• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คลอแรมเฟนิคอล

คลอแรมเฟนิคอล



เมื่อกล่าวถึงยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์กว้างขวางเมื่อ 60 กว่าปีก่อน นอกจากเตตราซัยคลีนแล้ว คู่แข่งที่ระบือนามอีกขนานหนึ่งก็คือ คลอแรมเฟนิคอล

ยาทั้ง 2 ขนานนี้มีอายุกำเนิดไล่เลี่ยกันและโด่งดังมาพร้อมๆกัน แต่ความนิยมคลอแรมเฟนิคอลต้องมีอันลดลงไปก่อนหน้าเตตราซัยคลีน เพราะความที่มันทำให้เกิดโรคไขกระดูกฝ่อและกลุ่มอาการตัวสีเทา (Gray Syndrome) อันน่าสะพรึงกลัว
ใครก็ตามที่เป็นโรคไขกระดูกฝ่อ เขาผู้นั้นคือผู้ที่สูญเสียแนวป้องกันโรคติดเชื้ออันแข็งแกร่งและย่อมตกเป็นเหยื่อของโรคติดเชื้อที่รุนแรงและยากแก่การเยียวยา

อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า ทุกคนที่ได้รับยาคลอแรมเฟนิคอลแล้วต้องประสบชะตากรรมเยี่ยงนี้
อุบัติการณ์ของโรคไขกระดูกฝ่อพบเพียง 1 ใน 40,000 ถึง 1 ใน 25,000 ครั้งที่มีการใช้ยานี้
ด้วยคุณสมบัติในการรักษาโรคติดเชื้อได้อย่างกว้างขวาง จึงยังคงมีการใช้ยานี้อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
ยาคลอแรมเฟนิคอลนั้นได้แต่ใดมา คำตอบคือ ผืนแผ่นดินแห่งเวเนซุเอลา ท่านให้เพราะบนผืนแผ่นดินของประเทศนามดังกล่าว มีเชื้อราชื่อสเตรปโตมัยซีส เวเนซุเอลา (Streptomyces Venezuelae)
เมื่อนำเชื้อรานี้มาสกัดจะได้ผลึกที่มีรสขมของตัวยาคลอแรมเฟนิคอล

ยาตัวนี้ถูกนำออกมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2492 ด้วยฤทธิ์อันกว้างขวางในการทำลายเชื้อแบคทีเรียนานาชนิด เลยทำให้มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อที่สมอง โพรงไซนัส ในลำคอ ในหลอดลม ในช่องท้อง ในลำไส้ หรือไข้ไทฟอยด์ ฯลฯ ล้วนสามารถใช้ยานี้กำราบจนอยู่หมัดได้เกือบหมดสิ้น มีความจริงข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นมาช้านานคือว่า ยิ่งยาตัวใดที่มีฤทธิ์กว้างขวาง คนยิ่งใช้พร่ำเพรื่อ
ในปี พ.ศ.2500 คณะอนุกรรมการดูแลการใช้ยาแห่งแพทยสภาของสหรัฐอเมริกาได้สำรวจพบว่า มีการใช้ยานี้โดยถูกต้องตามหลักวิชาเพียง 6-7% เท่านั้น! แม้กระทั่ง 6 ปีต่อมา เมื่อสำรวจใหม่ก็พบว่ามีการใช้ยานี้รักษาโรคหวัดถึง 51% ของคนเป็นหวัดทั้งหมด ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเลยเพราะการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อนี่เองที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาเพิ่มชนิดมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคืออานุภาพของฤทธิ์ยาลดลงเรื่อยๆ (เหตุการณ์เช่นนี้ยังปรากฏอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน)

ตัวอย่างในประเทศไทยที่ใคร่หยิบยกมากล่าวคือ ก่อนหน้า 10 ปีที่แล้ว แพทย์สามารถใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลรักษาไข้ไทฟอยด์ได้ผลดี เมื่อให้ยาเพียง 3-5 วัน ไข้ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นปรากฏว่า ไข้ไทฟอยด์ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาดื้อต่อยานี้เกือบร้อยทั้งร้อย จนแพทย์ต้องหันไปใช้ยาชนิดอื่น
ในปัจจุบันวงการแพทย์จะใช้ยานี้เฉพาะกับโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน ไข้ไทฟัส และโรคติดเชื้อบางชนิดของระบบประสาทส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่เหตุผลที่ใช้จำกัดลงคือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากประสิทธิภาพของยาด้อยลงดังกล่าว อีกเหตุหนึ่งเพราะความกลัวต่อการเกิดโรคไขกระดูกฝ่อนั่นเอง

คุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์
- ละลายได้ดีในไขมัน จึงซึมซาบเข้าสู่เนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกายได้ดีมาก แม้แต่ในสมองซึ่งยาอื่นมักเข้าไม่ถึง

- ถูกเผาผลาญที่ตับเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้ เวลาพบผู้ป่วยที่เป็นโรคตับระยะรุนแรง เพราะโอกาสที่จะมียาคั่งค้างในร่างกายจนเกินขนาดมีมากขึ้น ผลของการที่ยาเกินขนาดนี้ก็คือ จะทำให้ไขกระดูกฝ่อได้ง่าย สำหรับทารกในครรภ์และทารกที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน แม้ไม่เป็นโรคตับ แต่ตับยังทำหน้าที่ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ก็จะมีปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน นอกจากนี้สำหรับทารกในครรภ์ยังเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการตัวสีเทามากด้วย หากเกิดอาการนี้ขึ้นเด็กจะเสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และสตรีมีครรภ์

ชนิดของยาที่ใช้กินมี 2 แบบคือ
1. แคปซูล ขนาด 250 ม.ก. สำหรับผู้ใหญ่
2. น้ำเชื่อม ขวดละ 1 ออนซ์ และ 2 ออนซ์

ขนาดยาที่ใช้
ให้กินวันละ 50-100 ม.ก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. โดยแบ่งให้ทุก 6 ช.ม.

พิษของยานี้
1. ทำให้เกิดโรคไขกระดูกฝ่อ ซึ่งจำแนกเป็น
1.1 ชนิดเป็นแล้วอาจหายได้ หลังจากเลิกใช้ยาชนิดนี้เกิดจากการได้รับยาเกินขนาด
1.2 ชนิดเป็นแล้วไม่หาย แม้จะเลิกใช้ยาชนิดนี้ ไม่เกี่ยวกับขนาดยา กล่าวคือ ไม่ว่าจะได้รับยามากหรือน้อยก็เกิดโรคได้

2. ทำให้เกิดกลุ่มอาการตัวสีเทาแก่ทารกในครรภ์ สาเหตุเพราะได้รับยาเกินขนาด
ทารกจะมีอาการดังนี้
- อาเจียน ไม่ดูดนม ท้องอืด อุจจาระเขียว
- ผิวสีเทา
- หายใจเร็ว หอบ
- ตัวเย็น อ่อนปวกเปียก

3. บางคนอาจมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ลิ้นอักเสบ ปากอักเสบ ท้องเดิน ระคายเคืองที่ฝีเย็บ

4. ทำให้ประสาทตาอักเสบ เมื่อใช้ติดต่อกัน 3 เดือนถึง 5 ปี

ข้อห้ามใช้ ได้แก่ สตรีมีครรภ์ และทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน

 

ข้อมูลสื่อ

93-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
108 ปัญหายา