• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การหายใจเพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพของสมอง

วัฏจักการหายใจกับจังหวะการทำงานของซีกสมองมีความสัมพันธ์กัน สามารถช่วยให้คนเราหาวิธีในการเปลี่ยนการทำงานของซีกสมอง แทนที่การใช้ความคิดอย่างหนัก ถ้าอยากทราบว่าสมองซีกใดทำหน้าที่ได้ดีกว่ากัน ดูได้จากความแรงของการหายใจจากรูจมูกทั้งสองข้าง

ในระบบการหายใจเข้าออกของคนเรานั้น ถ้าสังเกตดูจะพบว่าเราจะหายใจด้วยจมูกข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลัก

ความแรงของลมหายใจที่เข้าออกจากรูจมูกทั้งสองข้างจึงมีขนาดต่างกัน
การที่รูจมูกข้างหนึ่งจะหายใจได้ดีกว่ารูจมูกอีกข้างอาจกินเวลาได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ไปจนมากกว่า 3 ชั่วโมง โดยจะสลับที่หมุนเวียนกันไปเป็นวัฏจักร ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ได้ถูกค้นพบมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว โดยนักโยคะชาวอินเดียโบราณ

วัฏจักรการหายใจนี้เป็นจังหวะการทำงานของร่างกายที่พบในกระบวนการเผาผลาญอาหาร เรียกว่า “จังหวะอัลตราเดียน”

จากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า วัฏจักรการหายใจกับจังหวะการทำงานของซีกสมองมีความสัมพันธ์กัน วัฏจักรการหายใจสามารถช่วยให้คนเราหาวิธีในการเปลี่ยนการทำงานของซีกสมองโดยใช้สมาธิทำความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ แทนที่การต้องใช้ความคิดอย่างหนัก

โดยในสมองซีกซ้ายของคนเรานั้นจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิดคำนวณการกระทำและการใช้ภาษา
ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนามธรรมและความงามซึ่งเรามองไม่เห็น

และในซีกสมองนี้จะทำหน้าที่สลับเปลี่ยนความสำคัญจากซีกหนึ่งไปอีกซีกหนึ่งได้เป็นจังหวะแน่นอนสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยแล้วในระบบความคิดของเราจะเปลี่ยนจากสมองซีกซ้ายที่ทำหน้าที่ได้เด่นกว่าไปเป็นสมองซีกขวา แล้วกลับมาเด่นที่สมองซีกซ้ายใหม่ ซึ่งจะเกิดราว 10 ครั้งใน 1 วัน

ถ้าเราอยากทราบว่าสมองซีกใดทำหน้าที่ได้ดีกว่ากัน ก็ดูได้จากความแรงของการหายใจจากรูจมูกทั้งสองข้างคือ

ถ้ารูจมูกข้างซ้ายหายใจได้แรงกว่าข้างขวา แสดงว่าสมองซีกขวาทำหน้าที่ได้ดีกว่าซีกซ้าย
ในทางตรงข้าม ถ้ารูจมูกข้างขวาหายใจได้แรงกว่า แสดงว่าสมองซีกซ้ายทำหน้าที่ได้เด่นกว่าในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเปลี่ยนแบบแผนการหายใจนี้ได้ โดยกระตุ้นให้ซีกสมองที่ทำหน้าที่น้อยให้ทำหน้าที่เพิ่มขึ้น โดยวิธีบังคับการหายใจ คือ ถ้าเราหายใจได้ดีทางจมูกข้างซ้าย ก็ควรเปลี่ยนเป็นหายใจแรงๆทางจมูกขวาบ้าง จะทำให้สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ได้ดีขึ้น

การเปลี่ยนแบบแผนการหายใจนี้ สามารถช่วยให้คนเราเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความคิดเห็นต่างๆได้
และนักโยคะหลายท่านเชื่อว่าการฝึกหายใจด้วยจมูกข้างใดข้างหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะแบบแผนของคลื่นสมองได้

สังเกตจากคนที่นอนหายใจได้ดีด้วยจมูกข้างซ้ายพร้อมกับนอนตะแคงขวา จะหลับสนิทได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนคนที่หายใจได้ดีด้วยจมูกข้างขวามักจะเป็นคนเจริญอาหาร มีระบบการย่อยอาหารดี

นอกจากนี้ อาการไม่สบายทางจิตที่เกิดขึ้นรวดเร็วก็สามารถช่วยได้ โดยการหายใจผ่านจมูกข้างที่หายใจไม่คล่อง

ความเชื่อเหล่านี้ทำให้มีผู้คิดค้นการฝึกหายใจ เพื่อให้เกิดสภาพสมดุลระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวาขึ้น

การฝึกหายใจที่ปลอดภัยในการปฏิบัติคือ การฝึกที่มาจากวิชาโยคะ ที่เรียกว่า “คูนดาลินี” การฝึกนี้ควรทำในขณะที่มีสติ ไม่ฝึกขณะขับรถหรือเป็นลมบ้าหมู

การฝึกแบบแรกเป็นการปรับสมดุลของอารมณ์และจิตใจ ทำให้เกิดการผ่อนคลาย มีสมาธิ รับรู้สิ่งต่างๆได้ดี และใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแบบแอนไจนา (angina) ได้

วิธีฝึก ขั้นแรกให้นั่งตัวตรง หลับตาแล้วเพ่งความสนใจมาตรงที่จมูกและหว่างคิ้วบรรจบกัน จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือขวาปิดรูจมูกข้างขวาให้มิด ส่วนมือซ้ายวางบนตัก ค่อยๆหายใจเข้าทางรูจมูกซ้ายจนเต็มที่แล้วเปิดรูจมูกขวา

ต่อมาเปลี่ยนเป็นนิ้วก้อยของมือขวาปิดรูจมูกข้างซ้ายให้มิด แล้วค่อยๆหายใจออกทางรูจมูกขวา จากนั้นหายใจเข้าทางรูจมูกขวาต่อ ทำสลับกับขั้นแรก โดยหายใจออกทางรูจมูกซ้ายและหายใจเข้า ทำติดต่อกันโดยไม่ต้องกลั้นหายใจ

การฝึกจะได้ผลมากถ้าแรงลมหายใจมาก ควรเริ่มฝึกอย่างนิ่มนวลและสม่ำเสมอ จนสามารถหายใจแบบนี้ได้นานถึง 11 นาที

ส่วนการฝึกการหายใจอีกแบบหนึ่งเป็นการขยายขอบเขตของจิตใจและฝึกสมาธิของจิต ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญอาหารของร่างกายและใช้ประกอบการรักษาโรคได้

วิธีฝึก ให้นั่งขัดสมาธิบนพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้ที่วางเท้าราบกับพื้นได้ หลับตา มือทั้งสองวางพาดที่ตัก จากนั้นให้แลบลิ้นออกจากปากม้วนเป็นรูปตัวยู แล้วหายใจเข้าผ่านลิ้นที่ม้วนนี้ โดยแบ่งลมหายใจเข้าออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆกัน ใช้เวลา 4 วินาที ถ้าไม่สามารถม้วนลิ้นได้ ให้หายใจเข้าทางจมูกแทน โดยแบ่งลมหายใจเข้าออกเป็น 8 ส่วนเช่นกัน ขณะหายใจเข้าให้ปิดปาก

การเริ่มต้นฝึกแรกๆไม่ควรเกิน 5-10 นาที ควรฝึกเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอจนสามารถทำได้ดีโดยใช้เวลานานถึง 31 นาที

อย่างไรก็ดี เหตุที่ระบบหายใจและการทำงานของสมองรวมทั้งพัฒนาการทางจิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กันนี้ คงเกี่ยวเนื่องกับศูนย์ควบคุมของสมองในร่างกายที่เรียกว่า “ไฮโปทาลามัส” โดยเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างจมูกกับสมอง ซึ่งมีผลต่ออวัยวะทั้งร่างกาย

ศูนย์ควบคุมนี้จะทำงานผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งประกอบด้วยเส้นประสาทซิมพาเทติก และพาราซิมพาเทติก โดยเส้นประสาททั้งสองนี้จะทำหน้าที่ตรงกันข้าม

ระบบประสาทซิมพาเทติกทำให้หลอดเลือดหดตัว ในขณะที่ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกทำให้หลอดเลือดขยายตัว

ในวัฏจักรการหายใจทำให้ทราบจังหวะการทำงานของระบบประสาทในร่างกายทั่วทั้งร่างได้
โดยนักวิจัยในสหรัฐพบว่าเมื่อเราหายใจทางรูจมูกข้างขวาได้ดี หลอดเลือดในรูจมูกข้างขวานี้จะหดตัวขึ้น และสามารถตรวจพบสารเคมีส่งผ่านกระแสประสาทที่ชื่อว่า “นอร์อีพิเนฟริน” มีปริมาณเพิ่มขึ้นในแขนขวา ซึ่งสารนี้เกิดจากฤทธิ์ของระบบประสาทซิมพาเทติก นอกจากนี้กิจกรรมในการเผาผลาญอาหารซึ่งถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การทำงานของต่อมไทมัส ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต่อมนี้มีกลีบทางซ้ายและขวา ซึ่งสามารถทำงานต่างกันได้ตามจังหวะการทำงานของซีกสมองซีกที่เด่นกว่า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบการหายใจของคนเรานั้น มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสมอง ซึ่งมีผลต่อระบบจิตประสาทต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมเผาผลาญอาหารในร่างกาย และการฝึกการหายใจก็มีบทบาทช่วยบรรเทาอาการผิดปกติทางจิตได้ แต่คนปัจจุบันส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า การฝึกหายใจแบบโยคะนี้จึงยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
 

ข้อมูลสื่อ

106-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
มงคล ตันติสุวิทย์กุล