• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกล็ดกระดี่ขึ้นตา

เกล็ดกระดี่ขึ้นตา

ผมได้ไปบรรยายเรื่องโรคเด็กแก่สมาชิกชมรมแพทย์ประจำตำบล เมื่อเร็วๆนี้ได้มีผู้ถามว่า “โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา” มีสาเหตุจากอะไรและรักษาอย่างไร และอีก 2-3 วันต่อมา ได้เห็นบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งอธิบายเห็นให้ถึงความลำบากของผู้ที่เป็นโรคนี้ จึงได้แนบบทความนั้นให้มาอ่านดูด้วย เพราะผมคงไม่สามารถบรรยายให้ ซาบซึ้งเช่นนี้ได้ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีอาการร้ายแรงทำให้ตาบอด แต่เป็นโรคซึ่งสามารถป้องกันได้ อย่างแน่นอน ที่จริงผมคิดอยากเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะระหว่างที่ไปสำรวจโรคเด็กในชนบท ได้พบเด็กตาบอดเป็นจำนวนมาก ถามดูได้ความว่า เริ่มต้นเกล็ดกระดี่ขึ้นตาก่อนและต่อมาก็ตาบอด (เช่นเดียวกับนายประเสริฐ) ในบทความของหนังสือพิมพ์ ได้ถามชาวบ้านถึงวิธีการรักษาบางคนบอกว่า ต้องเอาตับเสือมาทำเป็นอาหารกิน จึงจะหาย ผมคิดว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้อง แต่ปัญหาก็คือ จะเอาตับเสือมาจากที่ไหนล่ะ

โรคนี้เกิดจากการขาดวิตามิน เอ ซึ่งมีมากในอาหารจำพวกเนื้อและตับ ตับทุกชนิดมีวิตามิน เอ สูงทั้งนั้น ไม่เฉพาะตับเสือเท่านั้น ที่ทำเป็นแคปซูลขายก็มี เช่น แคปซูลน้ำมันตับปลาฉลาม เป็นต้น โรคขาดวิตามินเอ พบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 1-5 ปี ส่วนใหญ่มักรวมกับการขาดอาหารอย่างอื่นด้วย อาการที่สำคัญของการขาดวิตามินเอ คือ อาการทางตา และถ้าเป็นมาก จะทำให้ตาบอด ดังได้กล่าวมาแล้ว อาการทางตามี 3 ระยะ คือ

1.ตาบอดกลางคืน (Night Bindness)

2.ตาแห้ง (Xerophthalmia)

3. ตาอ่อน(Keratomatacia)

เนื่องจากโรคตานี้ มักเป็นในเด็กเล็ก จึงเป็นการยากที่จะสังเกตโรคนี้ได้ในระยะแรก มักจะวินิจฉัยโรคได้ ในระยะที่ 2 และที่ 3

ระยะที่ 1 ตาบอดกลางคืน คำแสลงในภาษาอังกฤษ เรียกเด็กพวกนี้ว่า Chicken Blindness ซึ่งแปลว่า ไก่ตาบอด เพราะไก่มองไม่เห็นในที่มืด ซึ่งพอจะเทียบเป็นไทยได้ว่า ไก่ตาฟาง ซึ่งเป็นคำแสลงในภาษาไทย แต่ความหมายต่างกันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไก่หลง ซึ่งหมายความถึง หญิงสาวที่หลงทางในเวลาค่ำคืน (อาจแกล้งทำ เป็นหลง เพื่อหลอกชายตาฟาง) เอาละครับ สรุปว่า ไก่ แปลได้หลายอย่าง ยังมีคำแปลอีกมากมาย

การขาดวิตามิน เอ ในเด็กโต มักขาดไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะนี้ คือ ตาบอดกลางคืน

เด็กที่ขาดวิตามิน เอ จะมองไม่เห็นทางในเวลากลางคืน ทำให้หกล้มบ่อยๆ บางครั้งต้องจูง วิธีตรวจที่ง่ายๆ ในเด็กเล็ก ก็คือ เอาเด็กไปอยู่กับแม่ในที่มืด ดูว่าเด็กจะมองเห็นแม่หรือไม่ ในเด็กโตอาจลองให้นับนิ้วมือ ในห้องซึ่งมีแสงสว่างต่างๆ กันเทียบกับผู้ที่ตาดี การที่มองไม่เห็น เพราะเรตินา (retina) ขาดวิตามิน เอ จึงทำงานไม่ได้ตามปกติ ผู้ที่สนใจอยากจะทราบว่า เด็กขาดวิตามินเอหรือไม่ อาจจะลองทดสอบเด็กในโรงเรียนก็ได้ ถ้าพบจะได้รักษาเสียให้เรียบร้อย เพราะวิตามินเอช่วยในการเจริญเติบโต และทำให้ความต้านทานของร่างกายสูงขึ้น

ระยะที่ 2 ตาแห้ง เยื่อบุตา (Conjunctiva) และต่อมน้ำตา ต้องการวิตามินเอ เพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ ฉะนั้น เมื่อขาดวิตามิน จึงทำให้ตาแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้น เยื่อบุตาจะย่น รอบๆ กระจกตา (Cornea) ดูคล้ายเกล็ดปลา และในขณะเดียวกันกระจก ซึ่งตามปกติ จะสะท้อนแสงแวววับ จะแห้งและไม่มีประกายตาขาว (Sclera) จะเปลี่ยนเป็นสีเทา บริเวณหางตาจะมีสารสีเทาหรือสีขาวเป็นจุดใหญ่ๆ เรียกว่า จุดบีโต้ (Bitot’s spots) จุดบีโต้อาจจะเกิดกับตาทั้งสองข้าง และเมื่อเอาผ้าเช็ดที่ตาอาจจะทำให้ตาหลุดได้

