• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตั้งครรภ์จนถึงการให้นมลูก แม่ควรกินอาหารอย่างไร

ลูกเป็นสายใย เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนตั้งใจ ว่าลูกของตนจะต้องเป็นเด็กที่ฉลาด แข็งแรง และสมบูรณ์ ดังนั้นแม่จึงควรบำรุงร่างกายตั้งแต่เริ่มรู้สึกตัวว่าตั้งครรภ์

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ร่างกายของแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างมากมาย ที่เห็นได้ชัดคือ อาการแพ้ท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ท้องอืด

แม่บางคนก็อาจจะมีอาการบวมได้ในระยะใกล้คลอด ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
6 เดือนหลังจากการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สมองของเด็กจะเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารการกินของแม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในระหว่างการตั้งครรภ์แม่ต้องรู้จักกินอาหารให้เป็น และกินแตกต่างไปจากสภาพปกติ คือจะต้องกินอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยต้องเพิ่มอาหารบางประเภทให้มากขึ้น บางประเภทก็กินเท่าเดิม ทั้งนี้เพราะนอกจากแม่ต้องกินอาหารเพื่อการดำรงชีวิตของตนเองแล้ว ยังต้องกินอาหารเพื่อลูกในท้องอีกด้วย

ประเภทของอาหารที่แม่ตั้งครรภ์จะต้องกินเพิ่มมากขึ้น คือ
1. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่ว ควรกินทุกๆมื้อ ทุกวัน วันละมากๆ เท่าที่จะกินได้ และควรกินตับอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะอาหารประเภทนี้ให้สารอาหารที่จำเป็นหลายๆอย่าง เช่น เหล็ก วิตามินบี 12 และโปรตีน ซึ่งจะช่วยในการเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์

2. ผักต่างๆ
ควรกินทุกวัน และกินในปริมาณที่มากขึ้น เช่น พวกผักใบเขียวต่างๆ พืชผักสีเหลือง เช่น ฟักทอง มะเขือเทศ อาหารประเภทนี้จะช่วยให้วิตามินแก่ร่างกาย แล้วยังช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยลดอาการท้องอืด

3. ผลไม้
ควรกินทุกวัน เช่น มะละกอสุก ส้ม กล้วย เป็นต้น ผลไม้ให้วิตามินแก่ร่างกายและช่วยในการขับถ่ายเช่นเดียวกับผัก

4. ยาบำรุงพวกธาตุเหล็ก
และวิตามินรวม ควรกินอย่างน้อยวันละ 1 เม็ด โดยเฉพาะในระยะตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งคลอด เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะซีดขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด โดยปกติหากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไปฝากท้องกับแพทย์หรือผดุงครรภ์ ก็จะได้รับยาเม็ด ธาตุเหล็กและวิตามินรวมมากิน

การกินยาเม็ดธาตุเหล็กอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น คลื่นไส้ อึดอัด แน่นท้อง บางรายอาจมีการอาเจียน อาการท้องเดินท้องผูกอาจมีบ้าง เพื่อลดอาการเหล่านี้จึงควรกินยาหลังอาหาร อย่ากินตอนท้องว่าง (บางคนอาจถ่ายอุจจาระสีดำก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นสีของเหล็ก)

5. ควรดื่มน้ำสะอาดเพิ่มมากขึ้น
คือดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้การขับถ่ายดีขึ้นและผิวหนังสดชื่น
ส่วนอาหารประเภทข้าว แป้ง และน้ำตาล ไม่ควรกินเพิ่ม ควรกินในปริมาณเท่ากับที่เคยกินปกติ นอกจากนี้ควรงดอาหารที่มีรสจัดโดยเฉพาะอาหารเค็มจัด เพราะจะทำให้บวมได้

ไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แท้งได้ หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือไม่ก็คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย และควรงดอาหารสุกๆดิบๆ หรืออาหารที่ไม่สุก เพราะจะทำให้ย่อยยาก ไม่สะอาด ทำให้เกิดพยาธิหรือท้องเสียได้

ขณะตั้งครรภ์ ไม่ควรกินยาโดยไม่จำเป็นเด็ดขาด การกินยารักษาโรคอะไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยาบางชนิดกินแล้วมีผลร้ายต่อลูกที่อยู่ในครรภ์จนอาจทำให้ลูกพิการได้

