• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พริก ยาฆ่าแมลงธรรมชาติ

พริก ยาฆ่าแมลงธรรมชาติ

ถิ่นเดิมของพริกขึ้นอยู่แถบทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ เม็กซิโก เปรู เป็นต้น ชาวอินเดียนแดง เป็นชนเผ่าแรกที่ปลูกและกินพริก ใช้พริกปรุงอาหาร ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้มีผู้นำพริกเข้าไปในยุโรป และราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้แพร่เข้าไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆในเอเชีย

⇒ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Capsicum frutescens. L. (C. minimum Roxb) วงศ์ Solanaceae

ในพริกมีแคปซายซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นอย่างแรง หลังจากกินพริกจะรู้สึกมีอาการแสบร้อนบริเวณปากและท้อง ถ้ากินมากเวลาถ่ายอุจจาระจะรู้สึกแสบร้อนทวารหนัก นอกจากนี้แคปซายซินยังมีฤทธิ์กระตุ้นเยื่อในรูจมูกและตา ดังนั้นเมื่อสูดเอากลิ่นพริกเข้าไปจะทำให้ตามหรือน้ำตาไหล ดังนั้นผู้ที่มีอาการอักเสบ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล ทางเดินอาหารอักเสบหรือเป็นฝี วัณโรคปอด ปวดฟัน เจ็บคอ ตาแดง เป็นริดสีดวงทวาร หรือความดันโลหิตสูงไม่ควรกินพริกเหตุที่พริกมีสีแดง เพราะมีแคปซายซิน แคปซายซินไม่เพียงแต่ทำให้พริกมีสีแดง ยังสามารถทำให้ขนสัตว์ปีกมีสีแดงสดสวยอีกด้วย สวนสัตว์ในฮังการี นกฟลามิงโก (flamingo) ซึ่งนำมาเลี้ยงในสวนสัตว์ใหม่ๆ ขนที่เคยสวยงามเริ่มมีสีซีดลง เพื่อที่จะให้นกกลับมีขนสวยขึ้น คนงานเลี้ยงนกได้พยายามค้นหาวิธีต่างๆ ในที่สุดก็ค้นพบ โดยหั่นผลพริกสดให้นกกิน ในเวลา 1 ปี นกทั้ง 20 กว่าตัวกินพริกไปประมาณ 100 กก. ขนที่เคยซีดก็มีสีสวยงามขึ้น


⇒ สรรพคุณ

พริกมีคุณสมบัติร้อน รสเผ็ด ผลใช้ปรุงอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาเจียน บิด หิด กลาก ปวดบวม


⇒ ตำรับยา
1. บิด ใช้พริก 1 เม็ดหรือกว่านั้นกิน
2. ปวดบวม ใช้ผงพริกแห้งทำเป็นขี้ผึ้งหรือละลายแอลกอฮอล์ทา
3. ฆ่าแมลง ใช้ผงพริกแห้งผสมน้ำ พ่นที่ๆมีแมลงอยู่
4. ฆ่าลูกน้ำ เทผงพริกลงในน้ำที่มีลูกน้ำขัง
5. ไล่ยุง เผาพริกแล้วอบควัน


⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร แคปซายซินมีฤทธิ์ทำให้เจริญอาหาร กินอาหารได้มากขึ้น

2. ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและฆ่าแมลง แคปซายซินมีผลยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus และเชื้อ Bacillus subtitis แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus aureus และเชื้อ Bacillus coli

3. สารสกัดจากพริก เมื่อทาลงบนผิวหนังจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยาย และการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น เชื่อว่าสารนี้สามารถกระตุ้นปลายประสาททำให้รู้สึกอุ่น มักนิยมผสมในยาหม่องและน้ำมันมวย ถ้าใช้จำนวนมากเกินไปอาจจะระคายเคืองได้


⇒ สารเคมีที่พบ
ผล มีแคปซายซิน (Capsaicin ; decanoic acid vanillylamide) ไดไฮโดรแคปซายซิน (dihydrocapsaicin) นอร์ไดไฮโดรแคปซายซิน (dihydrocapsaicin) โฮโมแคปซายซิน (homocapsaicin) โฮโมไดไฮโดรแคปซายซิน (homodihydrocapsaicin) โนนอย์ล วานิลลีลาไมด์ (nonoyl vanillylamide) เดคคอย์ล วานิลลีลาไมด์ (decoyl vanillylamide) คริพโตซานทิน (cryptoxanthin) แคปซานทิน (capsanthin) แคปโซซูบิน (capsosubin) แคโรทีน (carotene) วิตามินบี 1 วิตามินซี ซิตริก แอซิด (citric acid) ทาร์ทาริก แอซิด (tartaric acid) มาลิก แอซิด (malic acid)
เมล็ด มีโซลานีน (Solanine) โซลานิดีน (Solanidine) อาจพบโซลามาร์จิน (Solamargine) โซลาโซดีน (solasodine) และโซลาโซนีน (solasonine)
เนื่องจากพริกมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต ทำให้หน้าแดง รู้สึกร้อนทั้งตัวและเหงื่อออก ดังนั้นถ้าอยู่ในที่ชื้นหรือหนาวเย็น กินพริกสักเล็กน้อยจะทำให้อบอุ่นขึ้น


⇒ ข้อควรระวัง
ห้ามใช้ในคนที่มีอาการเจ็บคอ คอแห้ง ไอ ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้า หรือคนที่เป็นโรคตา เช่น ตาแดง เป็นต้น

 

 

ข้อมูลสื่อ

95-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล