• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระวังแพ้เครื่องสำอาง

ระวังแพ้เครื่องสำอาง

 

การประกวดนางสาวไทยประจำปี 2529 ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลายคนอาจรู้สึกผิดหวังที่คณะกรรมการตัดสินไม่ถูกใจตัว ในขณะที่อีกหลายคนอาจชอบใจก็ได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางสาวไทย นางงามโลก นางงามจักรวาล และอีกหลายๆนางสาว ผู้จัดมีแต่กำไร คนดูเนืองแน่นทุกที

นี้แสดงว่ามนุษย์ให้ความสนใจกับความสวยความงาม และด้วยธรรมชาติเช่นนี้ของมนุษย์นี่แหละที่ทำให้มนุษย์บางกลุ่มร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ด้วยการโฆษณาและขายเครื่องสำอาง
ในประเทศไทยปีหนึ่งๆ มีการซื้อขายเครื่องสำอางนานาชนิด คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ทุกสิ่งในโลกนี้เมื่อมีคุณก็มีโทษควบคู่กันไป เครื่องสำอางก็เช่นกัน ทำให้คนเราดูดีขึ้น สวยขึ้น แต่บางครั้งก็อาจทำให้เสียโฉมได้ ขนาดไม่กล้าออกไปสู่หน้าใครๆอีก

“หมอชาวบ้าน” ฉบับนี้จึงใคร่ขอนำท่านไปคุยกับ พญ.เรณู โคตรจรัส ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางตจวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เราจะได้รู้จักและเข้าใจเครื่องสำอางในแง่มุมที่เป็นปัญหาต่อผู้ใช้ เพื่อจะได้ระมัดระวังกันไว้

 

⇒ เครื่องสำอางชนิดที่มีคนแพ้กันบ่อย ได้แก่อะไรบ้าง
เนื่องจากเครื่องสำอางมีหลายประเภท จึงขอกล่าวเป็นแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

- ประเภทที่ใช้กับเส้นผม อันได้แก่ แชมพู ยาย้อมผม ครีมนวดผม น้ำมันใส่ผม และเจลใส่ผม ในกลุ่มนี้ ยาย้อมผมมีคนแพ้กันบ่อยกว่าชนิดอื่น

- ประเภทที่ใช้บนใบหน้า ได้แก่ สบู่ล้างหน้า โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า บรัชออน(Brush on) อายแชโดว์(Eye Shadow) ครีมนวดหน้า ครีมรองพื้น มัสคารา ลิปสติก ในกลุ่มนี้ มีตนแพ้ลิปสติกบ่อย โดยมากเป็นการแพ้สีของลิปสติก

- ประเภทที่ใช้กับลำตัว แขน ขา มือ เท้า ได้แก่สบู่ทั่วไป สบู่เหลว สบู่ยา โลชั่นทาผิว ครีมทาผิว น้ำหอม ในกลุ่มนี้ สบู่ยามีคนแพ้กันมาก

- ประเภทที่ใช้กับเล็บมือ เล็บเท้า ได้แก่ ยาทาเล็บ ยาล้างเล็บ ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้แพ้ได้พอๆกัน

 

⇒ ที่ว่าแพ้เครื่องสำอาง ลักษณะอาการเป็นอย่างไร
การแพ้เครื่องสำอางมีลักษณะหลายประเภทต่างๆกันตามกลไกการเกิดโรคดังนี้

1. ผิวหนังอักเสบจากภาวะภูมิไว้เกิน (Allergic Contact Dermatitis) เกิดจากสาร Paraphenylene diamine ในยาย้อมผม น้ำหอม ยาทาเล็บ สารกันบูด ยาระงับกลิ่นตัว ลิปสติก ลักษณะอาการจะมีผื่นแดง ตุ่มน้ำเหลืองเยิ้ม

2. ผิวหนังอักเสบจากภาวะภูมิไวเกิน ที่มีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น (Paoto Allergic Dermatitis) จะพบผื่นแดง อาจมีตุ่มน้ำและปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย บริเวณที่พบการอักเสบคือส่วนของผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม หู คอ พบบ่อยว่าเกิดจากสบู่ยา เครื่องสำอางที่ผสมน้ำหอม

3. ลมพิษตรงที่สัมผัสถูกสารเคมี (Contact Mrticaria เช่น ใช้น้ำหอมทาที่ซอกคอก็เกิดผื่นลมพิษที่ซอกคอ ผื่นลมพิษนี้จะหายไปเองใน 24 ชม. ถ้าไม่ได้รับสารที่ทำให้เกิดลมพิษอีก มีการพบบ่อยในเครื่องสำอางที่ผสม Cinnamon Aldehyde, Cinnamon Acid, Benzoic Acid, Benzaldehyde)

 

⇒ กรณีที่เกิดการแพ้ขึ้นแล้วควรปฏิบัติอย่างไร
ขั้นแรกให้รีบหยุดใช้เครื่องสำอางที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของการแพ้ รอดูอาการสัก 3-4 วัน ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่หายให้ไปปรึกษาแพทย์ ระหว่างที่รออาจลองรักษาเองโดยใช้สำลี หรือผ้าขาวสะอาด ชุบน้ำต้มสุก ชะน้ำเหลืองออกวันละ 3-4 ครั้ง (ถ้ามีน้ำเหลืองเยิ้ม) ถ้าการอักเสบเป็นเพียงผื่นแดงไม่เยิ้ม ใช้น้ำสุกประคบก็ได้วันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที หากมีอาการคันให้กินยาแก้แพ้ (คลอร์เฟนิรามีน) ขนาด 4 มก. ครั้งละ 1-2 เม็ด (สำหรับผู้ใหญ่) วันละ 3-4 ครั้ง
กรณีที่ไปพบแพทย์ ควรนำเครื่องสำอางพร้อมฉลากแนะนำผลิตภัณฑ์ติดตัวไปให้แพทย์ดูด้วย อาจช่วยให้การหาสาเหตุของการแพ้ง่ายขึ้น

 

⇒ มีวิธีการป้องกันการแพ้เครื่องสำอางหรือไม่
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการการใช้เครื่องสำอางที่มีสารเคมีที่เราเคยแพ้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นการยากมาก เพราะมีหลายสาเหตุ และเครื่องสำอางประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดรวมกัน คนที่แพ้ อาจจะแพ้สารเคมีชนิดเดียว หรือหลายๆชนิด ที่เป็นส่วนผสมก็ได้
ดังนั้นก็คงต้องลองดูก่อนที่จะนำมาใช้จริง โดยลองทาเป็นบริเวณเล็กๆ ที่ท้องแขน แล้วปล่อยไว้ 24-48 ชม. โดยไม่ให้ถูกน้ำ หากปรากฏว่าเกิดผื่นแดงชัดเจน หรือมีตุ่มน้ำร่วมด้วย แสดงว่าแพ้ ก็ไม่ควรนำมาใช้

อย่างไรก็ตาม วิธีทดสอบนี้เชื่อถือไม่ได้ 100% กล่าวคือแม้ผลการทดสอบจะปรากฏว่าไม่แพ้ แต่พอนำมาใช้เข้าจริงๆ อาจแพ้ได้ เพราะมีหลายสาเหตุดังกล่าว แต่ถ้าทดสอบแล้วปรากฏว่าแพ้ แสดงว่าแพ้จริง ไม่ควรใช้อีกต่อไป
วิธีทดสอบที่เชื่อถือได้ดี ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า PATCH TEST ซึ่งมีใช้กันในคลินิกโรคผิวหนังหรือคลินิกโรคภูมิแพ้เป็นส่วนใหญ่

 

⇒  เกี่ยวกับเรื่องสบู่หรือครีมทำความสะอาดผิวหนัง ปรากฏว่าในท้องตลาดมีหลายชนิด เช่น สบู่หอม สบู่เด็ก สบู่เหลว สบู่ยา โฟม ครีม แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร มีหลักเกณฑ์เลือกใช้อย่างไร
จุดมุ่งหมายโดยทั่วไปสำหรับการใช้สบู่ ก็เพื่อขจัดคราบเหงื่อไคล ฝุ่นละออง ไขมันส่วนเกิน สิ่งปนเปื้อนต่างๆ และเชื้อโรคออกจากผิวหนัง
ในคนปกติทั่วไป การใช้สบู่ไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ผลก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สำหรับผิวหนังบางประเภท เช่น ผิวหนังของทารก เด็กเล็ก และคนแก่นั้น ผิวบางกว่าและแห้งกว่าผิวหนังของคนทั่วไป การฟอกสบู่มาก จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น และเกิดการระคายเคืองได้
กล่าวกันว่าสบู่เด็ก หรือสบู่เหลว มีความเป็นด่างน้อยกว่าสบู่ทั่วไป ทำให้ลดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ผิวหนังที่อักเสบหรือระคายเคืองอยู่แล้ว มักจะแห้งทนสบู่ไม่ค่อยได้ กรณีนี้ควรงดเว้นการฟอกสบู่ตรงบริเวณที่มีการอักเสบ จนกว่าจะหายเป็นปกติ

ผิวหนังที่มีการติดเชื้อง่ายและบ่อย มักจะมีฝีตุ่ม หนอง ปรากฏขึ้นบ่อยบนผิวหนัง อาจได้ประโยชน์จากการใช้สบู่ยาเป็นครั้งคราว สบู่ยาจะช่วยขจัดเชื้อโรคที่มีปริมาณมากผิดปกติให้ลดลง เนื่องจากมีสารฆ่าเชื้อโรค เช่น เฮกซ่าคลอโรฟีน ไตรโคลคาร์แบน, ไตรคลอร์ปาลิไซลินิลิด การนำสบู่ยามาใช้ควรให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เพราะถ้าใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้แพ้สารฆ่าเชื้อโรคที่ผสมอยู่ หรือเกิดจากสารเหล่านี้ หรือมีการดูดซึมเข้าสู่สมอง ดังได้เคยมีรายงานในเด็กเล็ก ว่าสมองได้รับอันตรายจากสารเฮกซ่าคลอโรฟีนในสบู่ยาที่ใช้ประจำในผู้ใหญ่ก็พบอยู่ไม่น้อยที่มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนัง บางรายเป็นเกือบทั่วตัว เนื่องจากใช้สบู่ยาพร่ำเพรื่อ คนที่ใช้เครื่องสำอางพอกบนใบหน้าจนหนา อาจต้องใช้ครีมหรือโลชั่นล้างหน้าเช็ดล้างก่อน แล้วฟอกสบู่ตาม เพื่อจะได้ชำระล้างเครื่องสำอางได้หมดจด

 

⇒ มีความเชื่อว่าเครื่องสำอางเป็นสาเหตุของสิว อาจารย์ว่าจริงหรือไม่
เครื่องสำอางประเภทที่มีไขมัน และกรดไขมันปริมาณมาก เช่น Moisturizer จะทำให้การอุดตันของรูขุมขนมากขึ้น ดังนั้นในคนที่เป็นสิว รูขุมขนมีการอุดตันอยู่เดิมแล้ว อาการของสิวก็จะกำเริบหรือเป็นมากขึ้น

 

⇒ ผลิตภัณฑ์พวก เบบี้ออยด์ (Baby oil) หรือโลชั่น มีประโยชน์อย่างไร
พวกนี้ช่วยลดการสูญเสียน้ำของผิวหนัง เหมาะสำหรับคนผิวแห้ง เช่น คนสูงอายุและเด็กเล็ก เป็นต้น

 

⇒แชมพูสระผมมีหลายชนิด หลายสูตร แต่ละชนิดมีคุณสมบัติสมดังคำโฆษณามากน้อยเพียงใด ควรเลือกใช้อย่างไร
เนื่องจากอันตรายที่เกิดจากการใช้แชมพูมีน้อยมาก ดังนั้นก็คงจะเลือกใช้ได้ตามความนิยมและกำลังทรัพย์ คนที่ผมมันก็ควรเลือกใช้แชมพูสำหรับผมมันโดยเฉพาะ หรือจะใช้แชมพูธรรมดา แต่สระบ่อยๆผมก็จะหายมัน
คนที่ผมแห้ง ก็ควรเลือกใช้แชมพูที่ผสมโปรตีน และไม่ควรสระบ่อย
คนที่มีรังแคมาก ควรใช้แชมพูที่มี ซีลีเนี่ยมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) , ซิงค์ไพริไธออน (Zincpirithion) หรือเซทริไมด์ ซึ่งใช้สำหรับขจัดรังแค

 


อ่านบทความนี้จบลงหลายท่านก็มีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มขึ้นใช่ไหมคะ ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ จะใช้หรือเลิกใช้ บรรดาเครื่องสำอางชนิดต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด

ข้อมูลสื่อ

86-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
เรื่องน่ารู้