• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแปรงฟันกับยาสีฟัน

การแปรงฟันกับยาสีฟัน

ก่อนเข้านอนและตื่นนอนตอนเช้า กิจวัตรประจำวันของเราอย่างหนึ่งคือ การแปรงฟันและยาสีฟันดูเหมือนจะเป็นของคู่กันที่ขาดไม่ได้

บางคนเมื่อไม่มียาสีฟัน ถึงกับไม่ยอมแปรงฟันเอาเสียเลย

ความเป็นจริง ยาสีฟันมีความจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ

พระท่านว่า การเชื่ออะไรง่ายๆ ล้วนทำให้ไม่เกิดปัญญา

อ้าว...อย่างงั้นการดูโฆษณาแล้วเชื่อเขาว่า ยาสีฟันอย่างนี้ดี อย่างนั้นดี ต้องสูตรนี้ถึงได้ผล สูตรนั้นถึงได้ผล ต้องสารชนิดนี้ถึงดี สารนั้นถึงดี ก็บดบังปัญญาสิครับ
ครับ...ถ้าเราเชื่อง่ายๆ โดยไม่ได้ปฏิบัติก่อน หรือมีข้อมูลที่มีเหตุผล ล้วนบดบังปัญญาเราทั้งนั้น
แล้วทำอย่างไรดีล่ะ
ก็ลองมาฟังรองศาสตราจารย์ทันตแพทย์ประทีป พันธุมวณิช ภาควิชาชีวเคมี คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดเรื่องการแปรงฟันกับยาสีฟันเพื่อให้เราดูแลช่องปาก ประตูของสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้ดี

 

⇒ จริงหรือไม่ที่ว่ายาสีฟันมีความสำคัญต่อสุขภาพฟัน
ถ้าจะบอกว่าสำคัญคงไม่ถูก เพราะการใช้ยาสีฟันเป็นเพียงองค์ประกอบในการรักษาสุขภาพฟันเท่านั้น
การแปรงฟันให้ถูกวิธีคือ หัวใจที่สำคัญในการรักษาและป้องกันสุขภาพของฟันที่ดีที่สุด
เราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้ยาสีฟันก่อนว่า เพื่อช่วยให้เราแปรงฟันได้นานพอที่เราจะแปรงได้ทั่วทั้งปาก เพราะยาสีฟันมีฟองช่วยในการทำความสะอาด มีรส มีกลิ่นชวนให้แปรง และมีผงขัดที่ช่วยในการแปรงฟันมีประสิทธิภาพในการขัดผิวฟัน

ปัจจุบันนี้ได้มีการวิวัฒนาการเติมสารเพื่อช่วยให้ยาสีฟันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีสารฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ ซึ่งปัจจุบันนี้ยาสีฟันในท้องตลาดเกือบร้อยละ 90 ก็ใส่สารนี้ มีการใส่สารป้องกันการเสียวฟัน จนกระทั่งล่าสุดมีการใส่สารควบคุมหินปูน การใส่สารต่างๆนั้น ก็ทำให้ยาสีฟันนอกจากทำหน้าที่ช่วยให้แปรงฟันได้นานและช่วยทำความสะอาดฟันแล้ว ยังมีส่วนช่วยป้องกันฟันผุด้วยถึงแม้เราจะเห็นว่ามีการโฆษณาใส่สารตัวนั้นตัวนี้ มีหน้าที่ป้องกันหรือกำจัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ขอให้ระลึกไว้ว่า ไม่มียาสีฟันใดป้องกันฟันผุได้อย่างแท้จริง หากเราไม่แปรงฟันให้ถูกวิธีและงดของหวานที่ไม่จำเป็น

 

 

 

       ฟันกรามบนและล่างให้ถูไปมา

 

 

 

 

 

 

 

         ฟันบน ( นอกและใน )ให้ปัดลง

 

 

 

 

 

 

 

        ฟันล่าง (นอกและใน ) ให้ปัดขึ้น 

 

 

 

 

