• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนรั้ว

ตอนรั้ว 

ประเทศของผมมีอาณาเขตโลกกว้างใหญ่ไพศาลนัก ขนาดก็เท่ากับตัวคุณพอดี ๆ แถมมีรั้วรอบขอบชิดเสียด้วย คุณลองมองดูตัวคุณซิครับ สิ่งที่คุณเห็นปกคลุมอวัยวะภายในของคุณที่คุณเรียกว่า “หนัง” นั่นแหละครับคือ รั้วบ้านของผม

รั้ว หรือ หนัง ของแต่ละคนที่จริงๆ มันก็มีอะไรเหมือนกันแหละครับ แต่ที่เห็นเป็นผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำก็ขึ้นอยู่กับเซลล์สีใต้ผิวหนัง ทำให้มองดูแตกต่างกันไป รั้วประเทศหรือรั้วบ้านของผม ทาสี “ดำแดง” ครับ ก็สีเดียวกับคุณๆ นั่นแหละ

นอกจากรั้วแล้ว ประเทศของผมก็ต้องมีทางติดต่อกับโลกภายนอกด้วย จึงมีประตูหรือช่องเปิดหลายแห่ง ที่คุณมองเห็นด้วยตาชัดๆ ก็คือ ปาก จมูก ก้นหน้า ซึ่งในผู้ชายคือ ช่องเปิดสำหรับฉี่ ส่วนในผู้หญิงมีทั้งช่องเปิดสำหรับฉี่ และช่องคลอดอยู่ใกล้กัน ก้นหลัง คือ ช่องเปิดสำหรับอึ หรือทวารหนัก คำว่า ก้นหน้าและก้นหลัง ผมเรียกของผมเอง เพราะมันเป็นคำไทยๆ ดี และสุภาพฟังไม่ระคายหู ส่วนตามองดูเหมือนเป็นช่องเปิดที่ชัดเจน แต่ความจริงแล้วมีเยื่อบุปิด หูก็เช่นกัน คนเรามีหู แต่ลึกเข้าไปอีกเล็กน้อยเราจะมีแก้วหู ปิดมิดชิด จึงไม่มีส่วนทะลุออกไปภายนอก นอกจากช่องเปิดต่างๆ ที่มองเห็นชัดๆ แล้ว เรายังมีช่องเปิดเล็กๆ ที่มองแทบไม่เห็น คือช่องเปิดของ ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ที่โคนขนช่องเปิดของต่อมน้ำตาที่ตาและช่องเปิดของต่อมน้ำนม

ผมขอกลับมาเล่าเรื่องรั้วของประเทศผมก่อนนะครับ นอกจากหนังแล้ว ยังมีบางส่วนแปรสภาพไปเป็นเล็บ บางส่วนก็มีขนยาวออกไปมาก กลายเป็นผม แต่บางแห่งก็ยาวไม่มากนัก เช่น รักแร้และที่หัวเหน่า คุณลองดูแผนที่ประเทศผมแบบง่ายๆ ซิครับ

ผิวหนัง หรือ หนัง ที่คุณมองเห็น เขาเรียกกันว่า “หนังกำพร้า” (Epidermis-เอพิเดอร์มิส) ประกอบด้วยเซลล์ต่างๆ กัน 5 ชั้นด้วยกัน ผมขอนับจากข้างในไปหาข้างนอกนะครับ เพราะจะทำให้คุณเข้าใจหน้าที่ของมันดีขึ้น ชั้นในสุดของหนังกำพร้าจะมีลักษณะการเรียงตัวเหมือนคลื่นในทะเล (ฝรั่งเรียกว่า Stratum basale-สตราตัม บาเซล) ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของเซลล์ต้นกำเนิดของขี้ไคลจะอ้วนป้อม แต่มักมีความสูงมากกว่ากว้างเล็กน้อย ผมเรียกมันว่า “เจ้าอ้วน” เจ้าอ้วนเรียงตัวเป็นแถวๆ หนาพอควรทีเดียวครับระหว่างเซลล์เจ้าอ้วนอาจจะมีเซลล์สี (ฝรั่งเรียกว่า melanocytes-เมลาโนซัยท์) แทรกอยู่ ถ้ายิ่งมีเซลล์สีมากก็ยิ่งดำ เช่น พวกนิโกรมีเซลล์ชนิดนี้มาก เซลล์สีมีหน้าที่สร้าง “สี” การสร้างของมันก็มีกลไกลึกลับต้องอาศัยแสงแดดร่วมด้วย สีที่ถูกสร้างออกมาก็จะถูกขับไปอยู่ในเซลล์เจ้าอ้วน และเซลล์ชั้นสูงขึ้นไป

