• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขี้หู ขี้หู ขี้หู

ขี้หู ขี้หู ขี้หู

 

                        

 

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงโครงสร้างของหูไปแล้ว พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายถึงขี้หูว่ามีหน้าที่สำคัญอย่างไร ควรทำความสะอาดหูอย่างไร และแค่ไหน เอาล่ะ! มาว่ากันต่อเลย

คำว่า “ขี้” ทุกคนก็ย่อมรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ไม่ว่าของสิ่งใด ถ้ามีคำว่า ขี้ นำหน้าแล้วมักจะไม่เป็นมงคลเสมอ อย่างอวัยวะในร่างกาย เช่น หัว ตา จมูก ปาก ฟัน ผิวหนัง ถ้าเติม คำว่า “ขี้” ลงไปข้างหน้า เป็นขี้หัว ขี้ตา ขี้มูก ขี้ปาก ขี้ฟัน ขี้ไคล คนก็ไม่อยากแตะต้อง ได้ยินชื่อก็ไม่เสนาะหู ด้วยภาพพจน์เช่นนี้ จึงทำให้ “ขี้” ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของดี ดีอย่างวิเศษทีเดียว มีประโยชน์มากมายแต่ต้องถูกมองเป็นของไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจไปด้วย สิ่งนั้นคือ “ขี้หู”

“ขี้หู” อยู่เกือบนอกสุดของหู ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ

1. เป็นยาฆ่าเชื้อ คอยทำลายแบคทีเรียที่จะล่วงล้ำเข้าไปในรูหู เพราะถ้ามีการติดเชื้อของผนังรูหู การอักเสบก็จะลามลึกเข้าสู่หูส่วนกลางและส่วนในได้

2. คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู เช่น แมลง หากจะบินเข้าหูก็จะติดขี้หู หรือแม้แต่จะมีผงหรือฝุ่นละอองเข้าหู ก็จะติดอยู่ที่ขี้หูก่อน

3. ทำหน้าที่หล่อลื่นและเคลือบผนังหูให้ชื้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการอักเสบ ในฤดูหนาวผิวหนังจะเป็นขุยขาวๆ ซึ่งเกิดเพราะความชื้นในอากาศต่ำ ผิวหนังจึงแห้ง แตก และคัน อาจต้องทาครีม แต่ผิวหนังของรูหูบางกว่ามาก จึงต้องมีน้ำมันคอยเคลือบอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นก็จะแตกระแหง เกิดการติดเชื้อตามมาได้ง่าย
 



ปกติขี้หูคนเราจะมีการสร้างขึ้นตลอดเวลา ขี้หูที่สร้างใหม่จะชื้น พอเก่าแล้วจะแห้ง และด้วยความกระเทือนของการเคี้ยวอาหาร ขี้หูก็จะหลุดออกมาเอง แล้วก็สร้างขึ้นใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา บางคนที่มีการสร้างขี้หูมากกว่าปกติ ยังไม่ทันแห้งก็สร้างขึ้นใหม่ ทำให้เกิดอัดกันแน่นขึ้น อาการเช่นนี้แพทย์จะเป็นผู้รักษาให้ พบไม่บ่อยนัก

ผู้เขียนทำงานทางด้านนี้มานานพอดู พอจะประเมินสาเหตุได้ว่า การอักเสบของหูส่วนนอกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะ
1. ถ้าเป็นผู้ชาย ก็มักซุกซนเอาของแข็งแคะหูเอง หรือให้ช่างตัดผมแคะเอาขี้หูออกให้ บอกว่าคันๆ พอแคะเสร็จก็ว่าสบายดี ผลคือเมื่อไม่มีขี้หูก็เกิดเชื้อราขึ้นแทน

2. ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็จะเกิดจากความรักของคุณแม่ที่ดูแลสุขภาพลูกอย่างดีมาก คือเมื่อเห็นในหูลูกมีขี้หู ก็พยายามเอาออกให้ บางคนใช้กิ๊บติดผมแคะหู บางคนทันสมัยหน่อยก็ใช้ไม้พันสำลีสำเร็จรูป (ที่ว่าสะอาดบริสุทธิ์แล้ว) แคะ แต่ความจริงเป็นการกระทุ้งขี้หูที่อยู่ตื้นๆ ให้ลึกเข้าไป รอวันที่จะอักเสบและเป็นหนองเท่านั้น หรือถ้าเช็ดขี้หูออกได้จนหมด ก็คือการเช็ดเอายาวิเศษที่ช่วยป้องกันโรคหู ออกไปนั่นเอง

3. เด็กโตมักชอบใช้วัตถุเท่าที่จะหาได้ไชหูเล่น อาจไชหูตัวเอง หรือบางครั้งก็ไชหูเพื่อน สนุกดี ผลก็คือ ขี้หูถูกกระทุ้งลึกเข้าไป หนังหูถลอก บางครั้งลึกจนแก้วหูทะเล (เมื่อแก้วหูทะลุ การได้ยินเสียงจะเสียไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บางคนไม่รู้ตัวว่าแก้วหูตนเองทะลุด้วยซ้ำ) เมื่อแก้วหูทะลุก็จะเกิดการอักเสบของหูส่วนกลาง และลามถึงส่วนในได้ง่ายง่ายมาก

ธรรมชาติได้สร้างหูไว้ในที่ๆปลอดภัยที่สุดแล้ว ได้สร้างขบวนการป้องกันอันตรายไว้ให้หลายอย่าง โดยเฉพาะปราการด่านแรกคือ ขี้หู ซึ่งมีประโยชน์เหลือหลายดังกล่าวแล้ว แต่ทำไมเราจึงไปรังเกียจสิ่งที่มีประโยชน์นี้กันหนักหนา จะว่าน่าเกลียดก็ไม่ได้มีใครมองเห็น จะว่าหนักหูก็คิดว่าน้ำหนักคงไม่มีปัญหาแน่ๆ จะว่าทำให้คันหูก็ไม่ใช่ ตรงข้ามจะป้องกันการคันหูให้ด้วยซ้ำ
ปัญหาอันเกิดจากขี้หูอาจมีบ้าง ถ้าหากมีการสร้างมากเกินขนาดในบางคน จะทำให้เกิดการอัดแน่นในรูหู ทำให้หูอื้อ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขอให้นึกถึงแพทย์เป็นอันดับแรก หน้าที่แคะขี้หูเป็นหน้าที่ของแพทย์ เพราะแพทย์จะพิจารณาเสียก่อนว่าควรแคะออกหรือไม่ ไม่ใช่ว่ามาจ้างให้แคะก็แคะ หรือถ้าท่านคิดว่าจะทำความสะอาดหู ผู้เขียนมีข้อแนะนำดังนี้

1. ถ้าจะเอาอะไรไชหูก็ขอให้เอานิ้วมือของท่านเอง
จับผ้าสะอาดหรือสำลีเช็ดเข้าไปในรูหู (โดยไม่มีไม้หรือเหล็กต่อ) ลึกเท่าที่นิ้วมือจะเข้าไปได้ เท่านั้นเป็นพอ ลึกไปกว่านั้นไม่ต้องไปแตะต้อง

2. ถ้าอยากจะใช้ไม้พันสำลีสำเร็จรูป ก็ขอให้ใช้เช็ดที่ใบหู ตามซอกต่างๆ อย่าใช้เป็นเครื่องมือกระทุ้งขี้หูเป็นอันขาด เพราะจะเกิดอันตรายและข้อเสียอย่างมากมายดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อท่านไม่รังเกียจขี้หู ไม่มองขี้หูว่าเป็นสิ่งปกติ หรือขอเพียงให้ความสนใจหูให้น้อยลงกว่าเดิมสักหน่อย คือ เลิกแคะหู ท่านก็จะไม่เป็นโรคหู หรือจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหู ซึ่งขณะนี้มีมากที่สุดของประเทศ (ตามผลงานวิจัยของทั้งกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัย) ก็จะลดลงได้มาก


ขอให้ท่านผู้ไม่แคะหู จงมีแต่ความสุข

 

ข้อมูลสื่อ

85-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
เรื่องน่ารู้
นพ.จินดา ผลารักษ์