• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง

วันนี้จะว่ากันถึงเรื่องความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชอบคุยถึงกันบ่อยๆ ในสภากาแฟ ยิ่งคุยมาก ยิ่งกลัวมาก ความดันโลหิตก็ยิ่งสูงมาก

วิธีปฏิบัติตัวไม่ให้เป็นความดันโลหิตสูงก็มีครับ แต่เอาไว้ตอนท้ายๆ ผมค่อยบอกนะครับ ตอนนี้เอาทฤษฎีเสียก่อน

ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันในหลอดเลือดแดง

เมื่อหัวใจบีบตัวครั้งหนึ่ง ก็จะบีบเลือดออกจากหัวใจ ไปตามหลอดเลือดแดง ความดันในหลอดเลือดแดงก็จะขึ้นสูงเสียทีหนึ่ง พอหัวใจสบายตัวความดันในหลอดเลือดแดงก็ลดลง ความดันในหลอดเลือดแดงหรือความดันโลหิตจึงมี 2 ช่วง คือ ช่วงบนกับช่วงล่าง ทางการแพทย์เรียกช่วงบนว่า ความดันซีสโตลิค (Systolic) และช่วงล่างว่า ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic)

ชาวบ้านทั่วไปมักไม่ทราบว่าความดันมี 2 ช่วง

“ความดันอีชั้น 120 ค่ะ” ป้าบอกกับหมอ

“ความดันไหนครับคุณป้า อันบนหรืออันล่าง” หมอถาม

“อีชั้นก็ไม่ทราบค่ะ ทราบแต่ว่า 120”

อย่างนี้หมอก็บอกไม่ได้ว่า ความดันสูงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นความดันช่วงบน 120 มันก็ปกติ แต่ถ้าเป็นความดันช่วงล่าง 120 ก็ถือว่าสูงผิดปกติ

แล้วไอ้ตัวเลขที่ว่า 120, 130 นี่มันอะไรกัน?

ตัวเลขนี้หมายถึง แรงดันในหลอดเลือดแดงสามารถดันปรอทขึ้นไปได้สูงกี่มิลลิเมตร หน่วยของแรงดันเลือด คือ มิลลิเมตรปรอท 120 ก็หมายความว่า แรงดันนั้นสามารถดันปรอทขึ้นสูงจากระดับหัวใจได้ 120 มิลลิเมตร

จะสังเกตได้ว่าที่เครื่องวัดความดันโลหิตมีปรอทวิ่งขึ้นลงอยู่ในหลอดแก้วที่มีขีด และตัวเลขบอกความสูงเอาไว้ การวัดความดันนี้ง่ายมาก ถ้าไม่เชื่อ เวลาเจอหมอหรือพยาบาลที่ใจดี ลองหัดวัดดูก็ได้ ถ้าบอกว่าความดันโลหิต 120/80 ก็หมายถึง ความดันช่วงบน 120 ช่วงล่าง 80 และเขาจะบอกเป็นคู่อย่างนี้เสมอ ความดันโลหิต ช่วงบนประมาณ 110-150 และช่วงล่างประมาณ 70-80 แต่คนที่มี ความดันช่วงบนเพียง 100 ถ้ายังทำมาหากินปกติ ก็ไม่ถือว่าต่ำ

ในคนอายุมาก ความดันช่วงบนอาจสูงกว่าคนหนุ่มสาว เช่น คนอายุ 60 ความดันช่วงบน 160 ก็ถือว่าปกติได้ ในคนสูงอายุ ความดันช่วงล่างอาจต่ำลงได้ เช่น เหลือ 50-60 ฉะนั้นถ้าเจอคุณตาคนหนึ่ง อายุ 60 และความดันของแก 170/60 ก็อย่าไปโวยวายอะไร ที่ความดันของคนแก่ขึ้นลงหวือหวามากกว่าคนหนุ่มสาว ก็เพราะผนังของหลอดเลือดมันแข็งตัวไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร ความยืดหยุ่นนั้นทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหวือหวาเกินไป ถ้าพบคุณอายุ 60-70 แล้วความ 120/80 ก็ต้องชมว่าทานยังหนุ่มหรือสาวอยู่ (ที่เส้นเลือด) ส่วนจะเตะปี๊บดังหรือไม่ดังไม่เกี่ยว

จะต้องทราบอีกอย่างหนึ่งว่า ความดันของคนเรานั้นวันหนึ่งๆ มันไม่คงที่

“ความดันของคุณ 120/80 ปกติครับ” หมอบอก

“เดี๋ยวก่อนครับคุณหมอ เมื่อวันก่อนผมวัดความดันกับหมออีกคนได้ 130 นี่ครับ”

