• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ

สารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ

พูดถึงโรคฟันผุ หลายคนคงจะเอามือกุมแก้ม หรือใช้ลิ้นดุนฟัน ด้วยความสงสัยว่าฟันของเราผุหรือเปล่า เพราะบางคนมีประสบการณ์จากความรุนแรงของการปวดฟันจากโรคฟันผุ ซึ่งจะมากน้อยเท่าใด คนที่เคยปวดฟันเท่านั้นที่จะบรรยายได้ดี
ด้วยวิทยาการทางทันตแพทยศาสตร์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนี้ เราสามารถป้องกันโรคฟันผุด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอุตสาหกรรมสามารถควบคุมโรคฟันผุให้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีป้องกันโรคฟันผุที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆวิธีหนึ่ง ได้แก่ “ฟลูออไรด์” ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งทางทันตสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันโรคฟันผุอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวถึง “สารเคลือบฟันป้องกันโรคฟันผุ”
ท่านที่เคยพาบุตรหลานไปตรวจรักษาฟันกับทันตแพทย์ในระยะหลังนี้อาจได้รับการแนะนำให้เคลือบร่องฟันกับฟันที่เพิ่งจะงอกขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ทำการเคลือบร่องฟันอยู่นั้น เด็กๆจะให้ความร่วมมืออย่างดี ไม่ร้องไห้หรือเจ็บปวดแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้เมื่อทำเสร็จแล้ว ท่านอาจไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงบนตัวฟันเลย จนบางท่านอาจสงสัยว่าทันตแพทย์ทำอะไรให้หรือเปล่า

เรามารู้จัก “สารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ” ดีไหม?

ในเด็ก ฟันที่งอกขึ้นมาใหม่ๆโดยเฉพาะฟันกรามซี่แรก ซึ่งมักจะโผล่ขึ้นมาในช่องปากเมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ และขึ้นต่อจากฟันน้ำนมที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่ฟันกรามน้ำนมยังคงอยู่ จึงทำให้ผู้ปกครองบางท่านเข้าใจว่าเป็นฟันน้ำนม และขาดการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ฟันกรามถาวรซี่แรกนี้จึงมีโอกาสผุได้ง่ายเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณด้านบดเคี้ยว ซึ่งฟันกรามถาวรจะมีร่องและหลุมลึก เป็นที่กักของเชื้อจุลินทรีย์และเศษอาหารให้มันเจริญเติบโต แล้วปล่อยกรดมาทำลายฟันได้ง่าย นอกจากนี้ในบริเวณร่องและหลุมฟันดังกล่าว ยังทำความสะอาดไปไม่ได้ทั่วถึง และ “ฟลูออไรด์” ก็เข้าไปป้องกันฟันผุไม่ถึงด้วย เป็นผลให้ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกนี้ มีอัตราการเกิดโรคฟันผุสูงกว่าเพื่อน หลักการง่ายๆในการป้องกันฟันผุในด้านบดเคี้ยวดังกล่าว ก็คือการทำให้ร่องและหลุมฟันเหล่านี้ตื้นขึ้นมา ไม่เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ ทำความสะอาดได้ทั่วถึง นักวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์จึงคิดค้น “สารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ” ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโพลีเมอร์พิเศษ ที่มีคุณสมบัติเหลวและไหลเข้าร่องลึกได้ดี และจะแข็งตัวเมื่อได้รับปฏิกิริยาทางเคมีหรือได้รับแสงที่เหมาะสม แต่มีปัญหาว่าสารโพลีเมอร์นี้จะยึดติดกับชั้นเคลือบฟันได้อย่างไร จึงจะไม่หลุดออกไปเมื่อถูกแรงกระแทกจากการกินอาหารหรือการแปรงฟัน และยังต้องการให้คงสภาพอยู่บนตัวฟันได้นานเป็นปีๆ เพื่อป้องกันโรคฟันผุให้ได้ผล

ผลจากการศึกษาวิจัยเป็นเวลาหลายปี ปัจจุบัน วงการทันตแพทย์ก็ได้วิธีการที่ครอบคลุมตามความต้องการดังกล่าวได้อย่างดี โดยขั้นแรกต้องขัดและทำความสะอาดฟันที่จะเคลือบฟันให้ดี ต่อมาใช้กรดที่มีความเข้มข้นพอเหมาะกัดชั้นเคลือบฟันด้านนอกสุด ให้มีรูพรุนเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำหน้าที่ยึดจับสารเคลือบร่องฟันอย่างหนาแน่น และเมื่อใช้สารเคลือบร่องฟันแล้ว จะต้องไม่หนาตัวจนไปรบกวนการบดเคี้ยวตามปกติ ดังนั้นจึงดูเสมือนหนึ่งฟันปกติทุกประการเพียงแต่ร่องและหลุมฟันถูกถมให้ตื้นขึ้นมา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะไม่มีผลเสียต่อฟันหรือสภาวะในช่องปากแต่อย่างใด และอาจใช้กับฟันกรามซี่ใดก็ได้ที่มีร่องและหลุมลึก

วิธีป้องกันโรคฟันผุ โดยใช้สารเคลือบร่องฟันนี้จะไปเสริมการป้องกันโรคฟันผุด้วย “ฟลูออไรด์” ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ แต่สารเคลือบร่องฟันยังมีข้อด้อยที่ไม่สามารถใช้กันอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับฟลูออไรด์ได้ เนื่องจากเวลาเคลือบต้องทำกับเด็กทีละคนและต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้เคลือบให้ เป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เป็นที่น่ายินดีว่า เนื่องจากประสิทธิภาพของสารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุเป็นที่น่าพอใจมาก จึงได้มีความพยายามที่จะให้เด็กได้รับการป้องกันนี้มากขึ้น โดยได้มีการศึกษาที่จะให้ทันตบุคลากรอื่นๆ เช่น ทันตาภิบาลเป็นผู้เคลือบร่องฟันให้ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีเช่นเดียวกัน และกำลังจะขยายการป้องกัน โดยจะได้ทดลองให้ครูในโรงเรียนเป็นผู้เคลือบให้โดยหวังผลให้เด็กนักเรียนทุกคน ได้รับการป้องกันโรคฟันผุด้วยสารเคลือบร่องฟันนี้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี แม้จะใช้ “สารเคลือบร่องฟันป้องกันฟันผุ” และ “ฟลูออไรด์” เพิ่มความแข็งแกร่งต่อฟันก็ตาม ยังจะต้องไม่ลืมวิธีป้องกันโรคฟันในชีวิตประจำวันของเรา คือ การลดอาหารหวาน โดยเฉพาะลดความถี่บ่อยของการกินขนมหวาน และการทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี

 

ข้อมูลสื่อ

93-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
ฟ.ฟันของเรา
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช