• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยากระตุ้นให้กินอาหาร

เด็กไม่เจริญอาหาร เป็นปัญหาที่พบบ่อย อาจมีสาเหตุเนื่องจากมีโรคทางกาย เช่น โรคติดเชื้อ โรคของระบบประสาท เป็นต้น

หรืออาจเนื่องจากความบกพร่องในการเลี้ยงดู เช่น เด็กถูกบังคับให้กินอาหาร เด็กขาดความอบอุ่นทางใจ เด็กกินของหวานมากเกินไป เป็นต้น

การหาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขไปตามเหตุนั้นๆ คือวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเด็กไม่เจริญอาหาร
อย่างไรก็ตาม มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กจำนวนมาก หลงผิด คิดว่าการให้เด็กกินยากระตุ้นให้กินอาหารเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหานี้ ความหลงผิดนี้ นอกจากทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ที่สำคัญคือ ปัญหาที่เกิดจากผลข้างเคียงของยา ด้วยเหตุนี้ “108 ปัญหายา” ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “ยากระตุ้นให้กินอาหาร”

ยาชนิดนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทใหญ่คือ
1. ยาต้านซีโรโททิน อันได้แก่ ซัยโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) และปิโซทิเฟน (Pizotifen)
2. ยาจำพวก คอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน

1. ยาต้านซีโรโททิน

1.1 ซัยโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine)
กลไกการออกฤทธิ์
- ต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้
- ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน
- กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ แล้วยังมีผลให้กระตุ้นศูนย์ความหิว (Feeding Center) ในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง)
- ทำให้เกิดอาการง่วงนอน จึงนอนมากกว่าปกติ

กลไกสุดท้าย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อหยุดยาน้ำหนักตัวจะไม่เพิ่ม และยังอาจลดลงด้วยซ้ำ

ผลข้างเคียง

- ทำให้ง่วงนอน จึงอาจกระทบกระเทือนผลการเรียน
- ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน และเกิดพิษได้ง่ายในเด็กต่ำกว่า 1 ปี
- ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต อาจทำให้เด็กตัวเตี้ย!

1.2 ปิโซทิเฟน
(Pizotifen)
ยาตัวนี้มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับซัยโปรเฮปตาดีน
เมื่อหยุดยาเด็กก็จะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวอาจลดลง เช่นเดียวกับซัยโปรเฮปตาดีน
มีราคาแพงกว่าซัยโปรเฮปตาดีน

โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และแพทย์มักแนะนำให้เด็กกินยา 2 ชนิดนี้ เฉพาะเวลาก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการง่วงนอนในเวลากลางวัน

2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน

2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์
เป็นที่ทราบกันดีว่า พ่อค้ายาบางคนมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบและโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดความอ้วนบ้าง

อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี

ผลข้างเคียง
ของยากลุ่มนี้ ได้แก่
- ทำให้กระดูกผุในผู้ใหญ่
- ทำให้กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก
- ทำให้มีการคั่งของเกลือและน้ำ จึงเกิดการบวมฉุ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ยาหลงผิดว่าอ้วน
- ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย
- อาจทำให้เกิดอาการเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร
- กดการทำงานของต่อมหมวกไต ถ้าใช้เป็นเวลานาน
- ทำให้เกิดการเสพติด
- อาจทำให้เกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน

ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน
ดังนั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้ยานี้เพื่อการเจริญอาหาร

2.2อะนาบอลิกฮอร์โมน

ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย
ยานี้มีฤทธิ์
- กระตุ้นการเจริญของกระดูก และกล้ามเนื้อ
- ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น ขนขึ้นดกดำ เสียงห้าว มีหนวด อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว

หากให้เด็กกินยานี้ ผลจะปรากฏว่าระยะแรกเด็กจะโตเร็ว สูงขึ้นชัดเจน แต่ความสูงจะชะงักเร็ว เช่นกัน ทำให้ในที่สุดตัวเตี้ยกว่าคนทั่วไปเมื่อโตเต็มที่ ดังนั้นแพทย์จึงไม่ใช้ยานี้ ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าเด็กเป็นโรคขาดฮอร์โมนชนิดนี้
 

สรุป
วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเด็กไม่เจริญอาหาร คือ การหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วแก้ไขไปตามสาเหตุ การใช้ยาใดๆเพื่อหวังให้เด็กกินอาหารมากขึ้น และละเลยต้นเหตุที่แท้จริง ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เด็กได้รับพิษของยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

107-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
108 ปัญหายา