“ปู้ดโธ่” หมอชักความดันขึ้นนิดๆ “ได้ความดันของคนนี่มันไม่ได้คงที่เป็นเส้นตรงนะครับ”

“มันแกว่งขึ้นลงได้เหมือนคลื่น” หมออธิบายต่อ “ถ้าตอนไหนอารมณ์มันตึงเครียด ความดันมันก็สูงขึ้นได้”

มิน่าล่ะ หมู่นี้คนโน้นคนนี้ความดันสูงกันใหญ่ เพราะมีเรื่องเครียดกันมาก ! ยิ่งบ้านเมืองเจริญทางวัตถุมาก ผู้คนยิ่งยุ่งมาก ยิ่งสับสนมาก ยิ่งแก่งแย่งกันมาก ความดันมันก็ยิ่งขึ้น นอกจากความเครียดแล้ว ความดันโลหิตสูงยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญที่สุด คือ โรคไต ถ้ารักษาควบคุมไม่ดี คนเป็นเบาหวานอาจเป็นโรคไต และโรคไตก็ทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ฉะนั้นคนเป็นเบาหวานจึงอาจมีความดันโลหิตสูง

โดยทั่วๆ ไป ความดันโลหิตสูงมักเป็นในคนอายุเกิน 40 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ จะหาสาเหตุ จากความผิดปกติทางกายไม่พบ บางครั้งจะพบว่า มีสาเหตุทางกรรมพันธุ์ด้วย ถ้าพบว่าคนอายุต่ำว่า 40 ปี เป็นความดันโลหิตสูง ก็ต้องตรวจให้ละเอียดว่ามีโรคอันเป็นสาเหตุของความดันสูงซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะโรคไต ซึ่งพบได้บ่อยๆ ที่สุด

นอกจากนี้ก็อาจมีสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดแดง ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ หรือ ระบบฮอร์โมน (เช่นโรคเบาหวาน คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกของต่อหมวกไต ฯลฯ)

ในเมื่อความดันโลหิตสูง อาจมีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตึงที่ต้นคอ เหนื่อยง่าย หรือถ้าความดันสูงมากๆ ก็อาจมีตามัว หรือเหนื่อยหอบ หรือบวมทั้งตัว เพราะหัวใจทำงานไม่ได้ (หัวใจวาย) หรือเส้นโลหิตในสมองแตกมีอาการหมดสติ เป็นอัมพาตหรือตาย แต่คนที่มีความดันโลหิตสูงไม่จำเป็นต้องมีอาการเลย ฉะนั้นที่จะทราบแน่นอนว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดวัดดู

ปัญหาก็มีอยู่ว่า ประเทศไทยมีพลเมือง 45 ล้านคน ถ้าสมมติคนสัก 20 ล้านคน ต้องการวัดความดันโลหิต ถ้าเฮโลไปวัดที่โรงพยาบาลๆ ก็จะพัง จะไปหาหมอก็ไม่มีหมอที่ไหนจะมาวัดได้พอ

แล้วจะทำอย่างไร?

อ้าว ! ถ้าไม่มีหมอวัด ก็ไม่ต้องวัดน่ะซี

แล้วถ้าเผื่อมันสูงล่ะ

ก็แล้วจะให้ทำอย่างไร ในเมื่อไม่มีหมอวัดพอ

ก็ให้คนอื่นวัดไม่ได้หรือ ชาวบ้านก็ได้ ไหนว่าวัดไม่ยากอย่างไร

จริงซี ชาวบ้านก็หัดวัดความดันโลหิตกันได้

อ้าว ! เดี๋ยวไม่หลอกลวงกันใหญ่หรือว่าสูงไม่สูง

การหลอกลวงนี้ มันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้ายาขอหมอฟรี ใครจะคิดปลอมยา

แต่เมื่อยามีมูลค่าขึ้น ก็มียาปลอมเกิดขึ้น

ถ้าชาวบ้านที่เป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน รู้จักวิธีการรักษาโรคมากเท่าไร การปลอมกาหลอกลวงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็จะมีน้อยลงเท่านั้น

ความดันโลหิตที่จะสูง ก็คือ ความดันช่วงล่างสูงเกิน 90 ขึ้นไป ความดันช่วงล่างนั้นสำคัญกว่าช่วงบน เช่น

ความดัน 160/80 ในคนอายุ 60 ปี เราไม่ถือว่าสูง

แต่ถ้าความดัน 150/95 หรือ 160/95 เราก็ถือว่าสูงแล้ว

ที่สูงชัดเจน ก็เช่น 180/110 หรือ 240/140 เป็นต้น

ก่อนจะพูดถึงการรักษาจะขอกล่าวถึงข้อสำคัญสัก 2-3 ข้อ คือ

1. พอได้ยินว่าเป็นความดันโลหิตสูง ก็อย่าไปกลัวมันจนอุจจาระขึ้นสมอง หรือกลัวเหมือนกลัวผีเพราะยิ่งกลัวยิ่งกังวล ความดันมันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้ายิ่งมันไม่สูงมาก เช่น 150/100 ก็เกือบไม่ต้องกินหยูกกินยาอะไร เพียงแต่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องมันก็จะลดลงได้

ปฏิบัติตัวอย่างไร ?

