• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาลดความดันเลือด

ตามปกติการที่เลือดในร่างกายของเราไหลเวียนอยู่ได้ตลอดเวลาก็เพราะเรามีหัวใจทำหน้าที่เหมือนเครื่องสูบฉีดน้ำ คอยสูบและฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปทุกส่วนของร่างกาย

เพราะฉะนั้นในหลอดเลือดซึ่งเปรียบเสมือนท่อน้ำประปาที่นำเอาเลือดออกจากหัวใจไปยังอวัยวะต่างๆ จึงมีความดันอยู่ข้างใน

ความดันเลือดนั้นมีอยู่ 2 ค่าคือค่าบนและค่าล่าง หมอมักจะบอกคนไข้ว่า ความดันเลือดของคนเท่ากับ 120…80 หรือ 140…95

ตัวเลขแรก
คือ ค่าบน อันหมายถึง ค่าความดันเลือดในระยะที่หัวใจบีบตัว
ตัวเลขหลังคือ ค่าล่าง อันหมายถึง ค่าความดันเลือดในระยะที่หัวใจคลายตัว

ถ้าความดันเลือดของใครต่ำเกินไป คนผู้นั้นก็จะมีอาการหน้ามืดตาลาย เวียนศีรษะ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ จากท่านั่งเป็นท่านอน หรือจากท่านั่งเป็นท่ายืน ซึ่งเป็นกรณีที่มักพบในคนที่ขาดการออกกำลังกายติดต่อกันนานๆ คนที่เป็นโรคท้องร่วงรุนแรง คนที่ขาดการพักผ่อนนอนหลับ เป็นต้น
ถ้าความดันเลือดสูงเกินไป ในระยะแรกคนผู้นั้นมักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ในระยะยาว เช่น 10 ปี 15 ปี ก็มักเกิดอาการหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก อาการไตวาย เป็นต้น

ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองซึ่งมีการแข่งขันแย่งชิงกันทำมาหาเลี้ยงชีพ ชีวิตเร่งรีบ และมีความเครียดมาก ภาวะความดันเลือดสูงก็เพิ่มมากขึ้น มีผู้สำรวจพบว่าในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งใน กทม. มีผู้ที่มีภาวะความดันเลือดสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ 1 ใน 5 ของคนในชุมชนแออัดแห่งนั้นมีภาวะความดันเลือดสูง

วิธีรักษาภาวะความดันเลือดสูงแบ่งได้ 2 วิธีหลักคือ
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อันได้แก่
- ลดการกินอาหารที่มีรสเค็ม
- กินผักสด ผลไม้สดเพิ่มมากขึ้น
- ลดการกินอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม เนื้อหมู เนื้อวัว ควรกินให้น้อยลง
- ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนักตัว ถ้ายังไม่อ้วนต้องพยายามอย่าให้อ้วน
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด
- ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ด้วยการนั่งสมาธิ ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. ใช้ยาลดความดันเลือด

วิธีที่ 1 นั้นได้ผลดีกับผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงชนิดอ่อน (ค่าความดันเลือดตัวล่างไม่เกิน 105 มิลลิเมตรปรอท) และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นใด

นอกจากนี้วิธีที่ 1 ยังใช้เป็นมาตรการเสริมในคนที่มีความดันเลือดสูงชนิดปานกลางและชนิดมากซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา ในที่นี้จะกล่าวถึงยาที่นิยมใช้ลดความดันเลือดสูง โดยจะกล่าวอย่างละเอียดเฉพาะยาบางตัวที่ใช้กันมาก

ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ลดความดันเลือดสูง ได้แก่
1. ยาขับปัสสาวะ (DIURETICS)*
2. ยาสกัดกั้นประสาทเบต้า (BETA ADRENOCEPTOR BLOCKERS)*
3. ยาต้านแคลเซียม (CALCIUM-ENTRY ANTAGONISTS)
4. ยาต้านฤทธิ์เอนไซม์ที่เปลี่ยนสภาพแอนจิโอเทนซิน (ANGIOTENSIN-CONERTING ENZYME INHIBITORS)
5. ยาสกัดกั้นประสาทแอลฟา (ALPHA ADRENORECEPTOR BLOCKERS)
6. ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย (PERIPHERAL VASODILATORS)
7. ยาออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง (CENTRAL ACTING AGENTS)
8. ยาต้านฤทธิ์เซลล์ประสาทแอดริเนอจิก (ADRENERGIC NEURONE BLOCKERS)

ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่นิยมใช้กันมากที่สุดตัวหนึ่งในการลดความดันเลือด การที่ยานี้สามารถลดความดันเลือดได้ ก็เนื่องจากฤทธิ์ขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายของยาในกลุ่มนี้ ซึ่งมีผลให้ปริมาณเลือด (น้ำ + เม็ดเลือดชนิดต่างๆ + เกลือแร่) ในระบบไหลเวียนลดลง

ยาขับปัสสาวะออกฤทธิ์ที่ไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญในการขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกาย

ยาขับปัสสาวะมีด้วยกันหลายชนิด เช่น
1. ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (HYDROCHLOROTHIAZIDE)
2. คลอโรไทอะไซด์ (CHLOROTHIAZIDE)
3. คลอทาลิโดน (CHLORTHALIDONE)
4. ฟรูโรซิไมด์ (FRUROSEMIDE)
5. สไปโรโนแลกโทน (SPIRONOLACTONE)
ยาชนิดที่ 1-3 เป็นยาขับปัสสาวะที่มีผู้ใช้กันมากที่สุด เพราะได้ผลดี และราคาไม่แพง

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของยาขับปัสสาวะได้แก่ ผื่นผิวหนัง เกร็ดเลือดขาวลดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ เสื่อมความรู้สึกทางเพศ

เกลือโพแทสเซียมลดต่ำ (ทำให้อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวายกำเริบ)
กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น (อาจทำให้อาการของโรคเกาต์กำเริบ)
น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (อาจเป็นอุปสรรคในการควบคุมโรคเบาหวาน)
ไขมันในเลือดสูงขึ้น แคลเซียมในเลือดสูงขึ้น

ยาชนิดที่ 4 มีฤทธิ์แรงกว่ายาขับปัสสาวะชนิดอื่นๆ ราคาแพงกว่า ๓ ชนิดแรก แต่ถูกกว่าชนิดที่ 5 ยาชนิดที่ 4 นี้มักใช้ในภาวะความดันเลือดสูงที่ลดยาก

ยาสกัดกั้นประสาทเบต้า
ความดันเลือดจะลดลงถ้าหัวใจเต้นช้าลงและบีบตัวเบาลง และหลอดเลือดแดงขยายตัวมากขึ้น ยาสกัดกั้นประสาทเบต้าคือยาที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว จึงลดความดันเลือดได้

ราคาของยาชนิดนี้โดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่ายาขับปัสสาวะ
ข้อดีของยาสกัดกั้นประสาทเบต้าคือ อาจลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่
ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ออกฤทธิ์เร็วกว่ายาขับปัสสาวะมาก กล่าวคือ ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังกินยา ความดันเลือดจะลดลงชัดเจน

ผลข้างเคียง
1. ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในคนที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการหัวใจวาย
2. ทำให้ปลายมือ ปลายเท้าเย็นได้ โดยเฉพาะเมื่ออากาศหนาว เพราะหลอดเลือดส่วนปลายหดตัว ดังนั้นคนที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบหรือตันจึงอาจเกิดการกำเริบได้
3. ทำให้หลอดลมหดเกร็ง เกิดอาการหายใจลำบากจนกระทั่งจับหืดได้ ถ้าใช้ในคนที่มีภาวะภูมิแพ้ของทางเดินหายใจหรือคนที่เป็นโรคหืด
4. อาจทำให้เหนื่อยเพลียง่ายขึ้นเมื่อออกกำลังกาย พูดอีกนัยหนึ่งคือ ลดความทรหดในการออกกำลังกาย
5. อาจทำให้ฝันร้าย นอนไม่หลับ ความคล่องแคล่วของสติปัญญาลดลง
6. บดบังอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใช้ในคนไข้เบาหวานซึ่งกินยาหรือฉีดยาลดน้ำตาลในเลือด

ข้อควรจำ
ไม่ว่าท่านกำลังรักษาภาวะความดันเลือดสูงด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยสม่ำเสมอ อย่าหยุดยาเองหรือขาดการติดตามนัด

และพึงตระหนักว่าภาวะความดันเลือดสูงเป็นความผิดปกติที่รักษาไม่หายขาด แต่ถ้าไม่รักษาให้ดีจะทำให้หัวใจวาย ไตวาย หรือเป็นอัมพาตได้
 

ข้อมูลสื่อ

105-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
108 ปัญหายา