ในระหว่างตั้งครรภ์หากแม่กินอาหารถูกต้อง ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ น้ำหนักแม่ควรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1-1.5 กิโลกรัม และหลังจากนั้นจะเพิ่มโดยเฉลี่ยเดือนละ 1.5 กิโลกรัม ไปจนคลอด เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์น้ำหนักแม่ควรจะเพิ่มขึ้นประมารณ 10-12 กิโลกรัม และลูกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมคือ ประมาณ 3 กิโลกรัม

ที่สำคัญระหว่างการตั้งครรภ์แม่ควรทำจิตใจให้แจ่มใส มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลูกในท้องคลอดออกมาจะได้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

หลังคลอดแม่ควรกินอาหารอย่างไร
หลังคลอดแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างน้อยในระยะ 2-3 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก และดีที่สุดสำหรับแม่เองด้วย

ลูกที่กินนมแม่จะไม่เกิดปัญหาโรคภูมิแพ้ ไม่เป็นโรคอ้วน ได้ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ นมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ลูกมีการเจริญเติบโตและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไม่ขาดอาหาร สะอาด สะดวก ปลอดภัย และประหยัด แล้วยังมีผลดีต่อแม่ในด้านความสุขทางจิตใจ และยังมีผลดีต่อร่างกายแม่อีกด้วย เพราะฉะนั้นมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันดีกว่า

เมื่อคุณแม่ทั้งหลายเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว เพื่อให้นมแม่นั้นมีคุณค่าอาหารสมบูรณ์ที่สุด แม่จึงควรรู้จักกินอาหารให้ถูกต้อง ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส

การกินอาหารระหว่างที่ให้นมลูกอยู่นั้น แม่ควรกินอาหารให้มากกว่าตอนตั้งครรภ์ เพราะร่างกายแม่จะต้องการอาหารไปสร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูก แม่จึงควรกินอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่ว งดอาหารรสจัด หรืออาหารสุกๆดิบๆ เพราะอาจทำให้แม่และลูกท้องเสียได้ งดของมึนเมา ของดอง แม้แต่ยาดองเหล้าก็ไม่ควรกิน เพราะยาดองเหล้ามีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ หากกินยาดองเหล้า เด็กจะได้รับแอลกอฮอล์ผ่านทางน้ำนม และแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อสมองเด็ก

แม่ควรจำไว้เสมอว่า ไม่มีของแสลงใดๆทั้งสิ้นสำหรับแม่ อาหารทุกอย่างแม่สามารถกินได้ แม่ควรดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้สบาย เพื่อที่แม่จะได้มีน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงลูก

ระหว่างให้นมลูกนอกจากแม่จะได้ผลดีด้านความสุขทางจิตใจแล้ว ยังมีผลดีต่อร่างกายอีกด้วยคือ ทำให้มดลูกหดตัวเข้าช่องเชิงกรานได้ดี แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองจะมีปัญหาของมะเร็งเต้านมน้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้แม่จะไม่เกิดปัญหาโรคอ้วน เพราะไขมันที่สะสมขณะตั้งครรภ์จะถูกนำมาใช้ในการสร้างน้ำนมสำหรับลูก

ปัญหาที่แม่อาจพบได้ระหว่างให้นมลูก

ปัญหา                                                 แก้ไข
นมคัด                                 - ใช้มือบีบน้ำนมออก หรือใช้ที่ปั๊ม ปั๊มน้ำนมออก
น้ำนมน้อย                          - กินอาหารให้เพียงพอ
                                          - พักผ่อนทำจิตใจให้สบาย
                                          - ให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า
                                          - ให้ดูดทั้งสองเต้า และครั้งถัดไปให้ดูดจากเต้าสุดท้ายที่ลูกดูดครั้งที่แล้ว
                                             ก่อน
หัวนมแตก                          - พักข้างที่หัวนมแตกสัก 2-3วัน และบีบน้ำนมให้ลูกแทน
                                          - ให้ดูดเฉพาะข้างที่ไม่แตก เพียง 2-3 วัน
เต้านมอักเสบ                     - หยุดให้นมลูกจากเต้านั้น บีบน้ำนมทิ้งแล้วปรึกษาแพทย์
แม่ทำงานนอกบ้าน             - ให้นมลูกตลอดเวลาที่อยู่บ้าน
                                           - บีบน้ำนมใส่ขวดที่นึ่งหรือต้มแล้ว เก็บในตู้เย็นหรือในกระติกน้ำแข็ง ให้นม
                                             นี้ทดแทน สำหรับมื้อที่แม่ไม่อยู่บ้าน

 

ข้อมูลสื่อ

108-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
กินถูก...ถูก