  • อ้าว ! ก็คนที่อ้วนเกินไป ก็ทำให้มันผอมเสียบ้าง
  • คนที่ไม่ออกกำลังกาย ก็ออกกำลังกายเสียบ้าง
  • คนที่วิตกกังวล ก็อย่าวิตกกังวล
  • คนที่โกรธ ก็อย่างโกรธ
  • คนที่เกลียด ก็อย่าเกลียด
  • คนที่โกง ก็อย่าโกง !

อันหลังนี่ผมพูดเพลินเลยแถมเข้าไปด้วย แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นความจริง ถ้าใครลองวิจัยดูโดยวัดความดันโลหิต เปรียบเทียบระหว่างคนโกงกลุ่มหนึ่ง กับคนไม่โกงกลุ่มหนึ่ง กลุ่มคนโกงน่าจะมีความดันสูงกว่า เพราะมันเครียดและวิตกกังวลว่าเขาจะจับได้ หรือกลัวว่าจะถูกโกงบ้าง

แต่การวิจัยนี้คงทำได้ยาก เพราะขาดอาสาสมัครที่ถูกต้องของแต่ละกลุ่ม

2. ในขณะที่บอกว่าอย่าไปกลัวมันมาก แต่ก็ไม่ควรจะละเลย โรคความดันโลหิตสูงมันไม่ใช่รักษาแล้วหายขาดเหมือนรักษาไข้มาลาเรียหรือวัณโรค ถึงความดันมันลดไปแล้ว มันอาจจะขึ้นมาใหม่ก็ได้ ฉะนั้นไม่ใช่ว่ากินยาทีเดียว แล้วหลังจากนั้นไม่สนใจอีกเลย

ควรตรวจสอบดูเป็นระยะๆ

เอ๊ะ ! แนะนำอย่างนี้จะทำให้ไปเป็นเหยื่อหมอหรือไง ขึ้นไปวัดบ่อยๆ และเสียเงินทุกทีก็ล้มละลายกันพอดี จะไปโรงพยาบาล คนก็แน่นยังกับมด ปะเหมาะเคราะห์ร้ายเป็นลมเป็นแล้วไปเลย หรือซวยหน่อยก็ถูกดุ ใครที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง ถ้าพอมีสตางค์บ้าง โดยไม่ต้องไปกู้เขามาเสียดอกแพงๆ ก็ลองซื้อเครื่องวัดความดันมา แล้วขอให้หมอ หรือพยาบาลสอนให้วัด แล้วช่วยวัดให้คนไข้ที่บ้าน จะสะดวกสบายขึ้นเยอะทีเดียว (อยากวัดเป็น ลองพลิกไปอ่าน “วิธีวัดความดันโลหิต” ในฉบับนี้ซิครับ)

“ป้าเคยตรวจครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว หมอเขาว่าความดันโลหิตสูง” ป้าคนหนึ่งบอกหมอ

“แล้วป้าทำไมไม่ตรวจซ้ำอีกเล่าครับ” หมอถาม

“อ้าว ! ก็ป้ารู้ว่ามันไม่สูงแล้วน่ะซี”

“ป้ารู้ได้อย่างไรครับ” หมอชักฉุน

“อ้าว ! ก็มันไม่ปวดหัวนี่”

ตัวอย่างข้างต้นเป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อย คือ เข้าใจว่าถ้าความดันสูงละก็ต้องปวดหัว ถ้าไม่ปวดหัว ความดันไม่สูง ความเป็นจริง ก็คือ ในคนความดันสูง ส่วนใหญ่ไม่ปวดหัว คนปวดหัว ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความดันสูง สำหรับการรักษานั้น แล้วแต่ความรุนแรง ถ้าความดันสูงเล็กน้อย เช่น 150/100 จากการปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ได้กินยา ความดันก็อาจลดมาปกติได้ หรืออาจกินยากล่อมประสาท เช่น ยาเม็ดไดอาซีแพม อย่าง 2 มิลลิกรัม (เม็ดละประมาณ 25 สตางค์) เช้าเม็ด เย็นเม็ด ความดันก็อาจลดลงมาเป็นปกติได้

