• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคเกาต์

โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกสะสมในร่างกายมากเกินไปจนตกตะกอนตามอวัยวะบางแห่ง เช่น ข้อ ใต้ผิวหนัง และไต

การตกตะกอนของกรดยูริกที่ข้อ ทำให้ข้ออักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) อย่างรุนแรงจนข้อนั้นใช้งานไม่ได้ และในระยะยาวหากไม่ได้รับการแก้ไข ข้อก็จะพิการ

การตกตะกอนที่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดก้อนนูนใต้ผิวหนัง ซึ่งพอนานเข้าก็อาจแตกทะลุออกมา เป็นเป็นสารสีขาวคล้ายยาสีฟัน

ถ้าตกตะกอนที่ไตก็จะทำให้ไตอักเสบและพิการในที่สุด อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
โรคนี้เป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 9 เท่า! แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดระดูก็จะมีโอกาสเป็นโรคเกาต์ได้พอๆกับผู้ชาย

แม้ว่าจะไม่มีทางรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่ปัจจุบันมียาที่มีคุณภาพดีมากในการลดกรดยูริกในร่างกายและลดการอักเสบของข้อ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาได้มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขเช่นคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคนี้

จุดมุ่งหมายของการรักษา
1. ลดการอักเสบ
2. ป้องกันการกลับซ้ำ

ประเภทของยาที่รักษา
1. colchicine
2. phenylbutazone
3. indomethacin
4. allopurinol
5. probenecid

1. ยาลดการอักเสบ
1.1 โคลชิซีน (colchicines)
เป็นยาขนานแรกที่แพทย์เลือกใช้เพื่อรักษาอาการปวดข้อในโรคเกาต์ ไม่ว่าจะเป็นในรายที่เป็นที่เป็นครั้งแรกหรือกำเริบซ้ำ

ยานี้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดข้ออย่างรุนแรง จึงทำให้อาการปวดบวมข้อทุเลาลง โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยกินยานี้ขนาด 0.6 มิลลิกรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง จนอาการปวด บวมข้อทุเลาลง หรือปรากฏอาการท้องเดิน คลื่นไส้ หรืออาเจียน โดยเฉลี่ยยานี้ทำให้อาการปวดทุเลาภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเริ่มกินยาตามขนาดและเวลาที่กล่าวถึงนี้

ผลข้างเคียง
ได้แก่
1. ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ป่วยได้กินยามากเกินไปแล้วต้องหยุดยาทันที แม้ว่าอาการปวดข้อยังไม่หายก็ตาม
2. กดการทำงานของไขกระดูก ทำให้เกิดจ้ำเลือด เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ กล้ามเนื้อผิดปกติ ไม่มีปัสสาวะ ผมร่วง ตับทำงานผิดปกติ ภาวะภูมิไวเกิน ลำไส้ใหญ่อักเสบ ผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดจากการได้รับยามากเกินขนาดหรือฉีดยา เข้าเส้น

1.2 เฟนีลบิวตาโซน (phenyl butazone)
เป็นยาอีกขนานหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาโรคเกาต์ แต่มีผลข้างเคียงมาก โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยกินยานี้วันละ 3-4 เม็ด หลังอาหารในวันแรกๆ ที่เริ่มมีอาการ และมักให้กินติดต่อกันไปอีก 1-3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย หากรายใดกินยานี้ไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ยังไม่ได้ผล แสดงว่าควรเลิกใช้ยานี้ได้

ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่
- บวม ยานี้ทำให้น้ำและเกลือสะสมในร่างกาย อันเป็นเหตุให้เกิดอาการบวม ซึ่งมักพบที่ข้อเท้า ผู้ที่มีอาการหัวใจวายไม่ควรใช้ยานี้ เพราะจะทำให้อาการทรุดลง
- ระคายเคืองลำไส้และกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน จนกระทั่งอาจถึงเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่แล้ว
- ผื่นคันบนผิวหนัง หากปรากฏผื่นผิวหนังขึ้นระหว่างใช้ยานี้ ต้องหยุดยาทันที
- โลหิตจางแบบอะพลาสติก หรือเม็ดเลือดขาวน้อยลงอันเนื่องมาจากการแพ้ยา ผลข้างเคียงชนิดนี้น่ากลัวและร้ายแรงมาก

