• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคท้องเดินในเด็ก

โรคท้องเดินในเด็ก

ท่ามกลางความวุ่นวายของแพทย์เวร หญิงผู้หนึ่งแหวกผู้คนที่มาพยาบาลประจำห้องแพทย์เวรด้วยท่าทางตื่นตกใจ ในมืออุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 3 เดือนมาด้วย เด็กนั้นผอมผิวหนังเหี่ยวแห้ง ตาลึก ปากแห้ง กระหม่อมบุ๋ม และหายใจหอบ กระสับกระส่าย ตาเหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว มารดากระหืดกระหอบบอกพยาบาลว่า ลูกสาวไม่ทราบว่าเป็นอะไร ไข้สูง อุจจาระเป็นน้ำเหลวสีเหลือง วันละนับครั้งไม่ถ้วนมา 3-4 วันแล้ว ไปซื้อยาตามร้านขายยามากิน อาการก็ไม่ดีขึ้นแถมมีอาการอาเจียนด้วย จึงรีบพามาโรงพยาบาล พยาบาลรีบพาไปพบแพทย์เวร แพทย์เวรถามเพิ่มเติมได้ความว่า ครอบครัวยากจนมารดาต้องทำงานนอกบ้านไม่สามารถให้นมลูกได้ จึงซื้อนมข้นหวานมาให้กิน วิธีชงก็ใส่นมพอหวานผสมกับแป้งอนามัย (แป้งข้าวกล้อง) หลังจากให้นมแล้วก็ล้างขวดนม และหัวนม พอให้หมดคราบนมแล้วก็เอานมใส่ใหม่ บางครั้งก็ลวกน้ำร้อน

เรื่องที่เล่ามาข้างต้นนี้คือ เหตุการณ์ที่พบเป็นประจำตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โรคท้องเดินเป็นสาเหตุการตายของเด็กทารก ที่สำคัญโรคหนึ่งของประเทศไทย โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ ถ้าได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

1. เลี้ยงเด็กด้วยนมแม่ นมแม่เป็นนมที่ดีที่สุดเหมาะสมกับเด็กทารก ไม่ต้องเสียเงินไม่ต้องทำความสะอาดขวดนมและหัวนม

การให้นมวัวในครอบครัวที่ยากจนนั้นมีอันตรายมากด้วยปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ก. เมื่อเริ่มให้นมวัวแก่เด็กแรกเกิดนั้น ส่วนใหญ่ก็ให้นมที่ดี เช่น แป้งนม พ่อแม่สามารถซื้อให้ได้เพราะเด็กกินแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น พอเด็กอายุได้ 3-4 เดือน จะกินนมมากขึ้นไม่มีเงินซื้อนมเพียงพอ ก็ชงนมให้จางลงหรือเปลี่ยนเป็นนมข้นหวาน หรือใส่แป้งอนามัย (แป้งข้าวกล้อง) ลงไป ด้วยความเข้าใจผิดว่า ข้าวกล้องมีวิตามินมากและเป็นแป้งเช่นเดียวกับแป้งนม คงใช้แทนกันได้ การทำเช่นนี้เป็นอันตรายมากเพราะจะทำให้เด็กขาดสารอาหาร เพราะนมข้นหวานมีน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต)เป็นส่วนใหญ่ มีโปรตีนและไขมันไม่พอเพียง ข้าวกล้องก็เช่นเดียวกันมีวิตามินบีมาก สามารถป้องกันโรคเหน็บชาได้ก็จริง แต่มีคารโบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ มีโปรตีนและไขมันไม่พอเพียงเช่นเดียวกัน เมื่อขาดอาหารก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรคท้องเดิน บิด เป็นต้น

เมื่อท้องเดินก็ทำให้ขาดอาหารยิ่งขึ้นไปอีก เป็นวงจรวิกฤตดังแสดงไว้ในภาพ

ข. ในครอบครัวที่ยกจนและด้อยการศึกษา ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในนม ถ้าทำความสะอาดไม่เพียงพอหรือเมื่อนมเหลือทิ้งไว้ เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเอามาให้กินอีก จะทำให้ท้องเสีย บางประเทศในแอฟริการแพทย์จะบอกมารดาว่า ถ้ามารดาไม่สามารถให้นมลูกได้ แพทย์เตรียมเขียนใบมรณบัตรใส่กระเป๋าไว้ให้เด็กคนนั้นได้แล้ว

ฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องให้นมแม่แก่เด็กทุกคนจนอายุประมาณ 1-1 ½ ปี ถ้าจำเป็นต้องให้นมวัวหรือให้นมข้นหวาน การผสมนมต้องผสมให้ได้สัดส่วนที่แจ้งไว้ที่ข้างกระป๋อง การทำความสะอาดขวดนมและหัวนมต้องล้างให้สะอาด ไม่ให้มีคราบนมจับอยู่ ต้มขวดนมและหัวนมให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที การลวกด้วยน้ำร้อนนั้นไม่ทำให้เชื้อโรคตาย อาจทำให้เชื้อโรคสลบไปเท่านั้น และสามารถฟื้นขึ้นมาแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป

2. กินอาหารที่สะอาดและทำให้สุก ดื่มน้ำที่สะอาด ถ้าไม่แน่ใจให้ต้มเสียก่อน อาหารและน้ำที่ไม่สะอาดทำให้เกิดโรคได้หลายประการ เช่น โรคท้องเดิน บิด ไข้รากสาดน้อย (ทัยฟอยด์) อหิวาตกโรค ตับอักเสบ ดังคำขวัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “อหิวากำเริบ ล้างมือก่อนบีบข้าง ผักดิบผักสดงดเสียดีกว่า”

3. ระวังแมลงวัน เศษอาหารต้องฝังหรือเผาเสียอย่าให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน อาหารต้องเก็บไว้ให้มิดชิด อย่าให้แมลงวันตอมได้

4. อย่าถ่ายอุจจาระลงไปในแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคท้องเดิน บิดและ อื่นๆ ดังกล่าวแล้ว ลงไปในแม่น้ำลำคลอง เมื่อเด็กลงไปเล่นน้ำ น้ำอาจเข้าไปในปาก หรือบางคนตักน้ำในแม่น้ำลำคลองไปกินจะติดเชื้อโรคได้

 

อาการและการแสดงของโรคท้องเดิน ได้บรรยายไว้ตอนแรกแล้ว เด็กคนนั้นอาการหนักแพทย์ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน

การรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการมากแพทย์ต้องรีบให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดรีบด่วนทดแทน น้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสียไปทางอุจจาระและอาเจียน นอกจากนั้นอาการหอบยังแสดงว่าเลือดมีภาวะเป็นกรด จำเป็นต้องให้ยาแก้ภาวะเป็นกรดด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนักให้งดอาหารชั่วคราวประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะอาหารและลำไส้ได้พักผ่อน ต่อไปให้กินอาหารอ่อนๆ ให้นมและอาหารแต่น้อยก่อนและค่อยๆ เพิ่มเมื่อมีอาการดีขึ้น

ระหว่างที่งดอาหารให้ป้อนน้ำชาอ่อนๆ ให้มากที่สุด ถ้าผู้ป่วยมีอาเจียนให้ป้อนครั้งละน้อยๆ แต่ป้อนบ่อยๆ และควรเปลี่ยนจากน้ำชาเป็นน้ำเกลือใส่น้ำตาล เพราะจะทำให้อาเจียนน้อยลง อาจใช้ผง โอ อาร์ เอส ขององค์การเภสัชฯ หรือถ้าไม่มีก็ให้ใช้น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลมผสมกับเกลือแกงครึ่งช้อนกาแฟ  (ช้อนหวาน) และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (ช้อนคาว) แทนก็ได้

นอกจากนั้น ก็อาจให้ยารักษาท้องเดินขององค์การเภสัช เช่น ยาจำพวกซัลฟา แต่ถ้ามีมูกเลือดอาจเป็นบิดได้ ให้กิน แอมพิซิลลินน้ำเชื่อม (ขนาด 125 มิลลิกรัมต่อช้อนชา) ครั้งละ 1-2 ช้อนชาทุก 6 ชั่วโมง ถ้าไม่ดีขึ้นต้องพาไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล ถ้าไหลตลอดเวลาสีคล้ายน้ำซาวข้าวอาจเป็นอหิวาตกโรคได้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

ข้อควรจำ สำหรับโรคท้องเดิน ก็คือ โรคนี้เป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะในทารก การป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเริ่มเป็นต้องรีบให้น้ำให้มากที่สุด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบนำส่งสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลโดยด่วน

ข้อมูลสื่อ

10-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 10
กุมภาพันธ์ 2523
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์