• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียงฟู่จากหัวใจ

เสียงฟู่จากหัวใจ

ผมไปประชุมเรื่อง การควบคุมไข้รูห์มาติค* และโรคหัวใจรูห์มาติค*ในชุมชน ที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือน ธันวาคม 2522 การประชุมนี้จัดโดยองค์การอนามัยโลก มีผู้มาร่วมประชุมจากทั่วโลกที่ประชุมมีความเห็นว่ากลวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะควบคุมโรคนี้ให้ทั่วถึง คือ “ให้ชุมชนตระหนักถึงอาการของโรคในระยะเริ่มแรกและระยะหลัง โดยทางสื่อสารมวลชนต่างๆ” การให้ความรู้ด้านสุขภาพนี้ควรให้แก่ 1.มารดา 2.ครู 3.ผู้ทำงานเกี่ยวกับด้านสาธารณสุขในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผ.ส.ส.) 4.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงาน อนามัย ผดุงครรภ์ แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ ทั้งผมเองได้อ่านจดหมายถึงบรรณาธิการ หมอชาวบ้าน ให้ความเห็นว่าหมอชาวบ้านควรให้ความรู้แก่ประชาชนหลายๆ ระดับ

โรคหัวใจรูห์มาติคเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันได้อย่างจริงจังจึงควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามาแก้ความพิการที่หัวใจภายหลัง ฉะนั้น เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลทั้งนโยบายขององค์การอนามัยโลกและความต้องการของท่านผู้อ่านหมอชาวบ้าน ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เข้าใจโรคนี้ และกระจายความรู้ไปยังประชาชนทุกคนในหมู่บ้านตำบล อำเภอ หรือจังหวัดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

บางท่านคงสงสัยว่าทำไมจึงไม่พูดถึง เสียงฟู่จากหัวใจ สักทีเอาละครับ จะเริ่มแล้วความสำคัญอยู่ตรงนี้ เด็กที่เป็นไข้รูห์มาติค เมื่อเป็นแล้วมักจะทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ทำให้เกิดเสียงฟู่จากหัวใจ การฟังเสียงฟู่จากหัวใจเป็นวิธีที่สำคัญวิธีหนึ่งในการวินิจฉัยไข้รูห์มาติคและโรคหัวใจรูห์มาติค

เสียงฟู่จากหัวใจ (Heart murmur) คืออะไร?

เป็นเสียงดังฟู่ๆ ที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกหัวใจ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติภายในหัวใจ หรือหลอดเลือดใหญ่ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ผนังภายในหัวใจรั่ว มีเส้นเลือดที่ผิดปกติ ท่านคงสังเกตเวลาที่ท่อน้ำรั่ว จะมีเสียงดังฟู่ๆ เสียงฟู่จากหัวใจก็เช่นเดียวกัน เราจะรู้ว่ามีเสียงฟู่จากหัวใจหรือเปล่า โดยการใช้เครื่องฟังหรือโดยการใช้หูแนบไปที่หน้าแกบริเวณหัวใจ ก็อาจได้ยินเสียงนี้ได้ ในบางรายที่ดังมากๆ เพียงแต่เอามือคลำที่หน้าอกจะรู้สึกว่ามีความสะเทือนซู่ ซู่ คล้ายคลำหน้าอกของแมว

ในคนปกติจะได้ยินเฉพาะเสียงหัวใจ ซึ่งเกิดจากการปิดของลิ้นหัวใจซึ่งมีอยู่ 2 คู่จึงได้ยินเป็นสองเสียงดังตึ๊กตั๊กๆ เป็นคู่ๆ คล้ายเสียงนาฬิกา ไม่ได้ยินเสียงเลือดซึ่งผ่านลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือด เพราะธรรมชาติได้สร้างหัวใจและหลอดเลือดมาอย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ดี ในเด็กปกติบางคนอาจได้ยินเสียงฟู่เบาๆ ได้ ถ้าเป็นโรคหัวใจส่วนมากมักจะดัง

หัวใจชนิดใดบ้าง ที่มีเสียงฟู่

ส่วนใหญ่จะพบเสียงฟู่ในโรคหัวใจรูห์มาติคและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

  • ไข้รูห์มาติค และโรคหัวใจรูห์มาติค

โรคหัวใจรูห์มาติค เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย สาเหตุเกิดจากไข้รูห์มาติคในวัยเด็ก (ประมาณ 6-15 ปี)

สาเหตุของไข้รูห์มาติคยังไม่ทราบแน่นอน แต่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในคอ โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “สเตร๊ปโตคอคคัส” และเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีฐานะยากจน, ขาดอาหาร, ที่อยู่อาศัยแออัดจะพบว่าเป็นโรคมาก

