• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการคัน

อาการคัน
 

พูดถึงอาการคันเชื่อแน่ว่าทุกคนเคยเป็นกันมาแล้วทั้งนั้น
บางคนเพราะโดนมดกัด ยุงกัด หรือพวกหิดเหาและแมลงอื่นๆ ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการคันได้ทั้งสิ้น และจะมีอาการคันมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนก็รู้สึกคันอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ และหาตำแหน่งที่จะเกายังไม่เจอ ได้แต่บอกว่า คันๆ ๆ ๆ
อาการคันเกิดจากหลายสาเหตุ ที่เกิดจากการถูกแมลงกัดต่อยหรือถูกต้นไม้ใบหญ้าแล้วมีอาการคัน อาจถือว่าเป็นอาการคันธรรมดาที่ไม่ร้ายแรงอะไร พอทายาแก้คันแล้วก็จะหาย แต่อาการคันที่มีสาเหตุมาจากโรคภายในเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ

สำหรับคอลัมน์ “โรคน่ารู้” แพทย์หญิงเรณู โคตรจรัส ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางตจวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้อธิบายบอกถึงที่มีมาของอาการคันจากสาเหตุต่างๆ เมื่อเป็นขึ้นมาแล้วเราจะดูแลรักษาตัวเองอย่างไร หรือมีอาการอย่างไร จึงจะต้องไปพบแพทย์
คุณผู้อ่านจะได้รับความรู้และความเข้าใจอย่างละเอียดทีเดียวค่ะ

⇒  อยากให้คุณหมอให้คำจำกัดความของ “อาการคัน”
มีผู้ให้คำนิยามไว้ว่า คัน คือความรู้สึกระคายเคืองที่ผิวหนัง ทำให้อยากจะเกา ความรู้สึกนี้เกิดจากการกระตุ้นปลายประสาทที่ส่วนต่อระหว่างชั้นนอกของผิวหนังกับผิวหนัง ที่ผิวหนังเองและส่วนเยื่อเมือกบริเวณขาหนีบ ใบหู และรูจมูก เป็นบริเวณที่รู้สึกคันมากกว่าบริเวณอื่นๆ


⇒ อาการคันเกิดขึ้นได้อย่างไร
กลไกที่ทำให้เกิดอาการคันมีหลายอย่าง คือ
1. มีสิ่งกระตุ้นที่ประสาทส่วนปลายหรือส่วนกลาง การกระตุ้นที่ประสาทส่วนปลายนั้น เกิดได้จากสิ่งกระตุ้นทั้งภายนอกหรือภายในร่างกาย

สิ่งกระตุ้นภายนอกร่างกายที่สำคัญๆก็มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
ตัวกระตุ้นทางกายภาพ เช่น แรงกดที่น้อยๆ หรือความดันลบ และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือความชื้น
ตัวกระตุ้นทางไฟฟ้า มักเป็นสิ่งกระตุ้นที่ต่ำกว่าหรือน้อยกว่าที่จะทำให้รู้สึกเจ็บ
ตัวกระตุ้นทางเคมี เช่น ฮิสตามีน โปรตีเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนชนิดต่างๆ รวมทั้งพวกกรดหรือด่าง
พวกสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ตัวไรจากนกหรือไก่ หิด เหา สารสกัดจากพืช ยางต้นไม้ ขนสัตว์ชนิดต่างๆ หนามกระบองเพชร และใยแก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมบางชนิด เป็นต้น

สิ่งกระตุ้นภายในร่างกายที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาโดยตรงต่อปลายประสาทที่ผิวหนัง ได้แก่ ฮิสตามีน เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน หรือยาบางชนิด วิตามินบีหนึ่ง และการที่อวัยวะขาดเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาที่หลอดเลือด โดยเฉพาะการขยายตัวของหลอดเลือดจากการอักเสบ หรืออาการคันที่ผิวหนังอันเนื่องมาจากโรคผิวหนังสิ่งกระตุ้นจากสมอง ได้แก่ ความกังวล ความตื่นเต้นตกใจ ความเครียด หรือการใช้ยาจำพวกมอร์ฟีน โคเคน เป็นต้น

