• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กุยช่าย – แก้ช้ำใน

กุยช่าย – แก้ช้ำใน

 

กุยช่าย เป็นผักที่เรารู้จักกันดี เป็นผักที่เรากินกันตลอดปี โดยเฉพาะขนมกุยช่ายเป็นขนมที่มีขายอยู่ทั่วๆไป ไม่ว่าจะใส่ไส้อะไร เราก็มักเรียกว่าขนมกุยช่ายติดปากอยู่เสมอ
กุยช่ายเป็นอาหารที่ชาวจีนรู้จักมากว่า 3 พันปี ประวัติศาสตร์ในสมัยเซี้ย (2205-1766 ก่อนคริสต์ศักราช) ก็ได้บันทึกถึงการเพาะปลูกกุยช่ายเพื่อเป็นอาหาร

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium tuberosum Rottler. วงศ์ Alliaceae.

⇒ สรรพคุณ
ใบกุยช่ายมีคุณสมบัติร้อน รสเผ็ด สรรพคุณแก้อาการแน่นหน้าอก อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาออก ปัสสาวะเป็นเลือด บิด ริดสีดวงทวาร พลัดตกหกล้ม ช้ำใน แมลงและแมงป่องกัดต่อย
เมล็ดกุยช่าย มีสรรพคุณใช้รักษาระดูขาว ปัสสาวะมากผิดปกติ
ใบและรากกุยช่าย แม้จะมีสรรพคุณเหมือนกัน แต่ใบมีฤทธิ์กระจายห้อเลือด โดยใช้น้ำที่คั้นจากใบดื่ม แต่รากจะออกฤทธิ์ในบริเวณขาได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ห้ามเหงื่ออีกด้วย
 

⇒ ตำรับยา (ในทรรศนะจีน)
1. ห้อเลือดบริเวณท้อง : กินน้ำคั้นจากกุยช่ายจำนวนพอควร(แล้วแต่อาการความรุนแรงของโรค)

2. แมลงเข้ารูหู : คั้นเอาน้ำจากกุยช่ายหยอดหู แมลงจะวิ่งออกมา (ต้องตะแคงหูขึ้น)

3. พลัดตกหกล้มหรือเคล็ดขัดยอก : กุยช่ายสด 3 ส่วน แป้ง 1 ส่วน ตำให้แหลกและคลุกเคล้ากัน พอกบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง
หรือใช้กุยช่ายสดล้างให้สะอาด ตำให้แหลก เติมเกลือเข้าไปเล็กน้อย แล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็น ถ้าเป็นน้อยๆ พอกครั้งเดียวก็หาย ถ้าหนักต้องพอกหลายครั้ง
หมายเหตุ : ถ้าเป็นแผลไม่ควรพอก

4. อาเจียน : ใช้น้ำสดครึ่งแก้ว เติมน้ำคั้นจากกุยช่าย 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำขิงสักเล็กน้อยอุ่นให้ร้อนแล้วกิน


⇒ สารเคมีที่พบ
ใบมี Sulfide พวก Glycoside และสารที่มีรสขม นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ บี ซี โปรตีน สารพวกต่อต้านปฏิชีวนะซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและช่วยปรุงแต่งรสอาหารให้อร่อย

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
น้ำที่ได้จากการคั้นต้นกุยช่ายซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำของหนูถีบจักร ในปริมาณ 0.1-0.5 มก./10 กรัม ทำให้หนูสลบ มีอาการเกร็งและคลุ้มคลั่ง หลังจากนั้นจะทำให้หลับและเกิดภาวะ Cyanosis ผิวหนังเป็นสีเขียว(น้ำเงิน) เนื่องจากขาดเลือด ขาดออกซิเจน หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงก็ตาย ถ้าฉีดเข้าไปในกระต่ายจะทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย
ในการทดลองกับหัใจกบนอกร่างกาย ในระยะแรกจะมีฤทธิ์ยับยั้ง หลังจากนั้นก็จะมีฤทธิ์กระตุ้น ถ้าใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นในช่วงที่หัวใจคลายตัว นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเพียงเล็กน้อยต่อขาหลังของกับและกระต่าย

⇒ ข้อควรระวัง
ไม่ควรกินกุยช่ายมาก หรือกินหลังจากดื่มเหล้า สำหรับผู้ที่ระบบการย่อยไม่ดี ไม่ควรกินกุยช่าย เพราะกุยช่ายมีเส้นใยมากทำให้ย่อยยาก ถ้ากินมากเส้นใยจะกระตุ้นลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากขึ้น เป็นเหตุให้ ท้องเสีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรกินกุยช่ายแก่ เพราะกุยช่ายยิ่งแก่ก็ยิ่งมีเส้นใยมากและยิ่งเหนียว ทำให้ยิ่งย่อยยาก

 

ข้อมูลสื่อ

85-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล