• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาน่าใช้

ยาน่าใช้

ยาผูกพันกับชีวิตของคนเรา จนถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา จึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับปัจจัยหลักอันนี้ เพราะยาเป็นปัจจัยที่ให้คุณค่ามหาศาลแก่ชีวิต

สำหรับบทความนี้ เราจะขอเน้นถึงหลักการคร่าวๆ เกี่ยวกับการจัดตู้ยาประจำบ้าน ซึ่งจะครอบคลุมช่วยให้ชีวิตรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และแม้กระทั้งความตายได้ในบางครั้ง ในทางตรงข้ามการใช้ยาโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บและความตายได้เท่ากัน

การรู้จักและเข้าใจเรื่องของยานั้น ไม่ใช่เพียงแต่ทราบว่า ควรใช้ยาอะไรรักษาอาการหรือโรคอะไรเท่านั้น แต่เรายังควรทราบถึงข้อปลีกย่อย บางประการเกี่ยวกับยานั้นๆ เช่น ยานั้นๆ มีวิธีใช้อย่างไร เก็บอย่างไร ต้องมีข้อที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาใช้หรือไม่มีอายุการใช้หรือไม่ ยาที่เสียใช้ไม่ได้แล้วมีลักษณะอย่างไร โทษของยาที่สำคัญๆ มีอะไรบ้าง ฯลฯ

ถึงยาที่เราควรมีติดบ้านไว้ สำหรับใช้เมื่อมีอาการเจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับยาแต่ละกลุ่มแต่ละอย่าง เราจะเสนอรายละเอียดแก่ท่านในภายหลัง

การเก็บตู้ยา

ยาสามารถช่วยชีวิตคนเราได้ แต่ก็สามารถพรากชีวิตคนเราได้เช่นกัน ยาจึงไม่ใช่ของธรรมดาๆ ที่เราจะไปเก็บปะปนกับของอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร ขนม เครื่องดื่ม น้ำหวาน และที่ๆ เหมาะที่สุดสำหรับเก็บยาก็คือ ตู้ยา การมีตู้ยาประจำบ้านจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิต เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะมีตู้ยาประจำบ้าน ตอนนี้ลองมาเลือกตำแหน่งเหมาะๆ ที่จะตั้งตู้ยากันดีกว่า

1. หาที่ๆ ไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง แต่มีแสงสว่างเพียงพอ โล่ง ไม่อับชื้น ทั้งนี้เพราะยาหลายๆชนิดจะเสื่อมคุณภาพเมื่อถูกแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่บรรจุในขวดสีชา ยาตา หรือแม้แต่ยาที่บรรจุในขวดแก้วใส ถ้าถูกแสงแดด ความร้อนหรือความชื้น ก็จะเสื่อมคุณภาพได้เช่นกัน

2. เมื่อได้ที่เหมาะๆ ตามคุณสมบัติในข้อ1 แล้ว เราก็เอาตู้ยาไปตั้งได้เลย แต่ต้องระวังคือ ต้องตั้งตู้ยาให้อยู่ในระดับที่สูงพอที่เด็กๆ ในบ้านจะเอื้อมมือไม่ถึง การตั้งตู้ยาในระดับที่ต่ำจนเด็กเอื้อมมือมาหยิบเล่นได้ เป็นการเสี่ยงมาก เพราะเด็กอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หยิบเอายาใช้ภายนอกไปกินหรือเข้าใจผิดคิดว่าเป็นขนมหรือน้ำหวาน และหยิบยาที่มีสีสวยๆ หรือรสชาติหอมหวานอร่อยไปกิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้

การจัดยาเข้าตู้

ก่อนที่เราจะจัดยาเข้าตู้ได้อย่างถูกต้อง เราต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ก่อน คือ