จากชั้นล่างสุด เจ้าอ้วนซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์ขี้ไคลก็จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่อไป แทนที่จะสูงขึ้นกลับเตี้ยลงๆ ยังกะสาละวันเตี้ยลงอย่างนั้นแหละ เซลล์ชั้นถัดไปอีก 3 ชั้น ได้แก่ สตราตัมสไปโนซัม (Stratum spinosum) สตราตัมแกรนนูโลซัม (Stratum granulosum) สตราตัมลูซีดัม (Stratum leucidum) เป็นเซลล์ที่ปรับปรุงตัวเองเพื่อกลายเป็นชั้นขี้ไคล หรือชั้นบนสุด ฝรั่งเรียกว่า สตราตัมคอร์เนียม (Stratum corneum) เซลล์ชั้นบนสุดนี้จะมีสารโปรตีนที่แข็งเล็กน้อยพอให้ทรงรูปร่างได้ดี เรียกว่า เคอราติน (Keratin) อยู่ด้วย มันมีหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังเหนียวและป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกไป รวมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกายได้ เจ้าเคอราตินนี่แหละที่เจ้าขี้กลากชอบกินกันนักทีเดียว พอมันเกาะกินสารนี้จากตัวใครได้ มันจะไม่ยอมปล่อยง่ายๆ หรอกครับ (ดูเรื่องจ้าวโลก 6 ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 6) เซลล์ในชั้นขี้ไคลนี้แบนราบเลยเหมือนกล้วยปิ้งทับ เรียงตัวกันหนาแน่น คล้ายกับกระเบื้องมุงหลังคาหลายๆ ชั้น และที่น่าแปลกเซลล์ชั้นบนๆ ตายแล้วครับ พอตายมันก็จะหลุดออกไปที่คุณเรียกว่า “ขี้ไคล”

ขี้ไคล ประกอบด้วย เซลล์ตายแล้วหลายล้านตัวหลุดออกไปทุกๆ วัน ถ้าขี้ไคลเกิดนัดหยุดงานเหมือนรัฐวิสาหกิจละก็ คุณก็จะเกิดปัญหายิ่งกว่ารถไฟหยุดเดินเสียอีก น้ำหนักตัวคุณจะต้องเพิ่มจนคุณหมดแรงเดินไปเลยทีเดียวครับ การที่ขี้ไคลคงทำงานด้วยดีไม่เคยสไตรค์กับใคร มีประโยชน์มาก ที่สำคัญคือ เป็นหารกระทำความสะอาดผิวหนัง เพราะถ้าขี้ไคลหลุดออกสิ่งที่เกาะบนขี้ไคลก็ต้องหลุดออกไปด้วย คุณอยากรู้ไหมครับว่า อะไรเกาะอยู่ ก็พวกจ้าวโรคบ้าง นักเลงโตประจำถิ่นบ้าง ที่เขาเรียกกันว่า สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้แก่ พวกแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ก็คล้ายประเทศไทยนั่นแหละครับ ตามชายแดนก็มีชนกลุ่มน้อย ที่เป็นศัตรูกับประเทศใกล้เคียง เป็นมิตรกับประเทศไทยบ้าง อย่าเผลอก็แล้วกัน

