• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝังเลนส์เทียม

เลนส์เทียมคืออะไร?
เลนส์เทียมคือ วัตถุชิ้นเล็กๆที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร กลมๆ แบนๆ คล้ายหน้าปัดนาฬิกาขนาดเล็กๆ ใสโปร่งแสง ปราศจากสีสัน เพื่อใช้แทนเลนส์ในตาของคนเราที่ถูกผ่าตัดเอาออกเนื่องจากเป็นต้อกระจก เพราะมีภาวะขาวขุ่นทำให้ผู้นั้นมองอะไรไม่ชัด หรือไม่เห็น

เลนส์เทียมที่ว่านี้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเลนส์ธรรมชาติของคนเราที่ผ่าตัดเอาออกมา ทำจากสารพิเศษที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อภายในลูกตา

ทั้งนี้เพราะมีตำนานเล่าสืบต่อหรือจะเรียกว่าประวัติการณ์เริ่มแรกเดิมทีก็ว่าได้ ว่า...สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นักบินอังกฤษผู้หนึ่งขับเครื่องบินชนิดเครื่องบินขับไล่ที่เรียกว่าสปีตไฟร์ ถูกยิงที่กระจกด้านหน้า เศษกระจกแตกกระเด็นเข้าในตานักบินผู้ขับขี่ ผ่าตัดเอาออกไม่ได้ ปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้น แพทย์ติดตามสังเกตปฏิกิริยาของกระจกดังกล่าวเป็นระยะๆ ไม่พบว่าเศษกระจกเครื่องบินลำนั้นมีปฏิกิริยาอะไรต่อตา

ในปี 1949 นี้เอง นายแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ ฮาร์โรล์ด ริดเลย์ (Harold Ridley) ได้ทำการผ่าตัดคนไข้รายหนึ่งอายุ 49 ปี เป็นต้อกระจกแล้วพยายามใส่เลนส์เทียมที่เขาประดิษฐ์ขึ้นจากสารสังเคราะห์ชนิดที่ทำกระจกหน้าเครื่องบิน โดยผ่าตัดเอาต้อกระจกออกแล้วสอดเลนส์เทียมชนิดที่เขาคิดเข้าไปแทนที่ ปรากฏว่าได้ผลดีอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมามีอาการแทรกซ้อน

ระยะต่อมามีแพทย์หลายคนพยายามจะคิดค้นและหาวิธีสอดใส่เลนส์เทียมเข้าแทนที่ตำแหน่งต้อกระจกบ้าง แต่ผลไม่เป็นที่พอใจนัก การผ่าตัดชนิดนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะทำยากลำบากมากมีอาการแทรกซ้อนตามมา

จึงหันมาใช้วิธีประดิษฐ์เลนส์เทียมชนิดใส่เข้าไปภายในลูกตา แต่ให้อยู่ด้านหน้ารูม่านตา แทนที่จะอยู่หลังรูม่านตาเหมือนครั้งก่อนๆ ผลปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันมาก แพทย์ที่มีชื่อเสียงในช่วงนี้ได้แก่จักษุแพทย์ชาวเนเธอร์แลนด์ ชื่อบิ้งฮอท (Binkhorst) มีความชำนาญและมีชื่อเสียงมาก ทำได้ผลดีในระยะต้นๆ แต่...ต่อมาเกิดมีอาการแทรกซ้อนโดยเลนส์เทียมนี้บ่อยมากขึ้น

ครั้นมาประมาณสิบปีผ่านมานี้ได้มีแพทย์พยายามหาวิธีการที่จะสอดเลนส์เทียมไปไว้ด้านหลังรูม่านตาแทนตำแหน่งเลนส์ลูกตาธรรมชาติเลย เพราะเชื่อว่าจะทำให้การมองเห็นดีกว่า และปฏิกิริยาต่างๆน่าจะน้อยกว่า จึงได้คิดค้นประดิษฐ์ลักษณะทรงเลนส์เทียมให้มีรูปร่าง และแบบต่างๆในรายละเอียดออกไป จนเป็นที่พอใจ บวกกับเทคนิคการผ่าตัดได้วิวัฒนาการเปลี่ยนไปให้เหมาะกับการที่จะสอดเลนส์เทียมเข้าไปแทนที่ได้ง่าย และได้ผลดียิ่งขึ้น ที่นิยมทำกันมากและพัฒนาวิธีการดังกล่าวนี้ฮิตมากที่สุดคือประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้แพร่หลายไปสู่ประเทศทางยุโรปและประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