ถ้ายังไม่ลง ก็คงจะต้องใช้ยาอื่นช่วย ซึ่งอาจจะใช้

ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาเม็ดไดคลอไทรด์ เม็ดละ 50 มิลลิกรัม (ราคาเม็ดละประมาณ 30 สตางค์) หรือ ยาเม็ดฮัยโดรคลอโรไธอาไซด์ (ขนาด 50 มิลลิกรัม เม็ดละประมาณ 25 สตางค์ เกินวันละ 1 เม็ด ตอนเช้า หรือ เช้าเม็ด กลางวันเม็ด ไม่ควรกินตอนเย็นเพราะจะทำให้ต้องลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะตอนกลางคืน แทนที่จะได้นอนหลับสบาย

การขับปัสสาวะนี้ มีการขับเกลือและขับน้ำออกไปจากร่างกาย ทำให้ความดันลด

การกินยาขับปัสสาวะติดๆ กันหลายวัน มีข้อเสีย คือ มันขับธาตุโปแตสเซียมออกไปด้วย เมื่อร่างกายขาดธาตุโปแตสเซียมก็จะเป็นตะคริว การแก้หรือกันก็คือ กินโปแตสเซียมเข้าไปมากขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดยกินส้มมากๆ หรือกินโปแตสเซียม เช่น ยาโปแตสเซียมคลอไรด์ ซึ่งมีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ แต่การกินสัมน่าจะอร่อยกว่าการกินยา

บางคนกินยาขับปัสสาวะวันละเม็ด หรือวันเว้นวัน ความดันก็ลงแล้ว ถ้าไม่ลงก็ต้องใช้ยาอื่นอีก เช่น

รีเซอร์พีน เม็ดละ 0.25 มิลลิกรัม (ราคาเม็ดละ10 สตางค์) กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ในบางคนยานี้ทำให้คัดจมูก คอแห้ง ซึม อารมณ์ไม่แจ่มใส

ข้างบนนั้นเป็นยาอ่อน ยังมียาแรงๆ อีก ซึ่งเขาไว้ใช้ในรายที่มีความดันสูงมากๆ ยาเหล่านี้อันตรายมาก เพราะถ้าให้มากเกินจะทำให้ความดันต่ำถึงตายได้ เป็นเรื่องที่ผู้ใช้ต้องมีความชำนาญในการใช้และการระวัง

โดยมากเขาจะให้ยาให้ความดันเลือดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 140/80

ก่อนจบ ผมขอกระซิบว่า จากผลของการวิจัยพบว่า

คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นความดันโลหิตสูงน้อยกว่าคนที่ทำงานเบา และไม่ออกกำลังกาย

สมุนไพรที่ลดความดัน

มีความเชื่อในหมู่หมอโบราณและชาวบ้านเราว่า สมุนไพรก็ใช้ลดความดันโลหิตได้ ซึ่งหาได้ง่าย มีดังนี้

1. ระย่อม (เล็ก) ใช้รากปรุงเป็นยา กินแก้ความดันโลหิต (ระย่อมมี 2 ชนิดเล็กกับใหญ่ เลือกใช้ชนิดเล็ก ส่วนมากใช้ปรุงร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ)

2. กาฝาก ที่เกิดจากต้นมะม่วงทุกชนิดรวมทั้งมะม่วงกะล่อนด้วย ต้มกินเป็นน้ำชา ลดความดันโลหิต

3. กาหลง (เรียกส้มเสี้ยวก็ได้) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกต้มกินแก้ความดันโลหิต

4. ขี้เหล็กบ้าน ดอกต้มกินแก้ความดันโลหิต

5. ขึ้นฉ่าย (จีน) ใช้ต้มกินแก้ความดันโลหิต

หมายเหตุ

ทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า รากระย่อมนั้นใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงจริง และสกัดเป็นยาเม็ดใช้กันทั่วไปมีชื่อว่า รีเซอร์พีน (ราคาเม็ดละ 10 สตางค์) นั่นแหละครับ

ส่วนสมุนไพรตัวอื่นๆ ก็มืได้รับการยืนยันจากวงการแพทย์ ก็คงจะต้องรอพิสูจน์กันต่อไป แพทย์ หมอชาวบ้าน หรือประชาชนท่านใดใช้สมุนไพรเหล่านี้ หรือสมุนไพรอื่นใดรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ผล โปรดแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” ด้วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

ข้อมูลสื่อ

6-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
โรคน่ารู้
ศ.นพ.ประเวศ วะสี