• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้หญิงกับบุหรี่

มีผลเสียต่อผู้หญิง นอกจากทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และมะเร็งปอดเหมือนในผู้ชายแล้ว ยังมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ และระบบสืบพันธุ์ของหญิงด้วย และมักจะหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ มีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุได้ง่ายกว่าปกติ ถ้ามีครรภ์ก็อาจแท้งหรือคลอดผิดปกติ

ปัญหาที่ผู้หญิงสูบบุหรี่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่น่าวิตกมาก บริษัทผลิตบุหรี่เริ่มโฆษณาโดยมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มลูกค้าผู้หญิงมานานแล้ว แรกทีเดียว พยายามเน้นว่าสูบบุหรี่ทำให้ไม่อ้วน หรือว่าการสูบบุหรี่ทำให้ผู้หญิงดูมีอิสระและเท่าเทียมกับผู้ชาย

ผู้หญิงในอเมริกาสูบบุหรี่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปีพ.ศ.2507 ที่กระทรวงสาธารณสุขอเมริกันเริ่มเตือนให้ประชาชนระวังพิษภัยของบุหรี่เป็นครั้งแรกนั้น มีผู้หญิงอเมริกันเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้นที่สูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้ชายอเมริกันถึงร้อยละ 21.4 สูบบุหรี่

แต่ข้อมูลหลังสุดในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2530) นี้เอง สำรวจพบว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 25.7 สูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้ชายอเมริกันสูบบุหรี่มากขึ้นก็จริงแต่ก็ไม่เพิ่มมากเท่าผู้หญิง คือ มีจำนวนเพียงร้อยละ 31.5 เท่านั้นที่สูบบุหรี่

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงอเมริกันโดยเฉลี่ยสูบบุหรี่จัดกว่าเดิมอีกด้วย คือ ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้หญิงที่สูบบุหรี่มากกว่า 25 มวนต่อวัน เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

นอกจากนั้นแล้ว ผู้หญิงยังเริ่มสูบเมื่ออายุน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
มีรายงานวิจัยสนับสนุนค่อนข้างชัดเจนว่า ในผู้หญิงนอกจากบุหรี่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางเดินหายใจและมะเร็งปอดเหมือนในผู้ชายแล้ว บุหรี่ยังมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ และระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงด้วย กล่าวคือทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งที่ปากมดลูกมากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่

นอกจากนี้บุหรี่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ดังนั้นผู้หญิงที่สูบบุหรี่มักหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ มีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุง่ายกว่าปกติ เป็นหมันได้ง่าย และถ้ามีครรภ์ก็อาจแท้งหรือคลอดผิดปกติ (เช่น ตกเลือด รกฉีกขาด รกติดต่ำ ฯลฯ) ได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้สูบบุหรี่ในระหว่างมีครรภ์

ที่น่ากลัวมาก คือ มีหลักฐานว่า ถ้าสูบบุหรี่ในระหว่างมีครรภ์อาจมีผลในระยะยาวนานไปสู่ลูกได้ เช่น ลูกคลอดออกมาแล้วอาจเจริญเติบโตช้า ทั้งร่างกายและสติปัญญา และอาจมีปัญหาทางอารมณ์และนิสัยใจคออีกด้วย ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยในรายละเอียดกันอยู่ในเรื่องผลอันนี้

สรุปว่า ควรให้ความสนใจป้องกันยับยั้งไม่ให้ผู้หญิงวัยรุ่นวัยสาวสูบบุหรี่กันมากขึ้น
จาก New England Journal of Medicine 19 พฤศจิกายน 2530
 

ข้อมูลสื่อ

108-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531