อาการของไข้รูห์มาติค มีไข้, ปวดบวมตามข้อ, มีปุ่มใต้ผิวหนัง, ผิวหนังเป็นผื่นแดง, กล้ามเนื้อกระตุกไม่มีแรง และมีหัวใจอักเสบ (คือ มีอาการบวม, เหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, เจ็บหน้าอก, หอบ) เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ ประมาณครึ่งหนึ่งของไข้รูห์มาติคจะมีหัวใจอักเสบร่วมด้วย และอาจจะกลายเป็นหัวใจเรื้อรังไปได้ แต่การอักเสบที่อวัยวะอื่นๆ จะหายเป็นปกติได้เอง

เมื่อมีการอักเสบของหัวใจจากไข้รูห์มาติค อาจทำให้หัวใจวายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หลังจากพ้นระยะอักเสบอาจกลายเป็นโรคหัวใจรูห์มาติคเรื้อรังได้ คือ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสมรรถภาพ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ถ้าความพิการที่ลิ้นหัวใจมาก อาจต้องตัดแก้ความพิการ หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่โดยใช้ลิ้นเทียม

การป้องกันและรักษา

1. ควรให้เด็กๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารโปรตีนและผัก ผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงต่อต้านเชื้อโรคได้ ไม่ควรอยู่ในที่แออัดเพราะจะมีโอกาสแพร่และรับเชื่อโรคสเตร๊ปโตคอคคัสได้โดยง่าย

2. เด็กที่มีอาการเจ็บคอ ปวดข้อ หอบเหนื่อย บวม ฯลฯ ควรรีบไปสถานีอนามัยหรือพบแพทย์โดยเร็ว

3. ผู้ที่เป็นไข้รูห์มาติคแล้ว จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ รับยาฉีดหรือกินเป็นประจำ เพื่อป้องกันการกลับของไข้ไปจนตลอดชีวิต

โรคหัวใจรูห์มาติคเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันได้อย่างจริงจังจึงควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามาแก้ความพิการที่หัวใจภายหลัง

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้รูห์มาติคและโรคหัวใจรูห์มาติคบางรายอาจไม่ปรากฏอาการเลยก็ได้ ฉะนั้น เมื่อท่านท่านบทความนี้แล้ว จะลองเอามือคลำหรือเอาหูแนบลงที่หน้าอกของคนทุกคนในครอบครัวของท่านดูก็ได้ ตัวท่านเองคงต้องให้ผู้อื่นฟังให้ ถ้าพบว่ามีเสียงดังฟู่ๆ ก็ขอให้รีบไปที่สถานีอนามัยหรือพบแพทย์โดยเร็ว ถ้าเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค แพทย์จะได้ให้ยาป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น ยิ่งป้องกันเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะถ้าปล่อยให้เป็นมากจนมีอาการเหนื่อยหอบ หรือบวม มักจะเป็นมากเสียแล้ว ยากต่อการรักษา ถ้าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แพทย์ก็จะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ไหนๆ ก็พูดถึงโรคหัวใจมามากแล้ว จะขอกล่าวถึงคำต่างๆ ที่ใช้ในโรคหัวใจ โดยปกติเมื่อพูดถึงโรคหัวใจแพทย์จะพูดว่าเป็นโรคอะไร เช่น โรคหัวใจรูห์มาติค, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องของหัวใจหรือลิ้นหัวใจตีบ), โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ (หลอดเลือดโคโรนารี่คือหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ),โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจจากโลหิตจาง, โรคหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคคอตีบ, โรคหัวใจจากโรคเหน็บชา ฯลฯ

มีคำบางคำที่ชาวบ้านพูดกันโดยเข้าใจว่าเป็นชื่อโรค และบางครั้งทำให้เกิดการสับสน เคยมีญาติผู้ป่วยมาเล่าให้ผมฟังว่า ไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์บอกว่าเป็นโรคไต ภายหลังไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง แพทย์ตรวจและเอ๊กซ์เรย์เสร็จแล้วบอกเป็นโรคหัวใจโตจึงตกใจและสงสัยว่า โรงพยาบาลสองแห่งบอกโรคเป็นคนละโรคกันเลย ไม่รู้จะเชื่อใครดี ผมพอจะลำดับเรื่องได้ จึงบอกว่าผมเข้าใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคไต ซึ่งเมื่อเป็นมากแล้วก็มีความดันโลหิตสูง จึงทำให้หัวใจโต คือ มีโรคไตเป็นเป็นปฐมเหตุเพียงโรคเดียว แล้วจึงมีอาการทางหัวใจแทรกขึ้นมา แพทย์และผู้ป่วยควรทำความเข้าใจกันให้ดี คำว่าหัวใจโต หัวใจวาย เป็นอาการ ไม่ใช่ชื่อโรค จึงไม่ควรใช้คำว่าโรคหัวใจโตหรือโรคหัวใจวาย ควรสืบสาวไปว่าหัวใจโตหรือหัวใจวายจากโรคอะไรดังกล่าวข้างต้น บางคำทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย เช่น “โรคหัวใจอ่อน” “โรคความดันโลหิตต่ำ” จิตใจและอารมณ์นั้น มีที่ตั้งอยู่ในสมอง แต่มีอิทธิพลการทำงานของหัวใจ ผู้ที่มีอารมณ์ตึงเครียดกังวลคิดมาก หรือหวาดระแวง อาจมีอาการอ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, หมดเรี่ยวแรง, เป็นลมบ่อยๆ, ใจเต้นแรงก็คิดว่าเป็นโรคหัวใจ ไปตรวจแล้วแพทย์อาจบอกว่าเป็น “โรคหัวใจอ่อน” หรือ “ความดันโลหิตต่ำ” ที่จริงคำว่า “โรคหัวใจอ่อน” ไม่มีในตำราแพทย์ปัจจุบันแพทย์บางคนอาจหมายถึงผู้ที่มีจิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะวัยใกล้หมดประจำเดือน จึงมีอาการคล้ายโรคหัวใจดังกล่าวข้างต้น แต่กล้ามเนื้อหัวใจยังแข็งแรงทำงานได้เป็นปกติทุกอย่าง “โรคความดันโลหิตต่ำ” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่โรค พวกที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ 90-100 เป็นประจำ และถือกันว่าความดันโลหิตต่ำนั้น แท้ที่จริงคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดใดๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้ามจากสถิติพยากรณ์ชีพ แสดงให้เห็นว่าบุคคลพวกนี้มีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพเป็นปกติดี ฉะนั้น ท่านที่คิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจอ่อนหรือโรคความดันโลหิตต่ำกลัวว่า ถ้าอ่อนมากเข้าหรือต่ำลงต่ำลงจะทำให้หัวใจทำงานไม่ไหว หยุดไปเลยนั้น ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่าท่านสุขภาพสมบูรณ์ดี ไม่ได้เป็นโรคหัวใจหรือหลอดเลือด เพราะการเข้าใจผิดอาจทำให้ท่านเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นอีก ทำให้มีอาการมากขึ้น อาจกลายเป็นโรคประสาทไปเลยก็ได้ หรือไปดื่มเหล้าเพื่อให้ความดันสูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะไม่รักษาโรคอะไรแล้ว อาจเป็นโรคพิษสุราไปก็ได้ แต่ถ้าท่านเข้าใจถูกต้องว่าไม่ได้เป็นโรคอะไร ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น อาการต่างๆ จะน้อยลงหรือหายไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีจิตใจตึงเครียดและมีกังวลมาก ได้รับการพักผ่อนด้านจิตใจและร่างกายไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิด โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ได้ แต่โรคนี้มักเกิดในผู้ที่ทำงานบริหารระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี นายพล ผู้จัดการธนาคาร ผู้จัดการบริษัท ฯลฯ ท่านเหล่านี้ปกติมีแพทย์คอยให้คำแนะนำและรักษาอยู่แล้วผมจึงไม่ขออธิบายละเอียด ท่านผู้ที่ใช้แรงงาน เช่น ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร โปรดสบายใจได้ เพราะแทบไม่เป็นโรคนี้เลย

โรคหัวใจซึ่งเป็นมากในชาวไร่ ชาวนา และคนจนนั้น คือ โรคหัวใจรูห์มาติค สถิติผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมดที่รวบรวมจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั่วประเทศมีดังนี้ โรคหัวใจรูห์มาติคพบได้ 36% ของผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมด, โรคขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ (โรคหลอดเลือดโคโรนารี่) 18%, โรคหัวใจแต่กำเนิด 14%, โรคหัวใจจากโลหิตจาง 10%, โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง 7%, โรคหัวใจอื่นๆ 15%

ประชาชนที่เป็นโรคหัวใจและรับไว้ในโรงพยาบาลมักจะเป็นมากแล้วจากสถิตินับว่าตายถึง 15-25% ถ้าได้มีการตรวจเพื่อค้นหาโรคหัวใจและป้องกันไม่ให้กำเริบเสียตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ อยู่ดังกล่าวข้างต้น ไม่ปล่อยปละละเลยจนเป็นมากเสียแล้ว ก็จะไม่ทนทุกข์ทรมานหรือทำงานไม่ได้เป็นภาระต่อผู้อื่น ดังคำขวัญขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 2515 ที่ว่า “หัวใจดีมีสุข” (Your heart is your health)

ข้อมูลสื่อ

12-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์