• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พุทธรักษา

“สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้จึงต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

พุทธรักษา

ชื่ออื่น

พุทธศร (พายัพ), ดอกบัวละวงศ์ (ลำปาง), มุยหยิ่งเจีย, กวงอิมเกีย, เซียวปาเจีย, (จีน) ; Indian Shot.

ชื่อวิทยาศาสตร์

Canna indica L. วงศ์ Cannaceae

ลักษณะต้น

เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน สูงประมาณ 1 เมตร มีแป้งขาวๆ อยู่ที่ผิวและก้านใบ

ใบ ใหญ่รูปรีๆ ยาว 10 – 30 เซนติเมตร ใบแหลม ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นน้อยๆ

ดอก อาจเป็นดอกเดียวหรือดอกคู่ มีกลีบก่อนกลีบเลี้ยง 1 ใบ ยาวประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ยาวกลีบละประมาณ 1 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อน ปลายแหลมมีสีแดง กลีบดอกส่วนมากสีแดงส่วนโคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็น 3 กลีบ ปลายแหลมยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ที่เสื่อมสภาพไป 3 อัน มีสีแดงสด ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ติดกับก้านเกสรเป็นแท่งยาวๆ รังไข่มี 3 ห้อง มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ลักษณะเป็นแผ่นแบนยาว

ผล ลักษณะกลม มีหนามไม่แข็งอยู่ภายนอก เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร

มักพบปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน และริมถนนที่ชุ่มชื้นแฉะ และริมแม่น้ำลำคลองทั่วไป

ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์ได้ดอกสีต่างๆ ตั้งแต่เหลืองอ่อนไปจนถึงสีแดงเข้ม บางต้นก็ออกดอกเป็นพันธุ์ผสม มีดอกสีแดงและเหลืองในช่อดอกเดียวกันมี ที่ใช้ทางยามักใช้ชนิดดอกแดง

การเก็บมาใช้

ใช้ลำต้นใต้ดิน (เหง้า) และดอก ลำต้นใต้ดินขุดเก็บได้ตลอดปี ตัดก้านใบและรากฝอยทิ้ง ล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่นตากแห้งเก็บใช้หรือหรือใช้สดก็ได้

ดอก ก็อาจเก็บมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือใช้สดเลยก็ได้

สรรพคุณ

ลำต้นใต้ดิน (เหง้า) รสขม, เย็นจัด ใช้แก้โรคตับอักเสบ (โรคดีซ่าน) บิดเรื้อรัง, อาเจียนเป็นเลือด, ประจำเดือนมาไม่หยุด, ตกขาว, ประจำเดือนไม่ปกติ และแผลบวมอักเสบ

ดอก รสฝาด สุขุม ใช้ห้ามเลือดในบาดแผลสดและบาดแผลมีหนอง

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

ลำต้นใต้ดิน (เหง้า) ใช้ยาแห้ง หนัก 3 -10 กิโลกรัม ต้มน้ำกิน ภายนอกใช้ตำพอก

ดอก ใช้ดอกแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน ภายนอกใช้ดอกสดตำพอก

ตำรับยา

1. ประจำเดือนมาไม่หยุด ใช้เหง้ากับดอกเข็ม (lxora Chinensis Lam) ตุ๋นร่วมกับไก่กิน

2. แก้ประจำเดือนมาไม่หยุด ตกขาว และปวดฟัน ใช้เหง้าแห้งผสมข้าวเหนียวตุ๋นกับไก่กิน

3. แก้โรคตับอักเสบเฉียบพลันทำให้ตัวเหลืองใช้เหง้าแห้งหนัก 15-30 กรัม (สดหนัก 60-90 กรัม) ต้มน้ำกินประมาณ 1 อาทิตย์จะเห็นผลตัวหายเหลือง

4. ดอกใช้ห้ามเลือดบาดแผลภายนอกใช้ดอกแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน

รายงานผลทางคลินิก

ใช้แก้โรคตับอักเสบอย่างเฉียบพลัน มีอาการตัวเหลือง ใช้เหง้าสดหนัก 60 – 120 กรัม (ใช้ไม่เกิน 275 กรัม) ต้มน้ำ แบ่งกินเป็น 2 ครั้ง เช้า – เย็น ติดต่อกัน 20 วันเป็น 1 รอบ ของการรักษา ในระหว่างการรักษาห้ามกินปลา กุ้ง ของเผ็ด จิงฉ่าย และน้ำมัน ของพืชชนิดนี้ด้วย จากคนไข้ตับอักเสบ 67 ราย หาย 58 ราย อาการดีขึ้น 3 ราย ไม่เห็นผล 2 ราย ระยะเวลาของการรักษามีตั้งแต่ 20 วัน 34 ราย, 30 วัน 18 ราย และที่รักษานานที่สุด 45 - 47 วัน 6 ราย นอกจากนั้นยังทดลองใช้ต้นร่วมกับ รากคอเข่า และ ทิแบเปียง ทำเป็นยา ใช้รักษาคนไข้ 100 ราย หาย 92 ราย อีก 8 ราย แก้ไขได้ในขั้นต้น

หมายเหตุ

เหง้า

  • อินเดีย ใช้ขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ
  • กัมพูชา ใช้เหง้าต้มให้และคั้นเอาน้ำดื่มแก้คุดทะราด และใช้ชะล้างทำความสะอาดบาดแผล
  • มาเลเซีย ใช้เหง้าปรุงเป็นอาหาร
  • ชวา ใช้น้ำคั้นจากเหง้าแก้ท้องร่วง
  • ไทย แพทย์ตามชนบทใช้เหง้าต้มกินเป็นยาบำรุงปอด แก้อาเจียนหรือไอเป็นโลหิตได้ดี

เมล็ด

ใช้ทำสร้อยและร้อยเป็นสายประคำ โดยเก็บเมล็ดที่โตเต็มที่แล้วแต่ก่อนที่ผลจะสุกแกะ เปลือกออกนำไปตากแห้ง เมล็ดจะแข็งเป็นสีม่วงเข้ม นำมาเจาะรูร้อยเป็นสายประคำได้สวยงามมาก

  • ชวา เขาเอาเมล็ดมาบดเป็นผงพอกตรงขมับแก้ปวดหัวได้
  • อินเดีย ใช้ก้านใบผสมกับข้าว พริกไทยและน้ำ ต้มให้เดือดให้วัวกินแก้พิษเนื่องจากไปกินหญ้าพิษเข้า และยังกล่าวว่า ใยจากก้านใบยังใช้แทนปอกระเจาได้ในอุตสาหกรรมทำเชือกและถุงเท้า

ข้อมูลสื่อ

10-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 10
กุมภาพันธ์ 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