ข้อห้ามใช้
- มีอาการหัวใจวาย
- เคยแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาอื่นๆ ที่มีฤทธิ์กดไขกระดูก
- มีแผลในกระเพาะอาหาร
- มีโรคตับ โรคไต
- มีความจำเลอะเลือน ซึ่งอาจทำให้กินยาเกินขนาด

1.3 อินโดเมทาซิน (indomethacin)
เป็นยาอีกขนานหนึ่งที่รักษาอาการอักเสบของโรคเกาต์ได้ผลดี แพทย์มักแนะนำให้กินยานี้ ขนาด 200-250 มิลลิกรัม ในวันแลก และ 100 มิลลิกรัม ใน 3-4 วันต่อมา

ผลข้างเคียง

- ปวดศีรษะ
- มีพฤติกรรมแปลกๆ
- ซึมเศร้า
- ประสาทหลอน
- ระคายกระเพาะอาหาร อันได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง

2. ยาลดกรดยูริก (ป้องกันการกลับซ้ำ)
2.1 แอลโลพูรินอล (allopurinol)
เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดระดับกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดข้ออักเสบในโรคเกาต์ จึงป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบขึ้นมาอีก ในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่เป็นมานานจนมีก้อนใต้ผิวหนังที่เกิดจากกรดยูริกตกตะกอนรวมกัน หากใช้ยานี้ติดต่อกันนานพอจะค่อยๆ ละลายก้อนกรดยูริกใต้ผิวหนังได้ และเนื่องจากยานี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของไต จึงเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไตทำงานได้ไม่ดี

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- ผื่นผิวหนัง ผลข้างเคียงนี้อาจรุนแรงขนาดทำให้ผิวหนังลอกหลุดคล้ายถูกไฟไหม้ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
- ไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ คัน และเม็ดเลือดผิดปกติในระยะแรกที่เริ่มกินยานี้ อาการข้ออักเสบอาจกำเริบหรือเป็นบ่อยขึ้น ดังนั้นแพทย์จึงมักใช้ยานี้ควบคู่กับโคลซิซีน (colchicines) เพื่อป้องกันข้ออักเสบ

2.2 โปรเบนเนซิด
(probenecid)
เป็นยาที่มีจุดมุ่งหมายการใช้เหมือนแอลโลพูรินอล แต่ออกฤทธิ์ต่างกัน โปรเบนเนซิดออกฤทธิ์เพิ่มการขับถ่ายกรดยูริกที่ใด จึงใช้ได้เฉพาะในคนที่ไตยังทำงานได้ดี

ในระยะแรกที่เริ่มกินยานี้ ก็ต้องกินโคลซิซีนร่วมด้วยเหมือนกับแอลโลพูรินอล

ผลข้างเคียง
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผื่นผิวหนัง
- ปัสสาวะบ่อย

คำเตือน
ระหว่างกินยานี้ต้องกินน้ำให้มาก เพราะถ้ากินน้ำน้อยอาจเกิดนิ่วยูเรตในทางเดินปัสสาวะได้

สรุป
การรักษาโรคเกาต์มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการกำเริบอักเสบของข้อ และป้องกันการตกตะกอนของกรดยูริกที่ไตอันทำให้ไตพิการได้

โรคนี้ต้องรักษาติดต่อกันไปตลอดชีวิต
ผู้ป่วยที่หายจากข้ออักเสบจำนวนมากเข้าใจผิดว่า ข้อไม่อักเสบแปลว่าโรคหาย จึงละเลยการกินยาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี

ข้อมูลสื่อ

106-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
108 ปัญหายา