ระยะนี้ สามารถรักษาให้ หายได้ ด้วยการฉีดวิตามินเอขนาดสูง เพราะถ้าทิ้งไว้จะเข้าระยะ 3 มีแผลบริเวณตาดำ ทำให้กระจกตาทะลุและตาบอด ฉะนั้นเด็กทุกคนที่ตาแห้งเกล็ดกระดี่ขึ้นตา หรือมีแผลที่กระจกตา ต้องพาไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยโดยด่วน โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผอมแห้งขาดอาหาร เพราะจำเป็นต้องได้รับ วิตามิน เอ ทั้งชนิดฉีด และชนิดกินราคาไม่แพง เป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก เพราะถ้าไม่รีบรักษาท่านจะเสียใจไปตลอดชีวิตดังในบทความที่รำพันว่า “มันเหมือนเวรกรรม” เป็นที่น่าเสียดายว่า ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้เด็กในชนบท ตาบอดกัน เสียมากต่อมาก ทั้งๆ ที่โรคนี้สามารถและป้องกันได้โดยง่ายและเสียใช้จ่ายน้อย

ระยะที่ 3 ตาอ่อน เมื่อไม่ได้ รับการรักษาอาการจะเป็นมากขึ้น ตาขาวจะเป็นสีเทาแก่ เยื้อบุตาจะมีรอยย่นมากขึ้น กระจกตาจะฝ้าขาว ลูกตาจะอ่อนนุ่ม ระยะสุดท้ายกระจกตาเป็นแผล มีรูทะลุ เชื้อโรคจะเข้าไปในลูกตาได้ ทำให้เกิดอาการอักเสบภายในลูกตา ตาบอด บางทีอาการของโรครวดเร็ว และรุนแรงมาก ทำให้ตาบอดใน 2-3 วัน ผู้ที่เป็นในระยะนี้แล้ว โอกาสจะหายมีน้อย แต่ก็ควรนำผู้ป่วยไปรักษาโดยด่วน เพราะถ้าให้วิตามินเอและรักษาการอักเสบควบคู่กันไป อาการอักเสบอาจหาย ถึงแม้จะมีแผลเป็นแต่ถ้าไม่มากเต็ม ลูกตา อาจมองเห็นได้บ้าง

การป้องกันและการรักษา

โรคขาดวิตามินเอ สามารถป้องกันได้ โดยการรับประทานอาหารที่มี วิตามิน เอ ซึ่งได้แก่ อาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ ตับ ปัญหาก็คือ ในชนบทที่ห่างไกลเด็กอาจไม่สามารถได้กินอาหารเหล่านี้เป็นประจำ แต่มีอาหารอย่างอื่นซึ่งอาจหาได้ง่าย คือ ผลไม้ที่มีสีเหเลือง เช่น มะละกอสุก ฟักทอง หรือ ผักใบเขียว เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง ใบมันสำปะหลัง

มะละกอต้องสุกจึงจะมี คาโรตีน (Carotene) ซึ่งเป็นต้นตอของวิตามิน เอ มะละกอดิบไม่มีประโยชน์ในแง่ของวิตามินเอ ในชนบทมักจะไม่ให้เด็กกินมะละกอ เคยพบเด็กตาบอด และมีต้นมะละกอหลายต้นปลูกในบ้านนั้น ถามแม่เด็กว่าเคยให้เด็กกินหรือเปล่า เขาตอบว่าไม่เคยให้กินเลย ในภาคอีสานปลูกมะละกอมากก็จริง แต่รับประทานมะละกอดิบเป็นกับข้าวเสียหมด จนแทบจะไม่มีมะละกอสุกรับประทานกัน ที่สำคัญคือ ถ้ากินมะละกอสุกมากๆ อาจจะตัวเหลือง (ตาไม่เหลือง) แต่ไม่มีอันตราย ฉะนั้นถ้าตัวเหลืองจากการกินมะละกอให้ลดการกินมะละกอให้น้อยลง อาการตัวเหลืองจะหายไปเอง

พริกที่เผ็ดๆ เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ก็มีวิตามินเอสูง แต่เด็กคงกินไม่ได้ ที่จริงชาวบ้านก็ทราบถึงสรรพคุณของผักบางอย่างที่มีวิตามินเออยู่แล้ว เช่น กล่าวกันว่า ผักบุ้งทำให้ตาหวานและสายตาดี พริกทำให้ตาสว่าง เด็กโตและผู้ใหญ่ในชนบทรับประทานผักจำพวกนี้อยู่แล้ว จึงไม่ขาดวิตามิน เอ ควรเริ่มให้เด็กกินมะละกอสุกตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป

จงชักชวนแนะนำกันต่อๆ ไป ให้เอามะละกอสุกและผักใบเขียวมาให้เด็กๆ กินกันเถิด จะได้ไม่มีเด็กตาบอดในหมู่บ้านของท่าน และท่านจะได้บุญกุศลอย่างมากมาย

ข้อมูลสื่อ

4-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์