• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณหมอครับ ผมมาขอเอ๊กซเรย์

คุณหมอครับ ผมมาขอเอ๊กซเรย์

“หมอกับชาวบ้าน นอกจากจะมีความแตกต่างกันในเรื่องภาษาพูดแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องความเชื่อ ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึกและอื่นๆ อันเป็นผลมาจากพื้นเพการศึกษาและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดช่องว่างและข้อขัดแย้งขึ้นหลายๆ อย่าง ดังปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำเราหวังว่าคอลัมน์นี้จะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างหมอกับชาวบ้านได้บ้างไม่มากก็น้อย”

นับตั้งแต่คนเยอรมัน ชื่อ เรินด์ เกนด์ ได้ค้นพบรังสีชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้จักมาก่อน จนต้องขนานนามรังสีนั้นว่า “รังสีเอ็กซ์” หรือ “เอ๊กซเรย์” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 แล้ว ก็มีผู้พยายามคิดค้นหาวิธีนำรังสีดังกล่าวมาใช้ในทางการแพทย์ จนเป็นผลสำเร็จ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่า “เอ๊กซเรย์” นั้นหรือ คือ อาวุธขอนิดหนึ่งของบรรดาหมอๆ ทั้งหลายที่จะใช้ในการตรวจพิจารณาและรักษาโรค นั้นเอง

หลักการเอ็กซเรย์ไม่มีอะไรยาก รังสีเอ็กซ์ หรือ เอ๊กซเรย์นั้น คือ คลื่นแสงขนาดหนึ่ง ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีกับแผ่นฟิล์มได้เหมือนกับแสงทั่วๆ ไป ทำปฏิกิริยากับฟิล์มถ่ายรูป และมีอำนาจทะลุทะลวงสูงสามารถทะลุผ่านร่างกายมนุษย์ได้ดังนั้น ถ้าฉายแสงเอ๊กซเรย์นี้ไปบนแผ่นฟิล์ม โดยมีตัวคุณอยู่ตรงกลางเงาของตัวคุณจะไปปรากฏอยู่บนฟิล์ม

เปรียบเทียบง่ายๆ ดังนี้คือ ถ้าคุณยืนอยู่กลางแดด เงาของตัวคุณจะปรากฏอยู่บนพื้น และเห็นได้ว่า เงาส่วนนั้นเป็นแขน เงาส่วนนี้เป็นขาตรงกลางเป็นลำตัวอะไรทำนองนั้น ถ้าคุณเอาผ้าบางๆ คลุมตัวคุณแบบมนุษย์ค้างคาว หรือซุปเปอร์แมน แล้วมองดูเงาตัวคุณใหม่ เงาของคุณก็จะเหมือนมนุษย์ค้างคาว หรือซุปเปอร์แมน แต่ถ้าคุณลองพิจารณาดูที่เงาให้ถ้วนถี่คุณก็จะเห็นว่า เงานั้นมีความเข้มไม่เท่ากัน คุณจะยังพอมองออกว่าเงาส่วนไหนเป็นลำตัว ส่วนไหนเป็นแขน ขา และเงาส่วนไหนเป็นผ้าคลุม

ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายของคุณกับผ้าคลุม มีคุณสมบัติในการกั้นแสงได้ไม่เท่ากัน ร่างกายสามารถกั้นแสงได้มากกว่าเงาก็เข้มกว่าผ้าคลุมกั้นแสงได้น้อยกว่า เงาก็จางลง

เอ๊กซเรย์ ก็อาศัยหลักเดียวกันนี้ อวัยวะภายในของคนเราประกอบด้วยหลายอย่าง บางอย่างกั้นแสงได้มาก เช่น กระดูก ก็จะปรากฏเป็นเงาทึบมาก บางอย่างมีลมมากก็กั้น แสงได้น้อย เช่น ปอด เงาก็จางมาก บางอย่างกั้นแสงได้ปานกลาง เงาก็เข้มปานกลาง เช่น หัวใจ เป็นต้น

เงา ที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มเอ๊กซเรย์นั้น เมื่อนำไปล้างด้วยกรรมวิธีเช่นเดียวกับฟิล์มถ่ายรูป เงานั้นก็จะปรากฏเป็นภาพเนกาตีฟ* ของฟิล์มขาว-ดำ คือ เงากับมีสีขาว เงาที่เข้มมาก ทึบมากก็เป็นสีขาวมาก เงาที่เข้มน้อยทึบน้อย ก็เป็นสีขาวน้อยหรือเป็นสีดำ

นั้นเป็นหลักการง่ายๆ ของเอ๊กซเรย์

แต่อวัยวะบางอย่าง มีคุณสมบัติใน การกั้นแสงได้ใกล้เคียงกัน ภาพที่ปรากฏออกมาก็มีความเข้มใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนได้ ก็ต้องมีวิธีที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการนำสารทึบแสงบางอย่างใส่ร่างกายสู่อวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วถ่ายเอ๊กซเรย์ อาทิ เช่น ต้องการตรวจกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น หมอจะให้กลืนแบเรี่ยมซัลเฟต

แบเรี่ยมซัลเฟต เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติกั้นแสงเอ๊กซเรย์ได้ มีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเมื่อนำมาละลายน้ำก็เหมือน แป้งละลายน้ำยิ่งขึ้น รวมทั้งกลิ่นและรส ซึ่งไม่น่ารับประทานด้วย

หมอบางคน จึงเอาสี กลิ่น รส เติมลงไป

คุณชอบสี กลิ่น หรือรส ชนิดไหนละครับสตรอว์เบอร์รี่ ช๊อคโกแลต สับปะรด วานิลลา หรือองุ่น

เมื่อกลืนแบเรี่ยมซัลเฟตลงไปแล้ว แบเรี่ยมจะเคลือบอยู่ตามเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้มองเห็นลักษณะของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้ชัดเจน ถ้ามีแผลเป็นรูบุ๋มลงไปที่กระเพาะ แบเรี่ยมก็จะเข้าอยาในแผลนี้ ทำให้มองเห็นได้ว่ากระเพาะมีแผล หรือมะเร็งของกระเพาะอาหาร เป็นเนื้องอกออกมา ก็จะมองเห็นได้เช่นกันว่า มีเนื้อยื่นออกมา แต่ถ้าเป็นแผลเล็กๆ หรือก้อนเนื้อเล็กๆ ก็มองยากเหมือนกันแหละครับ

ถ้าต้องการตรวจเกี่ยวกับไต เอาแบเรี่ยมใส่เข้าไปทางไหนดี เอาแบเรี่ยมใส่เข้าไปไม่ได้หรือ ไม่เป็นไร หาสารอื่นที่ทึบแสงเหมือนกันมาใช้แทนก็ได้ ฉีดน้ำยาสารทึบแสงนี้เข้าทางเส้นเลือดดำ น้ำยานี้มีคุณสมบัติอีกอย่าง นอกจากทึบแสงก็คือ จะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วทางไต น้ำยานี้จึงไปตกไปรวมอยู่ที่ไต และส่วนอื่นของระบบขับถ่าย เช่น ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ

ถ่ายเอ๊กซเรย์ตอนนี้ ก็มองเห็นรูปร่างของไต ต่อไต กระเพาะปัสสาวะ จนได้รู้ว่า มีนิ่ว หรือไม่ ยังทำงานดีอยู่หรือไม่ เป็นโรคอะไรไปแล้ว

ถ้าต้องการดูก้อนอะไรในสมองหรือครับ หาวิธีใหม่ เอาสารทึบแสงฉีดเข้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แล้วถ่ายเอ๊กซเรย์จะเห็นเส้นเลือด ศึกษาดูจากลักษณะของเส้นเลือดก็พอจะบอกได้ว่า ผิดปกติหรือไม่ มีก้อนอยู่ตรงไหน จะต้องทำผ่าตัดตรงไหน

เหล่านี้เป็นเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ประกอบกับเครื่องเอ๊กซเรย์ ซึ่งมีผลให้เอ๊กซเรย์กลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์

ถึงกระนั้น เอ๊กซเรย์ก็ยังเป็นเพียงเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ในบรรดาเครื่องมือแพทย์หลายๆ ชนิด ที่หมอใช้เป็นส่วนประกอบในการตรวจโรคบางอย่าง ไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้เครื่องเอ๊กซเรย์นี้ ตรวจโรคได้ทั้งหมด และโรคที่มนุษย์เราเป็นกันนั้น ส่วนใหญ่สามารถตรวจได้ โดยไม่ต้องเอ๊กซเรย์ด้วย และโรคบางอย่าง แม้จะเอ๊กซเรย์ด้วยเทคนิคไหน ก็ไม่ช่วยบอกให้ทราบได้ว่า เป็นโรคอะไร ประชาชนทั่วไปทราบว่า การเอ๊กซเรย์มีประโยชน์อย่างมากในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เชื่อและศรัทธาในการเอ๊กซเรย์ ถึงขนาด เมื่อมีอาการไม่สบายขึ้น แทนที่จะคิดไปหาหมอตรวจ บางคนกับเลยเถิดไป คือ ต้องไปเอ๊กซเรย์ ทั้งๆ ที่เป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องเอ๊กซเรย์ และถึงเอ๊กซเรย์ก็ไม่ช่วยในการวินิจฉัยตรวจโรคได้

อย่างเช่นคนไข้บางคนไม่สบายเป็นหวัด มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไปหาหมอหมอตรวจแล้วให้ยามากิน ก็กินทิ้งกินขว้าง คือกินบ้างไม่กินบ้าง ไม่ปฏิบัติตนตามที่หมอแนะนำ จึงไม่หายสักที หลายวันเข้าชักรู้สึกไม่ใคร่ดี คือ ไม่ไว้ใจกลัวจะเป็นอะไรมาก มีโรคแทรกซ้อนหรือเปล่าก็ไม่รู้แถมเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ยังมายุอีกว่า “ทำไมไม่ไปขอหมอเอ๊กซเรย์ล่ะ” แนะนำยังกับผู้เชี่ยวชาญแน่ะ

โรคหวัดนั้นน่ะ อย่าว่าแต่หมอเลย ชาวบ้านทั่วไปก็รู้จักดี พิจารณาได้ และบางคนยังรู้จักวิธีปฏิบัติตัว รักษาหวัด โดยไม่ต้องพึ่งยาฝรั่งด้วย

แต่โรคแทรกซ้อนของอาการหวัดคงจะดูยากหน่อยล่ะครับ

แทนที่จะแนะนำไปให้หมอตรวจใหม่ กลับไม่เชื่อมือหมอ แนะนำไปให้เครื่องเอ๊กซเรย์ตรวจเสียนี่

จึงต้องหันไปหาหมออีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ไปตรวจ หากไปขอเอ๊กซเรย์พอหมอบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องเอ๊กซเรย์ ก็ไม่พอใจ เอ๊ะ! หมอคนนี้ยังไงกันนะ ขอเอ๊กซเรย์ก็ไม่ได้ จึงต้องเร่ไปหาหมอคนต่อไป และต่อไป จนกระทั้งพบหมอที่ยอมเอ๊กซเรย์ให้ อาจเป็นเพราะเพื่อตัดความรำคาญหรืออะไรก็ตามที

แต่ผลเอ๊กซเรย์ออกมา

ปอดคุณไม่เป็นอะไรหรอกครับ ปกติดี นี่ครับยา คุณเอาไปทานต่อนะครับ”

อย่างนี้เรียกว่าเอ๊กซเรย์โดยไม่จำเป็น ก็ยังจะขืนเอ๊กซเรย์ให้ และผลที่ได้ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่คนไข้เลย

ความจริงจะว่าไปแล้ว อันตรายต่างๆ จากการเอ๊กซเรย์มีไม่มากนัก นี่หมายความว่า ถ้าใช้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อันตรายที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการที่ร่างกายได้รับรังสีมากเกินไป

ถ้าคุณสังเกตดูตามตึกเอ๊กซเรย์ของโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ภายในตึก ทุกๆคน นั้น แม้ แต่คนงานผู้มีหน้าที่กวาดทำความสะอาด มีป้ายชนิดหนึ่งติดตัว ป้ายนั้นมีลักษณะคล้ายๆป้ายชื่อ สีฟ้าขนาดประมาณกว้าง 3 ซ.ม.ยาว 4 ซ.ม. บางคนแขวนไว้ที่อกเสื้อ บางคนแขวนไว้ที่เอว แต่บางคนก็เอาใส่กระเป๋าเสื้อไว้ ป้ายนี้คือแผ่นฟิล์มเอ๊กซเรย์ขนาดเล็ก ที่มีไว้เพื่อตรวจสอบดูว่า ได้รับรังสีมากเกินไปหรือเปล่า เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรังสีโดยตรง แต่ก็อาจจะมีรังสีรั่วออกมาได้ และถ้าได้รับรังสีมากเกินไป จะต้องหยุดพักงานไประยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาทำงานได้ มิฉะนั้นอาจมีอันตราย

อันตรายจากเอ๊กซเรย์ แม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นอันตรายที่น่ากลัว เช่น

1. เป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งในเม็ดโลหิตขาว มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง มะเร็งในต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น และทุกคนก็ทราบว่า เมื่อเป็นมะเร็ง นอกจากจะรักษาไม่หาย ต้องตายเร็วแล้ว ยังต้องตายอย่างทรมานอีกด้วย

2. เป็นหมัน เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ถ้าบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้รับรังสีมากเกินไป แต่อาการนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดรับรังสีอาจกลับมาเป็นปกติได้

3. ผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ในกรณีที่ยังคงได้รับรังสีต่อไป รังสีจะทำลายโครโมโซม ซึ่งเป็นตัวควบคุมกรรมพันธุ์ ทำให้กรรมพันธุ์ผิดปกติไป อาการผิดปกตินี้มักจะรุนแรง จนทำให้ทารกที่คลอดจากผู้มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์นี้มักจะพิการ หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้

4. ทำให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก มีผลให้การเจริญเติบโตผิดปกติ ร่างกายแคระแกร็นได้ และถ้าเป็นทารกในท้อง ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งท้องแล้ว การหยุดเจริญเติบโต หมายถึง ความพิการของทารกทีเดียว

ถ้าคุณกำลังตั้งท้องในระยะ 3 เดือนแรก และหมอจะให้คุณเอ็กซเรย์ คุณต้องบอกให้หมอทราบด้วยว่า คุณกำลังตั้งท้อง เพราะหมออาจไม่ทราบได้ หรือมิเช่นนั้นก็พลั้งเผลอ แล้วผลเสียเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง ถึงแม้ว่าการเอ๊กซเรย์เพียงครั้งเดียว อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ก็อาจเป็นได้ และไม่มีผู้ใดสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

นอกจากนี้ ก็มีอันตรายอื่นๆ เช่น ผิวหนังเป็นผื่นเนื่องจากรังสี ตาเป็นต้อ เป็นโรคเลือดจาง เนื่องจากไขกระดูกไม่ทำงาน แพ้ยาที่ฉีดเข้าไป เพื่อการเอ๊กซเรย์ ซึ่งกรณีนี้ อาจถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีประวัติแพ้อาหารทะเล หรือสาร ไอโอดีน และอีกกรณีหนึ่งคือ แพทย์ใช้สารแบเรี่ยมผิดชนิด จนทำให้คนไข้ตาย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดไปแล้ว จนเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่ว เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้น การใช้เอ๊กซเรย์จึงต้องมีขอบเขต มีการระมัดระวัง ป้องกันอันตรายอย่างมาก หมอทุกคนจะถูกสอนให้รู้ และระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเอ๊กซเรย์นั้น เป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่อาจช่วยในการพิจารณาในการตรวจโรคได้ บางโรคเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเครื่องมือวิเศษ ที่จะบอกได้ทุกอย่าง ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แม้เดี๋ยวนี้จะมีเครื่องเอ๊กซเรย์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ควบคุมการทำงานที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์ไรท์ โทโมแกรม (หรือย่อว่า ซี.ที.) นั้นก็ยังไม่ใช่เครื่องมือวิเศษ และยังห่างไกลจากคำว่า วิเศษมาก เพราะสามารถตรวจได้เฉพาะโรคบางอย่างได้ไม่กี่ชนิดที่ตรวจด้วยกรรมวิธีธรรมดาไม่ได้ผลหรือไม่ ข้อบ่งชี้ในการใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการตรวจยังมีไม่มาก และอัตราราคาในการตรวจก็แพงมหาศาลครั้งละ 2,000-3,000 บาท หรือกว่านั้น

ดังนั้น มีคนไข้ประเภทที่คิดอยากจะเอ๊กซเรย์โดยไม่ทราบเหตุผลข้อเท็จจริงว่า จะมีประโยชน์ มีความจำเป็นหรือไม่ เช่น

ประเภทที่ อยากจะเอ๊กซเรย์แล้ว ก็ต้องเอ๊กซเรย์ให้ได้ ไม่ฟังเสียงใคร

ประเภทที่ เห็นเขามีเครื่องมืออะไรใหม่ ก็ต้องลองไปตรวจดู

ประเภทที่ เดินเข้าไปหาหมอ แล้วก็บอกว่า “ผมมาขอเอ๊กซเรย์ครับ” ประเภทนั้นนะ

ก่อให้เกิดผลประการเดียวครับ

หมอรวยน่ะซิ! และหมอประเภทที่ชอบสั่งเอ๊กซเรย์โดยไม่จำเป็น

ประเภทที่คิดแต่จะเอาใจคนไข้ เมื่อคนไข้มาขอเอ๊กซเรย์ ก็ให้เอ๊กซเรย์ โดยไม่อธิบายถึงว่าควรหรือไม่ควร

ประเภทเหล่านั้นน่ะ เป็นเพียงนักธุรกิจในคราบของหมอเท่านั้นเอง!

ข้อมูลสื่อ

4-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
พูดคนละภาษา
รจน์ วิพากษ์