• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วันพระสำคัญไฉน? (ตอนที่ 2)

คำกลอนของท่านกวีเอกสุนทรภู่ใน “สวัสดิรักษา” ที่ห้ามมิให้เสน่หา (ในวันพระ) จะถอยอายุนั้นอาจจะมีผู้กังขาลังเลอยู่บ้าง จึงขออ้างนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าท่านสุนทรภู่อีกทีมาสนับสนุน

ท่านผู้นั้นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ทรงนิพนธ์ทศพิธราชธรรมข้อตบะไว้ในลิลิตตะเลงพ่าย เป็นคำโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า

สังวรอุโบสถสร้าง                 ประดิทิน
มาสประมาณวารถวิล         สี่ถ้วน
อัษฎางคิกวิริยิน-                   ทรีย์สงัด กามเฮย
มละอิสริยสุขล้วน                   โลกซ้องสรรเสริญ

น่าจะหมดสงสัยในความยิ่งใหญ่ของวันพระได้แล้วนะครับ
วันพระของท่านขลังศักดิ์สิทธิ์น่าอัศจรรย์อย่างนี้แล้วมาเลือนรางอับรัศมี เพราะเหตุดังฤา?

ผมชอบคำโบราณที่ท่านเรียกพระพุทธศาสนาเต็มยศทุกครั้งว่า “พระบวรพุทธศาสนา” บวร แปลว่า ประเสริฐ เลิศล้ำ ผมถือว่าท่านบอกลายแทงแก่พวกเราว่า ตราบใดที่ชาวพุทธ ปฏิบัติการคู่ควรกับคำว่า “บวร” พระพุทธศาสนาก็จะเรืองรุ่งอยู่ตราบนั้น

บ-ว-ร อักษร 3 ตัว เปรียบเป็นเชือก 3 เกลียวที่กระชับกันแน่น ถ้าขาดหายหรือสึกกร่อนไปเกลียวใดเกลียวหนึ่ง ก็โปรดทราบเถิดว่า เริ่มไม่ ‘บวร’ เสียแล้ว แทนที่จะรุ่งเรือง ก็จะกลายเป็น ร่วงโรย

ขอขยายความหมายให้ฟังเสียเลยว่า บ. คือ บ้านเมือง (รัฐ+ราษฎร) ว. คือ วัด และ ร. คือ โรงเรียน หากบ้านเมือง วัด และโรงเรียนเดินคล้องแขนไปด้วยกัน สนับสนุนส่งเสริมกัน เมื่อนั้นวัดคือพระพุทธศาสนาก็บวร บ้านเมืองคือรัฐก็วัฒนา และราษฎรก็สถาพร โรงเรียน เยาวชน ก็จะเข้าถึงหัวใจแห่งการศึกษา คือ สูงด้วยจริยธรรม-คุณธรรม

เข้าตำราที่ว่า รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย นั่นแหละครับ
ที่ว่ามานี้ ผมได้เค้ามาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “พระประวัติ” ตอนหนึ่งว่า

“(ก่อนทรงผนวช) ยังไม่มีญาณพอที่จะเห็นกว้างขวางไปว่า พระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินมากเหมือนกัน มีสั่งสอนคนให้ประพฤติดี เอาธุระในการเล่าเรียนของเด็ก บุตรหลานราษฎรเป็นอาทิ

ข้อสำคัญคือ เป็นทางเชื่อมให้สนิทระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ในครั้งก่อนพระสงฆ์ยิ่งเป็นกำลังของแผ่นดินมากกว่าเดี๋ยวนี้ ญาณนี้ยังไม่ผุด”

ข้าราชการยุคเดิมระดับเจ้าบ้านผ่านเมืองจะย้ายไปบ้านเมืองใด กิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติก่อนอื่นเพื่อเป็นสิริมงคล จะต้องจัดเครื่องสักการะไปกราบนมัสการพระสังฆเถระของถิ่นนั้นๆ พร้อมกับขอรับศีลพรและโอวาท คติธรรม เงาฉายที่เชื่อมอดีตกับปัจจุบันพอให้เห็นเค้าก็คือข่าว-ภาพจากโทรทัศน์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช เสด็จไปนมัสการหลวงปู่ฟั่น หลวงปู่แหวน แม้จะอยู่ตามป่าตามเขาด้วยพระกิริยาอาการสุภาพอ่อนน้อมเป็นที่ประทับตา ประทับใจแก่ทวยราษฎร์เป็นอย่างยิ่ง

บ้านเมือง-วัด-โรงเรียน ที่กระชับเป็นเกลียวเดียวกันครั้งกระนั้นก็คือ วันหยุดงานของทางราชการและโรงเรียน คือหยุดในวันพระ เพื่อให้ข้าราชการได้เข้าวัดบำเพ็ญกุศลในวันอันศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น ได้สังสรรค์สดับตรับฟังสารทุกข์สุกดิบของพี่น้องผู้อยู่ใต้ปกครองแล้วนำมาแก้ปัญหา

ผมพบพระราชหัตถเลขาของพระปิยมหาราช ทรงพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ.112 ซึ่งเป็นจดหมายพ่อสอนลูกที่ยอดเยี่ยมที่สุดขึ้นต้นว่า

“วันนี้ว่าง เพราะเป็นวันพระ จึงจะขอจดหมายตักเตือนเฉพาะตัวลูกชายใหญ่...”


โปรดสังเกตว่าวันพระเป็นวันหยุดงาน และทรงถือเป็นวันมงคลที่จะอบรมสั่งสอนลูกด้วย

และทุกวันพระในพรรษา จะทรงนิมนต์พระเถระไปเทศน์โปรดในวังเวลากลางคืน เพื่อให้เจ้านายฝ่ายในได้ใกล้ชิดพระศาสนาด้วย ในหลวงจะทรงประทับเป็นประธาน มีหลายกัณฑ์ในครั้งนั้นที่เจ้าหญิงพระองค์หนึ่งทรงบันทึกเทศน์ไว้แล้วนำมาพิมพ์เผยแพร่ในภายหลัง

ขอเชิญท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับกลิ่นอายอันหอมหวนของศีลธรรมยุควันพระมีมนต์ขลังครั้งกระโน้นสักนิด “จากวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5” ของท่านหญิงพูนพิสมัยครับ

“เสด็จพ่อตรัสเล่าว่า ได้โทรเลขไปตามหัวเมือง ให้ระวังเหตุการณ์ในตอนเปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่า ภายใน 7 วันแต่วันสวรรคตนั้นไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียว ในพระราชอาณาจักร

ฉะนั้นจึงจะต้องเข้าใจว่า แม้แต่โจรก็ยังเสียใจหรือตกใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชของเรา”

ยุคนี้เป็นยุค บวร รวมกันเราเรืองรุ่งครับ

 

 

ข้อมูลสื่อ

104-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน