สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล
“แม่ครับ...ผมเป็นโฮโม”
ทุกครั้งที่แม่ได้ยินคำพูดนี้ คำว่า “ไม่” จะก้องอยู่ในหัวของแม่ ในเมื่อแม่มีลูกชายแล้วแม่จะยอมรับคำสารภาพอย่างนั้นได้อย่างไร หากลูกทำผู้หญิงท้อง หรือถูกตำรวจจับก็ยังดีกว่าที่ลูกจะบอกว่า ลูกเป็นโฮโม แต่สำหรับลูกที่เรารักแม่ควรพูดว่า
“มันคงไม่เลวร้ายถึงขนาดทำให้โลกแตกไปต่อหน้าแม่หรอกลูก”
ทั้งๆที่หัวใจของแม่อยากจะบอกว่า “โลกกำลังจะแตกไปต่อหน้าแม่นะลูก”
ลูกเล่นดนตรี ลูกชอบละคร ลูกไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงให้แม่เป็นกังวล แม้ว่าลูกจะมีเพื่อนผู้หญิงใกล้ชิดอยู่หลายคน แต่ลูกก็ไม่มีอาการใดๆ ให้แม่รู้สึกเป็นห่วงว่า ลูกของแม่จะทำอะไรที่เป็นการเหยียดหยามและไม่ให้เกียรติผู้หญิง ในขณะที่ลูกกำลังอยู่ในวัยเรียนนั้นแม่ดีใจเป็นหนักหนาที่ลูกไม่เคยมีปัญหาเพื่อนต่างเพศมาให้แม่กังวลใจเลย
ลูกบอกว่า ลูกรู้ตัวมานานแล้วที่เป็นโฮโม เพราะจิตใจมันชอบผู้ชายตลอดมา แต่ตราบใดที่ลูกยังไม่เคยเจอผู้ชายคนใดที่เขาเล่นด้วย ลูกก็ยังไม่มีประสบการณ์ทางเพศ แต่เมื่อมีผู้ชายรุ่นราวคราวเดียวกันเกิดนึกสนุกขึ้นมาลูกก็ย่อมมีโอกาส แล้วลูกก็จะรู้ว่าสิ่งนั้นแหละ คือสิ่งที่ลูกปรารถนาและต้องการ
แม้ว่าแม่จะยอมรับได้ให้กำลังใจลูกได้ แต่แม่ก็มีความหวังอยู่เสมอว่าจะได้ยินลูกเอื้อนเอ่ยออกมาว่า
“...แม่จ๋า มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตลูกเท่านั้นเอง สักวันลูกคงจะหายจ๊ะแม่”
แต่แล้ว...วันแล้ววันเล่า แม่ก็ไม่มีวันจะได้ยินคำนี้จากลูก แล้วแม่ก็คงจะต้องอยู่กับสภาพจิตที่แย่ลงทุกวันๆ อย่างที่ลูกพูด ลูกแสดงออก แม้ว่าแม่จะไม่เข้าใจแต่แม่ก็ขมขื่นที่ต้องรับรู้ว่าลูกคือ คนหนึ่งของ “คนพวกนั้น” ชีวิตในบ้านอาจจะดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในใจแม่สิ แม่จะรู้สึกเลยว่าอะไรๆก็ไม่เหมือนเดิม
แม่ก็เหมือนกับพวกที่ไม่ใช่รักร่วมเพศอื่นๆที่คิดว่า พวกที่รักร่วมเพศนั้น ชีวิตติดอยู่กับเรื่องเพศอย่างเดียว ปัญหาของพวกเขาก็คือ การสมสู่ที่ผิดเพศอย่างเดียว แล้วเวลาที่ลูกออกไปข้างนอกแม่ก็ได้แต่ขมขื่นปวดร้าวเมื่อนึกถึงว่า ลูกออกไปทำอะไรอยู่นอกบ้าน ซึ่งมันเลวร้ายสำหรับแม่เสียยิ่งกว่าความห่วงใยว่า ลูกสาวออกเที่ยวกับเพื่อนชายตอนกลางคืน ถ้าแม่ไม่ต้องรับรู้ว่า ลูกอยู่ที่ไหน ทำอะไร เลิกใช้ภาพในความคิดคำนึงของตัวเองมากไป แม่ก็จะยอมรับลูกได้ แต่แม่ก็ยังห่วงยังกลัวอะไรๆอีกมากมาย การเรียนรู้และทำใจเท่านั้นที่จะทำให้แม่หลุดพ้นจากปัญหาสุขภาพจิตได้
การได้ยินได้ฟังคำสารภาพของลูกว่าเป็นรักร่วมเพศ อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเราคนใดคนหนึ่งได้ หรือไม่เช่นนั้น เราอาจจะเคยอ่านในจดหมายปัญหาทางเพศ ที่อาจจะเขียนด้วยความปวดร้าวขมขื่น และพ่อแม่ก็จะรับรู้ด้วยความขมขื่นที่ทัดเทียมกัน การที่ลูกจะสารภาพกับเราว่า เขาเป็นเกย์ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพื่อนๆพี่น้อง อาจจะรู้มาตั้งนานแล้ว แต่คนที่ลูกบอกได้ยากที่สุดคือ พ่อและแม่ สำหรับพ่อแม่ที่น่ารักก็มักจะบอกกับลูกไปว่า
“พ่อแม่รู้มานานแล้ว เพียงแต่อยากจะให้ลูกบอกกับเราเมื่อลูกพร้อม และสบายใจที่จะบอกเท่านั้นเอง”
แต่โอกาสอย่างนี้มีน้อย คนส่วนใหญ่มักจะตกใจ ช็อก ไม่อยากเชื่อ และสยองกับคำสารภาพ เราอยากให้สิ่งที่เราได้ยินเป็นความฝันที่จะเลือนหายไปเมื่อเราตื่น เราจะรับรองและปวดร้าวด้วยภาพของพฤติกรรมทางเพศที่ผิดเพี้ยน ซึ่งเราไม่อาจลบออกจากสมองของเราได้ เราจะเห็นภาพของลูกที่วิปริตวิตถารมันทรมานใจสิ้นดี เราอยากให้มีใครหลายๆคนมาช่วยแบ่งเบาความเจ็บปวดเหล่านี้ไป เพียงแต่คิดว่าจะบอกใครสักคนเราก็กลัวที่จะเปิดปากเสียแล้ว ลูกที่เราเคยรู้จักเป็นอย่างดีกลายเป็นคนแปลกหน้าที่มีชีวิตรักเป็นความลับสำหรับเราเสียแล้ว หากเพื่อนๆของเรารู้ล่ะ เราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เขาคงซุบซิบนินทา แล้วข่าวนินทาอย่างนี้คงกระจายทั่วอย่างรวดเร็ว เราเกิดความหวาดกลัวที่จะนึกถึงอนาคตว่า วันแต่งงานของลูกเราที่ใครๆก็คาดหวังจะไม่มีวันเกิดขึ้น เราจะไม่มีหลานไว้อวดชาวบ้าน ญาติพี่น้องแต่งงานกันไปหมดแล้ว เรายังจะเสแสร้งบอกว่า ลูกเราไม่สนใจชีวิตคู่อย่างนั้นหรือ,
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ ความรู้สึกเป็นคนผิด ที่เรามักจะถามตัวเองว่า เราผิดตรงไหน เรามีส่วนที่ทำให้เขาเป็นอย่างนี้หรือเปล่าหนอ พ่อแม่บางคนก็ทนไม่ได้ที่จะยอมรับก็มักจะกล่าวว่า เป็นความผิดของลูกเอง แล้วก็จะพูดว่า “ลูกทำอย่างนั้นกับพ่อแม่ได้อย่างไร”
“พ่อแม่เลี้ยงดูมาดีอย่างนี้แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนี้” และที่ร้ายมากๆก็จะบอกว่า
“ต่อไปนี้ไม่ต้องมาเป็นลูกเป็นแม่กัน สำหรับฉันถ้าหากรู้ข่าวว่าแกตาย ยังดีเสียกว่าที่ฉันจะรู้ว่าแกเป็นไอ้พวกลักเพศ” ลูกที่เป็นโฮโมบางคนถูกแม่เสือกไสไล่ส่ง ถูกพ่อเตะ พี่ต่อย แล้วไล่ไม่ให้อยู่เป็นเสนียด และสร้างความเจ็บช้ำให้พ่อแม่ พ่อแม่บางคนจะโทษสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน
“เพราะเพื่อนที่แกคบแน่ๆเชียว ถึงได้เป็นอย่างนี้”
“ฉันไม่เคยเลี้ยงดูแกอย่างนี้เลย แล้วแกเป็นไปได้ยังไง”
พ่อแม่บางคนก็โทษกันเอง “นี่ถ้าผัวฉันเอาใจใส่ลูกดีกว่านี้ หัดให้ลูกเล่นกีฬาเสียบ้าง ใกล้ชิดลูกบ้าง เขาก็คงไม่เป็นอย่างนี้”
“ถ้าคุณไม่ตามใจลูกทุกอย่าง หัดให้มันทำอะไรอย่างลูกผู้ชายเขาทำกันบ้าง ลูกก็คงไม่เป็นอย่างนี้”
“ก็คุณน่ะเห่อลูกผู้หญิง มีอย่างที่ไหนมีลูกเป็นผู้ชายแล้วไปจับมันแต่งตัวเป็นลูกผู้หญิง ไปไหนก็พามันไปด้วย”
“ก็คุณเองล่ะ มีเวลาอยู่กับลูกไหม คุณล่ะเคยไปเป็นเพื่อนฉันบ้างไหม ฉันไม่มีใครฉันก็ต้องเอาลูกฉันไปด้วยสิ”
ปัญหานี้มักจะเกิดกับลูกชายคนเล็กเมื่อเวลาที่พ่อมีธุระยุ่งยากมากขึ้นหรือเบื่อแม่ไปแล้ว และลูกชายคนโตๆก็โตเกินกว่าจะไปไหนมาไหนกับแม่แทนที่จะด่าว่าลูก แทนที่พ่อแม่จะทะเลาะกัน เราน่าจะหันมาถามคำถามที่สร้างสรรค์กว่านี้ เป็นต้นว่า
“เราจะช่วยอะไรลูกได้บ้าง”
“เราจะปฏิบัติกับลูกเราอย่างไรให้เขาปรับสภาพจิตใจตัวเองได้”
“เราควรจะรู้เพื่อให้เราเข้าใจเขาดีขึ้น มีข้อมูลที่ถูกต้องยิ่งขึ้น”
“มีใครที่ไหนที่เราควรไปพูดคุยด้วยไหม”
และที่สำคัญที่สุด คือ “ตอนนี้อะไรคือสิ่งที่ลูกกำลังต้องการจากพ่อแม่มากที่สุด”
ตกใจ ตื่นตระหนกไปก็รังแต่จะสร้างปัญหาให้ครอบครัว แต่การรู้จักถามคำถามที่สร้างสรรค์ย่อมได้แนวทางที่แก้ไข เมื่อเราพยายามที่จะเข้าใจชีวิตที่แปลกๆของลูก การเป็นพ่อแม่และจะยอมรับคำสารภาพของลูกไม่ใช่ของง่าย แต่พ่อแม่ก็ต้องพยายาม พ่อแม่ควรจะเริ่มเรียนรู้ชีวิตของพวกเขา ต้องเรียนรู้จิตใจและพฤติกรรมอื่นๆ ของเขาที่นอกเหนือไปจากเรื่องการสมสู่ทางเพศด้วย ควรรู้จักรูปแบบชีวิต ความคิดและปรัชญาชีวิตของพวกเขาด้วย หากเรารู้จักพวกเขา เข้าใจพวกเขา เราจะรู้สึกสบายใจในการที่จะต้องอยู่ใกล้พวกเขาคนอื่นๆมักจะรู้ว่าลูกเราเป็นเกย์ก่อนเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องตื่นตระหนกว่า ใครจะรู้หลังจากที่เรารู้แล้ว ไม่ต้องกลัวความอับอายที่จะเกิดขึ้น
การรู้จักพูดคุยกัน จะช่วยทำให้การปรับตัวของลูกเป็นไปได้ง่ายขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจชีวิตของพวกเขา ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและเรื่องเพศ เราจะเข้าใจคำว่า “รักร่วมเพศ” เป็นอย่างไรในสายตาของพวกเขาอันที่จริงถ้าเรารู้จักสังเกตลูกแต่เด็กๆ เราก็จะไม่ตกใจนักในการรับรู้ว่า ลูกเราเป็นอะไร เพราะลูกจะแสดงให้เราเห็นสภาพที่แกไม่เหมาะกับเพศของแกเอง เช่น เล่นของเล่นแตกต่างจากเพื่อนเพศเดียวกัน ไม่มีความสนุกหรือความพอใจในการอยู่กับเพื่อนเพศเดียวกัน ไม่มีความสนุกหรือความพอใจในการอยู่กับเพื่อนเพศเดียวกัน กิจกรรมในโรงเรียนที่แกสนใจก็จะแตกต่างไปจากเพื่อนเพศเดียวกันสนใจลูกๆ มักจะสนใจการร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี เล่นละคร และไม่ชอบพูดคุยถึงกิจกรรมที่ตัวเองทำนัก จนกว่าลูกจะเปิดเผยตัวเองกับครอบครัวได้ ลูกจึงจะมีความสุขมากขึ้น และพาเพื่อนๆมาให้พ่อ แม่ รู้จักมากขึ้น ลูกๆจะยอมรับภาพพจน์ของตัวเองได้
พ่อแม่อาจจะเคยหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งลูกจะหาย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นพ่อแม่ที่รักและเข้าใจลูกต่างหากที่หายจากความกลัวและความรังเกียจ ยอมรับความเป็นอะไรของลูก และไม่พยายามที่จะจี้จุดเจ็บช้ำของลูก ด้วยความพยายามที่จะบอกเขาอยู่เสมอว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นผิด และเขาควรจะแก้ไขอะไรๆที่ลูกทำกับใครในห้องนอนเป็นชีวิตของลูก แต่สิ่งที่ลูกจะทำเพื่อให้ตนมีคุณค่า มีประโยชน์กับครอบครัวและสังคม พิสูจน์ความเป็นคนที่มีมันสมองและความสามารถ ตลอดจนเป็นคนมีเสน่ห์น่าคบหาสิ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรใส่ใจ ให้คำแนะนำ
พ่อแม่ที่เก็บกด หลีกเลี่ยงเรื่องการสนทนาเรื่องรักร่วมเพศกับลูกที่เป็นเกย์ จะไม่มีวันเข้าใจลูกของตนเลย เขาจะเป็นพ่อแม่ที่ผิดหวังชั่วชีวิต เพราะเขาหวังอยู่เสมอว่าสักวันลูกจะหาย และเขาก็เป็นคนที่ตอกย้ำความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับลูกด้วยการไม่ยอมรับว่า ลูกเป็นอะไร ลูกที่พ่อแม่พยายามแก้ไข (หลังจากที่อะไรๆเลยผ่านไปไกลแล้ว) มักจะเสียสุขภาพจิตและเข้าข่ายความเลวร้ายมากกว่าลูกที่พ่อแม่ช่วยให้เขาปรับตัวและยอมรับตัวเอง
สิ่งที่แย่ที่สุดที่มักจะเกิดกับเกย์ก็คือ คนชอบคิดว่าเกย์คือพวกที่หวาดกลัวความเหงา ชอบหลีกความจริง เป็นพวกชอบถ้ำมองในห้องน้ำ และทำอะไรที่น่าขยะแขยง จนพ่อแม่คนไหนๆก็กลัวว่าลูกตนหากเป็นพวกรักร่วมเพศจะเป็นเช่นนั้น แล้วในที่สุดก็กลายเป็นคนไร้เสน่ห์น่ารังเกียจถ้าจะมีเด็กสักคนหมดมุ่นเรื่องเพศ มันก็เพราะเขาเป็นคนเช่นนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นชายจริงหญิงแท้ ทอม ดี้ หรือเกย์ ถ้าผู้ชายผู้หญิง 100 คน จะมีชีวิตแตกต่างกันไป 100 แบบ เกย์ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าเกย์ทุกคนจะต้องเหมือนๆกัน ภาพรวมของเกย์อย่างที่เราๆท่านๆคิดถึงกันอยู่เสมอนั้น แท้ที่จริงไม่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าเราสอนลูกเราถึงคุณงามความดี หลักของศีลธรรม แม้ว่าความรักของเขาจะผิดเพศ แต่เขาก็เป็นคนดีอย่างเราสอนเขาได้
ถ้าหากเรามีญาติพี่น้องที่ยอมรับลูกของเราที่เป็นเกย์ไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้เขาได้เริ่มคุ้นเคยกับชีวิตของเกย์ด้วยการเล่าให้ฟังบ้าง ให้อ่านหนังสือบ้าง ให้ไปดูชีวิตของเกย์อื่นๆ ที่ห้องอาหารเกย์หรือบาร์เกย์บ้าง เมื่อเขาเริ่มมองเห็นอะไรบ้างและเข้าใจอะไรบ้างแล้ว หากเราจะเริ่มบอกว่าลูกของเรา หลานของเขาก็เป็นเกย์ แทนที่เขาจะตกใจเขาก็อาจจะถามว่า เป็นเกย์คิงหรือเกย์ควีน (ก็คือเล่นบทบาทผู้ชายหรือผู้หญิงเวลามีอะไรกับผู้ชายด้วยกัน) การที่คนเราได้รับคำบอกเล่าอะไรบางอย่างที่ฝังหัว อาจจะทำให้เรายอมรับชีวิตพวกนี้ได้ยาก แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดคุยกับเราแล้ว จะทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ภาพที่เคยฝังหัวอาจจะหายไปจากใจเราได้บ้าง แล้วเราก็จะช่วยให้เขายอมรับตัวเขาได้บ้าง เกลียดตัวเราน้อยลง แล้วทำอะไรๆที่มีประโยชน์และมีคุณค่าได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 2,685 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้