• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนป้องกันมาลาเรีย

มาลาเรีย เดิมเราเรียกกันว่า “ไข้จับสั่น”

แต่ทำไมจึงเปลี่ยนเป็นมาลาเรียก็ไม่ทราบได้ ความจริงภาษาไทยของเรา ก็ดูออกจะเหมาะสมดีอยู่แล้ว

หรือเกรงว่าไข้จับสั่นจะเป็นโรคไม่เฉพาะ เพราะมีหลายโรคที่คนเป็นไข้ หรือจับไข้แล้วมีอาการหนาวสั่น
จึงได้เปลี่ยนเป็นมาลาเรีย ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น ถ้าผิดพลาดอย่างไรผู้รู้ช่วยบอกด้วย
ทีนี้มีข่าว เจมินี ซึ่งลงในคอลัมน์ เบรก ทรู ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับ 21 มิถุนายน 2530 ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ

วัคซีนป้องกันมาลาเรีย

เป็นข่าวที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะคนไทยเราเจ็บไข้จากมาลาเรียปีละไม่น้อย ตายจากโรคนี้อีกนับหมื่น กองควบคุมมาลาเรีย หรือโรงพยาบาลเขตร้อนพอจะทราบสถิตินี้ดีอยู่แก่ใจ โดยเฉพาะทหารที่รบอยู่ตามชายแดน หรือชาวไร่ที่ทำมาหากินตามป่า เป็นกันมาก สูญเสียเศรษฐกิจ และทรัพยากรไม่น้อยทีเดียว

บริษัทที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียเป็นเจ้าของ ชื่อ ออสเตรเลียอินดัสตรี่ ดีเวลลอปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุนกว่า 9.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย สำหรับโครงการผลิตวัคซีนนี้

ขณะนี้กำลังทดลองใช้ในลิงอยู่ ถ้าได้ผลดี ต่อจากนั้นจะทดลองในคน และคาดว่าวัคซีนป้องกันมาลาเรียนี้จะผลิตออกมาขายได้ ประมาณ 5 ปีข้างหน้า
หวังว่าจะขจัดมาลาเรียให้หมดไปจากโลกหรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตและข้อคำนึงว่า อย่าได้หวังพึ่งวัคซีนนี้อย่างเดียวที่จะขจัดมาลาเรียได้หมด
คุณหมอ แกรม บราวน์ แห่งสถาบันวิจัยทางการแพทย์ วอลเตอร์ และเอลิซา ฮอลล์ กรุงเมลเบิร์น กล่าวว่า

“วัคซีนใดก็ตามที่เราผลิตขึ้นแค่ป้องกันได้บางส่วนก็นับว่าดีที่สุดแล้ว และมันก็เป็นอาวุธอีกอันหนึ่งที่จะช่วยต่อสู้กับมาลาเรีย”


คงจะจำกันได้ดีเมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้วที่เราตื่นเต้นกับยาฉีดยุง ดีดีที และยารักษามาลาเรีย คลอโรควีนมีความหวังว่าจะขจัดมาลาเรียได้หมด

ความหวังสูงสุดก็พังทลายลงเพราะผลข้างเคียง หรือพิษของดีดีทีเอง และเชื้อมาลาเรียยังดื้อต่อยาคลอโรควีน แล้วยุงก้นปล่องก็ดื้อต่อดีดีทีด้วย

อย่างไรก็ตามที ขณะที่มาลาเรีย ยังระบาดอยู่อย่างรวดเร็ว แถบแอฟริกา อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ วัคซีนที่ผลิตจากออสเตรเลีย จะเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยสกัดกับการแพร่ขยายมาลาเรียได้มากทีเดียว

ลองมาดูซิว่า วงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรียเป็นอย่างไร

คงยังจำกันได้ว่า ยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรีย คือ ยุงก้นปล่อง
ก้นมันปล่องจริงๆ - ดูดคนเข้าไป เลือดบางส่วนก็ไหลออกทางก้น
มันชอบกัดคนยามโพล้เพล้ตอนหัวค่ำ - เข้าใต้ไฟ ว่างั้นเถอะ

ยุงที่ไปกัดคนที่มีเชื้อมาลาเรีย ที่มีชื่อว่าพลาสโมเดียมก็จะสืบพันธุ์ แบ่งตัวกันใหญ่ในตัวยุงนั้น จนถึงระยะที่เรียกว่า สปอโรซ้อยต์ จะถูกสะสมไว้ที่ต่อมน้ำลายของยุง
พร้อมที่จะไปปล่อยให้คน หรือสัตว์ที่ถูกยุงตัวนั้นกัด

คนที่ถูกยุงกัดก็ได้รับเชื้อมาลาเรียระยะสปอโรซ้อยต์เข้ากระแสเลือด แล้วเข้าไปอยู่ในตับคน ตรงนี้อีกนั่นแหละ เชื้อมาลาเรียก็จะแบ่งตัวกันอย่างมากมาย เรียกชื่อใหม่ว่าเมอโรซ้อยต์

เมอโรซ้อยต์ เป็นตัวการสำคัญที่มันเข้าไปในกระแสเลือด แล้วเข้าไปในเม็ดเลือดแดง เจริญเติบโตเป็นโทรโฟซ้อยต์ ซึ่งพวกนี้แหละที่คุณหมอเอาเลือดคนที่สงสัยว่าจะเป็นมาลาเรีย ไปย้อมส่องกล้องดูจะเห็นตัวเชื้อมาลาเรียได้ ต่อไปเจ้าโทรโฟซ้อยต์ก็จะเจริญเติบโตต่อไปเรียกชื่อใหม่ว่าไซซ้อนต์ ที่เป็นดาวร้าย เพราะเวลามันโตเต็มที่เบ่งคับเม็ดเลือดแดงจนแตก ตรงนี้แหละ...ตรงที่เม็ดเลือดแดงแตกจะตรงกับระยะจับไข้ ซึ่งต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของเชื้อ จะเป็นวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง

วัคซีนป้องกันได้ยังไง

เมื่อเราได้ความรู้บ้างมีทั้งซ้อยต์ทั้งซ้อนต์ แต่วัคซีนมันทำลายเชื้อได้ทุกระยะ
อย่างไรก็ตาม วัคซีนมุ่งทำลายเชื้อในระยะต้นของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะมีข้อเสียที่ว่า ถ้าเชื้อตัวไหนหลุดรอดจากวัคซีนไปกลายเป็นเชื้อรุ่นท้ายๆไป ก็เกิดเรื่องได้

แต่วัคซีนของออสเตรเลีย ผลิตขึ้นเพื่อทำลายเชื้อในระยะ เมอโรซ้อยต์ (คงพอจะจำได้นะครับว่ามันอยู่ตรงไหน) พูดง่ายๆก็คือ ช่วงที่กำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็ม หรือกำลังจะเข้าเม็ดเลือดแดง ก่อนที่จะทำลายเม็ดเลือดแดง นั่นแหละครับ

วัคซีนจะไปหยุดมันไม่ให้แบ่งตัวเจริญเติบโตต่อไป
เม็ดเลือดแดงก็ไม่แตก ก็ไม่จับไข้

แม้ว่าวัคซีนจะไม่หยุดอาการเจ็บป่วยทั้งหมด แต่มันก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคมาลาเรียได้

คุณหมอบราวน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีน ตะค่อยสร้างเสริมภูมิต้านทานเรื่อยๆ จนทำให้อาการเกิดแต่สถานประมาณ เมื่อได้รับเชื้อมาลาเรีย ในที่สุดภูมิต้านทานก็จะมีเพิ่มมากจนป้องกันโรคได้

วัคซีนผลิตมาได้อย่างไร
เมื่อประมาณ 4 ปีมาแล้ว (ค.ศ.1983) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่กล่าวนามแล้ว ได้พยายามค้นคว้าวิจัย แยกแยะ และสกัดเอาแอนติเจนจากเชื้อมาลาเรียที่ชื่อว่า พลาสโมเดียม ฟาลซิปารั่ม
แอนติเจนนี้ จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้) ต่อเชื้อโรค

จุดสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคือ ได้วิเคราะห์ได้ถึงระดับโครงสร้างโมเลกุลของเชื้อมาลาเรียแล้วพัฒนาทำเป็นวัคซีน โดยใช้โปรตีนโมเลกุลที่รู้จักในนามว่า รีซ่า (RESA) – ต่อมาจาก Ring infected Erythrocyte Surface Antigen ซึ่งเจ้าสารตัวนี้แหละที่นักวิจัยเชื่อว่า เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เชื้อมาลาเรียระยะเมอโรซ้อยต์ เข้าสู่เม็ดเลือดแดง
ฉลาดไหมละครับ
นักวิทยาศาสตร์ก็เอาสารรีซ่าส่วนต่างๆฉีดเข้าไปในลิงทดลอง เจ้าลิงสร้างภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)ขึ้นมา ทำให้ลิงตัวนั้นได้รับเชื้อมาลาเรีย ก็ไม่เป็นอะไร
ต่อมาก็จะพัฒนาวัคซีนให้ใช้ทดลองกับมนุษย์หรือคนได้ แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องเอาไปทดลองกับลิงเสียก่อนให้แน่ใจ จึงจะเอามาทดลองในคน
คงจะรออีกสักระยะหนึ่ง ไม่นานเกินรอหรอกครับ
อีกซีกโลกหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ กำลังผลิตวัคซีนเหมือนกัน มุ่งที่ระยะท้ายๆ ของเมอโรซ้อยต์ คงจะได้เอามาแข่งกัน
ของเราได้ทราบว่า อาจารย์แพทย์หลายท่านที่เชี่ยวชาญทางโรคมาลาเรีย ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ หรือผลิตวัคซีนนี้เหมือนกัน
ขออนุโมทนาสาธุ...ด้วย
เพราะโรคมาลาเรียนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองมานาน ทำให้คนยากคนจนตายปีละไม่น้อย
พี่น้องชาวอีสานที่ต้องไปรับจ้างทำไร่ ทำสวนยาง หรือรับจ้างตัดอ้อย ลักลอบตัดไม้ หาของป่า ทหารหาญของชาติที่ปกป้องชายแดน ต้องเป็นโรคมาลาเรียกันงอมแงม
คงอีกไม่นานโรคภัยจากโรคร้ายมาลาเรีย คงจะน้อยลงตามลำดับ
แต่สำคัญระหว่างรอ ก็รู้จักป้องกันกันไว้บ้าง ยากินพอจะได้ผลบ้าง แต่ไม่ค่อยดีนัก ลองคุยกับแพทย์ดูก่อนที่ท่านจะเข้าไปในดงมาลาเรีย
ที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ยุงก้นปล่องตัวเมียกัด ซึ่งพวกนี้มักจะชอบกัดคนยามจะพลบค่ำ จะมืดมิมืดแหล่ หาอะไรมาทากันไว้บ้างก็ดี จะเป็นน้ำหอม น้ำกลิ่นอะไรก็ได้ เช่น ข่า ตะไคร้ มะนาว กระเพรา มะกรูด ที่จะดับกลิ่นคนได้ ยุงมันก็ไม่ชอบมากัดเองนั่นแหละครับ
ลองดู...ระหว่างรอวัคซีนนะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

104-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
เรื่องน่ารู้
นพ.อำนาจ บาลี