• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พรายย้ำ จ้ำเขียว

พรายย้ำ จ้ำเขียว

 

คอลัมน์โรคน่ารู้ฉบับนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องผีๆเสียแล้วครับ

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขาอธิบายศัพท์ พราย หมายถึง “ผีจำพวกหนึ่ง” (มักกล่าวกันว่าเป็นผีผู้หญิงและเด็กที่ตายท้องกลม)และอธิบาย พรายย้ำ ว่าหมายถึง รอยดำๆ คล้ายถูกอะไรกัดเป็นรอยช้ำ ปรากฏตามร่างกายเป็นแห่งๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดอย่างไร โบราณถือว่าถูกผีพรายกัดย้ำเอา แต่ไม่ถึงกับเข้าเป็นแผล
เมื่อครั้งโบราณมนุษย์ต้องเจ็บป่วยและล้มตายไปโดยไม่สามารถทราบถึงเหตุผล ผีจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องหมายของความเลวร้ายที่เป็นตัวกระทำให้มนุษย์ต้องเจ็บป่วยหรือตายไป ผู้ใดเป็นพรายย้ำจ้ำเขียวและกำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจหรือไปทำอะไรกับตนเองเสียก่อนละครับ

เรามาฟังศาสตราจารย์แพทย์หญิงอนงค์ เพียรกิจกรรม แห่งภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงเรื่องพรายย้ำจ้ำเขียวว่าเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ และควรจะทำอย่างไรเพื่อให้คลายกังวลและเลิกสงสัยกันเสียที

 

⇒ ลักษณะอย่างไรที่เรียกว่า พรายย้ำ จ้ำเขียว
พรายย้ำจ้ำเขียวเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่พบบ่อย มี 2 ลักษณะคือ เป็นจุดเลือดออกตามผิวหนัง พบได้ทั่วร่างกาย จุดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดจนถึงขนาด 1 ซม.หรือมากกว่า
(รูปที่ 1)

 

 

  รูปที่1
 จุดเลือดออก( Petichial Hemorrhage ) เป็นจุดเลือดออกเล็กๆในผิวหนัง ไม่เจ็บหรือคันเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยเกิดมีเกร็ดเลือดต่ำ กดแล้วไม่จางหาย

 

 

 


 
อีกลักษณะคือ เป็นรอยจ้ำตามผิวหนังคล้ายๆกับห้อเลือด ที่พบมากตามแขนขา ไม่มีการเจ็บปวดและไม่มีอาการคัน (รูปที่ 2) บางครั้งลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นโดยไม่เป็นอันตรายอะไร บางครั้งก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากโรค

 


 

  รูปที่ 2
 พรายน้ำ หรือจ้ำเลือด ( Ecchymosis ) เกิดขึ้นเนื่องจากมีเลือดออกในปริเวณใต้ผิวหนัง เกืดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติในกลไกการห้ามเลือดของร่างกาย จะคลำได้เป็นไตแข็งๆ ตรงกลางอาจจะรู้สึกเจ็บได้บ้าง

 

 

 

 

⇒ เกิดขึ้นจากอะไร
ก่อนที่จะกล่าวถึงว่าเกิดจากอะไร ก็อยากจะอธิบายถึงกลไกการหยุดเลือดเสียก่อนว่า เมื่อเกิดบาดแผลภายนอก โดนมีดบาดแล้วเลือดไหล เลือดก็จะหยุดได้เอง (ถ้าไม่ถูกเส้นเลือดขนาดใหญ่)

การที่เลือดหยุดเองนั้น เกิดจากส่วนประกอบใหญ่ 3 อย่างคือ
1. ในผิวหนังของเรามีหลอดเลือดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนังนี้จะช่วยปกป้องจากการกระทบกระแทก เมื่อมีการฉีกขาดเกิดขึ้นกับหลอดเลือด มันจะหดตัวเล็กลงทำให้เลือดหยุด

2. เกร็ดเลือดเป็นเม็ดเลือดขนาดเล็กๆ ทำหน้าที่ปล่อยสารทำให้เลือดแข็งตัวได้

3. มีโปรตีนที่อยู่ในเลือดส่วนที่เป็นน้ำเหลืองทำหน้าที่ให้เลือดหยุดได้
เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เกร็ดเลือดและโปรตีน ประกอบเป็นปัจจัยสำคัญที่ห้ามเลือดให้หยุด เวลาที่มีเลือดออก ดังนั้นเมื่อส่วนประกอบที่ทำให้เลือดหยุดไหลข้างต้นผิดปกติก็จะเกิดจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือจ้ำจึ้นได้ตามบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย

 

⇒  เมื่อเวลายุงกัดก็มักเกิดจุดๆ แดงๆ เราจะแยกว่าจุดไหนเป็นจุดพรายย้ำ จุดไหนเป็นจุดยุงกัดได้อย่างไร
เวลาถูกยุงกัด ในคนที่แพ้ก็เกิดจุดแดงๆ ส่วนมากเกิดที่แขน ขา ถ้าเราลองกดหรือใช้แก้วกดวางลงไป เราจะมองเห็นว่าจุดนั้นจางหายไป แสดงว่าเป็นจุดที่เกิดจากยุงกัด ไม่ใช่จุดเลือดออก

 

⇒ มีรอยจ้ำเขียวอื่นๆที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไหม
รอยที่เกี่ยวกับการถูกกระแทกก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ เวลาเราลุกขึ้นลุกลงที่โต๊ะหรือเก้าอี้ ส่วนมากใต้ขาพับจะกระทบกระแทกกับเก้าอี้โดยเราไม่ค่อยรู้ตัว บางครั้งอาจจะแรงบ้าง ทำให้มีจ้ำเขียวเกิดขึ้นตามบริเวณนี้ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงมีระยะที่มีประจำเดือน อาจจะมีจ้ำเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งพวกนี้เกิดระยะเดียวแล้วก็หายไป
อีกอย่างก็เกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกายเราไม่ดี เช่น ในคนสูงอายุ มักจะพบในคนอายุ 60-70 ปีขึ้นไป ซึ่งเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไขมันน้อยและเนื้อเยื่อยืดหดไม่ได้ดี พวกนี้ก็อาจจะเกิดจ้ำขนาดใหญ่ๆขึ้นได้ ส่วนมากเป็นที่แขนขา รอยกระแทกอาจทำให้เกิดจ้ำขนาดใหญ่ได้ ไม่มีอันตรายพวกนี้

 

⇒ มีโรคใดบ้างที่ทำให้เกิดจุดเลือดออกหรือพรายย้ำจ้ำเขียวที่อันตราย
โรคที่ทำให้เกิดจุดเลือดหรือพรายย้ำจ้ำเขียวที่อันตรายและพบบ่อยนั้นได้แก่
1. ภาวะเกร็ดเลือดของร่างกายต่ำลง ที่พบบ่อยคือ ไข้เลือดออก โรคเกร็ดเลือดต่ำ แต่อย่างเดียว โรคไขกระดูกฝ่อและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

2. ภาวะโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวน้อยไป ที่พบบ่อยคือ โรคฮีโมฟีเลีย

 

⇒  โรคไข้เลือดออก โรคเกร็ดเลือดต่ำ โรคไขกระดูกฝ่อและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว คนไข้จะมีอาการอย่างไร
ไข้เลือดออกพบมากในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ เด็กเป็นได้ตั้งแต่ 5-10 ปี ส่วนผู้ใหญ่ที่เคยพบอายุสูงสุด 51 ปี พวกนี้จะเป็นไข้เป็นอาการสำคัญ
ถ้าเมื่อใดเด็กมีไข้สูง ปากแดง หน้าแดง และไม่มีอาการชัดเจนของการติดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไม่ได้ไอรุนแรง ไม่เจ็บคอรุนแรง ไม่มีน้ำมูกไหล อาจจะสงสัยว่าเป็นโรคนี้
อาการไข้ในระยะ 2 วันแรก อาจพิสูจน์ยากว่าเป็นไข้เลือดออก ระยะต่อมาประมาณสักวันที่ 3-5 เด็กก็อาจจะเกิดจุดเลือดออกใต้ผิวหนังเล็กๆขนาดหัวเข็มหมุด ซึ่งมักพบบริเวณขา ระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้โรคไข้เลือดออกมีเกร็ดเลือดต่ำ และเป็นระยะค่อนข้างอันตราย

แต่ในบางกรณีที่คนไข้มีจุดเลือดออกอย่างนี้ และไม่มีอาการอะไร เช่น ไม่คลื่นไส้ ไม่อาเจียนเป็นสีดำๆ หรือมีเลือดปนออกมา ก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ถ้าเขายังดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน ควรให้ดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งทำให้เลือดข้นและอาจช็อก ถ้าคุณพ่อคุณแม่กลัวอาจต้องพบแพทย์
อันตรายของเด็กที่เป็นไข้เลือดออกคือ พ่อแม่ให้ยาลดไข้พวกแอสไพริน ยานี้ทำให้เกร็ดเลือดซึ่งต่ำ อยู่แล้วในคนไข้เลือดออกทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติและอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอักเสบ เลยยิ่งซ้ำเติมให้เลือดออกและเป็นอันตรายถึงตายได้

โรคเกร็ดเลือดต่ำแต่อย่างเดียว
คนไข้พวกนี้มักจะไม่มีอาการอะไร อยู่ดีๆก็อาจจะมีเลือดออกมากประมาณ 80% ออกทางผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดแดงขนาดปลายเข็มหมุดจนถึง 1 ซม. กดแล้วไม่จางหาย(รูปที่ 1)
ในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด คือมีประจำเดือนได้นานและมากกว่าปกติ  นอกจากนั้นที่พบบ่อยก็เลือดออกจากไรฟันและจมูก
คนไข้ที่มีปัญหาอย่างนี้ บางรายอาจมีเลือดออกในสมองแล้วทำให้ปวดศีรษะ พวกนี้ก็จำเป็นต้องพบแพทย์ การรักษาโรคนี้มักได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ (โดยใช้ยา) ซึ่งจะช่วยทำให้ปริมาณเกร็ดเลือดมากเป็นปกติจนอาจหายขาดได้ รายที่รักษาทางยาไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาให้ตัดม้าม เพราะม้ามทำหน้าที่มากเกินไป โดยทำลายเกร็ดเลือด ทำเกร็ดเลือดต่ำ

โรคไขกระดูกฝ่อ
ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีเลือดออกได้ง่าย มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคติดเชื้อได้ง่าย เพราะไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดได้เท่าปกติ
โรคนี้พบมากในบ้านเรา ที่ศิริราชพบประมาณ 70 รายต่อปี เฉพาะที่นี่ก็มากกว่าที่พบในอเมริกา 10 ปีรวมกัน การที่บ้านเราพบโรคนี้มาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้ยาและสารเคมีบางอย่างที่ไม่มีการควบคุม (โปรดดูรายชื่อยาและตารางคู่มือโลหิตวิทยา หน้า 121 ตาราง 14.1 สารเคมีที่พบว่าเป็นสาเหตุของโรคไขกระดูกฝ่อ) โรคนี้ถ้าได้รับการรักษามีโอกาสหายขาดได้ 20% นอกจากนั้นก็อาจมีการรักษาวิธีอื่นที่อาจหายได้ถึง 50-80% 
แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จคือ การมารับการรักษาสม่ำเสมอไม่ย้ายที่ การรักษาต้องกินเวลา ไม่สามารถรักษาได้ในเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยต้องอดทนและต้องมารักษาตามที่แพทย์นัดวิธีป้องกัน คือหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดโดยพร่ำเพรื่อ ใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงให้ถูกวิธี


โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปกติร่างกายเรามีการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว กับเกร็ดเลือด จากไขกระดูกในระยะที่ยังอยู่ในไขกระดูก เม็ดเลือดเหล่านี้ยังเป็นเซลล์อ่อน ทำหน้าที่ไม่ได้ (เหมือนเด็กเล็กที่ทำงานทำการยังไม่เป็นนั่นแหละ) พอโตเต็มที่มันก็ออกมาอยู่ในกระแสเลือดทำงานของมันไป พอแก่มันก็ตายและถูกทำลายโดยม้ามและตับ วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ในคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดของเขามีแต่ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวจำนวนมหาศาลไปเบียดไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดและเกร็ดเลือดชนิดปกติได้เช่นเดิม
ร่างกายจึงขาดเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ที่ทำการงานได้ ก็เลยเกิดอาการซีด ติดเชื้อง่าย และเลือดออกง่ายไข้ก็เป็นอาการที่พบบ่อยอาจเป็นผลของโรคเอง หรือมีการติดเชื้อแทรกซ้อน

นอกจากนี้แล้วก็อาจมีต่อมน้ำเหลืองตามที่ต่างๆของร่างกายโต เช่น ที่คอ รักแร้ และขาหนีบ อาจมีก้อนในท้อง ส่วนมากก็เป็นที่ตับม้ามโตขึ้น มีเลือดออกตามที่ต่างๆของร่างกายได้
โรคนี้เมื่อสมัยก่อนไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่ปัจจุบันนี้การรักษาโรคนี้เรามียาที่ดีใช้ คนไข้ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันสามารถมีชีวิตยืนยาวได้กว่า 10 ปี บางคนก็มากกว่านั้น ก็ยังเป็นโรคที่มีความหวัง ถ้ารักษาเสียแต่เนิ่นๆ อดทนมารับการรักษาสม่ำเสมอเพราะต้องใช้เวลานานในการรักษา

 

⇒ โรคฮีโมฟิเลีย เป็นอย่างไร
โรคนี้เป็นภาวะที่มีโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวน้อยผิดปกติ พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะหน่วยพันธุกรรม(ยีน)ที่ทำให้เกิดโรคนี้ แสดงลักษณะของมันเด่นในเพศชาย คนในครอบครัว โดยเฉพาะพี่ชายหรือน้องชายของแม่เป็นโรคนี้ด้วย จัดเป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่ง คนไข้อาจมีอาการผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรืออาการปรากฏชัดเมื่อเด็กโตพอที่จะไปไหนมาไหน เล่นซุกซนได้

ลักษณะอาการได้แก่
1. เลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น เมื่อโดนมีดบาด

2. มีเลือดออกตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น
- เด็กเกิดใหม่มีเลือดออกจากสายสะดือ
- ในสมอง จากบาดเจ็บที่ศีรษะ
- ในข้อ มักเป็นข้อใหญ่ เช่น ข้อเข่า (รูปที่ 3) ข้อศอก ทำให้ข้อบวม ปวด เป็นบ่อยๆ และรักษาไม่ดี อาจทำให้พิการได้]


 


 รูปที่ 3
เลือดออกในข้อ (Hemarthrosis) มักเกิดเพราะในผู้ป่วยที่มีปัญหาผิดปกติของกลไกการแข็งตัวของเลือด ในคนปกติการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงอาจเกิดปัญหาเลือดออกในข้อเช่นนี้ได้ แต่พบไม่บ่อย

 

 

 - ในกล้ามเนื้อ ทำให้มีก้อนในกล้ามเนื้อ
- ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดจ้ำเลือดขนาดต่างๆ

3. ซีดเพราะเลือดออก
การรักษา
ทำได้โดยการให้น้ำเหลือง ซึ่งจะมีโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เวลาที่มีเลือดออกหรือก่อนจะถอนฟัน หรือรับการผ่าตัด พยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก การถูกของมีคมบาด การฉีดยาโดยพร่ำเพรื่อ หลีกเลี่ยงการกินยาที่เข้าแอสไพริน เช่น ยาทัมใจ บวดหาย ประสะนอแรด เป็นต้น

 

⇒ นอกจากโรคที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดพรายย้ำจ้ำเขียวหรือไม่
ที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่งก็คือ ยากลุ่มสเตียรอยด์ บางทีชาวบ้านเรียก “ยาอ้วน” ยาตัวนี้มีผสมอยู่ในยาชุดซึ่งชาวบ้านชอบใช้กันมาก เพื่อแก้ปวดเมื่อย เพิ่มความอ้วน เป็นต้น
อันที่จริงสเตียรอยด์เป็นยาที่อันตรายมาก ทำให้
- ภูมิต้านทานต่ำ เกิดโรคติดเชื้อง่าย
- กระดูกผุกร่อน
- บวม
- ผิวหนังบางผิดปกติ ฯลฯ
การที่ผิวหนังบางผิดปกติเพราะกินยานี้ ทำให้เกิดพรายย้ำได้บ่อย เพราะเมื่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนังบางลง เส้นเลือดก็ขาดเกราะป้องกัน เมื่อกระทบกระเทือนเส้นเลือดจึงแตกได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีโรคอีกโรคหนึ่งซึ่งเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือด (vascular purpura รูปที่ 4)

 

 


รูปที่ 4
Vascular purpura เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดการอักเสบของหลอดเลือดเล็กๆ จากการแพ้สารบางอย่าง เช่น ยา อาหาร เป็นต้น

 

 

 

 

ดูแล้วน่ากลัว มักพบบ่อยบริเวณขาและมักเกิดขึ้นคล้ายกันทั้งสองข้าง โรคนี้เกิดจากการแพ้ยา สารบางอย่าง เช่น อาหารหรือยา เป็นต้น หากเป็นควรปรึกษาแพทย์

 

สรุป
พรายย้ำจ้ำเขียว เป็นอาการที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายใดๆ หายได้เอง แต่มีข้อเตือนใจว่า หากมีอาการพรายย้ำจ้ำเขียวร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบไปพบแพทย์
1. ไข้
2. ซีด
3. ข้อบวม
4. เลือดออกง่าย หยุดยาก (เทียบกับคนทั่วๆไปก็คงพอบอกได้)
5. มีก้อนที่คอ รักแร้ ขาหนีบ เป็นกลุ่ม ก้อนเหล่านี้คือต่อมน้ำเหลือง
6. ตาพร่ามัวอย่างชัดเจน
7. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
8. ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน

 

       ยาที่มีรายงานว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางอะพลาสติค

Acetazolamide                              Amphotericin B                               Carbimazole
Acetophenetidin                           Acetylsalicylic acid                          Chloramphenicol*
Amodiaquine hydrochloride      Carbamazepine                              Chlordiazepoxide HCL
Chlorothiazide                              Methyldopa                                      Quinacrine HCL
Chlorpheniramine                       Methylthiouracil                               Quinidine
Chlorpromazine                           Methylphenylhydantoin                  Salicylamide

Chlorpropamide                          Parathion (ยาฆ่าแมลง)                    Streptomycin
Colchicine                                     Penicillin                                           Sulfadimethoxine
Diphenylhydantoin sodium        Phenacemide                                 Sulfamethoxypyridazine
Epinephrine                                  Phenantoin                                      Sulfapheazole
Ethosuximide                               Phenylbutazone**                           Sulfathiazole
Gold salts                                     Potassium perchlorate                  Sulfisoxazole
Indomethacin                               Primidone                                        Sulfonamides
Mepazine                                      Prochlorperazine                             Thiacetazone
Meprobamate                              Propylthiouracil                                Thiocyanate
Methicillin sodium                      Pyrilamine maleate                         Tolbutamide
Methimazole                                Pyrimethamine                                 Trimethadione


* จำนวนผู้ป่วยที่รายงานมากกว่ายาอื่นมาก
** จำนวนผู้ป่วยที่รายงานมาก

 


 

ข้อมูลสื่อ

87-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 87
กรกฎาคม 2529
โรคน่ารู้