⇒ การแปรงฟันที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร
การแปรงฟันที่ดีควรแปรงให้ทั่วทั้งปากและใช้เวลานานพอควร และต้องแปรงให้ถูกเหงือกด้วย ดังนั้นแปรงสีฟันที่ใช้จึงควรมีขนแปรงที่อ่อนการแปรงฟันให้โดนเหงือก เหงือกจะช่วยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณเหงือกดีขึ้น เป็นการป้องกันโรคเหงือก ผู้ที่ไม่เคยแปรงโดนเหงือกเมื่อแปรงใหม่ๆอาจจะมีเลือดออกบ้าง ก็อย่าตกใจ ขอให้แปรงติดต่อไปประมาณ 2-3 วัน อาการเลือดออกก็จะหายไปเอง

ตามทฤษฎีแล้ว การแปรงฟันอย่างดีและถูกต้องนั้นเพียงครั้งเดียวก่อนนอนก็เพียงพอแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเราแนะนำให้แปรงวันละ 2 ครั้ง เพราะครั้งเดียวอาจไม่พอเพียง เรามักแปรงฟันกันเร็วเกินไปหรือไม่ทั่วถึงทั้งปาก

 

⇒ เวลาแปรงฟันนั้นมีกำหนดไหมว่าเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ
การแปรงฟันนั้นปกติขนของแปรงสีฟันจะแปรงฟันได้ทีละ 2-3 ซี่ แต่ละจุดควรแปรงให้นาน 10-30 วินาที ดังนั้น การแปรงฟันให้ทั่วปากจะกินเวลา 3-4 นาที การแปรงฟันที่น้อยกว่า 1 นาทีจะไม่มีประโยชน์ เหมือนกับไม่ได้แปรงฟันเลยและฟลูออไรด์ในยาสีฟันยังไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในฟันได้ด้วย

หมอฟันเวลาทาฟลูออไรด์ของฟันเด็ก ก็ต้องใช้เวลานานประมาณ 4 นาที เพื่อให้ฟลูออไรด์ทำปฏิกิริยาได้นานพอ

 

⇒ ฟลูออไรด์มีผลต่อเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันอย่างไร
เมื่อเด็กๆ ฟันของเราออกมาใหม่ๆ ความสมบูรณ์ของเนื้อฟันจะยังไม่เต็มที่ แร่ธาตุของฟันมันจะรับสิ่งที่ดีหรือไม่ดีได้ง่าย จะเห็นว่าในฟันเด็กเล็กที่งอกใหม่ๆ จะผุง่าย ถ้าดูแลไม่ดี แต่ในทางตรงข้ามถ้าในช่วงนั้นรับฟลูออไรด์พอเหมาะจะมีผลในการป้องกันฟันผุได้สูง

เมื่ออายุมากขึ้น ฟันมีสภาพสมบูรณ์ขึ้นจึงรับฟลูออไรด์น้อยลงแต่ในช่องปากมีบางสภาวะเวลาเรากินอาหารหรือขนม มันก็มีความเป็นกรดที่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กกินขนมหวานจะมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่างภายในช่องปากสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงแต่น้อยกว่า ดังนั้นฟลูออไรด์จึงใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ฟลูออไรด์สำหรับกินนั้นใช้เฉพาะเด็กเท่านั้น ใช้กับผู้ใหญ่ไม่ได้ผล เพราะฟันผู้ใหญ่งอกเต็มที่แล้ว
การใช้ฟลูออไรด์นั้นก็มีการกำหนดมาตรฐานที่พอเหมาะ เพราะถ้าน้อยไปก็ไม่ได้ผล ถ้าหากมากไปก็อาจเกิดผลเสียได้ อย่างยาสีฟันผสมฟลูออไรด์นั้น กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการอาหารและยา เขาก็มีการควบคุมระดับสูง ว่าไม่เกิน 1,100 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) แต่ระดับต่ำไม่ได้ควบคุม สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมก็ควบคุมไม่ต่ำกว่า 500 พีพีเอ็ม สำหรับของสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ควบคุมให้อยู่ในระหว่าง 900-1,100 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน)

 

⇒ ในเมื่อเราใช้ฟลูออไรด์แปรงฟัน ซึ่งอยู่ข้างนอกฟัน จะไปทำปฏิกิริยากับฟันอย่างไร
มันทำปฏิกิริยาส่วนที่เป็นแร่ธาตุของฟันคือ มองดูแล้วฟันก็เป็นแร่ธาตุที่แข็งเหมือนกับหินใช่ไหมครับ แต่จริงๆในช่องปากมันเป็นระบบที่มีภาวะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากความเป็นกรดด่างในช่องปาก ถ้าเผื่อมีฟลูออไรด์อยู่จะทำให้การละลายตัวของแร่ธาตุโดยกรดได้ยากขึ้น ถ้าไม่มีฟลูออไรด์ก็ละลายได้ง่าย

อีกอย่างคือ มันมีผลต่อเชื้อจุลินทรีย์ในปาก ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีผลทำให้เกิดแผ่นคราบฟันหรือพลั๊ก เป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบและฟันผุได้ ถ้ามีฟลูออไรด์อยู่จะทำให้ยับยั้งเชื้อโรค แต่ไม่ถึงกับฆ่า ทำให้เชื้อโรคเติบโตช้าลง ทำให้ใช้น้ำตาลมาสร้างเป็นกรดช้าลง ความเป็นกรดในช่องปากก็น้อยลง ฟันก็ผุช้าลงในที่สุด

 

⇒ ไม่ทราบว่าการใช้ยาสีฟันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันมากเพียงไร เพราะปัจจุบันเห็นมีการผลิตยาสีฟันสำหรับเด็กโดยเฉพาะขึ้นมามากมาย
อันที่จริงไม่มีความแตกต่างกัน เพราะอย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยาเป็นส่วนประกอบเท่านั้นการที่มีการผลิตยาสีฟันเด็กนั้นเป็นเพราะยาสีฟันที่ออกมาก่อนๆนั้นมีรสชาติที่ค่อนข้างแรง เหมาะกับผู้ใหญ่ ไม่เหมาะกับเด็ก จึงไม่ชักจูงให้เด็กใช้ยาสีฟันแปรงฟัน
เมื่อผู้ผลิตยาสีฟันเด็กออกรสชาติเป็นรสผลไม้หรือขนม เพื่อให้เด็กอยากแปรงฟัน อันนี้ก็เป็นในแง่ชักจูงดี แต่ในแง่ปฏิบัตินั้นอาจเกิดผลเสีย เพราะเมื่อมีรสชาติชวนให้เป็นของกิน เด็กอาจใช้มากไปหรือกลืนยาสีฟันลงไปมาก

การใช้ยาสีฟันไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เราเน้นให้ใช้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ เราเน้นให้ใช้ยาสีฟันเท่าเม็ดถั่วเขียวเท่านั้นก็พอ เพราะถ้าเด็กกลืนพวกฟลูออไรด์ในยาสีฟันเข้าไปบ่อยๆ และมากๆ จะมีผลในระยะยาวคือตอนขณะกินยังไม่ค่อยรู้สึก แต่ฟลูออไรด์จะค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ มีผลต่อฟันแท้ที่กำลังเจริญเติบโต พอฟันแท้งอกขึ้น ฟันจะมีสภาพเป็นฟันตกกระ โดยฟันที่มีสีขาวขุ่น ถ้าเป็นมากๆก็อาจจะเป็นสีดำ ในผู้ใหญ่ถ้ากินมากๆ ก็อาจจะสะสมที่กระดูกได้ เพราะฟลูออไรด์มีคุณสมบัติสะสมที่กระดูกและฟันได้ อันนี้ผมไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างนี้ทุกคน อันนี้เป็นผลข้างเคียง ถ้าเรารู้เราก็ใช้ถูกวิธีก็ได้ประโยชน์ อะไรใช้มากก็เกิดโทษทั้งนั้น

ในผู้ใหญ่แปรงฟันแล้วบ้วนออกได้กว่าร้อยละ 90 แต่ในเด็กต่ำกว่า 5 หรือ 7 ขวบนั้น โอกาสที่จะกลืนมีมาก ยิ่งรสชาติชวนให้เด็กกินด้วยแล้วการใช้ยาสีฟันน้อยเท่าที่จำเป็นจึงเป็นประโยชน์ ปลอดภัยและยังประหยัดอีกด้วย

 

⇒ อาจารย์คิดว่าในปัจจุบัน คนฟันผุมากกว่าคนรุ่นก่อนไหมครับ
ครับ จำนวนคนฟันผุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจมาจากอาหาร เขาว่าฟันผุเพิ่มขึ้นจากอัตราการบริโภคน้ำตาลสูงขึ้น
เรื่องการกินน้ำตาลหรือของหวานนั้น เราควรหัดกันตั้งแต่เด็ก อย่างนม หมอก็แนะนำว่าไม่ควรเป็นนมหวาน เพราะเราต้องการสารอาหารในนม น้ำตาลไม่ได้ช่วยอะไร นมจืดนั้นก็มีประโยชน์
อย่างบางครอบครัวให้เด็กดื่มน้ำผึ้ง หรือน้ำตาลกลูโคสประจำ ทำให้เด็กติดหวาน พอให้กินของที่ไม่มีรสหวานก็ไม่ยอมกิน

อีกอันหนึ่ง เด็กเล็กเราให้กินนมขวดนานไปก็ทำให้ฟันเสียได้ หรือให้เด็กดูดขวดนม คาที่ปากแล้วหลับไป หรือกินนมแล้วไม่มีอาการ กินน้ำเปล่าตาม ไม่ได้แปรงฟันอย่างนี้ทำให้ฟันผุทั้งปากได้ง่าย
สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ก็อยากจะฝาก ว่าการกินขนมหวานควรจะจำกัด ไม่ใช่กินทั้งวัน ถ้ากินควรกินในมื้ออาหาร ขนมที่มักกินระหว่างมื้ออาหาร เช่น ทอฟฟี่ ลูกอมโดยเฉพาะพวกเหนียวหนึบ ยิ่งติดตามซอกฟันได้ง่ายก็ควรงด บางคนอมลูกอมบ่อยๆทั้งวันหรือตลอดวันโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องการให้ปากหอม อันนี้อันตราย เพราะเท่ากับเอาฟันไปแช่อยู่ในกรดตลอดเวลา

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากเสนอคือ ของว่างหรือคอฟฟี่เบรกเวลาประชุม เรามักมีชาหรือกาแฟกับขนมคุกกี้ หรือบิสคิสกินแล้วก็ติดฟัน แล้วเมื่อกินชาหรือกาแฟก็ต้องใส่น้ำตาลและนมอีก ของพวกนี้มีส่วนทำลายฟันทั้งนั้น
ผมว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าหรือน้ำชาจีนอ่อนๆ เพราะในชามีฟลูออไรด์อยู่ 1-2 ส่วนในล้านส่วน ชาเป็นต้นไม้ชนิดเดียวที่มีฟลูออไรด์อยู่ตามธรรมชาติ พวกคุกกี้ก็อาจเปลี่ยนเป็นผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลสูง เช่น ชมพู่ ฝั่ง มันแกว หรือกล้วยทอดที่กล้วยไม่สุกมาก ถ้าเราร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่มีผลต่อสุขภาพฟันอย่างใหญ่หลวงทีเดียว”

เป็นอย่างไรบ้างครับ...ฟังอาจารย์ประทีปพูดเรื่องต่างๆในการดูแลสุขภาพฟันของเราแล้ว คงทำให้เราได้รู้เรื่องหลายๆเรื่องที่เราเคยละเลยหรือไม่ได้ใส่ใจใช่ไหมครับ


ถ้าผู้ใดนำไปปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไรก็เขียนมาคุยกันบ้าง แล้วมีโอกาสเหมาะๆ อาจารย์ประทีปคงจะมีเวลามาคุยกับเราใหม่...สวัสดี

ข้อมูลสื่อ

88-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
เรื่องน่ารู้
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช