• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักเบี้ยใหญ่

ผักเบี้ยใหญ่

ชื่ออื่น

ผักกาโก้ง (โคราช); แบขี่เกี่ยง, ตือบ้อฉ่าย (จีน-แต้จิ๋ว)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Portulaca oleracea L. วงศ์ Portulacaceae

ลักษณะต้น

เป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ ออกดอกตลอดปี ขึ้นแผ่เรียบไปกับดินบางครั้งอาจชูตั้งได้ ต้นยาว 20-30 ซ.ม. มีลำต้นสีเขียวหรือสีม่วงแดง ก้านกลมแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ใบออกตรงข้ามกัน ตรงใบรูปคล้ายลิ้น มีก้านใบสั้น ใบหนาผิวเรียบเป็นมัน ยาว 1-3 ซ.ม. กว้าง 5-15 ม.ม. ปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น ด้านหลังใบมีสีเขียวแก่ ท้องใบมีสีแดงเข้ม ดอกมี 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน ขนาดเล็ก สีเหลืองสด โดยทั่วไปมักออกเป็นกลุ่ม 3-5 ดอก กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กช้อนกันเป็นคู่ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองสด แต่ละกลีบเป็นรูปหัวใจคว่ำ ลงที่ปลายกลีบ ดอกมีรอยเว้าเข้า เกสรตัวผู้มี 8-12 อัน รังไข่มี 1 ห้อง ปลายแยกออกเป็นเส้นบางๆ 4-6 เส้น ผล รูปทรงกลมเมื่อแก่สีน้ำตาลแล้วแตกออก ภายในมีเมล็ดมากสีเทาดำ บนเปลือกเมล็ดมีจุดกระมักพบขึ้นเองตามริมถนน ข้างทางเดิน หรือที่ชื้นแฉะและที่รกร้างทั่วไป

วิธีเก็บมาใช้

เก็บในระยะที่ใบและต้นเจริญงอกงามดีและกำลังออกดอก เช่น ในฤดูฝน ฤดูหนาว เก็บในวันที่ไม่มีฝน ตัดมาทั้งต้น ล้างให้สะอาดลวกน้ำร้อน รีบเอาขึ้น แช่ในน้ำเย็นเอาขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ เอาไปตากแห้งบนเสื่อ เก็บเอาไว้ใช้หรือใช้นึ่งแล้วใช้เลย หรือใช้สดก็ได้

สรรพคุณ

ยานี้มีรสเปรี้ยว เย็น ใช้แก้ร้อน ดับพิษ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บิดถ่ายเป็นเลือด หนองในแผลบวมอักเสบ ฝีประคำร้อย หล่อลื่นลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารแตกเลือดออก ใช้ภายนอก แก้บวมและแผลเปื่อยเน่ามีหนอง

วิธีและขนาดที่ใช้

ใช้ต้นแห้งหนัก 10-15 กรัม (ต้นสดหนัก 60-120 กรัม) ต้มเอาน้ำ หรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอก ผิงไฟให้แห้งลบดเป็นผงผสมน้ำทา หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น

ข้อห้ามใช้

คนธาตุอ่อนท้องเสียง่าย และหญิงมีท้องห้ามใช้ และห้ามใช้ร่วมกับกระดองตะพาบน้ำ

ตำรับยา

1. แก้บิดถ่ายเป็นเลือด ใช้ต้นนี้สด 550 กรัม ล้างสะอาดเอาไปนึ่ง 3-4 นาที แล้วตำคั้นเอาน้ำมาประมาณ 150 ซี.ซี. ให้กินครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ยานี้สด 1 กำมือผสมปลายข้าว 3 ถ้วย ต้มเป็นข้าวต้มเละๆ กินจืดๆ ตอนท้องว่างก็ได้

ใช้ป้องกันบิด ใช้ต้นสด 550 กรัม ต้มน้ำกิน 1 เวลาในระยะที่มีโรคบิดระบาดติดต่อกัน 10 วัน

2. แก้แผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ใช้ต้นนี้สดตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วทา หรือใช้ยานี้นึ่งแล้วตำพอก

3. แก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ใช้ต้นนี้ 1 กำมือ ล้างสะอาดตำเอาน้ำ 30 ซี.ซี. ผสมน้ำเย็นจนเป็น 100 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลพอประมาณ กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 100 ซี.ซี.

4. แก้แผลกลาย มีก้อนเนื้องอก เลือดออกเรื่อยๆ และแผลลามไปเรื่อยๆ ใช้ต้นนี้ 500 กรัม เผาเป็นถ่านบดเป็นผงผสมไขหมูทา

5. แก้เด็กหัวล้าน ใช้ยานี้เคี่ยวให้ข้นใช้ทา หรือเอาไปผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงผสมไขหมูทาที่เป็น

6. แก้เด็กเป็นไข้สูง ใช้ยานี้สดตำพอกวันละ 2 ครั้ง

7. แก้ฝีประคำร้อย เอายานี้ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เผาให้เป็นถ่านบดเป็นผงผสมไขหมู ชะล้างบาดแผลให้สะอาดเช็ดให้แห้ง เอายานี้พอกวันละ 3 ครั้ง

8. แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ใช้ใบสดของยานี้ กับส้มกบ (Oxalis Thunb.) อย่างละเท่าๆ กัน ต้มเอาไอรนพอน้ำอุ่นก็ใช้ชะล้าง วันละ 2 ครั้ง

9. แก้แผลแมลงกัดต่อย ใช้น้ำคั้นของต้นนี้ทา

10. แก้หนองในปัสสาวะขัด ใช้น้ำคั้นของต้นนี้กิน

ผลรายงานทางคลีนิค

1. ใช้ป้องกันบิดจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้ใบและต้นสดล้างสะอาดหั่นฝอย 500 กรัม ใส่น้ำ 1500 ซี.ซี. ต้มให้ 500 ซี.ซี. รินใส่หม้อ ผู้ใหญ่ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 70 ซี.ซี. ติดต่อกัน 2-7 วัน เด็กให้กินครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ โดยใช้ยานี้ไปต้มหรือผสมข้าวต้ม กินวันเว้นวัน ใช้กินป้องกันบิดก็กินติดต่อกัน 10 วัน จากการสำรวจในระยะที่โรคบิดระบาด คนที่เป็นบิดจะหายได้ง่าย หรือไม่ก็เป็นไม่รุนแรง

2. ใช้แก้บิด ลำไส้อักเสบ ใช้แก้บิดที่เพิ่งเริ่มเป็นได้ผลหาย 50% ขึ้นไป แต่ในบิดเรื้อรังแก้ได้ประมาณ 60% ยานี้มีความปลอดภัยสูงมาก กินมากไปก็ไม่มีพิษร้ายแรงอะไร เคยมีรายงานว่ามีคนไข้หนึ่งรายกินยาปรุงนี้ 100% มีอาการเป็นผื่นคันได้ ฉะนั้นควรใช้หญ้าสด 500 กรัม ถ้าใช้อย่างแห้งก็ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง ในการรักษาส่วนมากใช้ยาปรุง 50% ของยาแห้ง (ใช้ยานี้อย่างแห้งหนัก 125 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร ต้มให้เหลือ 500 ซี.ซี.) แบ่งกินครั้งละ 50-100 ซี.ซี. หรือยาปรุง 100% ของยาสด (ใช้ยานี้สดหนัก 500 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร ต้มให้เหลือ 500 ซี.ซี.) แบ่งให้กินครั้งละ 40-70 ซี.ซี. วันละ 3-4 ครั้ง เด็กลดลงตามส่วน กินติดต่อกัน 7-10 วันเป็น 1 รอบ พวกเป็นบิดเรื้อรังติดต่อกัน 4 อาทิตย์ ก็ไม่มีอาการพิษอะไร พวกที่เป็นเรื้อรังมานานก็ใช้น้ำคั้นต้มนี้สวนเข้าไปในลำไส้ครั้งละ 200 ซี.ซี.วันละครั้ง

3. แก้พยาธิปากขอ ผู้ใหญ่ใช้ยานี้สด 150-170 กรัม ต้มเอาน้ำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 50 ซี.ซี. และอาจใส่น้ำตาลทรายพอประมาณลงไปผสมกินวันละ 1-2 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3 วันเป็น 1 รอบการรักษา ถ้าจะกินในรอบต่อไปให้เว้นห่างกัน 10-14 วัน จากคนไข้ 192 รายที่กินยานี้ 1-3 รอบเอาอุจจาระมาตรวจดูไข่ของพยาธิจะฝ่อไปประมาณ 80% ยานี้อาจทำเป็นเม็ด หรืออีมัลชั่นเข้มข้น 50% ในการรักษา ยาเม็ดได้ผลดีกว่าแบบอีมัลชั่น และดีกว่ายาต้ม

4. ใช้แก้ไส้ติ่งอักเสบชนิดเฉียบพลัน ใช้ต้นนี้แห้ง กับโพกงเอ็ง (Taraxacum mongolicom Hand-Mazz) อย่างละ 60 กรัม หรืออาจใช้ของสดก็เพิ่มปริมาณอีกหนึ่งเท่าตัว ต้มน้ำ 2 ครั้ง ต้มจนเหลือน้ำ 200 ซี.ซี. ให้กินตอนเช้า และกลางวันครั้งละ 100 ซี.ซี. จากคนไข้ 31 รายมี 1 รายเท่านั้นที่ไม่ได้ผลต้องใช้การผ่าตัดช่วย นอกนั้นหายหมด ในจำนวน 30 คน ส่วนมากหายใน 3-8 วัน อาการไข้และจำนวนเม็ดโลหิตขาวจะเป็นปกติ อาการปวดท้องและปวดเจ็บเมื่อกระโดดแรงๆ ความตึงแน่นของบริเวณหน้าท้อง และอาการเมื่อกดแล้วเจ็บก็จะหายไปด้วย อีกวิธีหนึ่งอาจเอาต้นนี้ตำให้แหลกเอาผ้าพันแผลห่อคั้นเอาน้ำออก 30 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลทรายผสมน้ำสุกจนครบ 100 ซี.ซี. กินให้หมด วันละ 3 ครั้งก็ได้

5. ใช้แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เอาทั้งต้นหนัก 180 กรัม ล้างให้สะอาดตากแห้งบดเป็นผงละเอียด ใส่ลงในน้ำมันหมูที่เจียวร้อน 240 กรัม ใช้ตะหลิวคนจนควันขึ้นขาว ยกกระทะลงใส่น้ำผึ้งลงไป 240 กรัม คนจนข้นเมื่อเย็นจะเป็นครีมเหนียว ก่อนใช้ให้เอาน้ำซาวข้าวมาล้างแผลให้สะอาด เอาครีมที่เตรียมได้นี้ทาแผล แล้วใช้ผ้าพันให้แน่น 2 วันเปลี่ยนที่หนึ่ง ทำติดต่อกันจนกว่าจะหายอย่าให้ขาดตอนได้ ในระหว่างการรักษาห้ามกินปลาไม่มีเกล็ด ตะพาบน้ำ และห้ามร่วมเพศ

นอกจากนี้ยานี้ยังใช้รักษาส่วนอื่นๆ ที่เป็นก้อนเป็นหนองอักเสบได้ผลเหมือนกัน วิธีใช้กินครั้งละ 3-10 กรัม วันละ 3 ครั้ง จากคนไข้ 118 ราย เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ 42 ราย วัณโรคปอด 31 ราย นอกนั้นอักเสบเป็นก้อนตามที่ต่างๆ เช่น ที่กระดูก ลำไส้ ไต 45 ราย ได้รับผลการรักษาไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีคนใช้ต้นนี้สดล้างสะอาดคั้นเอาน้ำมา เคี่ยวให้ข้น ใช้แก้แผลเป็นหนองได้ โดยทั่วไปจะชะล้างแผลให้สะอาดแล้วใช้ยานี้ทาเอาผ้าพันไว้ เปลี่ยนเรื่อยๆ จนกว่าแผลจะหาย

6. แก้แผลเป็นหนอง ใช้ต้นสด 120-180 กรัม ล้างให้สะอาดตำให้ละเอียดใส่น้ำ 1-1.5 ลิตร ต้มพอเดือด (อย่าต้มนาน) ยกลงจนน้ำร้อนประมาณ 40º องศาเซสเซียส ใช้ผ้าขนหนูซุบวางบนแผลวันละ 2-4 ครั้ง หรือเอาผ้าพันแผลพับ 4-6 ครั้ง ซุบยานี้ให้ชุ่มวางบนแผลวันละ 2-4 ครั้ง ครั้งหนึ่งพันไว้นาน 20-60 นาที นอกจากนั้นอาจใช้ต้นนี้ตำให้แหลกมาพอกแผลพันเอาไว้ เปลี่ยนยาวันละ 4-6 ครั้ง

การชะล้างหรือตำพอกเหมาะกับโรคผิวหนังที่มีน้ำเหลือง หรือโรคติดเชื้อภายนอก เช่น แผลมีน้ำเหลืองในฤดูร้อน แผลอักเสบบวมเจ็บ เด็กเป็นกลากน้ำนม และแผลถูกผึ้งต่อย เป็นต้น การชะล้างยังใช้กับแผลมีน้ำเหลืองและเท้าเน่าเปื่อยซึ่งติดต่อกันได้อีกด้วย

วิธีพอก ใช้กับแผลเน่าเปื่อยที่หนังหลุดลอก เช่น แผลที่เกิดจากความชื้น แผลลอก เด็กเป็นผดผื่นคันเกิดจากความชื้นหรือโรคผิวหนังอักเสบชนิดติดต่อได้ โรคเหล่านี้นอกจากใช้ยานี้ภายนอกแล้วยังใช้ยานี้กินร่วมด้วย โดยทั่วไปใน 1-2 อาทิตย์ก็จะหาย พวกผิวหนังเน่าเปื่อยหลุดลอก แผลถลอก ใช้ยานี้พอก 3-4 วัน ผิวหนังก็เจริญขึ้นมาใหม่

7. ใช้ทำให้มดลูกหดตัว จากคนไข้ 500 ราย ใช้ยาสกัดนี้ (ใน 1 ซี.ซี. คิดเทียบเท่ากับยานี้สดหนัก 1.6-3.2 กรัม) ฉีดแทนสารสกัดจากเออกอท (Claviceps purpurea (Fr.) Tulasne) จะทำให้มดลูกคลายตัวแล้วหดตัวตามมา ใช้กับสตรีที่ตกเลือดหลังคลอด ใช้ฉีดเข้าไปที่มดลูกทั้งสองข้างและที่ปากมดลูกด้วย

8. แก้เด็กท้องร่วง เอายานี้สด 250-500 กรัม ต้มน้ำใส้น้ำตาลพอประมาณให้กินเรื่อยๆ จนหมดใน 1 วัน กินติดต่อกัน 2-3 วัน หรืออาจใช้ต้นสดล้างสะอาดผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงกินครั้ง 3 กรัม กับน้ำอุ่นวันละ 3 ครั้ง

9. แก้เด็กไอกรน เอายานี้ปรุง 50% (ใช้ยานี้สด 250 กรัมใส่น้ำ 1.5 ลิตร ต้มให้เหลือ 100 ซี.ซี.) 100 ซี.ซี. แบ่งให้กิน 3 วัน วันละ 4 ครั้ง โดยทั่วไปหลังจาก 3 วันจะเห็นผล อาการไอลดลง ช่วยการไอลดลง อาการดีขึ้น

ภาคผนวก

สมุนไพรแก้ท้องเดิน

ท่านที่มีอาการท้องเดิน แล้วไม่สามารถหายาเม็ดหรือยาน้ำแผนปัจจุบันกินเองได้ (เช่นเป็นตอนดึกดื่นเที่ยงคืน) หรือราคายาแพงกินไปในกาวะการครองชีพที่นับวันจะแพงขึ้นเช่นนี้ เราขอเสนให้ท่านเตรียมสมุนไพรเก็บไว้ที่บ้านใช้รักษาตัวเอง เมื่อมีอาการท้องเดินดังต่อไปนี้

1. กล้วยน้ำว้า

ใช้เนื้อกล้วยดิบหั่นตากแห้ง เก็บไว้กินเวลามีอาการท้องเดิน

2. ฝรั่ง

ใช้ใบล้างสะอาด เคี้ยวกินสดๆ หรือต้มน้ำกินก็ได้

3. ทับทิม

ใช้เปลือกลูกทับทิมฝนกับน้ำกิน

4. มังคุด

ใช้เปลือกลูกมังคุดฝนกับน้ำกิน

5. สมอพิเภก (หรือสมอแหน)

ใช้ลูกแก่รับประทาน ห้ามใช้ลูกอ่อน จะทำให้ถ่ายท้อง

6. แคบ้าน

ใช้เปลือกต้นต้มน้ำกิน

7. สีเสียด

ใช้เปลือกต้นฝนกับน้ำกิน

8. สีเสียดเทศ

ใช้เปลือกต้น หรือก้อนสีเสียด ฝนกับน้ำกิน

9. ตะโก (หรือพญาช้างดำ หรือตะโกนา)

ใช้เปลือกต้นและลูกฝนกับน้ำกิน

10. แกแล

ใช้แก่นต้มหรือฝนกับน้ำร้อนกิน

11. โกฎฐ์พุงปลา

ใช้ฝนกับน้ำกิน

ข้อมูลสื่อ

2-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