำให้เกิดโรค

ในแง่อื่นๆ ที่อาหารเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บหรือสุขภาพ โดยทั่วไปก็ยังมีอีกนะครับ เช่น ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคไต แพทย์ก็จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่ไม่เค็มจัด ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับเกลือมากเกินไป ซึ่งจะทำให้หัวใจและไตที่ไม่ค่อยปกติอยู่แล้วต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการแนะนำอาหารชนิดที่ถูกต้องย่อมมีความสำคัญต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วย หรืออีกอย่างหนึ่ง หากว่าได้รับอาหารบางอย่างไม่พอก็จะทำให้เกิดโรคขาดอาหาร ถ้าได้มากเกินไปก็เกิดโรคอ้วนและอื่นๆ อีกหลายอย่าง จึงอาจกล่าวได้ว่าอาหารมีความสำคัญที่จะใช้รักษา และป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยนะครับ เพียงแต่เรารู้จักเลือกและจัดหามารับประทานให้เหมาะสมเท่านั้น”

“อาจารย์จะกรุณาขยายความตรงที่ว่า ถ้าได้อาหารน้อยเกินไปหรือมากเกินไปจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรคะ”

“ถ้าเราได้อาหารไม่เพียงพอ หรือได้อาหารที่มีคุณภาพไม่ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังเติบโต จะทำให้เกิดผลเสีย คือ เค้าจะโตช้าหรือไม่โตเลย ยิ่งถ้าเกิดกับเด็กทารก จะมีอันตรายต่อสมองด้วย อันจะมีผลให้เด็กเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น เจ็บออดแอดอยู่บ่อยๆ

ในอีกแง่หนึ่งถ้าร่างกายได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะทำให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคได้ง่าย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งโรคพวกนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยตายได้อย่างกะทันหันทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรจะต้องใส่ใจ คือ ระวังการเลือกซื้ออาหารที่มีสารเป็นพิษปนอยู่ เช่น พวกอาหารใส่สีมักจะใช้สีย้อมผ้า ซึ่งถ้ากินเข้าไปสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้เป็นมะเร็งได้ ยังมีสารพิษที่ผสมในอาหารอีกหลายอย่างที่ต้องระวัง

แต่วันนี้ผมขอพูดกว้างๆ เท่านี้ก่อน และจะกล่าวละเอียดในคอลัมน์กินถูกถูก ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับต่อๆ ไปครับ ขอให้ติดตามต่อไปนะครับ”

“ค่ะ ทีนี้ดิฉันอยากทราบว่าที่อาจารย์บอกว่าควรจะกินให้เหมาะสม และถูกต้อง แล้วเราจะทราบได้อย่างไรคะ จะกินเท่าไร อย่างไรจึงจะพอเหมาะคะ”

“ความจริงนะครับ เรื่องการกินอาหารให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เราปฏิบัติได้ง่าย อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย หรือเคร่งครัดมากนะครับ เพราอาหารไทยที่เรารับประทานอยู่ในแต่ละวัน มีอาหารครบถ้วนเกือบทุกอย่าง สำคัญที่ว่าเราเป็นคนช่างเลือกกินอาหารแค่ไหน ใครที่กินอาหารยากเลือกกินอาหารที่เคยกินเท่านั้น เช่น คุ้นเคยกับอาหารเพียงไม่กี่อย่าง อาหารที่คุ้นเคยก็ไม่กล้าลอง แม้ว่าจะรู้ว่ามีประโยชน์ ทำให้จัดอาหารได้ยาก แต่ถ้าใครกินอาหารได้หลายอย่างไมเลือก ก็มีโอกาสที่จะได้สารอาหารอย่างครบถ้วน”

“จริงทีเดียวนะคะ ดิฉันว่าทำให้ไม่เบื่อที่จะต้องทานอาหารซ้ำๆ กันด้วย”

“อันที่จริงแล้วข้าวและกับข้าวที่เป็นอาหารประจำวันของไทยเราก็จัดได้ว่าให้คุณค่าแก่ร่างกายมากทีเดียว ไม่ต้องไปเลือกกินอาหารฝรั่งแพงๆ เรามีน้ำพริก ผักสด ผักต่างๆ ปลา เนื้อสัตว์ ไข่ แถมหลังอาหารบางทีเราก็มีกล้วย มะละกอหรือผลไม้อื่นๆ เห็นไหมครับว่าเรามีทางได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการแน่ๆ”

