• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อควรระวังก่อนทำการนวด

ในการนวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มักจะคาดหวังผลอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ คือ
ประการแรก ทำให้เกิดผลทางการไหลเวียนโดยตรงบริเวณเนื้อเยื่อที่ทำการนวด
ประการที่สอง เป็นการเกิดผลทางอ้อมโดยผ่านการตอบสนองของระบบประสาท เช่น การเกิดผลที่อวัยวะภายใน เป็นต้น

                                     

ในประการที่สองนี้ยังต้องทำการศึกษาและวิจัย เพื่อให้การนวดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และไม่เกิดอันตรายต่อผู้ถูกนวด การนวดทั่วไปจึงมุ่งไปที่ผลของประการแรกมากกว่า

เนื้อเยื่อ
ที่เรานวดประกอบด้วย
ก. กล้ามเนื้อ ซึ่งมีทั้งกล้ามเนื้อที่อยู่พื้นผิวของร่างกายและส่วนที่อยู่ลึกลงไปมีลักษณะเป็นมัดๆ
ข. พังผืดหุ้มกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ มีลักษณะเป็นแผ่นและเหนียว
ค. หลอดเลือด มีทั้งหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ เลือดแดงเป็นเลือดที่ผ่านปอดแล้วจึงมีปริมาณออกซิเจนสูง แต่เลือดดำจะมีปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง
ง. ท่อน้ำเหลือง อาหารโดยเฉพาะสารโปรตีนจะเข้าสู่หลอดเลือดดำและท่อน้ำเหลืองซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ภายในร่างกาย

จะเห็นได้ว่า ผู้นวดจำเป็นต้องแยกแยะความรู้สึกปลายนิ้วและฝ่ามือที่ทำการนวดให้ออกว่า กำลังนวดเนื้อเยื่อแบบไหน มีลักษณะอย่างไร เนื่องจากมือเป็นส่วนที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก โดยเฉพาะปลายนิ้ว ผู้นวดที่มีความชำนาญสูงจึงสามารถกดหรือคลึงในส่วนที่ต้องการด้วยแรงที่พอเหมาะ และไม่เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อนั้นหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป

ผู้ฝึกนวดใหม่ๆ จึงไม่ควรใจร้อนที่จะเรียนรู้ท่านวดต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงข้อควรระวังหรือข้อต้องห้ามตามร่างกาย ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อผู้ถูกนวดและทำให้ผู้นวดอาจมีความผิดตามกฎหมายด้วย จึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ก่อนทำการนวด

ศีรษะ
ส่วนใหญ่เป็นกระดูกของกะโหลกศีรษะ การนวดตามกระดูกอาจมีผลต่อเนื้อเยื่อหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นพังผืดและหนังหุ้มศีรษะ ซึ่งเต็มไปด้วยหลอดเลือด

ส่วนที่ไม่ควรกดหนักคือ บริเวณที่ทัดดอกไม้ เพราะบริเวณนี้เป็นส่วนที่บางที่สุดของกะโหลกศีรษะ และแตกได้ง่าย เป็นจุดอ่อน ถ้าถูกกระทบหรือกระแทกแรงๆ อาจทำให้กระดูกแตก และทิ่มแทงเข้าเนื้อสมองตายได้ทันที

                    
               
บริเวณที่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในเด็กที่กระดูกยังต่อไม่เต็มที่ คือบริเวณกระหม่อม ซึ่งตอนคลอดใหม่ๆ จะปกคลุมด้วยพังผืดและหนังศีรษะเท่านั้น การเขกศีรษะเด็ก หรือกระแทกถูกบริเวณนี้จะกระทบกระเทือนต่อสมองโดยตรง ทำให้สมองบาดเจ็บ และพิการได้ กลายเป็นเด็กที่หัวทึบและมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ในผู้ใหญ่จะไม่มีข้อห้ามที่บริเวณนี้

ใบหน้า
เป็นบริเวณที่มีกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และเส้นประสาทมาก และยังมีต่อมน้ำลายที่หน้าหู การนวดหรือกดตรงจุดต่างๆ บนใบหน้าจึงต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน และไม่ควรนวดรุนแรงที่บริเวณหน้าหูมาก เพราะมีทั้งต่อมน้ำลายและร่างแหประสาท ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหน้า การนวดที่รุนแรงจึงอาจทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบหรือมีอาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่ลงได้

บริเวณต่อมน้ำลายที่หน้าหูนี้ อาจเกิดการอักเสบจากเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดคางทูม จึงควรระวังไม่ควรทำการนวด

ข้อมูลสื่อ

107-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
นวดไทย