• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นเบาหวานแล้วตาบอดได้อย่างไร ตอนที่ 3

เมื่อ 2 ตอนที่แล้วคงจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงผลของเบาหวาน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตาว่าเป็นอย่างไร ฉบับนี้จะได้กล่าวถึงวุ้นลูกตา ประสาทตา และจอประสาทตา

5. วุ้นลูกตา
วุ้นลูกตามีผลกระทบกระเทือนต่อการเป็นเบาหวานไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับน้ำตาลของน้ำวุ้นลูกตาได้

น้ำวุ้นลูกตาอยู่ตรงไหน
น้ำวุ้นลูกตาเป็นส่วนของอวัยวะที่อยู่ภายในลูกตาเราโดยตรง บรรจุอยู่เกือบเต็มความจุของลูกตา อยู่ด้านหลังเลนส์ตา มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวหนืด แต่ใสแจ๋วปราศจากสีสันโปร่งแสงมาก แสงจากวัตถุภาพผ่านเข้าตา แล้วผ่านน้ำวุ้นลูกตาไปกระทบจอประสาทตารับภาพ ทำให้เห็นภาพต่างๆได้ชัดเจนเหมือนมองผ่านกระจกใสที่เจียระไนอย่างดีแล้วอย่างไรอย่างนั้น ทำให้ลูกตาทรงรูปอยู่ได้ในลักษณะกลม

ในคนที่มีเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้น้ำวุ้นที่ใสนี้มีภาวะขุ่นเป็นหย่อมๆได้ คือก่อตัวเป็นจุดหรือเป็นเส้น เป็นยวงใย มีผลทำให้ผู้ป่วยมองเห็นจุดดำๆ หรือเส้นดำๆ บางคนว่ามองเห็นคล้ายลูกน้ำหรือใยแมงมุมหรือตัวยุง ลอยไปมาต่อหน้าตาข้างนั้น ไม่ว่าจะเหลือบตาไปทางไหน จุดประหลาดจะเคลื่อนตามการกลอกตาไปมา ยิ่งถ้ามองไปยังฉากสีขาว เช่น ก้มลงเขียนหนังสือหรืออ่านจดหมาย จุดลูกน้ำหรือยุงจะลอยต่อหน้า เผลอเอามือปัดอยู่เรื่อย

บางคน เมื่อยกแก้วน้ำขึ้นดื่มเห็นเหมือนมดไต่ขอบแก้วทุกครั้ง ทนไม่ไหวต้องรีบไปหาจักษุแพทย์ นั่งบ่นด้วยความตื่นเต้นแกมฉงนสนเท่ห์ให้หมอฟังแบบกังวล

ท่านผู้อ่านที่เคยมีอาการจุดดำลอยไปมา (Floater) ต่อหน้าตาข้างใดข้างหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือค้นหาสาเหตุอื่นที่เกี่ยวกับประสาทจอรับภาพไม่พบแล้ว ควรหาโอกาสเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลไว้บ้าง เผื่อฟลุ๊กเจอแจ๊กพ็อต

6. ประสาทตา
ประสาทตาเสื่อม ภาวะประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อมีผลทำให้ตามัวลง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะประสาทตาขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงหรือได้รับเลือดไม่เพียงพอ อันเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดจากภาวะเบาหวานนั่นเอง ทำให้ประสาทตาขาดอาหาร ขาวซีดแล้วฝ่อไปในที่สุด ผู้ป่วยจะตามัวลงและยากแก่การฟื้นคืนดีได้

7. จอประสาทตา
จอประสาทตาเสื่อม ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นแทบทุกคนที่เป็นเบาหวาน ยิ่งในเบาหวานชนิดอายุน้อย โอกาสจะเป็นจอประสาทตาเสื่อม (Retinopathy) ยิ่งพบมากขึ้น

ทั้งนี้เชื่อว่าคนเป็นเบาหวานเมื่ออายุยังน้อย มีโอกาสมีชีวิตยืนยาวอยู่ในโลกนี้อีกนาน ปรากฏการณ์ต่างๆ บนจอรับภาพจะมีเกือบครบหรือมากเกินไปด้วยซ้ำ ผิดกับเบาหวานชนิดคนสูงอายุ โอกาสเป็นจอประสาทตาเสื่อมมีได้เช่นกัน แต่ความรุนแรงมักไม่เท่าชนิดแรก เว้นกรณีที่ไม่ควบคุมเรื่องเบาหวานให้ดียิ่งไปกันใหญ่ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปจะมากขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงของจอประสาทรับภาพนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดฝอย การไหลเวียนเม็ดเลือดเป็นไปไม่สะดวก เม็ดเลือดมีความหนืดมากเกาะตัวกันเป็นก้อนง่าย ผนังหลอดเลือดบาง มีการโป่งพองของหลอดเลือดฝอยเล็กๆทั่วไปหมายถึงหลอดเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ประสาทตาโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดฝอยแตกเลือดออแทรกเข้าไปในชั้นต่างๆของจอประสามรับภาพเป็นไปได้ง่าย

นอกจากแตกหรือฉีกขาดของผนังหลอดเลือดฝอยดังกล่าวแล้ว อาจมีการตีบแคบบางส่วนทำให้เลือดอุดตันไหลเวียนไม่ได้ มีการถ่ายเทพวกไขมันและโปรตีนออกนอกหลอดเลือด