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ ถ้าท่านได้อาหารที่จัดไว้ เป็นหมวดหมูต่อไปนี้ครบก็จะดีมาก โดยไม่ต้องไปเลือกเดินซื้อยาหรือวิตามินอะไรมาบำรุงร่างกายเลย

หมู่ที่ 1 เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว อาหารหมู่นี้ เป็นแหล่งสำคัญที่จะให้สารโปรตีนรวมทั้งวิตามิน และเกลือแร่หลายชนิดด้วย

หมู่ที่ 2 ได้แก่ แป้ง น้ำตาล ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน ซึ่งก็คืออาหารพวกที่ให้คาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นกำลังงาน

หมู่ที่ 3 ได้แก่ น้ำมัน ไขมัน กะทิ กลุ่มนี้ให้กำลังงาน เช่นกัน

หมู่ที่ 4 ได้แก่ ผักสดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักตำลึง หรือแม้แต่ฟักทอง มะระ อาหารพวกนี้จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย คือจะให้สารอาหารพวกวิตามินและเกลือแร่

หมู่ที่ 5 ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน เป็นต้น อาหารหมู่นี้ก็เหมือนหมู่ที่ 4 คือให้วิตามินและเกลือแร่

นอกจากนี้ น้ำ ก็นับได้ว่าเป็นสารอาหารอีกอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก ถ้าขาดน้ำร่างกายทำงานไปได้อย่างไม่ดีนักและเราอาจถึงตายได้ถ้าขาดน้ำเพียง 2-3 วัน

เห็นไหมครับว่า อาหารแต่ละหมู่นั้น มีสารอาหารแต่ละตัวในปริมาณมากน้อยต่างกัน ผมจึงย้ำว่าถ้าต้องการสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ ควรจะรับประทานอาหารหลายๆ ชนิด รู้จักนำมาทำกับข้าวหลายอย่างสลับกันไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่เบื่ออาหารอีกด้วย

“ฟังๆ ดูจากที่อาจารย์เล่ามานี้ดิฉันก็ว่าบ้านเราไม่น่ามีปัญหาเรื่องการขาดอาหารเลยนะคะ แต่ทำไมเห็นอาจารย์เคยออกข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์หลายครั้งว่า เด็กไทยเราโดยเฉพาะทารก และเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียนเป็นโรคขาดอาหารถึงกับตายเป็นหมื่นเป็นแสนล่ะคะ”

“ส่วนมากใครๆ ก็คิดอย่างที่คุณว่าครับ เพราะบ้านเราดูเหมือนจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์เหลือเกินแต่สาเหตุที่ยังมีการขาดอาหารนั้นมีหลายเหตุประกอบกันครับ ที่สำคัญและเป็นปัญหามากโดยเฉพาะในเมือง คือ เรื่องของความยากจน ดังจะเห็นได้จากสถิติโรคขาดอาหารซึ่งพบมากที่สุดในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงเทพฯ นี่เอง”

นอกจากปัญหานี้แล้ว คนที่ไม่ยากจนนักที่พอจะมีเงินซื้ออาหารได้ หรือในชนบทที่มีการเพาะปลูกกันเองได้ ก็ยังมีปัญหาเพราะความไม่รู้ ตัวอย่างที่พอจะเห็นได้ชัด คือ การซื้อนมข้นหวานเลี้ยงเด็กเล็ก หรือการใช้นมผสมอย่างอื่นแต่ผสมไม่ถูกส่วน เช่น ใส่น้ำมากเกินไปทำให้นมเจือจาง บางทีคนชงนมไม่ระวังความสะอาดซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้เด็กท้องร่วงท้องเสียบ่อยๆ เป็นเหตุให้เด็กเป็นโรคขาดอาหารและมีบางรายตาย เด็กที่ตาบอด เพราขาดอาหารพวกวิตามินเอก็พบบ่อย ชนบททางภาคอีสานยังมีปัญหาที่ยังเสริมให้เด็กขาดอาหารอีกอย่างหนึ่ง คือ ชาวบ้านมักนิยมให้เด็กทารกที่เกิดมาเพียง 3-7 วันกินข้าวย้ำ คือข้าวเหนียวที่แม่หรือคนเลี้ยงเคี้ยวให้ละเอียดแล้วคายใส่ใบตองไปปิ้งไฟ เวลาป้อนให้กินจนเด็กอิ่มท้องเบ่ง เด็กที่กินข้าวย้ำมากจึงกินนมแม่ได้น้อย ดังนั้นจะเห็นว่า เด็กได้กินอาหารมากมายได้กำลังงานเพียงพอ แต่เด็กก็ขาดอาหารสำคัญ คือ พวกโปรตีน

ฟังแล้วน่าเศร้าใจนะคะ อย่างนี้เองใช่ไหมคะที่อาจารย์พยายามสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองเหลือเกิน

ครับ แล้วก็ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่าแม่เองต้องรู้จักรับประทานอาหารให้เพียงพอด้วย ในระหว่างตั้งครรภ์และอยู่ไฟหลังคลอด คนไทยเราเกือบทุกภาคมีความเชื่อเรื่องให้งดอาหารหลายชนิด เพราะถือว่าเป็นของแสลง เช่น ให้กินข้าวกับปลาร้าเท่านั้น ห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้นแม่ก็ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ไม่แข็งแรง น้ำนมที่จะให้ลูกก็มีน้อย

แต่ถ้าแม่มีฐานะไม่ดี ก็คงมีเงินซื้ออาหารบำรุงตัวเองด้วย

“อันนี้เรื่องหนึ่งที่แม่จำนวนมาก ยังไม่ทราบนะครับว่าค่าใช้จ่ายที่แม่ใช้เพื่อบำรุงตัวเองให้ดี เทียบกับที่จะใช้สำหรับซื้อนมผง ภาชนะต่างๆ ที่จะใช้ประกอบในการเตรียมนมผสมรวมทั้งการเจ็บป่วยของเด็กที่เกิดจากการขาดอาหารและโรคติดเชื้อแล้ว ค่าใช้จ่ายในการบำรุงแม่ให้พร้อมที่จะให้นมลูกนั้นถูกกว่ามาก นอกจากนี้อย่าลืมนะครับว่า นมแม่ให้อาหารครบถ้วน และให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่ลูกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาหลายๆ ด้านแล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่งทีเดียวครับ”

“นอกจากปัญหาในเด็กๆ ตามที่อาจารย์เล่าแล้วนะคะ ในผู้ใหญ่ล่ะคะมีปัญหาเรื่องขาดอาหารบ้างไหมคะ”

“มีครับ โดยเฉพาะในผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีปัญหารับประทานไม่ได้ แพทย์จะต้องพยายามหาทางให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นโรคจะไม่หาย ยาอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้หายจากโรคได้เสมอไป ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับอาหารที่ดีด้วย หรืออย่างผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ผมพูดตอนแรกนั้น ถ้าได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องก็จะลดปัญหาลงได้มาก”

“เท่าที่อาจารย์เล่าให้ดิฉันฟัง คงพอสรุปว่า อาจารย์แนะนำให้รู้จักเลือกจัดอาหารให้เหมาะสมหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีพิษ ควรซื้อหาแต่อาหารที่ราคาไม่แพง แต่มีประโยชน์ก็จะเรียกได้ว่ารู้จัก “กินถูกถูก” ใช่ไหมคะ”

“ครับ การรู้จักเลือกอาหารให้ถูกต้องเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สุขภาพแข็งแรง ถ้าเจ็บป่วยเนื่องจากการขาดอาหารต้องรักษาด้วยอาหาร โรคบางอย่างรักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่พอต้องได้อาหารด้วยจึงจะหายได้ เพราฉะนั้นผมจึงว่าอาหารมีความสำคัญต่อชีวิตอย่างมาก”

“ฟังอาจารย์แล้วรู้สึกว่า มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกหรือไม่คะ”

“ครับ ถ้าท่านติดตามอ่าน “กินถูกถูก” ผมก็เชื่อว่าท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับอาหารโภชนาการและสุขภาพอีกมากครับ โดยต่อๆ ไปผมจะพยายามเขียนเกี่ยวกับอาหารเพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้นั้นไปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือถ้าผู้ใดต้องการจะเสนอแนะจะให้ในคอลัมน์นี้ก็เชิญได้เลยนะครับ ผมยินดีมาก”

“ดิฉันต้องติดตามอ่านแน่ค่ะ ขอบคุณอาจารย์นะคะที่กรุณาให้ความรู้ แก่ดิฉันอย่างมาก ดิฉันลาก่อนนะคะ”

“ครับ สวัสดีครับ”

ข้อมูลสื่อ

1-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
กินถูก...ถูก
ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี