• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

ชื่ออื่น

หงายงวงช้าง (ศรีราชา),หญ้างวงช้างน้อย (พายัพ),กุนอกาโม (มลายูตานี) :ไต่บ๋วยเอี้ยว,เฉี่ยผี่เช่า,เงียวบ๋วยเช่า (จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Heliotropium indicum L. วงศ์ Boraginaceae

ลักษณะต้น

เป็นพืชล้มลุกเกิดตอนฤดูฝน ถึงหน้าแล้งตาย สูง 15-50 เซนติเมตร มีขนหยาบๆ ปกคลุมทั้งต้น

ใบ ออกสลับกัน ลักษณะทรงกลมรีหรือป้อมๆ ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก ฐานใบเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ตัวใบยาว 3-8 เซนติเมตร มีขน ผิวใบมีรอยย่นขรุขระ ขอบใบมีรอยหยักเป็นคลื่น ช่อดอกเกิดที่ยอดหรือซอกใบ ยาว 3-10 เซนติเมตร

ดอก เกิดอยู่ทางด้านบนด้านเดียว บานจากโคนไปปลายช่อดอก ปลายช่อโค้งงอคล้ายงวงช้างชูขึ้น กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 5 กลีบ กลีบดอกสีฟ้าใกล้ขาวติดกันเป็นหลอด ที่ขอบมีรอยแยกตื้นๆ แบ่งเป็น 5 กลีบบานออกกลีบดอก ประมาณ 5 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-3.5 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 5 อันติดอยู่ ด้านในมีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่เป็นรูปจานแบนๆ ผลยาว 4-5 มิลลิเมตร เกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน

มักพบตามที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือทางน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ ท้องนาหรือตามที่รกร้างต่างๆ ตามวัดวาอารามทั่วๆ ไป และมีปลูกเก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่างๆ

การเก็บมาใช้

เก็บทั้งต้นที่เจริญเต็มที่ มีดอก ล้างให้สะอาด ใช้สดหรือตากแห้ง เก็บเอาไว้ใช้ก็ได้

สรรพคุณ

ทั้งต้น รสขมสุขุม ใช้เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ดับร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้พิษปอดอักเสบ มีหนองในช่องหุ้มปอด เจ็บคอ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อยๆ ปากเปื่อย แผลบวม มีหนอง และแก้ตาฟาง

วิธีและปริมาณที่ใช้

กิน ใช้ยาสดหนัก 30-60 กรัมต้มกิน หรือคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน

ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก

ข้อห้ามใช้ หญิงมีท้องห้ามกิน

ตำรับยา

1. แก้ปวดท้อง ใช้ต้นนี้สดหนัก 30-60 กรัมต้มน้ำกิน

2. แก้ปอดอักเสบปอด มีฝีเป็นหนองมีหนอง ในช่องหุ้มปอด ใช้ทั้งต้นสด 60 กรัม ต้มผสมน้ำผึ้งกิน หรือใช้ทั้งต้นสด 60-120 กรัม ตำคั้น เอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน

3. แก้ปากเปื่อยเน่า ใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำอมบ้วนปากวันละ 4-6 ครั้ง

4. แก้แผลฝีเม็ดเล็กๆ มีหนอง ใช้รากสด 60 กรัม ผสมเกลือเล็กน้อย ต้มน้ำกิน แล้วใช้ใบสดตำกับข้าวเย็นพอแผลอีกด้วย

รายงานผลทางคลินิกของจีน

ใช้แก้แผลมีหนอง ฝีเม็ดเล็กๆ ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 50 กรัม หั่นเป็นฝอยผสมน้ำ 1,000 กรัม ใช้ไฟอ่อนต้มจนเหลือ 500 มิลลิกรัม แบ่งกินครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เด็กก็ลดปริมาณลงตามส่วน จากคนไข้ 213 ราย, กินยา 1-3 วัน หาย 73 ราย, กินยา 4-5 วัน หาย 96 ราย, กินยา 6-10 วัน หาย 52 ราย,กินยา 10 วันขึ้นไป หาย 28 ราย จากการทดสอบเบื้องต้น พบว่ายานี้มีผลต่อฝีเล็กๆ ที่เริ่มเป็นหนอง และระยะเริ่มเป็นหนองแล้ว (มีเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว) แต่ในระยะเริ่มเป็นจะใช้ได้ผลดีกว่า

ผลทางเภสัชวิทยา

น้ำสกัดจากรากต้นนี้ มีผลลดความดันโลหิตและทำให้หายใจแรงขึ้นเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำของแมวที่ทำให้สลบแต่มีผลลดการเต้นของหัวใจคางคกที่แยกออกจากตัว ซึ่งส่วนทีสกัดจากแอลกอฮอล์ไม่มีผลอันนี้ นอกจากนั้นส่วนที่สกัดด้วยน้ำไม่มีผลเด่นชัดต่อกล้ามเนื้อลำไส้เล็กของหนูที่แยกออกมาจากตัว แต่ต่อลำไส้เล็กของกระต่ายที่แยกออกมาจากตัว ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวลงได้มาก ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ลำไส้เล็กของกระต่ายเท่านั้น ส่วนที่สกัดทั้งสองไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ท้องของคางคก แต่มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกออกจากตัวทั้งส่วนที่สกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์มีสารที่ทำให้มดลูกบีบตัวได้ ส่วนที่สกัดจากใบจะมีผลต่อโรคของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของหนูเล็ก และสามารถต่อต้านเนื้องอกได้ระยะหนึ่ง (แค่ยืดอายุของหนูไปได้) ส่วนที่สกัดด้วยน้ำที่มีพิษต่อหนูเล็กเล็กน้อย ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ไม่เห็นพิษเด่นชัดนัก (ใช้ยาฉีดเข้มข้น 1:1 เข้าช้องท้องหนูเล็กขนาด 0.8 มิลลิกรัม ก็ไม่ทำให้ตาย)

ข้อมูลสื่อ

12-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