คลื่นกระแสแห่งความนิยมและการบอกกล่าวต่อๆกันทำให้การผ่าตัดชนิดนี้ กระจายไปเกือบทั่วโลกแล้ว ในปัจจุบันเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นการผ่าตัดธรรมดาไปแล้ว แพทย์รุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมทางสาขาจักษุวิทยาในประเทศไทย จะผ่านการฝึกหัดให้ทำการผ่าตัดชนิดฝังเลนส์เทียมนี้ไปด้วย นอกเหนือไปจากการผ่าตัดแบบธรรมดาสมัยเก่า(คือใช้แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสหลังผ่าตัดต้อกระจก)

ดังนั้นจึงเกือบจะกล่าวได้เต็มปากว่า การผ่าตัดชนิดนี้เพิ่งจะมาฮิตในหมู่จักษุแพทย์ประเทศไทยประมาณ 3-4 ปีมานี้เองครับ ก่อนหน้านี้ก็จดๆจ้องๆ ทำดีหรือไม่ดี? จนในที่สุดทนแรงผลักดันความแรงวิทยาการสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามาไม่ไหว พากันตื่นตัวกันเป็นการใหญ่ แม้กระทั่งแพทย์ชั้นอาวุโสที่เคยทำผ่าตัดชนิดธรรมดาฝีมือนิ้งๆ ยังต้องหันมาหัดทำวิธีการแบบใหม่เพื่อสอดใส่เลนส์เทียมกันเป็นการใหญ่ เพื่อมิให้น้อยหน้าแพทย์รุ่นใหม่ที่เดินทางมาจากอเมริกา ผ่านการฝึกอบรมและเพิ่งหัดทำมาใหม่ๆ เดินทางเข้ามาเมืองไทย โฆษณาสรรพคุณประโยชน์จากการผ่าตัดชนิดใหม่นี้เป็นการใหญ่จนร่ำรวยกันไปหลายราย บ้างก็เดินทางมาจากอเมริกา เพื่อมาผ่าตัดใส่เลนส์เทียมให้คนไข้ที่เมืองไทยเป็นระยะๆ ดีกว่ามาเที่ยวเปล่าๆ ได้ค่าเครื่องบินและค่าผ่าตัดกลับไปอีกด้วย

ปัจจุบันการผ่าตัดนี้ขอเรียนให้ทราบว่า...เกร่อแล้วครับ
ท่านผู้อ่านจะสังเกตลักษณะของเลนส์เทียมดังภาพวาด (ดูหน้า 32) ได้ว่าจะมีอยู่ 2 ส่วน คือส่วนตัวเลนส์แท้ๆ ได้แก่ ส่วนกลมๆ ตรงกลางซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ม.ม. ด้านบนและด้านล่าง จะมีขาต่อยื่นออกไปเพื่อไว้สำหรับยันกับส่วนโคนม่านตา ทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อที่ว่าเมื่อสอดเลนส์นี้เข้าไปในตาแล้วจะได้ตรึงอยู่กับที่ได้ ไม่เคลื่อนหล่นลงสู่ส่วนล่าง หรือขยับเขยื้อนไปตำแหน่งอื่น ตำแหน่งที่ต้องการคือตำแหน่งที่ส่วนตัวเลนส์ตรงกลางอยู่ตรงกับรูม่านตา (pupil) พอดี จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดที่สุด

สารที่นำมาประกอบเลนส์เทียมนี้ได้มาจากสารที่เรียกว่า พี.เอม.เอม.เอ (PMMA-Polymethyl metacrylate) ปัจจุบันมีบริษัทต่างๆที่ผลิตเลนส์เทียมออกจำหน่ายหลายบริษัท แข่งขันกันมากมายดุจดังการแข่งขันขายยา หรือขายแว่นตางั้นแหละ

เลนส์เทียมต่างกับเลนส์สัมผัสอย่างไร?

เลนส์เทียมก็คือเลนส์ที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบเลนส์ธรรมชาติของคนเรา เพื่อจะนำมาผ่าตัดสอดใส่เข้าไปในลูกตา หรือไปแทนที่ตำแหน่งเดิมของเลนส์ต้อกระจกที่ดูดออก

ส่วนเลนส์สัมผัส หรือที่รู้จักกันจนคุ้นหูคือ คอนแทคเลนส์ เป็นเลนส์บางๆใสโปร่งแสง โค้งไปตามความโค้งของกระจกตาดำ สำหรับนำมาครอบลงบนกระจกตาดำด้านนอกมิได้สอดใส่เข้าไปภายในลูกตาแต่อย่างใด โดยมากจะมีประโยชน์เพื่อแก้ภาวะสายตาผิดปกติชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่แก้สายตาที่หลังผ่าตัดต้อกระจกก็ได้ แต่แปะไว้ด้านหน้ากระจกตาดำ

เลนส์เทียมเมื่อฝังเข้าไปในตาแล้วอยู่ถาวรเลย ไม่ต้องเอาออกเอาเข้าเหมือนเลนส์สัมผัส หลายท่านยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างของเลนส์ทั้ง 2 ชนิดนี้ คิดว่าเลนส์เทียมสามารถเอาออกมาล้างทำความสะอาดได้เช่นเดียวกับเลนส์สัมผัส เลนส์เทียมจะอยู่ภายในลูกตาท่านและไปสวรรค์ชั้นไหนๆ (สุดแต่กรรม) พร้อมท่านด้วย เลนส์เทียมจะใส่เฉพาะในคนที่ผ่าตัดต้อกระจกเท่านั้น

ส่วนเลนส์สัมผัสใช้ได้หลายโอกาสดังได้เรียนแล้วแต่ต้นเอาเข้าเอาออกเป็นเวลาตามกำหนด

สมัยก่อนที่จะมีเลนส์เทียม หลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วถ้าผู้ป่วยต้องการให้เห็นชัดเจนดีโดยที่ภาพที่เห็นจากตาทั้งสองข้างไม่เหลื่อม และหลอกกันมากมายจนเกินไปเหมือนใส่แว่นหนาเตอะ แพทย์จะแนะนำให้ใช้เลนส์สัมผัสจะสะดวกกว่า เห็นได้ดีกว่า

ต้อแบบใดจึงจะเหมาะที่จะผ่าตัดฝังเลนส์เทียม
ดังได้กล่าวแล้วว่าปัจจุบันจักษุแพทย์ท่านใดที่ผ่าตัดชนิดนี้เป็น ก็จะพยายามชักชวนผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกให้ผ่าตัดชนิดฝังเลนส์เทียมเลย แม้แต่ในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิดก็ฝังเลนส์แล้ว

เมื่อสมัยการผ่าตัดเริ่มต้นใหม่ๆ จะมีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ไว้มากมายหลายข้อ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อที่จะให้แพทย์ผู้ผ่าตัดได้ระมัดระวังและติดตามผลแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาอย่างใกล้ชิดนั่นเอง เป็นต้นว่า

1. ต้องเป็นต้อกระจกชนิดวัยชรา ชนิดที่เป็นข้างเดียว

2. ต้อกระจกในคนแก่อายุมากๆ ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หรือจะให้ดีที่สุดคือ 80 ปีขึ้นไป ทั้งนี้คงจะกะระยะว่าถ้ามีโรคแทรกซ้อนตามมา ก็คงจะเป็นพร้อมกับเวลาที่ใกล้จะม้วยมรณา จะได้ไม่ต้องแก้ไขอะไร ให้ไปสวรรค์พร้อมเลนส์เทียมเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป

3. ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ผู้ผ่าตัดให้ได้ทันท่วงที ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น กล่าวง่าย ก็หมายถึงต้องมีจักษุแพทย์ที่สามารถแก้ไขภาวะแทรกซ้อนเป็นอยู่ใกล้ๆนั่นเอง

4. ต้องไม่มีโรคอื่นใดเป็นพื้นฐานอยู่ เช่น โรคเบาหวาน ต้อหิน จอภาพหลุด วุ้นลูกตาขุ่น ฯลฯ

                                               
                                                       

มาถึงทุกวันนี้จักษุแพทย์ที่ผ่าตัดเป็นจะชวนผู้ป่วยเป็นต้อกระจกผ่าตัดลูกเดียว บางรายไม่คำนึงถึงข้อบ่งชี้มากนัก จนบางแห่งทำเป็นกอบเป็นกำ เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียว บวกกับค่านิยมสมัยใหม่ที่ผู้ป่วยคุยเขื่องกันเองอีกแรงด้วย ว่าตนเองได้ผ่าตัดฝังเลนส์เทียมมาแล้ว สามารถจะคุยทับผู้ที่ผ่าตัดธรรมดาได้อย่างเต็มปาก นี่ซี! จักษุแพทย์บางคนถึงร่ำรวย ยิ่งอเมริกาด้วย ใครดังเรื่องผ่าตัดชนิดนี้ มีเครื่องบินส่วนตัวนั่งเลยละครับ เพราะทำเป็นธุรกิจชนิดที่ผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกธรรมดาๆ เลย ไม่ต้องนอนพักค้างคืนในโรงพยาบาล ผ่าเสร็จนอนพักฟื้นเพียง 2-3 ชั่วโมงกลับบ้านได้เป็นเสมือนผ่าตัดธรรมดาๆชนิดหนึ่งเท่านั้น ก้าวหน้ามั้ย?

ต้องเอาออกมาล้างทำความสะอาดเป็นครั้งคราวหรือเปล่า?
เลนส์เทียมเมื่อฝังเข้าไปแล้วจะอยู่ในตาถาวร คือเป็นอวัยวะอันหนึ่งของร่างกายไปโดยปริยาย ไม่สามารถเอาออกมาล้าง มาเช็ด หรือมาทำอะไรๆได้ทั้งนั้น ยกเว้นจะผ่าตัดเอาออก แล้วทิ้งไป จึงทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกคล่องตัว ไม่เกะกะ และรำคาญในตาแบบเลนส์สัมผัส จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกต่อการใช้แว่นหรือผู้ที่จะต้องใช้เลนส์สัมผัสหันมาใช้วิธีฝังเลนส์ดีกว่า

ผ่าตัดชนิดนี้มีทำกันได้ที่ไหนบ้าง
การผ่าตัดชนิดนี้ในเมืองนอกโดยเฉพาะอเมริกา หรือยุโรปทำกันมากและนิยมกันประมาณ 5-10 ปีที่ผ่านมา สำหรับเมืองไทยเพิ่งจะมาฮิตหรือฮือฮา เริ่มทำกันก็ประมาณ 3-4 ปีนี้เอง เพราะทนกระแสคลื่นวิทยาการสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามาไม่ได้

ปัจจุบันทำกันได้เกือบทุกโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมครบหลักสูตร บางแห่งตามคลินิกหรือสถานพยาบาลโรคตาก็ทำได้

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดฝังเลนส์เทียม มากน้อยเพียงใด?
ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดชนิดนี้อาจจะสูงสักหน่อย โดยปกติแล้วการผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีธรรมดาที่เคยๆทำกันก่อนจะมีการฝังเลนส์เทียมนี้ ถ้าผ่าตัดเป็นโรงพยาบาลของรัฐตกอยู่สามพันบาทถึงหมื่นบาท รวมทั้งค่าผ่าตัดค่าห้องพักค่ายาต่างๆ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนประมาณห้าพันบาทถึงหมื่นห้าพันบาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลไหนมีชื่อหรือเปล่า บวกกับแพทย์ผู้ผ่าตัดท่านใดอีกด้วย

ครั้นสมัยนี้การผ่าตัดฝังเลนส์ต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนและมีฝีมือพอควร ร่วมกับอุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัด อีกทั้งราคาค่าเลนส์ซึ่งต้องสั่งจากต่างประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีกเท่าตัว หรือสองเท่าตัว นั่นก็แล้วแต่ที่โรงพยาบาลไหนแพทย์ท่านใดผ่าตัดอีกด้วย เป็นรายๆไป

สรุปแล้วผ่าตัดฝังเลนส์เทียมดีเลวประการใด
การผ่าตัดทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะผ่าตัดอวัยวะใด แม้จะให้แพทย์ผู้มีฝีมือ “ฉมัง” ขนาดไหนทำก็ตาม ย่อมมีการพลาดได้เสมอ เพียงแต่ว่าข้อผิดพลาดควรจะให้เกิดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

การผ่าตัดตา เช่นกัน เป็นสิ่งที่เห็นข้อผิดพลาดได้ง่ายมาก เพียงพลาดนิดเดียวคนไข้บ่นว่ามัว มองไม่ชัด ไม่สบายตา ไม่ค่อยเห็น และ...ฯลฯ

จึงพอให้ข้อคิดว่าการผ่าตัดแบบนี้มีข้อดี และข้อเสียประการใดบ้าง ดังนี้

ข้อดีในการฝังเลนส์
1. ผู้ป่วยไม่ต้องใช้แว่นหนาเตอะ แบบก้นขวดดังได้กล่าวแต่ต้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถเห็นได้ชัดเจนใกล้เคียงธรรมชาติ โดยที่ภาพจากการเห็นของตาทั้งสองไม่หลอก ไม่เหลื่อมซ้อนกันจนรำคาญ อีกทั้งมีความคล่องตัวในการปรับภาพ และการปฏิบัติตัวในแง่ต่างๆ

2. ผู้ป่วยจะมีความคล่องตัวกระฉับกระเฉงดีกว่าการใส่แว่น ซึ่งการมองเห็นมีวงแคบจำกัด ต้องพยายามจ้องมองเพื่อให้ตาผ่านกึ่งกลางเลนส์แว่นตาเสมอจึงจะเห็นภาพชัด ส่วนการใช้เลนส์สัมผัสนั่นก็ต้องหมั่นถอดเข้าออกและรักษาความสะอาดตามหมายกำหนดเวลา มิฉะนั้นเกิดการอักเสบตามมาเสมอ

3. ผู้ป่วยสามารถจะใช้สายตาได้เลยหลังผ่าตัด เพราะมีเลนส์ฝังอยู่ภายในตาแทนเลนส์เดิมแล้ว ไม่ต้องรอจนครบ 3 เดือนค่อยวัดแว่น หรือเลนส์สัมผัสแบบการผ่าตัดธรรมดาระยะนานเลย 3 เดือนไปแล้ว ถ้ายังไม่ชัด อาจวัดสายตาประกอบแว่นให้เพิ่มเติมได้ แต่เป็นแว่นตาบางๆ เบาๆ สะดวกกว่าแว่นหนาๆ บางรายตาเห็นพอดีก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

4. ไม่ต้องกังวลเรื่องแว่นตามัว แว่นหาย แว่นแตก หรือเลนส์สัมผัสหล่นหายชำรุด มีอาการแทรกซ้อน

5. ถ้าผู้ป่วยมีสายตาปกติมาก่อน เช่น เคยมีภาวะสายตาสั้นหรือยาวมากๆมาก่อน อาจคำนวณค่าของเลนส์เทียมให้ใหม่ แล้วผ่าตัดใส่ให้พอเหมาะกับตาได้เลย เพราะการผ่าตัดชนิดนี้มีการคำนวณค่าของเลนส์ก่อนสอดใส่ให้อยู่แล้ว

ข้อเสียการฝังเลนส์
1. ค่าใช้จ่ายสูงต้องใจป้ำสู้กับราคาค่าเลนส์เทียม แยกต่างหากจากการผ่าตัด ค่าห้องค่ายา และค่าอื่นๆอีก หรือถ้าเป็นการผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชน อาจตกลงเหมาจ่ายกันเป็นตาๆไป ว่าจะข้างละเท่าไร อาจสองหมื่นห้าหรือสามหมื่น (บางคนอาจถึงห้าหมื่น!)

2. แพทย์ผู้ผ่าตัดที่ท่านไปฝากฝังต้องมีฝีมือ และประสบการณ์พอสมควร การผ่าตัดชนิดนี้ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ ต้องอาศัยกล้องขยาย รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัดอื่นๆอีก และเลนส์แต่ละแบบก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันในรายละเอียดอีกเล็กๆน้อยๆ

3. การใส่เลนส์ถ้าใส่ไม่ดีพออาจทำให้เห็นภาพมัวไป หรือบิดเบี้ยว ยังต้องอาศัยการวัดแว่นตาช่วยปรับให้ชัด ทำให้เกิดความรู้สึกค้านกับความนึกคิดแต่ต้นว่า “ไม่ต้องใช้แว่น” แต่กลับมาใส่แว่นตาอีก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสองต่อ

4. ระยะยาวนานออกไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อถุงเลนส์ที่เหลือค้างในตาเกิดเป็นฝ้าขาวขุ่นทำให้ตามัวลงได้ จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการกรีดให้เป็นช่อง หรืออาศัยการยิงแสงด้วยแย็คเลเซอร์

ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องราวของการฝังเลนส์เทียม ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาหาข้อเปรียบเทียบด้วยดุลยพินิจท่านเอาเถิด

ลักษณะเลนส์เทียม

                     
 

ข้อมูลสื่อ

107-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
เรื่องน่ารู้
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์