• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การบริจาคเลือด

การบริจาคเลือด

เลือดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย คนเราหากเสียเลือดไปมากๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่มีเลือดเข้าไปทดแทน
เนื่องจากเลือดเป็นสิ่งที่ไม่อาจสังเคราะห์ขึ้นได้จากภายนอก ดังนั้นการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ต้องเสียเลือดมากให้มีชีวิตอยู่ได้จึงมีวิธีเดียว คือใช้เลือดของบุคคลอื่นมาถ่ายให้แก่ผู้บาดเจ็บ ซึ่งเรียกว่า “การให้เลือด” แต่เนื่องจากว่ายังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าใจผิดๆ อยู่ในเรื่องของการบริจาคเลือด เป็นผลให้เกิดการขาดแคลนเลือดตามสถานพยาบาลต่างๆอยู่เสมอ จึงได้มีการเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ช่วยกันบริจาคเลือดเนื่องในวันสำคัญๆต่างๆอยู่เสมอ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ

ทำอย่างไรคนจึงจะหันมาบริจาคเลือดกันเองเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสำคัญต่างๆ เพราะผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดวันหนึ่งๆ ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนมาก ไม่สมดุลกับจำนวนคนที่มาบริจาค ดังนั้นความรู้และความเข้าใจมีส่วนสำคัญมากที่จะชักจูงให้ประชาชนหันมาทำการเสียสละเพิ่มขึ้น
ก่อนที่จะพูดถึงการบริจาคเลือด ก็อยากจะอธิบายให้ทราบถึงหน้าที่และความสำคัญของเลือดพอเป็นสังเขปเสียก่อน

ส่วนประกอบของเลือด
เลือดเป็นของเหลวสีแดงที่ไหลวนเวียนอยู่ภายในร่างกาย มีหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจน และสารอื่นๆ ไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย นอกจากนั้นยังลำเลียงของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์มายังปอดเพื่อขับออกจากร่างกายอีกด้วย ของเหลวสีแดงนี้อาจแยกได้เป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นมวลสารและส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนที่เป็นมวลสาร ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
ส่วนที่เป็นน้ำ เรียกว่า พลาสม่า

เม็ดเลือดแดง
ร่างกายของเรามีเม็ดเลือดแดงอยู่เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในร่างกายของคนที่เป็นผู้ใหญ่จะมีเม็ดเลือดแดงอยู่ถึง 25 ล้านล้านเซลล์ เม็ดเลือดแดงมีอายุอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 120 วัน หลังจากนั้นก็จะถูกทำลายไปในตับและม้าม
เมื่อเม็ดเลือดแดงเก่าถูกทำลายไป ไขกระดูกก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยทั่วไปในวันหนึ่งๆ มีการสร้างเม็ดเลือดออกมาใหม่ประมาณร้อยละ 9 ของจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย


เม็ดเลือดขาว
หน้าที่สำคัญของเม็ดเลือดขาวก็คือ กำจัดแบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย


เกล็ดเลือด
เกล็ดเลือดมีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือด โดยจะรวมตัวเป็นก้อนแข็งอุดตรงบริเวณที่หลอดเลือดถูกตัดหรือฉีกขาด ทำให้เลือดหยุดไหล นอกจากนั้นยังสามารถจับเชื้อโรคขนาดเล็กมาก เช่น ไวรัสได้ด้วย เกล็ดเลือดจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งของเลือดที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค


พลาสม่า
พลาสม่าคือส่วนที่เป็นน้ำของเลือด หรือที่เรียกว่าน้ำเหลืองนั่นเอง
หน้าที่สำคัญของโปรตีนในพลาสม่าก็คือ ช่วยต่อต้านเชื้อโรคพวกไวรัส แบคทีเรีย และอื่นๆ
เมื่อทราบถึงหน้าที่และส่วนประกอบของเลือดไปพอสังเขปแล้ว ก็อยากจะแก้ความเข้าใจผิดที่ว่าเมื่อบริจาคเลือดแล้วจะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งทำให้คนที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง เกิดความกลัว จนไม่กล้าบริจาคเลือด


การบริจาคเลือดมีอันตรายหรือไม่
ผู้ที่เคยบริจาคเลือด ย่อมสามารถยืนยันได้ว่าการบริจาคเลือดนั้นไม่มีอันตรายเลยแม้แต่น้อย เพราะการบริจาคเลือดในครั้งหนึ่งๆ นั้น ผู้บริจาคจะเสียเลือดเพียงบางส่วนจากที่ร่างกายสำรองไว้เท่านั้น ตามปกติร่างกายจะมีเลือดสำรองไว้ประมาณ 4 ส่วนของเลือดที่มีอยู่ในร่างกาย 12 ส่วน และในการบริจาคครั้งหนึ่ง ผู้บริจาคก็บริจาคไปเพียง 1 ส่วน ของจำนวนเลือดที่สำรองไว้เท่านั้น


ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะบริจาคเลือดได้
ผู้ที่จะบริจาคเลือดได้ จะต้องเป็นบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ดี อายุระหว่าง 18-60 ปี และก่อนที่จะมีการบริจาคเลือดก็จะมีการตรวจสุขภาพที่จำเป็น เช่น วัดอุณหภูมิของร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต ความเข้มข้นของเลือด


บุคคลที่ห้ามบริจาคเลือด
ได้แก่คนที่มีโรคที่สามารถถ่ายทอดไปยังคนไข้ได้โดยทางเลือด เช่น โรคตับอักเสบหรือดีซ่าน


บริจาคเลือดบ่อยเป็นอันตรายหรือไม่
บางคนบอกว่าบริจาคเลือดบ่อยแล้วรู้สึกซีด เพลีย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะก่อนบริจาคทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องตรวจร่างกายแล้วดูว่าระดับของเม็ดเลือดแดงขึ้นเท่าปกติแล้ว ไม่เป็นโลหิตจาง (ในกรณีของผู้ที่บริจาคบ่อย)
โดยทั่วไประยะเวลาในการบริจาคเลือดควรจะห่างประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง แต่ผู้หญิงนิยมให้ล่ากว่านี้ เพราะผู้หญิงมีการเสียเลือดทุกเดือน ที่ใช้กฎ 3 เดือน ก็เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขึ้นทดแทนเท่าเดิมก่อน ก็ประมาณ 120 วัน

นอกจากนี้การบริจาคเลือดบ่อยๆ ยังมีผลดีในแง่ที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีคุณภาพดีขึ้นมาทดแทน ซึ่งถ้าหากว่าเราไม่บริจาคเลือดไป เมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือน เลือดส่วนนี้ก็จะถูกทำลายไปโดยไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าไปบริจาคเลือด เลือดส่วนนี้สามารถนำไปช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่ได้ ถ้าหากว่าเริ่มบริจาคตั้งแต่อายุ 18 ปี ปีหนึ่งบริจาคได้ประมาณ 3 ครั้ง จนถึงอายุ 60 ปี ก็จะสามารถบริจาคเลือดได้ถึง 120 ครั้ง


การบริจาคเลือดครั้งหนึ่งๆใช้เวลานานเท่าใด
เวลาที่ใช้จริงๆ ในการบริจาคเลือดนั้นประมาณไม่เกิน 10 นาที แต่ถ้ารวมเวลาที่เสียไปในการลงทะเบียน ตรวจร่างกาย นั่งพักผ่อน ดื่มเครื่องดื่มภายหลังบริจาคเลือดแล้ว จะใช้เวลารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 45 นาที


ก่อนและหลังบริจาคเลือดต้องกินอาหารอะไรพิเศษหรือไม่
มีคำถามเสมอว่า หลังจากบริจาคเลือดแล้ว ต้องกินอาหารอะไรพิเศษหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ต้อง เพราะร่างกายเสียเลือดเพียงบางส่วนที่สำรองไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องชดเชยก็ไม่มีและก่อนบริจาคก็ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร บริจาคได้ตลอดเวลา
แล้วโอวัลตินและขนมที่เจ้าหน้าที่ให้หลังบริจาคล่ะ มีเหตุผลอะไร บางคนสงสัย เหตุผลจริงๆก็คือ สิ่งตอบแทนน้ำใจเล็กๆน้อยๆ ที่ทางผู้รับบริจาคพอจะหามาตอบแทนได้ และส่วนที่เกี่ยวกับการบริจาคเลือดก็คือ คนบริจาคเลือดจะเสียน้ำ เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของพลาสม่าคือน้ำ ก็ให้น้ำเข้าไปทดแทน
กรุ๊ปเลือด

เลือดของคนเราแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ กรุ๊ปโอ กรุ๊ปเอ กรุ๊ปบี กรุ๊ปเอบี การให้เลือดจะนิยมให้กรุ๊ปเลือดชนิดเดียวกัน แต่ถ้าเผื่อกรุ๊ปนั้นไม่มีก็จะพิจารณาให้กรุ๊ปอื่น เช่น กรุ๊ปโอสามารถให้ได้ทุกกรุ๊ป แต่ไม่นิยม (นอกจากจำเป็นจริงๆก็จะมีการตรวจความเข้ากันได้ก่อน)
ถ้าต้องการทราบว่าตัวเองมีเลือดกรุ๊ปใด ก็สามารถที่จะไปขอรับการตรวจได้ที่ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน


ธนาคารเลือด
ธนาคารเลือดคือสถานที่เก็บและจ่ายเลือดให้แก่ผู้บาดเจ็บ ปัจจุบันธนาคารเลือดมีอยู่ตามโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติอยู่ในบริเวณสถานเสาวภา กรุงเทพฯ ซึ่งทำหน้าที่รับบริจาคเลือดจากบุคคลทั่วไป
หน้าที่ของธนาคารเลือดคือ จัดหาเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่เหมาะสมและปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการตายจากการเสียเลือดที่พบได้บ่อยในกรณีต่อไปนี้คือ อุบัติเหตุบนท้องถนนและโรงงานอุตสาหกรรม ตกเลือดภายหลังการคลอดบุตร การผ่าตัดใหญ่ โรคโลหิตจางจากบางสาเหตุ ถ้าหากโรงพยาบาลนั้นๆมีไม่พอก็อาจจะขอเพิ่มจากญาติผู้ป่วย หรือขอไปที่ศูนย์บริการโลหิต (ซึ่งแม้จะมีประชาชนบริจาคเลือดเป็นประจำ แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่พอใช้ เพราะประชาชนเพิ่มขึ้น ความต้องการก็มากขึ้น)

แต่ก่อนการให้เลือดทำได้โดยตรงจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสามารถเก็บเลือดไว้ได้ในธนาคารเลือดเป็นเวลานานถึงเดือนหรือหลายปี ซึ่งเลือดที่ได้รับบริจาคมาก็จะแยกเป็นส่วนประกอบของเลือดออกไป คนไข้โรคไหนต้องการส่วนใดก็จะเลือกให้ส่วนนั้นไป เช่น เม็ดเลือดแดงก็ให้คนที่ขาดเม็ดเลือดแดง ถ้าเขาต้องการเกล็ดเลือดก็จะแยกเกล็ดเลือดให้ หรือถ้าเสียเลือดมากๆ เราก็ให้เลือดทั้งหมด ผู้ที่บริจาคเลือดให้แก่โรงพยาบาลแห่งใดก็ตามจะได้รับสิทธิพิเศษในการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละแห่งก็อาจแตกต่างกันไป
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่เลือกบุคคล กาลเวลา หรือสถานที่ เราอาจเป็นคนหนึ่งที่ต้องให้เลือด ถ้าทุกคนช่วยกันเสียสละบริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่ต้องประสบกับเหตุการณ์ “เลือดหมด”


รู้อย่างนี้แล้วอย่ามัวรีรอ รีบชวนเพื่อนฝูง ญาติมิตร ไปบริจาคโลหิตกันเถอะ ได้ทั้งกุศลและความสบายใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

88-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
บทความพิเศษ
พญ.ทัศยานี จันทนยิ่งยง