ใต้ผิวหนังกำพร้า คือ หนังแท้ (dermis-เดอร์มิส) บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของต่อมเหงื่อ รากผมและต่อมน้ำมัน ปลายประสาท เส้นเลือดฝอย และพวกใยยืดหยุ่น นอกนั้นก็มีเซลล์พวกทหารหาญของชาติมาอยู่ร่วมด้วยเล็กน้อยคอยระวัง

ต่อมเหงื่อมีหน้าที่ซับเหงื่อ หรือของเหลวที่ร่างกายไม่ต้องการออก จะถูกบังคับด้วยประสาทสั่งการอัตโนมัติอยู่ๆ คุณจะสั่งไปว่า “เหงื่อจงไหล” มันไม่เชื่อครับ เรียกว่านอกคำสั่งของคุณ เห็นไหมครับแม้แต่ตัวคุณเอง คุณยังไม่มีปัญญาบังคับ คุณอย่าคิดว่าจะไปบังคับใครเขาได้เลยครับ ตัวต่อมจะอยู่ในชั้นหนังแท้ แต่ตัวท่อจะผ่านไปถึงชั้นหนังกำพร้า และเปิดออกสู่ภายนอก คนละที่กับรูขนแต่ใกล้กัน ปกติเหงื่อจะพาสารเกลือแกงออกไปด้วยเสมอ ฉะนั้นเหงื่อจึงเค็ม (ลองชิมดูได้ครับ)

ขนและต่อมน้ำมัน รากขนหรือรากผมมักจะลงไปถึงชั้นหนังแท้เป็นส่วนใหญ่ จะถูกห่อหุ้มด้วยเซลล์หุ้มรากขน และที่โคนสุดของผมจะบานเป็นกระเปาะคล้ายต้นหอมที่มีรากติดเล็กน้อย หอมมีรากฝอย ขนก็มีรากฝอย คือเส้นเลือดดำเส้นเลือดแดงเข้าไปเลี้ยงเหมือนกัน ขนของคนเห็นจะเปรียบได้กับต้นหอมที่กำลังขึ้นอยู่ในดินโดยแท้ ส่วนต่อมน้ำมันนั้นอยู่แนบชิดกับรากผม และมีรูปเปิดมาเข้าในรูขนตอนใกล้หนังกำพร้า ทำให้รูขนเป็นทางเปิดให้ขนออกและยังเป็นทางเปิดให้น้ำมันออกไปหล่อลื่นผมและผิวหนังด้วย น้ำมันจะเป็นตัวฆ่าแบคทีเรียประเภทจ้าวโรค แต่จะเลี้ยงพวกนักเลงโตประจำถิ่น

ปลายประสาทบริเวณนี้เป็นทั้งพวกบังคับไม่ได้ด้วยจิตใจ หรือเรียกว่า ประสาทอัตโนมัติประเภทสั่งการและประสาทรับความรู้สึก ถ้าคุณติดตามสงครามโรคของผม คุณจะได้ทราบรายละเอียดที่แสนจะลึกลับของระบบประสาทในร่างกายคุณ ส่วนเส้นเลือดก็มีหน้าที่นำอาหาร ยารักษาโรคและสิ่งจำเป็นแก่ชีวิตอื่นๆ มาเลี้ยงเซลล์ทางเลือดแดง และน้ำเหลืองบริเวณที่เส้นเลือดแดงต่อกับเส้นเลือดดำจะเป็นเส้นเลือดเล็กๆ เป็นร่างแหประสานกัน สมัยใหม่เขาเรียกการไหลเวียนฝอย (ผมแปลเอาเองจาก Mmrocirculation ครับ) ซึ่งถ้า “หมอชาวบ้าน” เขาให้ผมเขียนต่อไปเรื่อยๆ นานๆ เข้า ผมหมดปัญญา คงต้องเขียน “การไหลเวียนฝอย” จนได้แหละครับ เส้นเลือดดำก็จะพาของเสียกลับไปฟอกด้วยผงซักฟอก โอ๊ย! ไม่ใช่ ด้วยอ๊ออกซิเจนในปอดอีกที่หนึ่ง

ถ้าคุณพยายามอ่านด้วยความอดทนมาถึงตอนนี้ คุณก็คงพอจะทราบแล้สนะครับว่ารั้วบ้านผมเป็นอย่างไร ถ้าผมไม่เล่าถึงความสัมพันธ์กับนักเลงโตประจำถิ่น ก็คงทำให้คุณรู้เรื่องสงครามที่จะเกิดขึ้นในวันหน้าได้ยาก นักเลงโตหรือครับ บริเวณนี้ก็มีแบคทีเรียที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พวกกรัมบวกแท่ง และกลม (ดูเรื่องจ้าวโลก ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 1-2 ปีที่ 1) ตามผิวหนัง จ้าวโลก 2 ชนิดนี้เป็นนักเลงที่น่าสนใจ พวกนี้สามารถกินไขมันหรือน้ำมันจากรูขน และมันจะสร้างกรดทิ้งไว้บนผิวหนังคนกรดเหล่านี้จะเป็นตัวกดความเจริญเติบโตของพวกแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้ด้วย แบคทีเรียบางชนิดเช่นพวกกรัมบวกตัวกลมสามารถสร้างสารฆ่าเชื้ออื่น เช่น ฆ่ากรัมบวกแท่งเป็นการควบคุมจำนวนไม่ให้มีมากเกินไป ฉะนั้นบริเวณผิวหนังก็จะมีการป้องกันตัวเอง โดยอาศัยลักษณะทางโครงสร้างของผิวหนังสารเคมี เช่น ไขมัน และอาศัยความสัมพันธ์ของจุลชีวันในระหว่างนักเลงประจำถิ่นด้วยกัน และความสัมพันธ์ต่อผิวหนัง ถ้าผิวหนังปกติเชื้อโรคส่วนใหญ่จะเข้าไปไม่ได้

เอาละครับผมมีรั้วบ้านที่แข็งแรงเพียงไร คุณเองก็มีเช่นเดียวกับผม คราวนี้ลองมาดูวิธีรักษารั้วบ้านของเราให้มั่นคงซิครับ ผมบอกแล้วว่าธรรมชาติ ขี้ไคลจะค่อยๆ หลุดไปเองโดยเราไม่รู้ตัว คุณเองก็อาบน้ำอย่างน้อยวันละครั้งใช่ไหมครับ เวลาอาบน้ำคุณไม่จำเป็นต้องใช้ผ้า ใช้แปรงถูขี้ไคลนะครับ แค่ถูสบู่ก็เพียงพอแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องถูจนผิวหนังชั้นขี้ไคลหลุดหมดหรอกครับ เพราะถ้าคุณทำเช่นนั้น ถามรั้วของคุณให้บางลง แถมฆ่านักเลงโตประจำถิ่นให้ตายเกือบหมดด้วย รั้วบ้านคุณก็ดูสะอาดดี อาจจะแดงสดใสแต่ถ้าเจ้าผู้ร้ายหรือจ้าวโรคตัวไหนมันเกิดผ่านมาก็จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในประเทศของคุณได้อย่างสบาย ทางที่ดีเลิกเสียเถิดครับ การถูผิวหนังแรงๆ หรือขัดผิวหนังไม่ได้ทำให้ดีขึ้นเลย

คราวนี้มาพูดถึงสบู่ สบู่ที่ดีควรมีความเป็นกรดอ่อน หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นกลาง แต่สบู่ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นด่าง ผมอยากแนะนำสบู่เหลือเกิน แต่ขืนเขียนยี่ห้อลงไปมีหวังถูกด่าว่ารับสินบน ก็เลยไม่เขียนละครับ ถ้าใครมีความรู้เรื่องการตรวจความเป็นกรดด่าง ก็ลองตรวจเองเถิดครับ อย่างไรก็ดีสบู่ก็มีประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะเป็นด่าง ก็ควรต้องใช้วันละครั้ง เพราะการอาบน้ำนั้น เป็นการช่วยผิวหนังขจัดสิ่งสกปรกที่ติดกับผิวหนังเป็นการไล่แบคทีเรียทั้งที่เป็นนักเลงประจำถิ่นที่มากเกินพอ หรือมากเกินไปจนอาจทำอันตรายได้ จึงควรอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละครั้งครับ

การทำร้ายและทำลายรั้วของชาติอีกวิธีหนึ่งคือการ “เกา” ยิ่งเกายิ่งมัน ยิ่งมันยิ่งเกา ใครมีคติประจำใจเช่นนี้ ผมรับรองได้ว่าเป็น โรคผิวหนัง แน่ๆ ครับ ไม่เชื่อลองดูก็ได้อยู่ว่างๆ ลองนั่งเกาที่ไหนที่หนึ่งเป็นประจำทุกวันซิครับ รับรองว่าได้โรคแน่ แต่ก่อนจะลองขอให้คำนึงถึงว่าถ้าเป็นโรคผิวหนังแล้ว การรักษามันยากส์มากๆ นะครับ และบางทีจะไม่ยอมห่างจากคุณเลยตลอดชีวิต ทางที่ดีถ้าคุณคันก็เกาเบาๆ แต่ถ้าคันมากจนทนไม่ไหว ก็ลองล้างน้ำดูก่อน หรือถ้ามีน้ำแข็งก็ใช้น้ำแข็งถูที่คันจะได้ประโยชน์มากครับ น้ำแข็งเป็นสิ่งที่ช่วยผิวหนังได้มาก เช่น ถ้าถูกไฟหรือน้ำร้อนลวกให้ใช้น้ำมันแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวกขององค์การเภสัชกรรมทาก่อน แล้วใช้น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ใส่ถุงพลาสติกวางทับลงบนส่วนที่โดนลวก จะทำให้ลดการอักเสบน้อยได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีข้อแม้ว่าจะใช้น้ำแข็งแช่ได้ประโยชน์ต้องไม่เกินครึ่งชั่วโมงหลังไฟลวก

แมลงกัด ถ้าเป็นยุงกัดก็คงไม่เท่าไร แต่ถ้าเป็นแมลงชนิดอื่นขอให้ล้างน้ำฟอกสบู่ก่อน แล้วจึงทายาอาจใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาหม่อง ก็ได้ประโยชน์มาก ข้อสำคัญอย่าเกาแรงๆ นะครับ

นอกจากผิวหนังแล้ว เล็บของคุณครับ ควรจะทำความสะอาดเสมอ และควรตัดสั้นพอควร ล้างมือฟอกสบู่ในทุกโอกาสที่คิดว่าสกปรก หรืออย่างน้อยเมื่อกลับถึงบ้าน “ผม” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูแลรักษา ควรสระผมอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งหรือทุกครั้งที่คิดว่าสกปรก การสระผมจะใช้สบู่หรือแชมพูสระผมก็ได้ครับ แต่ที่สำคัญต้องล้างสบู่หรือแชมพูให้หมดจริงๆ มิฉะนั้นมันจะทำอันตรายต่อเส้นผมได้

เอาละครับ ผมขอเล่าเรื่องรั้วหรือผิวหนังเพียงเท่านี้ก่อน ต่อไปคงเป็นตอน ประตู สัก 1-2 ตอน แล้วผมจะเริ่ม..เริ่ม ทำสงครามโรคละครับ อดใจไว้หน่อย

สวัสดีครับ

จากผม

ข้อมูลสื่อ

9-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
สงครามโรค
พญ.ศมนีย์ ศุขรุ่งเรือง