• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการบวม-กดบุ๋ม

“คอลัมน์นี้ จะสอนให้รู้จักอาการและโรคต่างๆ รวมทั้งวิธีตรวจร่างกายด้วยตนเอง ซึ่งผู้อ่านนำไปปฏิบัติได้เลยหรือภายหลังจากที่ได้ฝึกจากผู้รู้สักครั้งสองครั้ง เราจะนำมาเสนอเป็นประจำทุกครั้ง”

“อาการบวม-กดบุ๋ม”

หลายวันมานี้ ผู้คนในบ้านต่างสังเกตเห็นว่า ศรีอ้วนขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ศรีเองก็รู้สึกว่ากางเกงที่เคยใส่นั้น เอวคับจนใส่ไม่ได้เสียแล้ว แหวนที่นิ้วมือก็คับจนรูดออกไม่ได้เหมือนเช่นเคย หน้าและมือรู้สึกตึงไปหมด

‘เอ ระยะนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะกินได้มากขึ้นกว่าเดิม อาการแบบนี้คงจะไม่ดีแน่’ ศรีคิดได้ดังนี้แล้ว จึงไปหาหมอที่ร้านข้างบ้าน

“หมอคะ หนูนี่อ้วนหรือบวมกันแน่คะ?” ศรีถามขึ้นขณะนั่งตรงหน้าหมอ

หมอใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่บริเวณใกล้ๆ ตาตุ่มด้านในของเท้าอยู่นานสัก 15 นาที เมื่อยกนิ้วออกก็ปรากฏรอยบุ๋มของนิ้วมือตรงบริเวณนั้นให้เห็น

“อาการแบบนี้เขาเรียกว่าบวมแน่ๆ...” หมอตอบ

ครับ การตรวจดูอาการนั้นทำได้ง่ายๆ โดยการใช้นิ้วมือกดลงไปตรงบริเวณหน้าแข้งหรือตาตุ่มด้านในของผู้สงสัย กดให้แรงพอควร นานประมาณ 15-30 นาที หากปรากฏพบรอยบุ๋มของนิ้วมืออย่างชัดเจนก็แสดงว่าบวม

คนที่มีอาการบวมที่เท้าทั้ง 2 ข้างนั้น มีสาเหตุจากโรคได้หลายๆ ชนิด แต่ที่สำคัญ คือ

1. โรคไต พวกนี้มักจะมีอาการบวมที่หน้า (ดูรูปที่ 1) และอาจมีอาการ บวมที่ท้อง หรือ

ท้องมาน (ดูรูปที่ 3) ร่วมด้วย ถ้าพบหลังเป็นไข้-เจ็บคอ มักจะมีปัสสาวะเป็นสีน้ำหมาก หรือน้ำล้างเนื้อให้เห็น แต่ถ้าปัสสาวะสีใสเป็นปกติ อาเป็นโรคไตพิการที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ

2. โรคตับ เช่น ตับแข็ง หรือ มะเร็งในตับ มักมีอาการ ดีซ่าน (ตาเหลือง) และ ท้องมาน ร่วมด้วย

(รายละเอียดดูเรื่อง การตรวจอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) และโรคตับแข็ง ใน หมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 5)

3. โรคหัวใจ พวกที่เป็นลิ้นหัวใจรั่วจากไข้รูมาติค ซึ่งเกิดจากอาการไข้-เจ็บคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ

เป็นเหตุชักนำแต่เบื้องแรก (ดูใน หมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2) หรือคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานาน หากมีอาการหอบเหนื่อยโดยเฉพาะเวลานอนราบจะอึกอัดหายใจไม่ได้ ต้องลุกขึ้นนั่งหรือนอนหมอนสูงๆ ร่วมกับมีอาการบวมที่เท้าทั้ง 2 นอกจากนี้สังเกตเส้นเลือดที่คอพบว่า โป่งพองกว่าคนปกติโดยเฉพาะเวลานอนลง (ดูรูปที่ 4) และคลำจะพบว่า ตับโต ก็แสดงว่าหัวใจทำงานไม่ไหวเอาเสียแล้ว ที่ภาษาหมอเขารียกว่า “หัวใจวาย” หรือ “หัวใจล้ม” (Heart failure – ฮาร์ท เฟลเลีย) นั่นแหละ หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลเป็นดีที่สุด

4. โรคขาดอาหาร (ดูรูปที่ 2) ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-5 ปี

5. ในหญิงตั้งท้อง อาจพบว่ามีอาการบวมได้ในระยะท้องแก่ตั้งแต่ 7,8 เดือนขึ้นไป หากพบว่ามีอาการ ปวดหัว ตามัว ร่วมด้วย ให้ตรวจวัดความดันเลือดดู ถ้าพบว่าสูง ก็แสดงว่าเป็นความดันสูงจากการตั้งท้อง (ภาษาหมอเรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ”) ซึ่งอาจทำให้หญิงนั้นมีอาการชักตอนคลอดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากสงสัยควรปรึกษาหมอเสียแต่เนิ่นๆ หากไม่มีอาหารเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ตั้งท้องได้ทุกคน

เมื่อมีอาการบวมควรทำอย่างไร

คนที่มีอาการเท้าทั้ง 2 ข้าง ก็ควรสังเกตอาการต่างๆ ดังได้กล่าวข้างต้น และหากสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง ที่ควรจะปรึกษาหมอเสียแต่เนิ่นๆ

การรักษา หมอจะให้ยา ขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวมเป็นพื้นในทุกสาเหตุ ร่วมกับยาที่ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เป็นสาเหตุของการบวม เช่น ถ้าเกิดจากหัวใจทำงานไม่ไหว (หัวใจวาย) หมอก็จะให้ยาช่วยให้หัวใจทำงาน เช่น ไดจ๊อกซิน ½-1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ให้กินประจำกับยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

คนที่มีอาการบวมทุกคน ควรดื่มน้ำเท่าที่จำเป็นอย่าให้น้ำเกลือกันเอง ห้ามกินของเค็ม (เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ฯลฯ) ควรกินอาหารพวก เนื้อ นม ไข่ ให้มากๆ ฯลฯ

หากมีเหตุอันใดก็ตามที่ยังไปหาหมอไม่ได้ ก็ให้กินยาขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวม เช่น ยาเม็ดฮัยโดรคลอโรไธอาไซด์ (เม็ดละ 25 สตางค์) หรือ ยาเม็ดฟูโรซีไมด์ (เม็ดละ 1.00 บาท) กิน 1 เม็ด ตอนเช้าครั้งเดียว หรือเช้าเม็ดกลางวันเม็ดได้ ไม่ควรกินมื้อเย็น เพราะทำให้นอนไม่ได้ ยาขับปัสสาวะจะขับเอาธาตุโปแตสเซียมออกมาด้วย ควรกินยาโปแตสเซียมคลอไรด์เข้าไปทดแทน หรือจะกินส้มหรือกล้วยที่มีธาตุนี้อยู่มาก แทนก็ได้

 

คำอธิบายภาพ

1. อาการที่หน้าและหนังตา ในคนที่เป็นโรคไต

2. เด็กขาดสารอาหาร มีอาการบวมทั้งตัว ซึด ผอมสีจาง

3. อาการบวมทที่ท้องเนื่องจากมีน้ำอยู่ในช่องท้อง หรือภาษาหมอเรียกว่า “ท้องมาน” พบในคนที่เป็นโรคไต โรคตับ และโรคหัวใจ

4. เส้นเลือดที่คอโป่ง พบในคนที่เป็นโรคหัวใจทำงานไม่ได้

ข้อมูลสื่อ

8-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