• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นม – อาหารธรรมชาติที่ทรงคุณค่า

นม – อาหารธรรมชาติที่ทรงคุณค่า

 

น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ในน้ำนมแม่นอกจากมีอาหารที่เหมาะสำหรับเด็กเกิดใหม่แล้ว ทารกยังสามารถย่อยและดูดซึมได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ น้ำนมแม่ยังมีโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของภูมิคุ้มกัน (Immunoprotein) หลายชนิดที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกทำให้ทารกแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรจะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ นอกเสียจากไม่มีน้ำนมจะเลี้ยงลูก จึงค่อยหานมวัวหรือนมสัตว์อื่นๆมาเลี้ยง


⇒ สรรพคุณ
น้ำนมแม่มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสหวานเค็ม บำรุงร่างกาย รักษาโรคตาแดง


⇒ สารเคมีที่พบ
ในน้ำนมแม่ 100 กรัม มีน้ำ 88 กรัม โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 3.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6.4 กรัม โพแทสเซียม 0.3 กรัม แคลเซียม 34 ม.ก. ฟอสฟอรัส 15 ม.ก. เหล็ก 0.1 ม.ก. วิตามินเอ 250 หน่วยสากล วิตามินบีหนึ่ง 0.01 ม.ก. วิตามินบีสอง 0.04 ม.ก. กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid) 0.1 ม.ก.
น้ำนมวัว


⇒ สรรพคุณ
มีคุณสมบัติเป็นกลาง มีรสหวาน บำรุงร่างกายทำให้ร่างกายแข็งแรง รักษาโรคกระเพาะอาหาร เรอ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร


⇒ ตำรับยา

1. หลังฟื้นไข้ น้ำนมวัว 1 ลิตร ผสมน้ำ 4 ลิตร ต้มให้งวดเหลือ 1 ลิตร ดื่มเป็นประจำ
2. เด็กสำรอก น้ำนมวัวและน้ำขิงปริมาณเท่าๆกัน ปริมาณพอควร ต้มให้เหลือครึ่งหนึ่ง ดื่มวันละ 2 ครั้ง


⇒ สารเคมีที่พบ
โดยทั่วไปสารเคมีที่พบในน้ำนมวัวจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ พันธุ์ อายุ วิธีการเลี้ยง เวลาในการรีดนม ความแข็งแรงของวัวและภูมิอากาศ

จากข้อมูลการวิเคราะห์ในตัวอย่างที่ 1 ในน้ำนมวัว 100 กรัม มีน้ำ 87 กรัม โปรตีน 3.1 กรัม ไขมัน 3.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6 กรัม โพแทสเซียม 0.7 กรัม แคลเซียม 120 ม.ก. ฟอสฟอรัส 90 ม.ก. เหล็ก 0.1 ม.ก. วิตามินบีหนึ่ง 0.04 ม.ก. วิตามินบีสอง 0.13 ม.ก. กรดนิโคตินิก 0.2 ม.ก. วิตามินซี 1 ม.ก. วิตามินเอ 140 หน่วยสากล
จากข้อมูลการวิเคราะห์ในตัวอย่างที่ 2 ในน้ำนมวัว 100 กรัม มีวิตามินเอ 33 ไมโครกรัม คาโรทีน (carotene) 30 ไมโครกรัม วิตามินซี 2000 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 38 ไมโครกรัม วิตามินบีสอง 200 ไมโครกรัม กรดนิโคตินิก 85 ไมโครกรัม แพนโทแท็นนิก แอซิด (pantothenic acid) 350 ไมโครกรัม วิตามินบีหก 67 ไมโครกรัม ไบโอทิน (biotin) 3 ไมโครกรัม กรดฟอลิก (folic acid) 5 ไมโครกรัม อินอซิทอล (inositol) 18 ไมโครกรัม ออโรติกแอซิด (orotic acid) ประมาณ 10 ไมโครกรัม%

โปรตีนที่สำคัญในน้ำนมวัวคือโปรตีนที่มีฟอสฟอรัส เช่น Cascin มีเฉลี่ยประมาณ 2.9% นอกจากนี้ยังมี albumin และ globulin โปรตีนทั้ง 3 ชนิดนี้มีโมเลกุลที่ประกอบกันเป็นสารโปรตีน (amino acid) ที่จำเป็นทั้งหมด
ไขมันในน้ำนมวัวที่สำคัญคือ palmitic glyceride ของ stearic acid นอกจากนี้ยังมีกรดไขมัน (fatty acid) อีกจำนวนน้อย เช่น butanoic acid caproic acid, octanoic acid นอกจากนี้ยังมี lecithin (0.49-0.058%) โคเลสเตอรอลรงควัตถุ (pigment) เป็นต้น โพแทสเซียมในน้ำนมวัว นอกจากแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กแล้ว ยังมีแมกนีเซียม โพแทสเซียม โซเดียม กรดกำมะถัน เป็นต้น


น้ำนมแพะ
มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสหวาน


⇒สรรพคุณ
บำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง เรอ สำรอก เป็นแผลในปาก


⇒ ตำรับยา
1. แผลในปาก ใช้นมแพะทาบริเวณแผลบ่อยๆ
2. กระเพาะอาหารมีแก๊สมาก ใช้น้ำนมแพะและน้ำสะอาดอย่างละ 125 ม.ล. ผสมกัน ต้มให้เดือด ดื่มเป็นประจำทุกเช้าตอนท้องว่าง
3. แสบตา (เนื่องจากดูแสงไฟ) ใช้น้ำนมวัวหรือน้ำนมคนหยอดตาทุกๆ 15 นาที ข้างละ 3 หยด (ต้องระวังให้ใช้น้ำนมที่สะอาดปราศจากเชื้อ)


⇒ สารเคมีที่พบ

ในน้ำนมแพะ 100 กรัม มีน้ำ 87 กรัม โปรตีน 3.8 กรัม ไขมัน 4.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โพแทสเซียม 0.9 กรัม แคลเซียม 140 ม.ก. ฟอสฟอรัส 106 ม.ก. เหล็ก 0.1 ม.ก. กรดนิโคตินิก 0.3 ม.ก. วิตามินซี 1 ม.ก. วิตามินเอ 80 หน่วยสากล


⇒ ความรู้ในการดื่มน้ำนม

มีบางท่านเข้าใจว่า การดื่มนมตอนท้องว่างในตอนเช้าจะดีที่สุด แต่ความจริงแล้ว การดื่มนมวิธีนี้ไม่ถูกต้อง วิธีที่ถูกต้องคือ ก่อนดื่มนมควรกินขนมปังหรืออาหารประเภทแป้งชนิดอื่นก่อน ทั้งนี้เพราะการดื่มน้ำนมขณะท้องว่าง น้ำนมจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต โปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็จะสูญเสียไป ดังนั้นถ้ากินอาหารอย่างอื่นเข้าไปก่อนแล้วค่อยดื่มนมเลย สารที่เป็นประโยชน์กับร่างกายก็สามารถดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

การดื่มน้ำนมสดๆ (รีดมาใหม่ๆ) อาจทำให้เกิดโรคบางอย่างได้ ทั้งนี้เพราะในระหว่างรีดนมบรรจุในภาชนะหรือขนส่งมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าไปในน้ำนมได้ ดังนั้นจึงควรต้มน้ำนมก่อนแต่ควรต้มในอุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เพราะถ้าต้มในอุณหภูมิที่สูงกว่านี้จะทำให้สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายบางชนิดถูกทำลาย คุณค่าทางอาหารลดน้อยลง


 

ข้อมูลสื่อ

94-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 94
กุมภาพันธ์ 2530
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล