• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหนอนพยาธิในลำไส้

โรคหนอนพยาธิในลำไส้

โรคหนอนพยาธิในลำไส้ พบได้บ่อยมากในคนไทย โดยเฉพาะชาวชนบทผู้ที่ยากจน คนไทยประมาณ 20 ล้านคน มีหนอนพยาธิชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดในลำไส้ เพราะการอยู่กินไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายอุจจาระในส้วม มือสกปรก อาหารไม่สะอาด พยาธิจึงแพร่กระจายและมีชุกชุม

พยาธิรบกวนการดูดซึมอาหารบางชนิดก็ดูดเลือดด้วย ฉะนั้นจึงทำให้สุขภาพเสื่อมลง เด็กไม่แข็งแรงไม่เติบโตตามที่ควร หรือพุงโรก้นปอด ผอมแห้งแรงน้อย ซีด ทำงานไม่ค่อยไหว รายได้น้อยลงและยากจน

โรคหนอนพยาธิรักษาและป้องกันได้ ฉะนั้นผู้ที่สงสัยว่ามีพยาธิควรจะไปปรึกษาเจ้าหน้าที่อนามัยหรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงและควรนำอุจจาระไปด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และจะบอกได้ว่าผู้นั้นมีพยาธิหรือไม่ และเป็นชนิดใด เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การเก็บอุจจาระ ไม่จำเป็นต้องกินยาถ่าย ถ่ายอุจจาระลงหม้อใส่อุจจาระหรือจานเก่าๆ ที่จะทิ้งบนใบตองหรือกระดาษก็ได้แล้วใช้ไม้หรือกระดาษเขี่ยตักอุจจาระขนาดเท่าหัวแม่มือเก็บใส่ขวดปากกว้างตลับ หรือกล่อง ปิดฝาให้แน่น เพื่อมิให้กลิ่นออกมา แล้วห่อกระดาษหรือใส่ถุงให้มิดชิด ถ้ามีตัวหนอนพยาธิ หรือปล้องตัวตืดออกมากับอุจจาระ ควรเก็บใส่ขวดปากกว้างหรือกล่อง แช่ในเหล้าโรงหรือน้ำเกลือ (เกลือครึ่งช้อนชาละลายน้ำหนึ่งแก้ว) ข้อสำคัญในการเก็บอุจจาระหรือเก็บตัวพยาธินั้นภาชนะหรือของที่รองรับ ที่เขี่ย ที่ตัก หรือ ที่ใส่ส่งมาตรวจต้องสะอาดไม่เปื้อนดินเพราะอาจติดไข่พยาธิอื่นไป ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ ส่วนการตรวจนั้นยิ่งส่งได้เร็วสุดๆ ยิ่งดี ไม่ควรเก็บไว้เกิน 24 ชั่วโมง ตัวพยาธิบางชนิดจะตาย ไข่บางชนิดก็ฟักเป็นตัวและอาจตายสลายไป เมื่อเอามาตรวจจะไม่พบ

พยาธิเหล่านี้อยู่ในลำไส้ ไข่พยาธิจะออกไปพร้อมอุจจาระ ถ้าคนไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เที่ยวถ่ายตามทุ่ง ตามดินแมลงวันตอมอุจจาระแล้วมาตอมอาหาร หรือเมื่อถ่ายอุจจาระเสร็จ ล้างก้น เช็ดก้นแล้วไม่ล้างมือ ล้วนเป็นทางแพร่กระจายโรคทำให้คนเป็นโรคพยาธิลำไส้กันมาก

ผู้ที่มีพยาธิอาจไม่มีอาการเลย มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือบางรายอาการมาก (ผอม บวม หรือซีดมาก) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของพยาธิ และความสมบูรณ์ของร่างกายของผู้นั้น

พยาธิตัวแก่อยู่ในลำไส้ ปกติแล้วมันจะไม่ออกมาให้เราเห็น (นอกจากปล้องแก่ของตัวตืดที่หลุดออกมา พยาธิเส้นด้ายคลานออกมาไข่บริเวณทวารหนักตอนกลางคืนและบางครั้งพยาธิไส้เดือนออกมาทางปาก ทางจมูกหรือทวารหนัก) ส่วนไข่ของมันจะออกปนมาในอุจจาระ ขนาดไข่เล็กมากมองไม่เห็น ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งขยายหลายสิบเท่า ฉะนั้น การที่จะรู้ว่าใครมีพยาธิในลำไส้หรือไม่ จึงต้องตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์

หนอนพยาธิลำไส้ที่เคยพบในคนไทยมีประมาณ 20 ชนิด แต่ที่พบบ่อยหรือมีความสำคัญมี 7-8 ชนิด ซึ่งจะกล่าวต่อไป

หนอนพยาธิลำไส้ อาจแบ่งตามรูปร่างออกได้เป็น 3 พวก ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิใบไม้ และตัวตืด

1. พยาธิตัวกลม

ตัวมีลักษณะกลมยาว หัวท้ายเรียว หางอาจม้วนเล็กน้อย ได้แก่

  • พยาธิไส้เดือน
  • พยาธิเส้นด้ายหรือเข็มหมุด
  • พยาธิแส้ม้า
  • พยาธิปากขอ
  • พยาธิสตรองจีรอยด์ (พบไม่มากนัก)

ต่อไปจะกล่าวถึงหนอนพยาธิเหล่านี้แต่ละชนิด

พยาธิไส้เดือน

พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้มีพยาธิชนิดนี้อาจไม่มีอาการก็ได้ บางคนมีอาการปวดท้องบ่อยๆ มักปวดแถวกลางๆ ท้องคล้ายลำไส้ถูกบีบ ถ้ามีมากตัว โดยเฉพาะในเด็กทำให้กินจุ แต่ผอม พุงโร ถ้ามีหลายร้อยตัวอาจจุกอุดลำไส้และทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียนอย่างแรงได้ บางครั้งพยาธิไส้เดือนออกมาทางปาก ทางจมูก โดยเฉพาะเวลาเป็นไข้ อาเจียนหรือออกทางทวารหนักก็ได้

สาเหตุ เกิดจากกินไข่พยาธิ ไข่มักติดมากับผักสดหรืออาหารที่แมลงวันตอม ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ ไชผ่านผนังลำไส้เข้าหลอดเลือดไปตามกระแสเลือด ผ่านปอดและหลอดลมแล้วลงไปตามหลอดอาหารไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็ก ในเวลาประมาณ 2 เดือน ตัวเมียจะออกไข่ พยาธิตัวแก่ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร พยาธิไส้เดือนมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี

การวินิจฉัย

ถ้าตรวจอุจจาระจะพบไข่พยาธิหรือพบพยาธิตัวแก่ที่ออกมาเอง

การรักษา

ให้ใช้ยาถ่ายพยาธิขององค์การเภสัชกรรม (มีตัวยาปีเปอราซีนซิเตรท) ให้กินวันละครั้ง หลังอาหารเช้า 2 วันติดกัน ดังนี้

  • เด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบ ให้ 2-3 ช้อนชา
  • เด็กอายุ 2-6 ขวบ ให้ 4-5 ช้อนชา
  • เด็กอายุ อายุ 6 ขวบขึ้นไปและผู้ใหญ่ ให้ 6-7 ช้อนชา

ไม่จำเป็นต้องกินยาถ่าย หลังกินยาอาจมึนงงเล็กน้อย แต่สักครู่จะค่อยๆ หายไปเอง ยานี้ขนาด 30 มิลลิเมตร ขวดละ 2.50 บาท, ขนาด 60 มิลลิเมตร ขวดละ 5 บาท

การป้องกัน

อย่าใช้อุจจาระที่ไม่ได้หมักมานานพอ (อุจจาระที่จะใช้ทำปุ๋ยต้องหมักอย่างน้อย 3 เดือน) ทำปุ๋ย ถ่ายอุจจาระในส้วมถูกสุขลักษณะ ต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนกินอาหาร อย่าดูดนิ้ว อย่ากัดเล็บ ตัดเล็บให้สั้น ถ่ายอุจจาระแล้วต้องล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาด อย่าเอา ปากกา ดินสอ ของเล่นใส่ปาก อย่ากินของที่ตกดิน ถ้ามีพยาธิต้องรักษาให้หาย

  • พยาธิเส้นด้ายหรือเข็มหมุด

พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ บางทีเป็นทั้งครอบครัว พยาธิเส้นด้ายทำให้คันก้นรอบๆ ทวารหนัก โดยเฉพาะในเวลากลางคืน บางคนเกาจนเป็นแผล บางคนอ่อนเพลียบ้าง บางคนก็หงุดหงิด บางทีก็เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เด็กมักร้องกวนตอนกลางคืน ในผู้หญิงอาจเจ็บที่อวัยวะเพศเพราะปากช่องคลอดอักเสบ

สาเหตุ เกิดจากกินไข่พยาธิเข้าไปไข่มักจะติดมือ ติดเล็บ เมื่อหยิบอาหารไข่ก็ติดเข้าไปด้วย ตัวอ่อนจะฟักออกไข่ไปเจริญเติบโตในลำไส้ใหญ่เป็นตัวแก่ ตัวเมียจะออกไข่ในเวลา 2-3 สัปดาห์ พยาธิเส้นด้ายมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ตัวแก่สีขาวคล้ายด้ายเย็บผ้ายาวประมาณ 1 เซนติเมตร

เวลากลางคืนตัวเมียจะคลานไปออกไข่บริเวณรอบทวารหนัก ทำให้เกิดอาการคันเมื่อเด็กเกา ไข่จะติดตามมือหรือเล็บ คนนั้นก็จะกินไข่พยาธิของตัวเองเข้าไปด้วย บางครั้งไม่อาจฟักที่บริเวณทวารหนัก แล้วตัวอ่อนคลานกลับเข้าไปอีก ไข่อาจปนอยู่กับฝุ่นละอองบนเตียงนอนหรืออาจติดอยู่ตามลูกบิดประตู หรือบนพื้นก็ได้ โรคนี้ติดต่อง่ายจึงมักเป็นทั้งครอบครัว

การวินิจฉัย

ถ้าเด็กเกาก้นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟส่องดู อาจเห็นพยาธิตัวเล็กๆ บริเวณทวารหนัก พยาธิเส้นด้ายออกไปไข่รอบทวารหนัก ฉะนั้นจึงไม่มีไข่ในอุจจาระการตรวจหาไข่ใช้สก๊อตเทปแตะบริเวณทวารหนัก เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก่อนอาบน้ำและก่อนถ่ายอุจจาระ ไข่จะติดสก๊อตเทป นำไปให้ตรวจหาไข่พยาธิได้

การรักษา เนื่องจากโรคนี้ มักเป็นกันทั้งครอบครัว จึงควรรักษาทุกคนในครอบครัว ถ้าพบไข่พยาธิหรือตัวแก่ควรกินยาถ่ายพยาธิอย่างหนึ่งต่อไปนี้

ยาถ่ายพยาธิตำราหลวง ขององค์การเภสัชกรรม เป็นน้ำเชื่อม (ขนาด 30 มิลลิเมตร ราคา 2.50 บาท, 60 มิลลิเมตร ราคา 5 บาท) กินวันละครั้งเดียวหลังอาหาร 7 วัน ติดต่อกัน

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ กิน 1 ช้อน
  • เด็กอายุ 2-6 ขวบ กิน 2 ช้อนชา
  • เด็กอายุ 7-12 ขวบ กิน 1 ช้อนชา
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปหรือผู้ใหญ่กิน 4 ช้อนชา

ยาเม็ดฟูกาคาร์ หรือ มีเบ็นดาโซล ขนาด 130 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 3 บาท กินครั้งเดียว 1 เม็ด ไม่ว่าอายุเท่าไร ยานี้ไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

