ฟันกับผู้สูงอายุ
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ
จะเห็นได้ว่า “ฟัน หรือ ทันตา” เป็นอวัยวะหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะให้ใช้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร อันอาจเสื่อมสลายหรือสูญเสียไปตามการเปลี่ยนแปลงของอายุขัย
มโนภาพเกี่ยวกับ “ฟันกับผู้สูงอายุ” จึงมักจะเป็นภาพคุณตา คุณยายที่ไม่มีฟันทั้งปาก คางยื่น เพราะพยายามใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหาร เป็นผลให้ต้องกินอาหารช้า และยังชอบเฉพาะอาหารอ่อน ไม่นิยมอาหารพวกเนื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ขาดอาหารโปรตีน บางท่านอาจนึกถึงภาพคุณปู่ คุณย่า ที่เคี้ยวอาหารด้วยฟันชุดที่ 3 (ฟันปลอม) ซึ่งบางรายที่โชคไม่ดีฟันปลอมนั้นอาจขยับไปมาได้ในระหว่างการบดเคี้ยว และมีผลไปลดสุนทรียของการลิ้มรสอาหาร อันอาจเป็นเหตุให้มีอาการเบื่ออาหารในที่สุดด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ผลพวงจากการที่ได้รับความทรมานจากการปวดฟัน หรือเหงือกอักเสบ มักจะลงท้ายด้วยการถอนฟันและในที่สุดก็ต้องพึ่งพาฟันชุดที่ 3 ดังกล่าว โดยเข้าใจว่าจะได้ฟันจากการเจ็บปวด อันมีสาเหตุมาจากฟันธรรมชาติ แท้จริงแล้ว ผู้สูงอายุที่กำลังใช้ฟันปลอมอยู่คงจะช่วยยืนยันได้ว่า ฟันปลอมนั้นไม่สามารถเทียบเท่าฟันธรรมชาติได้เลย ทั้งในแง่ของการใช้งาน เช่น การบดเคี้ยวและยังอาจเป็นที่กักเก็บของเศษอาหาร และถ้าโชคร้ายอาจจะบาดเหงือกให้เจ็บได้ด้วย อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความรำคาญจากการที่มีของแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในร่างกาย (ในช่องปาก)
ฟันปลอมในผู้สูงอายุ
การดูแลฟันปลอมในผู้สูงอายุจำเป็นต้องเน้นเรื่องความสะอาดเป็นลำดับแรก เช่นเดียวกับความสะอาดในช่องปากของทุกวัย ภายหลังอาหารหรือหลังการกินขนมต่างๆ จะต้องถอดฟันปลอมที่ถอดได้ออกจากปาก บ้วนปากให้สะอาดและล้างฟันปลอมนั้นให้ดีด้วย ในกรณีที่ใช้ฟันปลอมชนิดติดแน่นต้องบ้วนปากแรงๆ ไม่ให้เศษอาหารติดตามซอกระหว่างฟันปลอมกับฟันธรรมชาติและเหงือก การหมักหมมเศษอาหารในปากไม่ว่ากรณีใดก็ตาม อาจเป็นเหตุให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบของเหงือกและเยื่ออ่อนในช่องปาก ซึ่งเมื่อประกอบกับความต้านทานในผู้สูงอายุไม่สมบูรณ์ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายได้ต่อไป
การใช้ฟันปลอมในผู้สูงอายุ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ทำให้จำต้องกินอาหารคำเล็กกว่าปกติ เพื่อให้สามารถบดเคี้ยวได้ทั่วถึงและละเอียดดีพอ โดยทั่วไปฟันปลอมที่ดีจะต้องไม่มีอาการเจ็บเมื่อบดเคี้ยว และสามารถเคี้ยวผักหรือเนื้อปกติได้ ฟันปลอมที่เก่า ใช้งานมากเกินไป หรือด้านบดเคี้ยวสึกเกินไป ควรจะได้รับการแก้ไขหรืออาจต้องทำชุดใหม่ตามความเหมาะสม
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีความอดทน หรือชินชาต่อความรู้สึกระคายเคือง และแม้แต่ความเจ็บปวดเล็กๆน้อยๆ โดยเฉพาะในช่องปาก แต่การไม่ไปรับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆมีผลเสียมาก จึงควรไปรับการตรวจช่องปากเป็นประจำ แม้จะไม่มีฟันก็ยังมีเยื่ออ่อนในปากที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอต่อไป อย่างน้อยก็หมั่นสังเกตความผิดปกติโดยการใช้ลิ้นดุนโดยรอบกระพุ้งแก้มด้านใน หรือใช้นิ้วสะอาดคลำก้อนเนื้อหรือปุ่มผิดปกติใดๆในช่องปาก
ฟันธรรมชาติในผู้สูงอายุ
ด้วยวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางวิชาการทันตแพทยศาสตร์ ในปัจจุบันสามารถป้องกันโรคฟันและโรคในช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นผลให้ผู้สูงอายุสามารถเก็บฟันธรรมชาติไว้ในปากได้นานขึ้น หรือบางท่านที่ให้ความเอาใจใส่ฟันและสุขภาพในช่องปากที่ดีมาตลอด ก็จะโชคดีที่ได้ใช้ฟันของตนเองตลอดไป
อย่างไรก็ดี ฟันธรรมชาติในผู้สูงอายุก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอนิจจังเช่นกัน โดยเฉพาะส่วนมากมักจะมีเหงือกร่น รากฟันโผล่พ้นขอบเหงือก ซึ่งอาจทำให้มีอาการเสียว นอกจากนี้เคลือบรากฟันที่ปกติควรอยู่ใต้เหงือกนี้ จะไม่แข็งแกร่งเท่ากับเคลือบฟันบนตัวฟัน จึงสามารถถูกทำลายโดยเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก เมื่อได้รับอาหารจากเศษอาหารที่ตกค้าง เป็นผลให้เกิดฟันผุที่รากฟัน โดยเฉพาะในบริเวณซอกฟัน ด้านประชิดระหว่างฟัน ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจนกว่าจะเกิดอาการเจ็บปวดขึ้น
ดังนั้นการทำความบริเวณซอกฟันและรากฟันอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ฟลูออไรด์ควบคู่ไปด้วย จึงเป็นวิธีการป้องกันโรคฟันผุที่รากฟันได้ดีที่สุด
ฟันธรรมชาติที่รับใช้เจ้าของมานานๆย่อมจะมีการสึกกร่อนไปบ้าง โดยเฉพาะในบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟันกราม เป็นผลให้ลักษณะเปลี่ยนแปลงไป จากที่เป็นแอ่งและเนินที่ทำหน้าที่บดขยี้อาหารได้ดี ก็จะแบนราบ ทำให้ผู้สูงอายุแม้จะใช้ฟันธรรมชาติก็จะกินอาหารได้ช้ากว่า เพราะประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวถดถอยไปตามวัย แต่ถึงอย่างไรก็ย่อมจะดีกว่าฟันปลอมอย่างแน่นอน
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการดูแลฟันของผู้สูงอายุ คือ การแปรงฟัน หลายท่านนิยมใช้แปรงที่มีขนแปรงแข็งและแปรงแรงๆ ซึ่งไม่เหมาะสมกับลักษณะของฟัน อันเป็นผลให้ฟันสึกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริเวณคอฟัน และเป็นสาเหตุให้เหงือกร่นด้วย การแปรงฟันอย่างถูกวิธี โดยการใช้ชนแปรงอ่อนและแปรงให้กระตุ้นเหงือก ยังอาจช่วยลดอาการเสียวฟันในผู้สูงอายุด้วย
อนิจจัง หมายถึง การแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีอะไรที่จะคงทนหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ “ทันตา” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวัฏจักรนี้ แต่ใคร่ขอให้ท่านได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงโดยอย่าให้ถึงขั้นสูญเสียไปจนถึงกับต้องถอนฟันทิ้งตามความเชื่อเดิม
ทั้งนี้โดยยึดหลักการเดียวกับการคงอวัยวะอื่นๆของร่างกายเรา ด้วยการรักษาฟันไว้เฉกเดียวกับการรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุ
- อ่าน 5,715 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้