• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคดีซ่าน ตาเหลือง

โรคดีซ่าน ตาเหลือง

“ดีซ่าน” เป็นคำพื้นบ้านที่ใช้เรียกโรคที่ผู้ป่วยมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง บางคนเข้าใจว่าดีซ่านเป็นโรคอย่างหนึ่งอย่างเดียว แต่ที่จริงไม่ใช่เพราะอาการตาเหลืองตัวเหลืองนี้เป็นเพียงอาการของโรคมากมายหลายโรค ถ้าจะเปรียบกับโรค “ปวดหัว” ก็ได้ กล่าวคือ “ปวดหัว” ก็เป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งของโรคร้อยแปดชนิด นั้นเวลาที่หมอบอกคนไข้ว่าเป็น “ดีซ่าน” ก็เพียงแต่บอกว่าคนไข้มีอาการตาเหลืองตัวเหลืองเท่านั้น ไม่ได้บ่งเลยว่าโรคที่เป็นสาเหตุของอาการนี้เป็นโรคอะไรแน่

บางคนเข้าใจว่า “ดีซ่าน” เป็นโรคของระบบน้ำดี บางคนเข้าใจว่าเป็นโรคตับอักเสบ ซึ่งก็มีโอกาสถูกได้บ้าง คือทั้งโรคของระบบน้ำดีก็ดีหรือโรคของตับก็ดี อาจทำให้คนไข้ตาเหลืองตัวเหลืองได้ แต่โดยที่จริงแล้วยังมีโรคอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นดีซ่านได้ ตัวอย่างเช่น โรคไข้ทัยฟอยด์ โรคมาลาเรีย โรคตับแข็งจากพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งในตับ และโรคเลือดอีกหลายอย่างก็อาจทำให้เป็น “ดีซ่าน” ได้เช่นกัน (ดูรายละเอียดในตารางแยกแยะสาเหตุของดีซ่าน)

เนื่องจากอาการ “ดีซ่าน” นี้อาจมีสาเหตุได้มากมาย การที่จะทำการรักษาได้ตรงต่อโรคก็จะต้องทราบโรคที่เป็นสาเหตุนั้นเสียก่อน ซึ่งจำเป็นที่แพทย์จะต้องซักประวัติ ตรวจร่างกายคนไข้ และตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ รวมทั้งถ่ายเอ๊กซเรย์พิเศษบางอย่าง การวินิจฉัยโรค จึงมักเป็นเรื่องยากและเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น บุคลากรอื่นๆ ไม่ควรพยายามวินิจฉัยโรคต้นตอที่เป็นสาเหตุของดีซ่าน หรือให้การักษาอย่างใดอย่างหนึ่งไปเอง เพราะมีโอกาสผิดพลาดและมีอันตรายกับคนไข้ได้มาก ในแง่ของการรักษาโรคนี้ จึงไม่เหมือนกับโรคปวดหัว โรคปวดหัวอาจให้ลองกินยาแก้ปวดดูก็ได้อาจหายเอง แต่โรค “ดีซ่าน” ต้องส่งผู้ป่วยให้แพทย์ลงความเห็น และวินิจฉัยโรคก่อนให้การรักษาที่สมควร บางครั้งแพทย์อาจรักษาด้วยยา แต่บางโรคก็อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดก็ได้

อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยกับอาการตาเหลือง ตัวเหลือง(ดีซ่าน)นี้ มีมากมายแล้วแต่โรคที่เป็นสาเหตุของดีซ่านในผู้ป่วยรายนั้นๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา มีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น คันตามตัว ท้องบวม(ท้องมาน) ขาบวม น้ำหนักลดเป็นต้น อาการร่วมเช่นนี้ อาจพบเพียงอย่างเดียว สองอย่าง หลายๆ อย่าง หรืออาจมีอาการอื่นๆร่วมได้อีกแตกต่างกันเป็นรายๆ ไป (ดูในคอลัมน์ “เรียนหมอจากภาพ” ประกอบด้วย)

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการดีซ่าน

แม้ว่า “ดีซ่าน” จะเกิดจากโรคต่างๆ ได้มากมายหลายชนิด ในทางปฏิบัติเราก็มีแนวทางที่จะดูแลจัดการคนไข้ดีซ่านได้กว้างๆ คล้ายคลึงกัน ดังนี้

1. ผู้ป่วย “ดีซ่าน” ทุกคนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยรอดูว่าอาการจะค่อยยังชั่วขึ้นเองหรือไม่ การถ่วงเวลารอดูไปก่อนอาจทำให้โรคลุกลามมากขึ้น รักษายากขึ้น มีโอกาสหายน้อยลง หรือเป็นอันตรายยิ่งขึ้นได้

2. ควรพักผ่อนร่างกายให้มากที่สุด ในขณะที่มีอาการตาเหลืองตัวเหลือง ควรนอนพักให้มาก งดออกกำลังกาย หยุดทำงาน หยุดเที่ยวเตร่ ถ้าเป็นลูกจ้างก็ควรขอใบรับรองแพทย์ให้หยุดงานก่อนจนกว่าแพทย์จะเห็นว่าให้กลับทำงานได้ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรมากนอกจากตาเหลืองตัวเหลือง ก็ควรให้พักผ่อนอยู่กับบ้านเฉยๆ เพื่อลดการอักเสบของตับ หรือ อวัยวะอื่นที่เป็นสาเหตุของดีซ่านในผู้ป่วยนั้น

3. ผู้ป่วยบางคนอาจเบื่ออาหารคลื่นไส้ ก็พยายามเลี่ยงอาหารประเภทที่ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ เช่น อาหารมันๆ ให้ดื่มน้ำมากๆ จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก็แล้วแต่ผู้ป่วยต้องการ แต่หากผู้ป่วยอยากกินอาหารประเภทใดก็ให้กินได้ไม่มีข้อห้ามสำคัญ ยกเว้น ผู้ป่วยที่มีท้องบวม (ท้องมาน) และเท้าบวมร่วมด้วย ไม่ควรให้กินของเค็ม (เกลือ น้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ของเผ็ดและเครื่องเทศ ฯลฯ) แต่ถ้าผู้ป่วยไม่บวม ก็ไม่มีของแสลงสำหรับผู้ป่วยดีซ่าน ควรให้กินอาหารทุกประเภททั้งผัก เนื้อ ผลไม้ ขนมหวาน เพื่อซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย

4. งดดื่ม สุรา เบียร์ และของมึนเมาทุกชนิดโดยเด็ดขาด โรคดีซ่านหลายประเภทเกิดจากพิษสุราทำลายตับ หากผู้ป่วยยังดื่มสุราต่อไปอาจทำให้ตับทรุดเป็นอันตรายมาขึ้นอีกได้ สำหรับบุหรี่อาจสูบได้บ้าง แต่ถ้างดได้ก็ดี

5. อย่าซื้อยาให้ผู้ป่วยกินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ยาหลายชนิด (เช่น เตตร้าซัยคลีน) รบกวนการทำงานของตับ หากไม่ทราบผลเสียของยาแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก

6. ห้ามฉีดยาเอง การฉีดยาในผู้ป่วยดีซ่านต้องระวังมาก และเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น แม้แพทย์เองก็ต้องระมัดระวังเรื่องการฉีดยาในผู้ป่วยดีซ่าน หากไม่จำเป็นจริงๆ แล้วไม่ควรทำ เพราะนอกจากผลเสียที่อาจมีต่อตับแล้ว ยังอาจเกิดการติดเชื้อโรค หรือเลือดออกในบริเวณที่ฉีดยาได้ง่าย บุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์จึงไม่ควรฉีดยาให้ผู้ป่วยดีซ่านเป็นอันขาด

การให้น้ำเกลือก็ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น หากให้น้ำเกลือผิดชนิดหรือผิดปริมาณอาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วยยิ่งไปอีก

7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีเชื้อโรคไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบอยู่ เชื้อโรคนี้อาจติดต่อจากผู้ป่วยไปยังคนใกล้ชิด บุคลากร และผู้ดูแลได้ง่ายหากต้องเจาะเลือดผู้ป่วยเหล่านี้ ควรใส่ถุงมือและใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

8. ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรรักษาอนามัยด้านการขับถ่ายอย่างดี อุจจาระ ปัสสาวะของผู้ป่วยควรได้รับการกำจัดอย่างสะอาด เข้าส้วมควรล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง การปรุงอาหารก็ต้องระวังความสะอาด ผู้ป่วยดีซานไม่ควรกินอาหารปะปนกับบุคคลอื่นในบ้าน เพราะโรคดีซ่าน บางชนิดอาจติดต่อได้ทางอาหาร

9. ผู้ที่ป่วยเป็นดีซ่านหรือเคยเป็นมาแล้วในอดีตไม่ควรบริจาคโลหิตเป็นอันขาด โรคไวรัส ซึ่งอาจอยู่ในร่างกายต่อไปได้อีกหลายปี และอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้

กล่าวโดยสรุป ผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) ควรไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุดทุกราย อย่าซื้อยากินเอง อย่าฉีดยาเอง อย่ารอเวลาว่าจะค่อยยังชั่วขึ้นเองไหม หยุดทำงาน หยุดออกกำลังกาย พักผ่อนร่างกายให้มากที่สุด กินอาหารตามใจชอบ (แต่ถ้าตัวบวมท้องบวมให้งดของเค็ม) งดสุราและของมึนเมาเด็ดขาด รักษาความสะอาดและอนามัยในการประกอบอาหาร การกินอาหารและการขับถ่าย หากปฏิบัติได้ดังนี้ก็อาจช่วยบรรเทาอาการและความรุนแรงของโรคได้มาก ส่วนการที่โรคจะเป็นนานเท่าไร จะรักษาหายสนิทดีหรือไม่ จะต้องกินยาอะไร หรือจะต้องผ่าตัดหรือไม่นั้นก็สุดแท้แต่โรคที่เป็นสาเหตุของอาการดีซ่านในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้นที่จะวินิจฉัยตัดสิน

 

 

ข้อมูลสื่อ

5-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522
โรคน่ารู้
นพ.นุสนธ์ กลัดเจริญ