ควรให้กินยาอีก 1 ชุด หลังจากชุดแรก 3-4 สัปดาห์

การป้องกัน

ตื่นนอนเช้า อาบน้ำล้างก้นฟอกสบู่ทุกวัน ซักเสื้อผ้า รักษาผ้าปูที่นอนให้สะอาด ดูแลบ้านช่องให้สะอาด ดูแลบ้านช่องให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น อย่าแทะเล็บ อย่าดูดนิ้ว ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังถ่ายอุจจาระ และถ้าเป็นควรรีบรักษา

  • พยาธิแส้ม้า

ส่วนมากไม่มีอาการ ในรายที่มีพยาธิมาก จึงจะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ในรายที่มีพยาธิมากเหลือเกิน ซึ่งไม่ค่อยจะพบนัก อาจถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดและดากออกก็ได้

สาเหตุ เกิดจากกินไข่พยาธิที่ติดมากับผักสดหรืออาหาร เมื่อคนกินไข่เข้าไปตัวอ่อนจะฟักออกมาในลำไส้เล็ก เจริญเติบโตและเคลื่อนไหวไปอยู่ในส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ เจริญเป็นตัวแก่ภายในเวลาประมาณ 1 เดือน พยาธิแส้ม้าใช้หัวซึ่งคล้ายแส้ฝังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ใหญ่มีชีวิตอยู่ได้หลายปี

การวินิจฉัย

เมื่อตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิ

การรักษา

ให้กินฟูกาคาร์ (หรือ มีเบ็นดาโซล ขนาด 100 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 3 บาท) กินครั้งละ 1 เม็ด เช้า-เย็น 3 วันติดกัน

การป้องกัน

เหมือนกับโรคพยาธิไส้เดือน

  • พยาธิปากขอ

มักพบได้ในชาวไร่ชาวสวน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิ และอาหารการกินของคนนั้นๆ พยาธิปากขอใช้ปากงับเยื่อบุลำไส้และดูดเลือด ผู้ป่วยจึงเสียเลือดเรื่อยๆ และเรื้อรัง ถ้ามีพยาธิน้อยก็ไม่มีอาการ ถ้ามีมากจะทำให้ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจมีอาการขาดอาหารร่วมด้วย

สาเหตุ เกิดจากพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อไชเข้าผิวหนัง เช่น ไชเข้าเท้า เพราะไม่สวมรองเท้าหรือกินพยาธิตัวอ่อนที่ติดอยู่ในผักหรือน้ำเข้าไปก็ได้ พยาธิตัวอ่อนจะไชหลอดเลือดเล็กๆ แล้วไปตามกระแสเลือดผ่านปอดและหลอดลม เข้าหลอดอาหารไปเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้เล็กเป็นตัวแก่ในเวลาประมาณ 1 เดือนยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีชีวิตอยู่ได้ 1-2 ปี ตัวเมียจะออกไข่ปนมากับอุจจาระ และเมื่ออยู่ตามพื้นดินที่ชื้นแฉะ ตัวอ่อนก็จะฟักออกมาเติบโตเป็นพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ

การวินิจฉัย

ชาวสวน ชาวไร่ ที่ซีด เหนื่อยง่ายควรนึกถึงโรคนี้ ให้นำอุจจาระไปตรวจจะพบไข่พยาธิ

การรักษา

1. รักษาอาการซีด ผู้ที่อยู่บริเวณที่มีพยาธิปากขอชุกชุม ถ้าซีดและไม่สามารถไปที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลได้ควรซื้อยาบำรุงโลหิตตำราหลวง ขององค์การเภสัชกรรม (ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต ราคาเม็ดละ 5 สตางค์) กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถ่ายพยาธิปากขอออกมา อาการซีดจะทุเลา หรือหายไปภายใน 3-4 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ทุเลา ควรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล

2. ถ่ายพยาธิด้วยมะเกลือ ผู้ที่อยู่ในท้องที่มีพยาธิปากขอชุกชุม มีอาชีพทำไร่ ทำสวน ไม่ได้สวมรองเท้า แม้จะไม่มีอาการควรกินมะเกลือปีละ 1-2 ครั้ง (มะเกลือออกลูกปีละครั้ง) วิธีทำ ใช้มะเกลือสด (ห้ามใช้มะเกลือเก่าที่ผิวดำ อาจเกิดเป็นพิษได้) ให้ใช้มะเกลือ 1 ลูกต่ออายุ 1 ปี แต่ไม่เกิน 20 ลูก นำมาตำเติมน้ำปูนใส 2-3 ช้อนโต๊ะ แล้วคั้นเอาน้ำมากิน ควรทำและกินสดๆ ตอนเช้าพร้อมงดอาหารเช้า

3. ผู้ที่มีอาการซีดมาก เมื่อกินยาบำรุงโลหิตตำราหลวงแล้วหาย อาการซีดนั้นน่าจะเกิดจากพยาธิปากขอมีหลายอย่าง เช่น ยาฟูกาคาร์ (มีเบ็นดาโซล ขนาด 100 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 3 บาท) กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง 2 วันติดกัน

การป้องกัน

อย่าถ่ายอุจจาระบนพื้นดิน ควรถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หรือขุดหลุมให้ลึก เมื่อถายอุจจาระแล้วกลบอัดดินให้แน่น ไม่ควรเดินเท้าเปล่า (ไม่สวมรองเท้า) ในที่ชื้นแฉะโดยเฉพาะในท้องที่ที่มีพยาธิปากขอชุกชุม

  • พยาธิสตรองจีลอยด์

พบในชาวไร่ ชาวสวนแต่พบไม่บ่อย ถ้ามีพยาธิมากจะทำให้ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่คล้ายโรคเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อกินอาหารหรือดื่มเหล้าอาจทำให้ปวดมากขึ้น อาการเป็นๆ หายๆ แต่อาจไม่มีอาการเลยก็ได้

สาเหตุ เกิดจากพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อไชเข้าไปทางผิวหนัง เช่น ไชเท้าเมื่อเดินเท้าเปล่าเป็นต้น ไข่พยาธิสตรองจีลอยด์ฟักตัวในลำไส้แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในคนนั้นได้ ฉะนั้นจำนวนพยาธิในผู้ที่เป็นโรคนี้จึงเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ต้องได้รับพยาธิใหม่จากภายนอกซึ่งผิดกับพยาธิชนิดอื่นๆ

เมื่อพยาธิตัวอ่อนไชเข้าไปในกระแสเลือด ผ่านปอดและหลอดลมลงหลอดอาหารไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็ก และออกไข่เป็นตัวอ่อนออกมาปนกับอุจจาระ

การวินิจฉัย

เมื่อตรวจอุจจาระ พบพยาธิตัวอ่อนควรส่งอุจจาระไปตรวจ หลังถ่าย 3-4 ชั่วโมง อาจต้องตรวจซ้ำหลายครั้งจึงพบ เพราะบางครั้งพยาธิตัวอ่อนตายเสียก่อนและสบายไป จึงตรวจไม่พบ ผู้ที่มีพยาธินี้มักมีเม็ดเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนพีลมาก

การรักษา

ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา ยาที่ใช้ได้ผลดี คือมีนซีทอล (หรือ ไธอาเบ็นดาโซล ขนาด 0.5 กรัม ราคาเม็ดละ 1.50 บาท) ในขนาด 25 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ให้กิน 2 วัน ยานี้มักทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมึนงง

การป้องกัน

ป้องกันเหมือนพยาธิปากขอ

2. พยาธิใบไม้

มีรูปร่างคล้ายใบไม้ ได้แก่ พยาธิใบไม้ลำไส้ฟาสโอลอฟซิส

ในปัจจุบันพบได้น้อย มีอยู่บ้างแถวสุพรรณบุรีและอยุธยา มักเป็นในเด็ก เมื่อเป็นจะมีอาการท้องอืด อาหารไม่ค่อยย่อย ปวดท้องและท้องเสียบ่อยๆ อ่อนเพลีย ผอมลง เมื่อเป็นมากจะซีด ขาดอาการ ท้องโตและบวม หมูก็เป็นพยาธินี้ได้เช่นเดียวกับคน

สาเหตุ เกิดจากกินพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่ติดอยู่ที่กระจับ ผักบุ้ง หรือในน้ำชนิดอื่นๆ เมื่อคนหรือหมูกินเข้าไป จะเจริญเติบโตในลำไส้เล็กเกาะเยื่อบุลำไส้ตัวแก่รูปร่างคล้ายใบไม้หนาๆ ยาวประมาณ 5-7 ซ.ม. สีน้ำตาล มีชีวิตอยู่ได้หลายปี ไข่จะออกมากับอุจจาระ เมื่อไข่ลงไปในน้ำ ตัวอ่อนจะออกมาและไชเข้าไปในหอย และเจริญเติบโตแบ่งตัวมากมาย แล้วตัวอ่อนจะออกจากหอยไปเกาะที่พืชในน้ำเป็นระยะที่ติดต่อสำหรับคนและหมู

การวินิจฉัย

ควรอุจจาระพบไข่พยาธิหรือบางครั้งตัวพยาธิออกมากับอุจจาระหรืออาเจียนก็ได้

การรักษา

ควรปรึกษาแพทย์ ยาที่ใช้รักษา คือ ยาเตตร้าคลอเอธีย์ลีน

การป้องกัน

ถ่ายอุจจาระลงในส้วมเพื่อให้ถูกลักษณะ อย่าถ่ายอุจจาระลงในคูคลอง หรือใกล้คูคลอง อย่ากินพืชน้ำดิบๆ โดยเฉพาะพืชที่เก็บจากคูคลอง หนองน้ำ ในที่ที่พยาธิชนิดนี้ระบาด

3. พยาธิตืดหรือตัวตืด

มีรูปร่างแบบยาวคล้ายเส้นบะหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่เราได้พบบ่อยๆ ได้แก่ พยาธิตืดวัว พยาธิตืดหมู (พยาธิตืดหมูอาจพบได้บ้าง)

พบได้บ่อยในคนที่กินเนื้อวัวหรือเนื้อหมูไม่สุก เช่น แถวภาคอีสาน ผู้ที่เป็นพยาธินั้นอาจไม่มีอาการก็ได้ เพียงแต่มีปล้องพยาธิคล้ายเส้นบะหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว หลุดออกมาเป็นท่อน ๆ เป็นครั้งคราว อาจออกมาพร้อมอุจจาระหรือคลานออกมาเองทางทวารหนัก บางรายหิวบ่อยกินจุ แต่ผอม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด พยาธิตืดหมูตัวอ่อนทำให้เกิดโรคในคนได้ โดยเป็นตุ่มเล็กๆ ขนาดเม็ดถั่วเขียวอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้าไปอยู่ในสมองบางครั้งทำให้ชักแบบลมบ้าหมูได้

สาเหตุ เกิดจากกินเนื้อวัวหรือเนื้อหมูดิบๆ หรือไม่สุก ซึ่งมีตืดตัวอ่อนอยู่ (เนื้อหรือหมูสาคู) เมื่อคนกินเข้าไปจะเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในลำไส้ หัวเล็ก ขนาดหัวเข็มหมุดยึดอยู่กับเยื่อบุลำไส้ตัวยาวอาจถึง 10-20 เมตรก็ได้ เป็นปล้องๆ ปล้องที่อยู่ด้านหัวจะเล็ก ปล้องทางหางจะใหญ่ขึ้นๆ ปล้องสุกหรือแก่จะหลุดเป็นท่อนสั้นๆ ออกมาเป็นระยะ ในปล่องมีไข่อยู่เต็ม บางครั้งปล้องแตกออกไข่ปนกับอุจจาระออกมา ตั้งแต่กินเนื้อหรือหมูสาคูจนมีปล้องตัวตืดหลุดออกมาจะกินเวลา 3-4 เดือน ตัวตืดมีอายุขัย 2-4 ปี

เมื่อวัว หรือ หมู กินไข่ตัวตืดวัวหรือตัวตืดหมู ที่ออกจากอุจจาระของคนเข้าไปตัวอ่อนจะฟักในลำไส้ไชเข้ากระแสเลือดไปอยู่ตามกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นถุงเล็กๆ ขาวๆ คล้ายเม็ดสาคูจึงเรียกกันว่า เนื้อสาคู หรือ หมูสาคู ถ้าคนกินเนื้อหรือหมูเหล่านี้เข้าไป ตัวอ่อนก็จะไปเจริญเป็นตัวแก่ตามที่กล่าวแล้ว

แต่ถ้าคนกินไข่ของตืดหมูที่ออกจากอุจจาระของคนไปติดอยู่ตามผักหรืออาหารเข้าไปหรืออาเจียนขย้อนเอาปล้องแก่ของพยาธิที่ขึ้นมาถึงกระเพาะอาหาร ตัวตืดจะเจริญเติบโตเช่นเดียวกันในหมู กล่าวคือ ตัวอ่อนจะฟักออกมา แล้วไชเข้ากระแสเลือด ไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของคน เกิดเป็นถุงเล็กๆ ขนาดเม็ดถั่วเขียวหรือสาคูเม็ดใหญ่ อาจอยู่ในกล้ามเนื้อ ในสมอง ใต้ผิวหนังซึ่งจะเป็นตุ่มหรือคลำได้เป็นเม็ดๆ ถ้าเป็นที่สมองทำให้ชักแบบลมบ้าหมูได้ แต่ถ้าคนกินไข่ของตืดวัวตัวอ่อนที่จะฟักจะตายไปไม่เกิดอันตรายเหมือนกับที่กินไข่ของตือหมู

การวินิจฉัย

ถ้ามีปล้องตัวตืดออกมา อาจออกมาเองหรือออกกับอุจจาระ ควรเก็บไปตรวจโดยแช่ในน้ำเกลือตามที่กล่าวข้างต้น การตรวจอุจจาระก็อาจพบไข่ตัวตืดได้

การรักษา

ถ้ามีตัวตืดควรรีบถ่ายออก โดยเฉพาะตัวตืดหมู อาจทำให้เกิดเป็นตุ่ม หรือเม็ดสาคูตามส่วนต่างๆ ของร่างกายดังกล่าว ผู้ที่ท้องผูกเสมอ ควรถ่ายยาตอนกลางคืน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงถ่ายพยาธิตัวตืด

ยาที่ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืดก็มี

ปวกหาด งดอาหารเช้า ตื่นเช้ากินปวกหาด 5 กรัม ลาลายน้ำเย็น อาจมีคลื่นไส้บ้าง สองชั่วโมงต่อมากินยาถ่ายดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ (ขนาด 30 กรัม ราคา 50 สตางค์) ละลายน้ำ 2-3 ช้อนโต๊ะและดื่มน้ำอุ่นอีก 1 แก้ว ยานี้ราคาถูกได้ผลดีมาก

ยาเม็ดโยมีซาน (ราคาเม็ดละ 3 บาท) ควรงดอาหารเช้าเช่นกัน กินครั้งเดียวตอนเช้า ต้องเคี้ยวหรือบดให้ละเอียดเสียก่อน อย่ากลืนทั้งเม็ดเพราะจะไม่ได้ผล

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้กิน 1 เม็ด
  • เด็กอายุ 2-4 ปี ให้กิน 2 เม็ด
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ให้กิน 4 เม็ด

หลังกินยา 2 ชั่วโมงควรกินยาถ่ายดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 2-3 ช้อนโต๊ะ และดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เด็กใช้ยาระบายแมกนีเซียมตำราหลวง (ขนาด 60 มิลลิลิตร ราคา 2.50 บาท) แทน

ถ้าถ่ายพยาธิออกไม่หมด ใน 3-4 เดือน จะมีปล้องพยาธิออกมาอีกให้กินยาซ้ำเช่นเดิม

การป้องกัน

ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่กินเนื้อวัวหรือเนื้อหมูดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ และเมื่อมีพยาธิก็ต้องรีบรักษา

ข้อมูลสื่อ

7-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
โรคน่ารู้
นพ.ปรีชา เจริญลาภ