จึงทำให้ผนังจอรับภาพเกิดจ้ำเลือด (hemorrhage) ขึ้น อาจมีทั้งเป็นจุดเล็กๆ คล้ายห้อเลือดตามผิวหนังแบบไข้เลือดออก ไปจนถึงจ้ำเลือดปื้นใหญ่ อาจไหลซึมแทรกเข้ามาปะปนกับน้ำวุ้นลูกตาได้ ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงมาก

จ้ำเลือดและไขมันที่ปรากฏบนจอรับภาพ จะพบมากบริเวณจุดกึ่งกลางการมองเห็นพอดี ทำให้ผู้ป่วยตามัวมองไม่ชัด ยิ่งไม่ควบคุมเบาหวานให้ดี ภาวะต่างๆบนจอรับภาพจะลุกลามมากขึ้น ไปจนเกิดภาวะเส้นเลือดฝอยแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย (Neo-vascularization) การรักษาเยียวยายิ่งยากขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรักษาเบาหวานชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงจอประสาทรับภาพเช่นว่านี้ก็ต้องอาศัยวิธีการสองสามอย่าง คือ
1. การควบคุมเบาหวานให้ดี อยู่ในระดับปกติหรือเกือบปกติอย่างสม่ำเสมอไปตลอด กล่าวง่ายๆก็หมายถึงว่าพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้โรคที่ประสาทตาลุกลามมากขึ้นไปอีกนั่นเอง

2. ให้ยาช่วยในการไหลเวียนหรือลดความหนืดของเม็ดเลือดดีเกือบปกติ กันภาวะอุดตันและแตกทะลุของหลอดเลือดฝอย และประการสุดท้ายแบบสมัยใหม่นิยมกันคือ

3. การยิงแสงเลเซอร์ การยิงแสงเลเซอร์ (อาร์กอนเลเซอร์) เป็นวิธีการที่ต้องไปยับยั้งการลุกลามของการเปลี่ยนไปในทางเสื่อมหรือเลวให้ช้าลงเท่านั้นเอง มิได้หมายความว่าการไปรักษาหรือได้รับการยิงแสงเลเซอร์แล้ว จะช่วยทำให้เห็นดีขึ้น ไม่ใช่! เป็นความเข้าใจผิดในบางคน หรือญาติผู้ป่วยด้วยโรคนี้ บางคนคิดว่าการยิงแสงจะทำให้โรคหาย ตาสว่าง

การยิงแสงเลเซอร์ที่จอรับภาพในตา เป็นเพียงชะลอความเสื่อมให้ช้าลง และอีกประการคือกันภาวะจอภาพหลุดลอกออกมาจากการตึงตัวหรือดึงรั้งของพังผืดที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

โดยปกติคนที่เป็นเบาหวานนานๆ ตาจะบอดก็เพราะสาเหตุจอรับภาพหลุด เนื่องจากพังผืดดึงรั้งนี้เอง
การได้รับการยิงแสงเป็นการช่วยให้จอรับภาพตรึงติดอยู่กับที่ให้นานเท่าที่จะนานได้ อีกทั้งเป็นการไปลดภาวะหลอดเลือดฝอยแตกแขนงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

มีแพทย์บางท่านเชื่อว่า การยิงแสงเลเซอร์ในผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยได้เพียงบางส่วน และชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดก็บอดเหมือนกัน เพียงแต่ช้าไปหน่อย แพทย์ที่มีเครื่องมือนี้ไว้รักษาคนไข้ก็ “โอ่” ว่าดี ยิงให้คนไข้แล้วสบายใจดี? ทั้งแพทย์และคนไข้

ส่วนแพทย์อีกกลุ่มยังมีความเชื่อว่า การยิงแสงเลเซอร์หรือไม่ยิง ในที่สุดก็มาพบกันที่จุดเดียว คือตาบอดเหมือนกัน อะไรทำนองนี้เป็นต้น

จึงเห็นได้ว่า ภาวะตาบอดจากจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานมีอัตราค่อนข้างสูงดังได้กล่าวนำไว้ตอนต้นแล้ว ในประเทศซีกโลกตะวันตกให้ไว้ถึงหนึ่งในสี่ของภาวะตาบอดทั้งหมด

คำว่าตาบอดตามภาษากฎหมายก็หมายถึง ภาวะที่ตาข้างที่ใช้การได้ดีที่สุด เมื่อเอาไปทดสอบด้วยการอ่านตัวอักษรบนแผ่นป้ายของสเน่ลเล่น (snellen’s chart) แล้ว จะได้เพียง 3/60 (หรือ 10/200) เท่านั้นเอง สายตาระดับนี้ถือว่าพิการขั้นบอด ไม่สามารถประกอบกิจการอะไรได้

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสที่เกิดภาวะต่างๆเกี่ยวกับตาได้เสมอ มีความหนักเบาแตกต่างกันออกไปตามสภาพการควบคุมและรักษาเบาหวานของผู้นั้นเป็นเกณฑ์ อีกทั้งระยะเวลายาวนานมากน้อยเพียงใดของการเป็นโรคนี้อีกด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุดของโรคเบาหวานคือ การนำไปสู่ภาวะตาพิการหรือบอดได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและรักษาควบคุมให้สม่ำเสมอ จะทำให้ท่านมีโอกาสใช้ตาทั้งสองของท่านดูโลกอันศิวิไลซ์และบางครั้งสับสนนี้ต่อไปได้นานเท่าที่จะนานได้

เมื่ออ่านมาถึงบทสุดท้ายนี้แล้ว ถ้ามีเวลาว่างท่านจะไม่ลองไปเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดดูว่า.........ตูเป็นเบาหวานหรือเปล่าเนี่ยบ้างหรือ?

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

105-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์