• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหัวใจ

โรคหัวใจมีหลายประเภท ที่สำคัญก็คือ โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจรูห์มาติก โรคเหน็บชา โรคหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม และโรคหัวใจซึ่งเกิดจากโรคอื่น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคซีด โรคต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น

ตามสถิติกระทรวงสาธารณสุข โรคหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการตายอันดับต้นๆของประเทศ
โรคหัวใจที่สำคัญที่สุดคือโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ซึ่งมีสถิติเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย โรคนี้เกิดจากการมีไขมัน และเกร็ดเลือดไปจับอยู่ภายในผนังหลอดเลือดทำให้เลือดเดินไม่สะดวก เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หัวใจอาจหยุดเต้นทันที ประมาณ 70% ของผู้ป่วยโรคนี้ จะตายก่อน มาถึงโรงพยาบาล

ฉะนั้นมาตรการสำคัญที่จะไม่ให้ตายจากโรคนี้คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในการรักษาโรคนี้อย่างมากมายก็ตาม ก็ยังมีคำถามถามอยู่เสมอว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร และจะป้องกันได้อย่างไร

โรคนี้ไม่มีสาเหตุที่แน่นอนอันใดอันหนึ่งก็เช่นเดียวกับท่อประปาเมื่อใช้นานๆเข้าก็มีคราบจับภายในทำให้ตีบตัน บางบ้านก็ตีบเร็ว บางบ้านก็ตีบช้า เราเรียกว่าปัจจัยเสี่ยง ซึ่งแบ่งใหญ่ๆเป็น 2 ประการ คือ
1. ปัจจัยเสี่ยงชนิดเปลี่ยนแปลงไม่ได้
2. ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งแยกออกเป็นชนิดสูง และชนิดต่ำ

1. ปัจจัยเสี่ยงชนิดเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ได้แก่ อายุ เพศ กรรมพันธุ์ มักเป็นในผู้ที่อายุเกิน 40 ปี แต่อาจพบได้ในอายุ 20 หรือ 30 ปี เพศชายเป็นมาก เชื่อว่าเกี่ยวกับฮอร์โมน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้
2.1 ชนิดสูง ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน กรดยูรกในเลือดสูง
2.2 ชนิดต่ำ ได้แก่ ยาคุมกำเนิดบางอย่าง อุปนิสัยนั่งๆนอนๆ ไม่ได้ออกกำลัง บุคลิกภาพชนิดที่เรียกว่าไฟแรงเอาจริงเอาจัง ภาวะเครียด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ป่วยโรคนี้มาก อัตราตายจากโรคนี้ลดลงถึงประมาณ 50% ภายใน 20 ปี เราน่าจะพิจารณาดูว่าเป็นเพราะเหตุใด เข้าใจว่า

อันแรก ประชาชนอเมริกันได้เอาใจใส่ในการป้องกันรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง
อันที่สอง คือความก้าวหน้าในการรักษาโรคนี้ พบยาใหม่ๆ ในการรักษามาก ทำการผ่าตัด หรือใช้เครื่องมือไปขยายหลอดเลือดกันกว้างขวาง และเริ่มทำในขณะที่เริ่มเป็น มีการตรวจสุขภาพและตรวจสอบโรคหัวใจ และโรคอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ กันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคนี้หรือปัจจัยเสี่ยงก็รีบควบคุม และรักษาตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ

ได้มีการสำรวจเรื่องอาชีพในประเทศอังกฤษ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า ดัชนีของอาชีพที่เป็นโรคนี้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่เป็นผู้จัดการเป็นโรคนี้น้อยลง เขาได้คิดค่าเฉลี่ยผู้ที่ตายจากโรคนี้ในอาชีพต่างๆ เป็น 100 พบว่า มีค่าดัชนีการตายจากโรคนี้ดังต่อไปนี้

อาชีพซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ครู อาจารย์                                                                 74
วิศวกรนักวิทยาศาสตร์                                                76
ผู้จัดการ                                                                      87
ค้าขาย                                                                        91
ชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง เกษตรกรอื่นๆ                   93
ก่อสร้าง                                                                      97
งานซ้ำซาก เช่นทาสี ตรวจสอบสินค้า บรรจุหีบห่อ    99
อาชีพที่เกินค่าเฉลี่ย
งานภัตตาคาร ทำความสะอาด ช่างเสริมสวย ฯลฯ    102
งานเสมียน                                                                104
ช่างซ่อม เครื่องยนต์ และอื่นๆ                                   106
ขับขี่ยานพาหนะ                                                        116
ผู้ควบคุมเครื่องจักรกล                                               117
ช่างไฟฟ้า และช่างอีเลคโทรนิค                                119
ผู้รักษาความปลอดภัย                                               121

แสดงว่า ช่างฝีมือต่างๆเป็นโรคนี้มากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าทำงานอยู่แทบตลอดเวลา
ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เช่น ในด้านสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ไม่ทำงานมากเกินไป

ในประเทศไทยเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการรณรงค์เรื่องออกกำลัง เช่น การวิ่งกันมาก ในด้านบุหรี่ก็ได้มีการรณรงค์กันมาก เช่น มีการวิ่ง การเดิน และมีการลงชื่อต่อต้านการสูบบุหรี่กันเป็นล้านๆคน คงต้องรอผลกันก่อนว่าจะได้ผลแค่ไหน เพราะได้ข่าวว่าจะผลิตบุหรี่เพิ่ม ผมเพิ่งได้ฟังท่านปัญญาฯ เทศน์ทางวิทยุเมื่อเช้านี้เอง ติงเรื่องการผลิตบุหรี่เพิ่ม และจะผลิตบุหรี่ต่างประเทศด้วย ซึ่งเขามีรูปซองสวยงาม น่าซื้อ น่าสูบ

ความหวังในอนาคตของโรคนี้คือการป้องกัน กรุณาขอให้ทุกท่านปฏิบัติอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กเลย ถึงจะเริ่มเวลานี้ก็ไม่สาย โปรดเริ่มเสียวันนี้ ผมเองก็เพิ่งจะเริ่มเล่นกีฬาใหม่เมื่อเร็วๆนี้เอง

 

ข้อมูลสื่อ

108-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
โรคน่ารู้
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์