1. พิจารณาดูว่ายานั้นๆ เป็นยาที่ใช้ภายใน (ยาที่รับประทานได้ทุกชนิด) หรือยาที่ใช้ภายนอก (เช่น ยาทาโรคผิวหนังต่างๆ ทั้งยาน้ำ ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาทาแผล ฯลฯ) เพราะเราต้องแยกเก็บระหว่างยาที่ใช้ภายในและยาที่ใช้ภายนอก

2. เมื่อทราบแล้วว่า เป็นยาที่ใช้ภายในหรือยาที่ใช้ภายนอกแล้ว ก่อนเอายาแยกจัดเข้าตู้ ให้ดูเสียก่อนว่ายานั้นมีฉลากยาติดอยู่หรือไม่ บนฉลากยาจะบอกรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับยานั้นๆ ดังนี้คือ

2.1 บอกว่าเป็นยาอะไร เช่น เป็นยาแก้ปวดลดไข้ แอสไพริน ยาแดง ยาเหลือง ฯลฯ

2.2 บอกถึงสรรพคุณของยา เช่น เป็นยาที่ใช้แก้ปวดลดไข้ หรือเป็นยาทาแผล ฯลฯ

2.3 บอกถึงขนาดและวิธีใช้ยานั้นๆ เช่น กินยาครั้งละกี่เม็ด วันละกี่ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารต้องเขย่าขวดก่อนใช้หรือไม่ หรือถ้าเป็นยาที่ใช้ภายนอก ก็จะบอกให้รู้ว่าใช้อย่างไร เช่น ให้ชุบสำลีทา หรือใช้ทาถูนวด ฯลฯ

2.4 บอกถึงอายุการใช้ยานั้นๆ เราจะพบในฉลากยาที่มีอายุการใช้ เช่น ยาปฏิชีวนะ โดยมีคำว่า Exp Date, Expiry, Expiration, Exp, Expired Date ทุกคำที่มียกมากล่าวมีความหมายเดียวกัน หมายถึงวันเวลาที่ยาหมดอายุใช้ไม่ได้อีกต่อไป เช่น ถ้าบนฉลากเขียนว่า Expired Date : Jan 1980 หมายความว่า ยาหมดอายุในเดือนมกราคม ปี 1980 (พ.ศ. 2523 )จึงห้ามใช้ยานั้นอีกเด็ดขาด ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2523 ต้นไป

2.5 ถ้าเป็นยาที่ใช้ภายนอก บนฉลากยาจะพบว่า “ห้ามรับประทาน” “ยาใช้ภายนอกเท่านั้น” ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้บนฉลากยา จะมีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับ ชื่อและที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิต เลขทะเบียนยา เลขที่ของครั้งที่ผลิต และเลขที่ควบคุมคุณภายา แต่เราไม่จำเป็นต้องสนใจมาก เพราะไม่สำคัญมากนัก

ถ้าพบว่ายาไม่มีฉลาก หรือฉลากนั้นเก่า ขาด ไม่ชัดเจน แต่เราทราบแน่ชัดว่าเป็นยาอะไร หรือเป็นยา ที่เราแบ่งซื้อ มาเก็บไว้ใช้ที่บ้าน จากร้านขายยาเองก่อนเก็บเข้าตู้ยา เราก็ควรจัดการเขียนฉลากเรียบร้อยก่อน ให้ดูตัวอย่างฉลากยาต่อไปนี้

  • ยาเม็ดแอสไพริน

สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ลดไข้ ปวดประจำเดือน ปวดฟัน

วิธีใช้ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเวลาปวด

  • แอลกอฮอล์ล้างแผล

สรรพคุณ ใช้ทำความสะอาดแผล ฆ่าเชื้อโรค

วิธีใช้ ใช้สำลีชุบทาล้างบริเวณที่เป็นแผล

ข้อควรระวัง ใช้เฉพาะภายนอก ห้ามรับประทาน

ฉลากยาที่เป็นยาใช้ภายนอก รับประทานไม่ได้ ควรเขียนด้วยหมึกสีแดง และต้องมีคำว่า “ใช้เฉพาะภายนอก ห้ามรับประทาน” อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะได้สังเกตได้ง่าย

