• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยากับภาวะโภชนาการ

โภชนาการ หมายถึง อาหารที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุน และการซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย

ดังนั้นการได้อาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

คอลัมน์ “กินถูก...ถูก” ได้หายหน้าหายตาจากผู้อ่านไปนาน ต่อไปนี้จะกลับมาพบกับท่านเป็นประจำ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับนี้เสนอเรื่อง ยากับภาวะโภชนาการ โดย ผศ.ธรา วิริยะพานิช

ภาวะโภชนาการของร่างกายคนเรามีอยู่ 2 สถานะ คือ ปกติและผิดปกติ

ในภาวะโภชนาการที่ผิดปกติแบ่งได้เป็น
ผิดปกติทางขาด เช่น ตัวเล็ก ผอมจากการขาดอาหารโปรตีน หรือเป็นโรคซีดเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก จากอาหาร เป็นต้น
ผิดปกติทางเกิน เช่น ความอ้วน หรือได้รับอาหารบางอย่าง วิตามินบางตัวมากเกินไป
และการผิดปกติอันเกิดจากการได้รับสารพิษที่ผสมอยู่ในอาหาร เช่น การใช้สีผสมอาหารที่ไม่ถูกต้อง เนื้อเค็มที่มีการใส่ดินประสิว ตับซึ่งทำหน้าที่ทำลายพิษต่างๆที่เข้าไปกับอาหารจะต้องทำงานหนักจนถึงเสื่อมสมรรถภาพ

เมื่อภาวะโภชนาการของร่างกายผิดปกติ อาจทำให้ยาที่ร่างกายได้รับในการรักษาโรคต่างๆ ถูกทำลายช้าหรือเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ฤทธิ์ของยา ผลข้างเคียงของยา และพิษของยานั้นๆ เปลี่ยนไป

เพื่อสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นนี้ ได้มีการทดลองในหนู โดยการให้หนูได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง หนูที่ปกติแข็งแรงจะสามารถสร้างสารมาย่อยทำลายพิษจากยาฆ่าแมลงได้มากกว่าหนูที่เลี้ยงให้ขาดอาหารโปรตีน

และอีกตัวอย่างคือ ตับของหนูที่ขาดอาหารโปรตีนจะสร้างสารสำหรับทำลายแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าหนูที่กินอาหารโปรตีนปกติ

แสดงว่าถ้าร่างกายอ่อนแอจากการขาดอาหาร ได้รับสารพิษเล็กน้อยก็ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ นอกจากผลที่ตับแล้ว ในระยะที่ภาวะโภชนาการไม่ดี โดยเฉพาะขาดโปรตีน การดูดซึมของลำไส้จะผิดปกติไป คือ มีการดูดซึมได้น้อยลง ถ้าจำเป็นต้องให้วิตามินเอ หรือธาตุเหล็ก อาจต้องให้โดยวิธีการฉีด

เราใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการหรือบำบัดรักษาโรคของผู้ป่วยให้หาย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงอาการข้างเคียง และพิษของยาที่มีผลต่อผู้ป่วยด้วย

ผลเสียของยาต่อร่างกาย
คือต่อตับซึ่งเป็นที่ทำลายยา ต่อไตซึ่งเป็นที่ขับถ่ายยาออกจากร่างกาย และต่อระบบไหลเวียนของเลือด

มีผลของยาอีกอย่างหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจน้อยคือ ผลต่อภาวะโภชนาการของร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะยาบางตัวเมื่อได้รับนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะทุโภชนาการได้ ฤทธิ์ของยาทั้งฤทธิ์ข้างเคียง ฤทธิ์โดยตรง รวมทั้งพิษของยาอาจมีผลเสียต่อภาวะโภชนาการได้ เนื่องจากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย 3 ลักษณะ คือ ต่อทางเดินอาหาร ต่อการทำงานของร่างกาย และต่อภาวะขับถ่ายสารอาหารจากร่างกาย

1. ต่อทางเดินอาหาร

1.1 ยาที่มีผลข้างเคียงให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เช่น ยารักษาวัณโรค-พีเอเอส (Paraaminobenzoic acid, PAS), ยาลดความอ้วน, ยารักษาโรคเบาหวานบางตัว เช่น เฟนฟอร์มิน (Phenformin), เมตฟอร์มิน (Metformin), และยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ถ้าต้องใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดภาวะทุโภชนาการได้ เช่น เตตราซัยคลีน ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรค

1.2 ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารบางตัว ตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคชัก ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคเบาหวาน และยาที่มีแอลกอฮอล์

ยารักษาโรคชัก เช่น ฟีนิโทอิน (Phenytoin) ไพรมิโดน (Primidone) เป็นยาใช้รักษาโรคชัก ลมบ้าหมู ถ้าใช้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร 2 อย่างคือ ไปขัดขวางการดูดซึมของโฟเลต (วิตามินบีตัวหนึ่ง) โดยไปขัดขวางการทำงานของน้ำย่อยที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินตัวนี้ ถ้าขาดวิตามินโฟเลตนานๆ จะเกิดโรคโลหิตจาง และขัดขวางการดูดซึมของวิตามินดี ถ้าใช้ยานี้มากๆ อาจเกิดโรคกระดูกอ่อนได้

ยาคุมกำเนิด
เป็นยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ยานี้ทำให้การดูดซึมวิตามินโฟเลตลดลง

ยารักษาโรคเบาหวาน
พวกเฟนฟอร์มิน, เมตฟอร์มิน จะไปทำให้การดูดซึมวิตามินโฟเลตลดลง

ยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
เช่น ยาดองเหล้า ซึ่งแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี-1 และไนอาซีนที่ลำไส้ ในรายที่ดื่มสุราเรื้อรัง มักจะพบอาการปลายประสาทอักเสบ และอาการทางสมอง

1.3 ยาที่ทำให้การดูดซึมของกระเพาะและลำไส้เสีย
ยากลุ่มนี้ทำให้การดูดซึมอาหารเสียและทำลายเยื่อบุผนังของกระเพาะและลำไส้ เช่น

ยารักษาโรคเกาต์-คลอซิซีน
ยาฆ่าเชื้อ-นีโอมัยซิน ถ้าใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว อุจาระมีไขมันมาก ทำให้การดูดซึมไนโตรเจน วิตามินบี-12 กลูโคส ธาตุเหล็ก และไขมันลดน้อยลง โดยยาไปทำลายเซลล์ผนังลำไส้ ทำให้น้ำย่อยเสียไป เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดการขาดวิตามิน เกลือแร่ ถ้าเป็นในเด็กจะเติบโตช้า และยารักษาวัณโรคพีเอเอส นอกจากทำให้เบื่ออาหารแล้ว ยังทำให้การดูดซึมของลำไส้ลดลงด้วย

ยาลดโคเลสเตอรอลในเลือด
ที่ชื่อว่า โคเลสไทรามีน (Cholestyramine) จะไปจับกับกรดน้ำดีในลำไส้ ทำให้น้ำดีและโคเลสเตอรอลไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดใหม่ ในขณะเดียวกันยาจะรบกวนการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน คือ วิตามินเอ ดี อี และเค ถ้าใช้ยานี้นานๆจะทำให้ขาดวิตามินเหล่านี้ได้

ยาระบาย
ที่ชื่อว่า ฟีนอล์ฟทาลีน ใช้นานจะทำให้การดูดซึมของวิตามิน และแคลเซียมเสียไป เกิดโรคกระดูกอ่อนได้

2. ยาที่มีผลต่อการทำงานของร่างกาย
มียาหลายชนิดที่ไปทำให้เกิดการผิดปกติในการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาหารของร่างกายคือ บางชนิดไปเพิ่มการทำลายสารอาหาร บางชนิดไปลดการสะสมสารอาหาร หรือทำให้เกิดการสะสมมากจนเกิดอันตราย ตัวอย่างเช่น

ยาคุมกำเนิด
ยานี้นอกจากจะขัดขวางการดูดซึมของโฟเลตแล้ว ยังทำให้เกิดการผิดปกติต่อวิตามินบี-6 ซึ่งเข้าใจว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนไปรบกวนการทำงานของวิตามินบี-6 เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบี-6 ได้ และทำให้วิตามินซีในร่างกายผิดปกติ โดยที่เอสโตรเจนไปกระตุ้นให้มีการทำลายวิตามินซีในร่างกายเร็วขึ้น

เพนิซิลลามีน (Penicillamine) ใช้ในการรักษาความผิดปกติของธาตุทองแดง พิษปรอท และพิษตะกั่ว ยานี้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินบี-6 ดังนั้นถ้าต้องให้นานๆ ควรให้วิตามินบี-6 ร่วมด้วย

คอร์ติโคสตีรอยด์
(Corticosteroids) ใช้เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ โรคของภูมิคุ้มกัน ผลข้างเคียงคือทำให้เกิดการผิดปกติในการใช้คาร์โบไฮเดรต ทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ไขมันไปจับกันมากผิดปกติที่แก้ม เรียกว่าวงพระจันทร์

ยารักษาโรคเบาหวาน เช่น ซัลโฟนีลยูเรีย , อินซูลิน ใช้ควบคุมน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าให้มากเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ยาลดความอ้วน
เช่น เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) มีฤทธิ์เพิ่มการใช้ไขมันในเซลล์ไขมัน และกันการสร้างไขมันจากอาหารคาร์โบไฮเดรต เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน

วิตามินเอและดี ถ้าได้รับมากๆ จะเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

สารฟลูออไรด์
ใช้ในการป้องกันฟันผุ แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ฟันเสียเป็นจุดกระ

แอลกอฮอล์ (เหล้าหรือยาที่มีส่วนผสมของเหล้า) แอลกอฮอล์มีผลเสียต่อการทำงานของร่างกายหลายอย่างคือ
1. อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
2. ทำให้ไขมันในเลือด โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์สูง
3. พิษจากแอลกอฮอล์ทำให้ตับต้องทำงานมากจนเป็นโรคตับแข็ง
4. ทำให้วิตามินบี-6 ลดลง

3. ยาเพิ่มการขับถ่ายสารอาหารจากร่างกาย เช่น
ยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมจะทำให้สารอาหารโดยเฉพาะวิตามินบี-1 แมกนีเซียมและสังกะสี ถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะมากขึ้น หรือยารักษาวัณโรค-ไอเอ็นเอช (INH) และยารักษาโรคความดันเลือดสูง-ไฮดราลาซีน (Hydralazine) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกัน ยาทั้ง 2 อย่างนี้จะจับกับวิตามินบี-6 แล้วขับถ่ายทางปัสสาวะ ถ้าใช้ยานี้นานๆ จะเกิดการขาดวิตามินบี-6 ทำให้ปลายประสาทอักเสบได้

จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าการให้ยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของร่างกาย และในทางตรงข้าม อาหารและการเปลี่ยนแปลงของภาวะโภชนาการของร่างกาย ก็อาจจะทำให้การออกฤทธิ์ของยา การทำลายยาในร่างกาย ตลอดจนอาการข้างเคียงและพิษของยาเปลี่ยนแปลงไปได้

ดังนั้น เมื่อทราบว่ายาชนิดใดจะไปทำให้สารอาหารไหนลดลง หรือเปลี่ยนแปลงจะได้ปรับการกินอาหารเพื่อไม่ให้เกิดการขาดอาหารหรือเกินขึ้นได้
--------------------------------------------

แหล่งอาหารที่ให้วิตามินต่างๆ

วิตามินเอ จากพืช คือผักใบเขียวต่างๆ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักคะน้า เป็นต้น ผลไม้ที่มีสีเหลือง ฟักทอง มะละกอสุก มะม่วง จากสัตว์ที่ดีก็คือตับ ไข่แดง
วิตามินดี จากผักใบเขียวต่างๆ จากตับ จากการสังเคราะห์ในร่างกายที่เราถูกแสงแดด แล้วมีการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง
วิตามินอี ก็ได้จากพวกน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันพืช หรือผลิตผลที่มีน้ำมันพืชอยู่ เช่น ถั่วเหลือง งา เป็นต้น
วิตามินเค จากผักใบเขียวชนิดต่างๆ ตับ
วิตามินบี 1 จากข้าวซ้อมมือ เนื้อหมู และอาหารจำพวกถั่วต่างๆ
วิตามินบี 2 จากตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ นม นอกจากนี้ก็มีในผักใบเขียวชนิดต่างๆ
วิตามินบี 6 จากเนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ ตับ และผักใบเขียวชนิดต่างๆ
โฟเลต จากเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง
วิตามินบี 12 จากอาหารพวกหมักดอง กะปิ น้ำปลาก็มีมาก ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว
 

ข้อมูลสื่อ

107-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
กินถูก...ถูก