• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร

“ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร”

คุณเคยมีอาการเหล่านี้บ้าง หรือไม่ รู้สึก จุก เสียด แน่น มีลมตีขึ้น บริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ถ้าได้เรอแล้วจะรู้สึกสบายขึ้นมากบางครั้งก็รู้สึกเบื่ออาหาร ท้องอืด ถ้าอาการหนักหน่อยก็รู้สึกปวดแสบท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ผอมซีด

ถ้าคุณเคยละก็ คุณก็คงรู้ตัวว่าคุณกำลังมีอาการของโรคกระเพาะอาหารแล้วสิ เพราะอย่างที่เบาที่สุด คือ ยังไม่รู้สึกปวดแสบท้องก่อนหรือหลังอาหารคุณก็มีอาการไม่ย่อยแล้ว

ลองนึกดูสิว่า ทำไมคุณจึงมีอาการเหล่านี้ ลองถามตัวเองดูว่าคุณมีปัญหา หรือตกอยู่ในภาวะเหล่านี้หรือไม่

1. คุณกำลังมีเรื่องกลุ้มใจเพราะแฟนที่คุณแสนรักแสนห่วงใยทำท่าจะตีจากคุณไป หรือคุณกำลังตกงานไม่ทราบจะหาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะในบ้าน หรือชะตาชีวิตกำลังเล่นงานคุณเต็มที่ จนคุณจะลุกไม่ขึ้นอยู่แล้ว ฯลฯ หรือคุฯกำลังตึงเครียดมาก เพราะดูหนังสือเตรียมตัวสอบไม่ทัน

2. คุณกินข้าวไม่เป็นเวลาอาจเป็นเพราะคุณมีงานยุ่งมากจนไม่มีเวลาจะกินข้าวให้ตรงตามเวลาได้หรือคุณพยายามไม่กินเพื่อลดความอ้วน

3. คุณกินยาแก้ปวดแอสไพริน ทัมใจ ยาเม็ดสีชมพู ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้อักเสบเพร็ตนิโซลโลนเป็นประจำ

4. คุณดื่มเหล้า สูบบุหรี่เป็นประจำ

5. คุณชอบกินอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เป็นประจำ

ทั้งหมดข้างบนนี้จะส่งเสริมให้คุณเป็นโรคกระเพาะได้ง่ายขึ้น ในเมื่อคุณมีอาการขึ้นมาแล้ว คุณก็จะต้องหาหยูกหายามารักษา เพราะถ้าปล่อยปละละเลยวันหนึ่งคุณอาจจะต้องเป็นคนไข้ของหมอผ่าตัด เพราะจะต้องตัดกระเพาะของคุณออกบางส่วนเพราะผนังมันทะลุเสียแล้ว

เรามารู้จักกับยาที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นกันดีกว่า

ยาพวกแรก ได้แก่ ยาแก้จุกเสียด ยาพวกนี้จะช่วยลดอาการแก้ท้องอืด แน่นจุกเสียด มีลมตีอาจจะเป็นยาน้ำหรือยาเม็ดก็ได้ จะผสมด้วยตัวยาที่มีคุณสมบัติ ช่วยขับลม เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาน้ำมิกต์คาร์มิเนตีฟ นอกจากนี้พืชที่เราใช้ปรุงอาหารในครัวหลายชนิดก็มีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดได้ เช่น ขิง ข่า ใบสะระแหน่ ใบกะเพรา ฯลฯ ในพืชเหล่านี้ จะมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ช่วยขับลม ดังนั้น การกินพืชเหล่านี้จะช่วยได้บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขิง เรานำมาประะยุกต์ ใช้เป็นยาขับลมได้เป็นอย่างดี เช่น ทุบขิงแล้วใส่น้ำร้อน ต้มเป็นน้ำขิงร้อนๆ อาจเติมน้ำตาลเล็กน้อยให้รสหวานน่าดื่มยิ่งขึ้น นอกจากนี้อาจซอยให้เป็นฝอยๆ หรือทุบให้ค่อนข้างแหลก แล้วต้มผสมกับข้าวต้ม เติมเกลือนิดหน่อย ไว้กินเวลาเมื่ออาหารไม่ย่อย ปวดกระเพาะอาหารก็ได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ ได้ทั้งอาหารอ่อน ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคกระเพาะ และขิงจะช่วยขับลมทำให้หายท้องอืดแน่นเป็นอย่างดี

พวกที่สอง เป็นยาที่ใช้รักษา บรรเทาอาการของโรคกระเพาะโดยตรงนั่นคือ ยาลดกรดซึ่งแบ่งตามคุณสมบัติของตัวยาเองเป็น 2 พวก คือ

1. ยาลดกรดที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ตัวที่สำคัญ ได้แก่ โซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นยาลดกรดที่ดีตัวหนึ่ง แต่เนื่องจากมันถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ คุณสมบัติข้อนี้ของมันจึงกลับกลายเป็นข้อสงสัย ถ้าเราจะใช้เป็นประจำ เพราะมันจะไปอยู่ในเลือดทำให้ร่างกายเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติขึ้น และอาจทำให้ร่างกายมีธาตุโซเดียมมากเกินควร ดังนั้น การใช้โซเดียมไบคาร์โบเนตเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหารจึงควรใช้ในระยะสั้น เช่น บังเอิญปวดกระเพาะขึ้นมาและมียานี้อยู่ในมือพอดี ยาที่เป็นโซเดียวไบคาร์โบเนตที่มีขายเป็นยาลดกรดเช่น ยาเม็ดโซดามิ้นต์ ยาอีโน

2. ยาลดกรดที่ไม่ดูดซึมเข้าร่างกาย ได้แก่ อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ แมกนีเซียมไตรซิลิเคท มิ้ลค์ออฟแมกนีเซียม ยาลดกรดพวกนี้ จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จึงออกฤทธิ์กรดแต่เพียงในกระเพาะอาหาร ไม่รบกวนภาวะความเป็น กรด – ด่างในร่างกาย แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเช่นกัน คือ อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ จะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย ส่วนพวกที่มีแมกนีเซียมประกอบอยู่ ถ้ากินมากจะทำให้เกิดท้องเสีย และเกิดอาการมีธาตุแมกนีเซียมมากเกินไปในเลือดได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไต และยาลดกรดที่เป็นสารประกอบของอลูมิเนียม และแมกนีเซียมยังลดการดูดซึมของธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการกระดูกกร่อนได้ นอกจากนี้ ถ้าเราจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ยาลดกรดพวกนี้จะลดการดูดซึมของยาปฏิชีวนะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ยานี้ได้ผลไม่ดี ซึ่งถ้าต้องกินยาลดกรด และยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะอย่างนิ่ง พวกเตตร้าซัยคลีน ไม่ควรกินพร้อมๆ กัน ต้องใช้เว้นช่วงให้ห่างกันประมาณ 1-2 ชั่วโมง

ชนิดของยาลดกรดที่พบได้ตามท้องตลาด

1. ยาลดกรดชนิดเม็ด เช่น ยาเม็ดโซดามิ้นต์ ยาเม็ดลดกรดขององค์การเภสัชกรรม ยาเม็ดลดกรดพวกอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ฯลฯ นอกจากจะมียาลดกรดแล้ว บางครั้งเราอาจจะพบยาช่วยลดก๊าซในกระเพาะอาหาร ยาช่วยขับลมพวกเป้ปเปอร์มิ้นต์

ข้อดีของยาลดกรดชนิดเม็ด คือ พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่มีข้อเสียก็คือยาลดกรดชนิดเม็ดให้ผลดีและออกฤทธิ์เร็วสู้ยาลดกรดชนิดน้ำไม่ได้

นอกจากนี้สิ่งที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการกินยาลดกรดชนิดเม็ดก็คือ จะต้องเคี้ยวยาทุกครั้ง แม้ว่าจะเป็นยาที่โฆษณากันว่าแตกตัวและละลายได้รวดเร็ว ข้อนี้สำคัญมาก

2. ยาลดกรดชนิดน้ำ มักพบเป็นยาแขวนตะกอน อาจพบเป็นน้ำยาขาวขุ่นทั้งขวด หรือ เป็นยาน้ำแยกเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นยาน้ำใส ชั้นล่างเป็นตะกอนขาว ถ้าน้ำยาแยก 2 ชั้น เมื่อเขย่าขวดแต่เพียงเล็กน้อยไม่แรงมาก ตะกอนขาวที่นอนก้นอยู่ควรกระจายตัวได้ทั่วอย่างง่ายดาย ไม่ใช่จับเป็นก้อนแข็งจมอยู่ก้นขวด (ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังจับเป็นก้อนแข็งนอนก้น เราจะถือว่ายาเตรียมนั้นไม่ใช่ยาเตรียมที่ดี) นอกจากนี้เวลาจะเลือกซื้อยาลดกรดชนิดน้ำยังต้องสังเกตดูว่าน้ำยาไม่เป็นเมือกหรือจับกันเป็นลิ่มๆ เพราะน้ำยาที่มีลักษณะนี้มักจะบูดและเสียแล้ว

ยาลดกรดชนิดน้ำมักมีสารประกอบอลูมิเนียมและแมกนีเซียมผสมกันอยู่ เพื่อป้องกันฤทธิ์ข้างเคียงของอลูมิเนียมทำให้ท้องผูก เพราะสารประกอบแมกนีเซียมจะช่วยระบายท้อง ทำให้คนไข้อยู่ในสภาวะปกติที่มีขายในท้องตลาดเช่น ยาน้ำอัลมาเจล และ อะลัมมิ้นต์ อลูดรอกมาล๊อก ฯลฯ เวลาใช้ต้องเขย่าขวดให้น้ำยาเข้ากันดีทุกครั้งไม่ว่ายานั้นจะเป็นน้ำขาวขุ่นหรือแยก 2 ชั้น ทั้งนี้เพราะ ตะกอนขาวขุ่นนั้นเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ลดกรดนั่นเอง

3. ยาผง ยาลดกรดชนิดผงที่เรารู้จักกันดี คือ อีโน ซี่งทำเป็นยาผงสำหรับผสมน้ำดื่มแล้วจะเกิดฟองฟู่ ทำให้คนไข้ตื่นเต้นอยากกินยา

จะกินยาลดกรดอย่างไรดี

การกินยาลดกรดถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุดคือต้องกินบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างนิ่งเมื่ออาการปวดแสบท้องมากแพทย์บางคนถึงกับแนะนำให้กินยาลดกรดทุกชั่วโมง โดยทั่วไปเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงกลางระหว่างมื้อ คือ 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังอาหาร นอกจากยา อาหารก็มีส่วนช่วยกรดอยู่ในตัว ถ้าสามารถทำได้ให้กินอาหารอ่อน (เช่น พวกข้าวต้ม โจ๊ก) ทุกๆ 2 ชั่วโมง คือ เรื่องอาหารก็ให้กินทีละน้อยแต่บ่อยๆ เช่นเดียวกับการกินยา

แล้วเราจะกินยาลดกรดเองนานแค่ไหน

การกินยาลดกรดเพื่อช่วยรักษาพยาบาลตนเอง เมื่อมีอาการปวดกระเพาะ เราควรกินตั้งแต่เริ่มมีอาการจุกเสียด ตามเวลาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ขั้นแรกควรกินยาดูว่าอาการต่างๆ จะดีขึ้นหรือไม่ก่อนสัก 5 วัน ถ้าผลปรากฏว่า อาการปวดเสียดดีขึ้นหรือแม้แต่จะหายไป ก็ให้กินยาลดกรดต่อไปอีก 4-6 อาทิตย์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลย ให้กินยาประทังอาการปวดแสบก่อนแล้วไปหาแพทย์

รายชื่อยารักษาโรคกระเพาะอาหาร

1. ยาแก้อาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ

  • ยาธาตุน้ำแดง มีอย่างชนิดราคาขวดละ 4.50 บาท, 6.50 บาท และ 9.00 บาท
  • ยาน้ำมิกต์คาร์มิเนตีฟ มีอย่างชนิด 4 บาท และ 9 บาท
  • ยาน้ำมิกต์คาร์มินอล มีอย่างชนิด 6 บาท และ 10 บาท

ทั้ง 3 อย่างนี้ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 1-2 ช้อนตะ, เด็กครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร

ส่วนยาธาตุน้ำแดงยังมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหารดีอีกด้วย ถ้าอยากกินข้าวได้มากๆ ให้กินยานี้ก่อนอาหารสัก ½ ชั่วโมง

  • เหล้าสาระแหน่ ขวดละ 2.50 บาท กินครั้งละ 5-30 หยด ผสมน้ำอุ่น ½-1 ถ้วย กินวันละ 3-4 ครั้ง

2. ยาแก้อาการปวดกระเพาะมีกรดมากเกินไป เรอเหม็นเปรี้ยว รวมทั้งแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

  • ยาเม็ดลดกรดขององค์การเภสัชกรรม เม็ดละ 10 สตางค์
  • ยาเม็ดอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ เม็ดละ 10 สตางค์
  • ยาเม็ดโซตามินต์ เม็ดละ 3-5 สตางค์

ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหารหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง วันละ 3-4 ครั้ง หรือเวลามีอาการ

  • ยาน้ำอัลมาเจล มีอย่างขวด ขวดละ 8 บาท และ 1 บาท
  • ยาน้ำอะลั่มมิลค์ มีอย่างขวด ขวดละ 12.50 บาท และ 15 บาท

 

ข้อมูลสื่อ

10-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 10
กุมภาพันธ์ 2523
ยาน่าใช้
ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์