ส่วนเรื่องสีของฉลากยานั้น ถ้าเป็นยาที่ได้จากแพทย์หรือโรงพยาบาล เราใช้ฉลากแยกได้เลยว่าเป็นยาที่ใช้เฉพาะภายนอก หรือเป็นยาที่รับประทานได้ เพราะ ถ้าเป็นยาที่ใช้ภายนอกจะเป็นฉลากสีแดง ถ้าเป็นยารับประทานจะเป็นฉลากสีดำหรือน้ำเงิน แต่ถ้าเป็นยาของห้างร้านต่างๆ เราจะยึดถือสีเป็นหลักไม่ได้

ในกรณีที่พบว่า ยาไม่มีฉลาก และเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร ห้ามเดาเด็ดขาดว่าควรเป็นยาชนิดนั้นชนิดนี้ แม้ว่าจะดูมีรูปร่างคล้ายๆกัน เพราะเราจะสรุปว่ายาที่มีรูปแบบสีสันเหมือนกันเป็นยาชนิดเดียวกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะยาที่มีรูปร่างและสีสันเดียวกัน อาจเป็นยาคนละชนิดก็ได้ ไม่ควรเสียดายยา ให้ทิ้งยานั้นไปเสีย

3. ในกรณีที่ไปหาหมอ แล้วกินยาไม่หมด ยังคงมียาเหลือ ให้เก็บไว้ได้ เฉพาะยาที่ทราบแน่นอนว่าเป็นยาอะไร มีวิธีใช้อย่างไรเท่านั้น และก็เช่นกันถ้าจะเก็บไว้ ต้องจัดการติดฉลากยาให้เรียบร้อยด้วย

ควรจำไว้ให้แม่นว่า ยาทุกขวดทุกชนิดที่จะนำมาเก็บในตู้ยา จะต้องมีฉลากยาติดอยู่อย่างเรียบร้อยเสมอ

ยาสำหรับใช้ภายในหรือรับประทานที่ควรมีประจำบ้าน

1. ยาแก้ปวดลดไข้ สำหรับแก้อาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ฯลฯ ที่ควรมีได้แก่ ยาเม็ดแอสไพริน (Aspirin Tablet Gr Vหรือ 300 มิลลิกรัม) หรือยาเม็ดสีชมพู (A.P.C. Tablet) ซึ่งเหมาะสำหรับใช้แก้ปวด ลดไข้ ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคกระเพาะอาหาร

ถ้ามีผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร อยู่ในบ้าน ควรมียาแก้ปวดพาราเซตาม่อล (Paracetamol) ติดไว้ในตู้ยาด้วย เพราะยาแก้ปวดแอสไพรินไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร

ถ้ามีเด็กๆ ในบ้าน ควรเตรียมยาแก้ปวด ลดไข้สำหรับเด็กไว้ในบ้านด้วย เพื่อใช้ในภาวะที่จำเป็นยาแก้ปวดลดไข้สำหรับเด็กที่ควรมีติดตู้ยา ได้แก่ ยาเม็ดแอสไพรินสำหรับเด็ก (เบบี้แอสไพริน) หรือยาน้ำเชื่อมพาราเซตาม่อล

2. ยาแก้แพ้ สำหรับแก้อาการแพ้อากาศ เป็นหวัด ลดน้ำมูก ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ ยาแก้แพ้ที่ควรมีติดตู้ยา ได้แก่ ยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน ถ้ามีเด็กในบ้านก็ควรมียาแก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อมด้วย

3. ยาแก้หวัด เช่น ยาเม็ดดีโคลเจ่น ยาเม็ดคลอริซิดินดี คลอริซิดินจูเนียร์ (สำหรับเด็ก)

4. ยาแก้ไอขับเสมหะ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำขององค์การเภสัชกรรม ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ยาแก้ไอคลอรีเอต ยาแก้ไอไพริตอน ยาแก้ไอเบนนาดริล มิกซ์เจอร์แอมม่อนคาร์บ หรือมิลต์สกิลล์ แอมม่อน

5. ยาสำหรับรักษาอาการปวดแสบท้อง ปวดจุกบริเวณลิ้นปี่ แน่นอึดอัด จุกเสียด ท้องอืดเฟ้อ เช่น ยาธาตุน้ำแดง มิสต์คาร์มิเนตีฟ ยาลดกรดชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำก็ได้

6. ยาแก้อาการปวดเกร็งภายในท้อง ปวดนิ่ว ปวดประจำเดือนในสตรี เช่น ยาเม็ดบาราลแกน

7. ยาแก้ท้องเสีย เช่น ยาเม็ดซัลฟากัวนีดีน ขององค์การเภสัชกรรม ทิงเจอร์ ฝิ่นการบูร ขององค์การเภสัชกรรม ยาน้ำเคาลีนเอตเบล หรือยาเม็ดโลโมติ้ล

8. ยาระบาย เช่น น้ำมันละหุ่ง ดีเกลือ ยาระบาย แมกนีเซียม ขององค์การเภสัชกรรม

9. ยาบำรุง สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอไม่มีแรงต้านทานโรค เจ็บป่วยได้ง่าย เช่น ยาเม็ดวิตามินชนิดต่างๆ เช่น ยาเม็ดบีรวม ยาเม็ดวิตามินรวม ยาเม็ดวิตามินซี และยาบำรุงเลือด ที่เข้าสารเหล็กเช่นยาเม็ดบำรุงโลหิตขององค์การเภสัชกรรมหรือยาเม็ดเฟอร์โซเลต สำหรับผู้ที่อ่อนแอ โลหิตจางและสตรีที่กำลังตั้งท้อง

10. ยาแก้เมารถเมาเรือ ได้แก่ ยาเม็ดดรามามีน หรือ ยาเม็ดไดเมนฮัยดริเนต

11. ยากันชัก สำหรับเด็กที่มีอาการชักโดยเฉพาะเวลามีไข้สูงอยู่ประจำ เช่น ยาเม็ดหรือ ยาน้ำฟีโนบาร์บิทอล

ยาสำหรับใช้ภายนอก

มักเป็นยาทาถูตามผิวหนัง ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาสำหรับทำความสะอาดบาดแผลต่างๆ ฯลฯ ยาใช้เฉพาะภายนอกที่ควรมี ได้แก่

1. ยาทาถูแก้ปวดบวม ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เช่น ยาหม่อง ยาขี้ผึ้งน้ำมันระกำ น้ำมันสโต๊ก เค้าเตอร์เพน

2. ยาแก้ลมวิงเวียน เช่น เหล้าแอมโมเนียหอมของ องค์การเภสัชกรรม

3. ยากวาดลิ้น แก้ลิ้นเป็นฝ้า แผล ปากเปื่อย เช่น เจนเชี่ยวไวโอเลต กลีเซอรีนบอแร็กซ์ ขององค์การเภสัชกรรม

4. ยาทาผิวหนังต่างๆ เช่น ขี้ผึ้ง กำมะถัน ขี้ผึ้งรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง (Coat tar ointment) ยารักษากลากเกลื้อน แป้งน้ำแก้ผดผื่นคัน สีชมพูหรือคาลาโมโลชั่น (Calamine lotion) สำหรับรักษาผดผื่นคัน ขี้ผึ้งเพร็ด นิโซโลน ฯลฯ

5. ยาล้างตาและยาหยอดตา เช่น ยาล้างตาบอริค ยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ ขององค์การเภสัชกรรม สำหรับหยอดรักษาตาแดง ตาเจ็บ

6. ยาหยอดหู (Nitrofurazone Ear Drops) ขององค์การเภสัชกรรม สำหรับหยอดรักษาอาการหูเป็นน้ำหนวก ช่องหูอักเสบ

7. ยารักษาแผลต่างๆ เช่น แผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทำแผล

  • ยาสำหรับทำความสะอาดแผล ที่ควรมี เช่น แอลกอฮอล์สำหรับล้างแผล (Ethyl Alcohol 70% หรือRabbing Alcohol ขององค์การเภสัชกรรม) ด่างทับทิม หรือน้ำยาล้างแผลไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์
  • ยารักษาแผลสด เช่น ยาแดง ทิงเจอร์ไอโอดีนหรือยาแสดสำหรับใส่แผลสด (Thimerosal) ฯลฯ
  • ยารักษาแผลเรื้อรัง เช่น ยาเหลือง น้ำผึ้งแท้
  • ยารักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ขององค์การเภสัชกรรม
  • ชุดทำแผล เช่น สำลี ผ้าก๊อส ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ พลาสเตอร์ยา กรรไกร และอุปกรณ์อีกอย่างที่ไม่ควรขาด คือ ปรอทวัดไข้

จะเห็นว่า ถ้าท่านมียาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นครบในตู้ยาประจำบ้าน ก็เท่ากับท่านมีห้องพยาบาลย่อยๆ ในบ้าน เพราะยาต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วนี้เป็นยาที่เราใช้กันค่อนข้างมากในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราไม่ได้เจ็บป่วยมากมาย เพียงแต่มีอาการไม่ค่อยสบายเล็กๆ น้อยๆ การมียาเหล่านี้ติดบ้านไว้ และการรู้จักวิธีใช้ยาเหล่านี้อย่างถูกต้อง ทำให้ท่านสามารถเป็นหมอรักษาตัวท่าน และสมาชิกในครอบครัวได้ ช่วยแก้ไขสถานการณ์จำเป็นในบางครั้งให้บรรเทาเบาบางความรุนแรงลงก่อนจะไปหาหมอต่อไป หรือแม้แต่เวลาเกิดอุบัติเหตุก็สามารถทำความสะอาดหรือทายาไปพลางๆ ก่อนแล้วจึงไปหาหมอถ้าอาการหนัก

การมียาทุกชนิดดังได้กล่าวมาข้างต้น ครบในตู้ยาเป็นของดีแน่ แต่ถ้าท่านคิดว่ามันมากมายหลายชนิดและรู้สึกว่าค่อนข้างยุ่งยาก ที่จะหายาได้ครบทุกชนิด อย่างน้อยที่สุด ท่านก็ควรทราบว่า ยาที่ท่านควรใช้เมื่อมีปัญหาหนึ่งๆ เกิดขึ้นเป็นยาอะไร เช่น ท่านปวดหัวมากและท่านก็เป็นโรคกระเพาะอยู่ ท่านก็ควรจะทราบว่า ท่านควรใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ถ้าในบ้านมีแต่ยาแก้ปวดแอสไพริน ก็ควรไปหาซื้อยาพาราเซตามอลมาใช้เป็นต้น

สำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองไม่สามารถมียาทุกชนิด ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นครบถ้วนไว้ในตู้ยาประจำบ้านได้ ท่านอาจหาซื้อยาตำราหลวง ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ผลิตขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรมไปไว้ที่บ้านได้ ยาตำราหลวงขององค์การเภสัชกรรม จะมีทั้งชุดใหญ่และชุดเล็กประกอบด้วยยาพื้นๆ ที่ควรมีติดบ้านไว้ ให้ซื้อยาตำราหลวงไว้ในบ้าน และถ้ามีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต้องใช้ยาที่ไม่มีในยาชุดตำราหลวงจึงค่อยหาซื้อยาที่จำเป็นต้องใช้นั้นเพิ่มเติมโดยอาศัยข้อมูลคร่าวๆ ที่เราได้แนะนำท่านดังกล่าวมาแล้ว

ข้อมูลสื่อ

4-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์