• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันสี

ฟันสี

ชื่ออื่น

ขัดมอญ, ครอบ, ครอบจักรวาล, ตอบแตบ (ไทย), ปอบแบบ, มะก่องเข้า (พายัพ), โผงผาง(โคราช); บั่วปั่วเช่า,กิมฮวยเช่า (จีน); Country Mallow,Moon Flower

ชื่อทางวิทยาศาสตร์

Abutilon indicum Go Donวงศ์Malvaceae

ลักษณะต้น

เป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สูง 0.5-2.5 เมตร มีขนอ่อนนุ่มสีเทาปกคลุมทั่วไป

ใบ ออกสลับกัน ก้านใบยาว ตัวใบลักษณะกลม ปลายใบแหลมสั้นฐานใบเว้าคล้ายหัวใจยาว 3-9 เซนติเมตร กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ขอบใบมีรอยหยักรูปฟัน มีขนนุ่มสีเทาปกคลุมทั้ง 2 ด้าน

ดอก ออกจากซอกก้านใบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง2-2.5เซนติเมตร ก้านดอกยาว ทางใกล้โคนดอกไม้มีรอยเป็นข้อ 1 รอย กลีบเลี้ยงติดกัน บานออกคล้ายจาน มีรอยแยกฉีกๆ แบ่งออกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบปลายแหลมสั้นๆ มีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทา ปกคลุมด้านนอกกลีบดอกมี 5 กลีบ ตัวผู้มีจำนวนมากติดกันที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ รังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นของดอกทั้งหมด ผนังรังไข่เป็นกลีบเรียง ติดกันรอบๆ เป็นรังสีทรงกลม

ผล เป็นกลีบๆ เรียงติดกันคล้ายฟันเฟืองข้าว มี 15-20 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายนอกมีขนสั้นๆ ปกคลุมอยู่ เมล็ดคล้ายไต มีขนสั้นๆ ชอบเกิดตามดินปนทราย มักพบเกิดขึ้นเอง ตามที่รกร้างริมถนนหนทาง

การเก็บมาใช้

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ ราก และเมล็ด เก็บในฤดูร้อนและฤดูหนาว ใช้ตัดทั้งต้น ตากให้แห้งเก็บเอาไว้ใช้

ทั้งต้น ตากแห้งแล้วหั่นเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 2 เซนติเมตร มีกิ่งก้านสาขา เปลือกนอกมีรอยย่นสีเทาอ่อนๆ เวลาสัมผัสรู้สึกคล้ายมีแป้งใบย่นสีเทาอ่อนออกเขียว ท้องใบมีสีอ่อน มีส่วนน้อยที่ออกสีเหลืองอ่อนมีขนนุ่นสั้นๆ ปกคลุมอยู่ ตรงข้อที่ออกใบ อาจมีดอกหรือผลติดอยู่ด้วย มีกลิ่นอ่อนๆ

ราก เก็บในเดือน 4 ขุดมาล้างให้สะอาดตากแห้งเก็บไว้ใช้

เมล็ด เก็บเมล็ดแก่ตากแห้งเก็บไว้ใช้

สรรพคุณ

ทั้งต้นรสชุ่ม สุขุม ไม่มีพิษ ช่วยทำให้เลือดไหลหมุนเวียนดี แก้ท้องร่วง หูอื้อ หูหนวก แผลบวม เป็นหนอง โรคเรื้อน ปัสสาวะขัด เจ็บขุ่น คางทูม เอายานี้ไปต้มกับเนื้อไก่หรือเนื้อสัตว์

ราก รสจืดชุ่ม เย็น ช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้ไอ หูชั้นกลางอักเสบ คอตีบ ท้องร่วง ขับปัสสาวะ ริดสีดวงทวาร

เมล็ด ใช้แก้บิดมูกเลือด ฝีฝักบัว

วิธีและปริมาณที่ใช้

ทั้งต้น แห้งหนัก 30-60 กรัม ต้มน้ำกินหรือต้มร่วมกับเนื้อสัตว์กิน ใช้ภายนอกใช้ตำพอก

ราก แห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก หรือต้มน้ำชะล้าง

เมล็ด แห้งหนัก 3.2 กรัม บดเป็น ผงกินวันละ 3 ครั้ง

ตำรายา

1. แก้ผื่นคันเนื่องจากการแพ้ ใช้ทั้งต้นแห้ง 30 กรัม ผสมกับเนื้อหมูไม่เอามันพอประมาณ ตุ๋นน้ำกิน

2. แก้ริดสีดวงทวาร ใช้ราก 150 กรัม ต้มเอาน้ำข้นๆ กินประมาณ 1 ถ้วยชา ที่เหลืออุ่นเอาไอรมที่ก้นพออุ่นๆ ทนได้ เอาน้ำอุ่นๆ ชะล้างแผล ใช้รมวันละ 5-6 ครั้ง

3. แก้บาดแผลหกล้ม หรือร่างกายอ่อนแอไม่มีกำลัง ใช้รากแห้ง 60 กรัม ต้มกับขาหมู 2 ขาผสมเหล้าเหลือง 60 กรัม ต้มน้ำกิน

4. แก้ข้อมือ เท้าอักเสบ หรือแผลอักเสบทั้งหลายที่ทำให้กล้ามเนื้อเน่า ใช้รากนี้ 30 กรัม ผสมน้ำและเหล้าอย่างละเท่าๆ กันต้มกิน

5. แก้คอตีบ ใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน หรืออาจเพิ่มราก หญ้าพันงู (Achyranthes aspera L..,A.bidentata BL.,A.longifolia Mak) กับรากว่านหางช้าง (Belameahda chinensis DC.) พอสมควรตำคั้นเอาน้ำผสมกับปัสสาวะเด็กกิน

6. แก้หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ใช้รากแห้ง 15-30 กรัม ข้าวเหนียว 1 ถ้วย หรือเนื้อหมูไม่ติดมัน หรือเต้าหู้แทนก็ได้ในปริมาณพอสมควร ต้มน้ำกิน

7.แก้รากฟันเน่าเป็นหนอง ใช้รากแห้ง 15 กรัม ผสมน้ำตาลแดงพอสมควร ต้มน้ำกิน หรือใช้รากแห้งแช่น้ำส้มสายชู 1 ชั่วโมง แล้วเอาผ้าห่ออมไว้ในปากบ่อยๆ

8. แก้บิดมูกเลือด ใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมบดเป็นผง กินพร้อมกับน้ำผึ้งครั้งละ 3.2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

9. แก้ฝีฝักบัว ใช้เมล็ดต้นนี้ 1 ช่อ บดเป็นผงชงน้ำสุกอุ่นๆ กินและเอาใบสดตำผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลแดงพอกที่แผล

หมายเหตุ

เปลือกต้นมีเส้นใยที่เหนียวแข็งแรง ใช้ทำเชือกได้ดี มีการทำใช้กันเอง ไม่มีการทำเป็นการค้า นอกจากนี้เปลือกยังมีเมือก ใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้

  • ในฟิลิปปินส์ ใช้ใบต้มเอาน้ำชะล้างบาดแผลและแผลเรื้อรังต่างๆ และใช้สวนล้างช่องคลอด หรือทาภายนอก
  • ในอินเดีย ใช้ยาชงจากราก แก้เบาขัดเบาเป็นเลือด เปลือกและรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดี ดอกและใบ ใช้พอกฝีและแผลเรื้อรังต่างๆ
  • ในอินโดจีน ใช้ดอกอ่อนและเมล็ด ขับปัสสาวะ หล่อลื่นและเป็นยาบำรุง

เมล็ดแห้งให้กินหนัก 3.5-7.5 กรัม เป็นยาระบายในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร ใช้ขับเสมหะ และกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ นอกจากนี้ยังใช้ฆ่าพยาธิเส้นด้าย โดยใช้ผงเมล็ดโปรยบนถ่ายไฟ เอาควันรมก้นเด็กที่เป็นพยาธิเส้นด้าย

ข้อมูลสื่อ

11-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