2. มีสิ่งกระตุ้นที่ปลายประสาทรับความรู้สึกคันบริเวณที่ประสาทเส้นนี้หล่ออยู่ และทำให้อยากเกาขึ้นมา นี่คือเหตุผลที่บางคนบอกว่า ถ้าคันแล้วจะอดไม่ได้ ทนไม่ไหว ต้องเกา เมื่อได้เกาแล้วจะรู้สึกสบายหายคัน ถ้าไม่ให้เกาจะมีอาการจมูกขยุกขยิก ริมฝีปากเม้ม ขาแขนถูกัน เป็นต้น


⇒ สาเหตุของอาการคันมีอะไรบ้าง
เนื่องจากอาการคันเป็นอาการที่เกี่ยวกับทางจิตใจด้วย ผู้ป่วยบางคนอาจจะบอกว่า คันมากหรือบางคนอาจจะคันน้อย อาการคันอาจพบได้ในโรคหลายชนิด จึงอาจจำแนกสาเหตุของอาการคันได้ง่ายๆ เป็น 2 ชนิด คือ
1. อาการคันซึ่งเกิดจากโรคผิว ผิวหนังเอง เช่น ผด ลมพิษ ผื่นจากการแพ้ยา ฯลฯ
2. อาการคันที่มีสาเหตุมาจากโรคภายใน เช่น โรคตับ มะเร็งของอวัยวะภายในหรือโรคเบาหวาน ซึ่งมักจะคันบริเวณซอกขาที่ชื้น มักจะมีเชื้อราร่วมด้วย


⇒ ลักษณะของรอยเกาหรืออาการคันจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว มีข้อแตกต่างกันอย่างไร
ข้อนี้จะต้องตรวจร่างกายของคนที่มีอาการคัน พยายามตรวจดูและเสาะหาการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ของผิวหนังที่อาจจะเกิดร่วมกับอาการคัน ได้แก่
ลักษณะของรอยเกา ถ้าเป็นสะเก็ดเลือดออกเป็นจุดๆ พบในผู้ป่วยที่เป็นผื่นคันเนื่องจากสิว (Papular urticaria) หิด และเมื่อหายจะมีแผลเป็นชนิดรอยบุ๋ม และมีสีคล้ำด้วย
ถ้าเป็นสะเก็ดเลือดออกเป็นแนวยาว จะพบในโรคหิด เหา โรคคันในคนตั้งครรภ์ โรคของตับ โรคของไต โรคมะเร็งของอวัยวะภายใน เป็นต้น

ตำแหน่งของรอยเกาก็มีความสำคัญเช่น รอยเกาเป็นทางยาวที่ด้านหลังของต้นคอและส่วนบนของหลัง เป็นอาการแสดงออกของโรคเหาลักษณะที่พบร่วมกับการเกาในโรคต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง (Hodgkin) มักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ส่วนผิวหนังหนาด้านพบในโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบอย่างเฉียบพลัน (Eczema) ชนิดเรื้อรังรอยขีดเป็นแนว เกิดจากการเกาเบาๆ หรือกดเบาๆ เป็นแนวที่ผิวหนังทำให้หลอดเลือดหดตัว อันนี้พบได้ในคนปกติ

รอยแดงเป็นแนว เกิดจากการกระตุ้นหรือกดที่แรงขึ้น ทำให้หลอดเลือดขยายตัว อันนี้ก็พบได้ในคนปกติเช่นกันส่วนรอยเกาที่เป็นปื้นนูน บวมเล็กน้อย ซึ่งเกิดหลังจากการเกา มักจะเป็นอาการแสดงของโรค เช่น ลมพิษเรื้อรัง ผิวหนังแห้ง คัน พบในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดร่วมกับทางเดินหายใจ (Atopic dermatitis) ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย ผิวหนังคนสูงอายุในหน้าหนาว และผู้ที่ใช้สบู่และน้ำมากเกินไป
คนสูงอายุที่มีตุ่มน้ำพองเหมือนน้ำร้อนลวกร่วมกับอาการคัน หรือคันทั่วตัวตลอดเวลาเป็นระยะยาวนาน อาจจะเกิดร่วมกับโรคมะเร็งของอวัยวะภายใน
คนที่เป็นหิดบางคน โดยเฉพาะในผู้ชายที่รักษาความสะอาดและอยู่ในสังคมชั้นสูง จะมีร่องรอยของโรคในที่ลับบ่อยกว่าที่ง่ามนิ้วมือซึ่งพบโดยปกติในบรรยากาศที่มีความร้อนและความชื้นสูง อาการคันก็มักจะเกิดร่วมกับการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อ ทำให้เป็นผดคัน

สำหรับผู้สูงอายุ ถ้าหากไม่พบร่องรอยที่ผิวหนังร่วมกับอาการคันจะต้องนึกถึงโรคภายในร่างกายที่พบบ่อยๆได้แก่
1. โรคดีซ่าน อาการคันนี้อาจจะเกิดก่อนอาการของโรคดีซ่านนานเป็นเดือนหรือเป็นปี
2. ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ มักจะมีอาการคัน ร่วมอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 10
3. ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย จะมีอาการคันเนื่องจากผิวแห้ง
4. โรคเบาหวานและภาวะการทำงานของไตล้มเหลว มีรายงานว่ามีอาการคันทั่วร่างกายร่วมด้วย
5. การแพ้ยาที่ไม่ปรากฏผื่นคันบนผิวหนัง ได้แก่ ยาจำพวกฝิ่น เหล้า และแอมเฟตามีน
6. โรคพยาธิต่างๆ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ หรือตัวจี๊ด มักมีอาการคันร่วม
7. มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งของอวัยวะภายใน จะพบอาการคันได้
8. สาเหตุทางจิตใจ จะทำให้มีอาการคันตลอดเวลา


⇒วิธีดูแลรักษาเมื่อเกิดอาการคัน ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปเมื่อเกิดอาการคันขึ้นมา ผู้ป่วยมักจะระงับอาการคันโดยการเกาแรงๆจนเจ็บหรือผิวหนังถลอก ก็ช่วยระงับอาการคันไปได้ชั่วคราว แต่จะทำให้ผิวหนังอักเสบและคันมากขึ้น หลังจากนั้น 5 นาที เพราะฉะนั้นจะต้องจำไว้เลยว่า เมื่อเกิดอาการคันอย่าไปเกา

ขั้นแรกจะต้องหาสาเหตุของอาการคัน ขจัดพวกสิ่งรบกวนหรือสิ่งกระตุ้นทั้งหลาย การขจัดสิ่งกระตุ้นทั้งหลายนั้นทำไม่ยาก อย่างเช่นหน้าหนาว อากาศเย็นลงและมีความชื้นน้อย จะทำให้ผิวหนังแห้งและแตกออกมาเป็นขุย ทำให้เราไม่ชอบ สัญชาตญาณของมนุษย์ก็อยากจะเอาขุยออก ก็โดยการเกา พอยิ่งเกาก็ยิ่งคัน ดังนั้นอย่าไปเกา ควรหาพวกครีมหรือโลชั่นทากันผิวแตก หรือพวกน้ำมันพืช เช่นน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก งดผิงไฟในหน้าหนาว ไม่ควรอาบน้ำร้อน

ในหน้าหนาวควรจะอาบน้ำให้น้อยครั้ง ใช้สบู่วันละครั้งก็พอ ถ้าเหงื่อไม่ออกมาก การอาบน้ำและใช้สบู่บ่อยๆ จะทำให้ผิวแห้งและบางครั้งเกิดอาการคันอีกอย่างหนึ่งในหน้าหนาวดอกไม้บานสะพรั่ง สวย และเกสรดอกไม้ก็ปลิวว่อนด้วย บางคนก็แพ้ละอองเกสรพวกนี้ ทำให้เกิดอาการคัน มีการสำรวจพบว่า เกสรของดอกต้นกระถินณรงค์ มีคนแพ้กันเยอะ ถ้าแน่ใจว่าแพ้สิ่งเหล่านี้ก็กินยาแก้แพ้พวกยาต้านฮิสตามีนถ้าเกิดอาการคันจากสิ่งรอบๆ เช่น หิด เหา ก็กำจัดเสีย
สำหรับสิ่งกระตุ้นที่เป็นสารเคมีโดยเฉพาะโปรตีเนส ซึ่งเกิดจากการทำลายของผิวหนังนั้น ใช้ยาจำพวกคอร์ติโคสตีรอยด์จะได้ผลดี

บางคนที่มีอาการคันตลอดเวลาด้วยสาเหตุทางจิตใจ ควรใช้ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับจะได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคันรุนแรง เช่น บางคนที่แพ้ยาแอสไพรินที่คันจนขนหัวลุก ควรจะไปพบแพทย์ หรือผู้ป่วยที่มีอาการคันรุนแรงและคันติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือหาสิ่งรบกวนไม่พบ อย่างนี้ก็ต้องไปปรึกษาแพทย์

สิ่งสำคัญที่จะต้องจำใจอย่างยิ่งก็คือ ห้ามเกาเมื่อเกิดอาการคัน จะทำให้ยิ่งคันมากขึ้น

 ⇒ ผดผื่นคัน
ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์ โลชั่น
วิธีใช้   :
เขย่าขวดก่อนใช้ ใช้ทาบริเวณที่มีอาการคัน ผดผื่น หลังอาบน้ำเช้า-เย็น


⇒ กลาก น้ำกัดเท้า
ยาที่ควรใช้ : ยารักษากลาก วิทฟิลด์ ออยท์เม้นท์
วิธีใช้  : ใช้ทาบริเวณที่เป็นกลาก วันละ 2-3 ครั้ง
ข้อควรระวัง : ถ้าเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ให้หยุดใช้ยา


⇒ เกลื้อน
ยาที่ควรใช้ :
ผงโซเดียมไธโอซัลเฟต หรือ ไฮโป หรือ น้ำยาล้างรูปชนิดเกล็ด
วิธีใช้  : ประมาณ 2 ช้อนชาพูนใส่ในขวดขนาด 60 มิลลิลิตร ต้องเตรียมสดๆ ขณะที่ต้องการใช้โดยเติมน้ำลงจนเกือบเต็มขวดและเขย่าจนผงยาละลายน้ำหมด (20%) ใช้ทาบางๆ บริเวณที่เป็นเช้า-เย็น ทาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 10-15 วัน
ข้อควรระวัง   :  เมื่อผสมน้ำควรใช้ให้หมดภายใน 5 วัน


⇒โรคหิด
ยาที่ควรใช้  : ขี้ผึ้งกำมะถัน
วิธีใช้   :  ใช้ทาบริเวณที่เป็นหิด วันละ 2-3 ครั้ง
ข้อควรระวัง   :  ถ้าเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังให้หยุดใช้ยา


⇒ ผื่นคัน แพ้ยุง แมลง ถูกแมงกะพรุนไฟ พืชที่มีพิษ
ยาที่ควรใช้  : 
ก. เหล้าแอมโมเนียหอม
วิธีใช้   :  ชุบสำลีทาบริเวณที่คัน
                       :  ข. ครีมฮัยโดรคอร์ติโซน
วิธีใช้    :  ทาบางๆ บริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง
ข้อควรระวัง  : ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนาน 3-5 วัน


ข้อมูลข้างต้น คัดจาก “คู่มือการใช้ยาสาธารณสุขมูลฐาน” จัดทำโดย องค์กรพัฒนาเอกชนทางด้านสาธารณสุข
- หากห้องสมุดหรือแหล่งชุมชนใดที่ขาดทุนทรัพย์ ต้องการคู่มือเล่มนี้ ขอเชิญจดหมายขอคู่มือเล่มนี้ไปยัง มูลนิธิหมอชาวบ้าน ตู้ ป.ณ.กลาง 192 กรุงเทพฯ 10501
- สำหรับผู้มีทุนทรัพย์ โปรดช่วยเหลือค่าจัดพิมพ์และค่าจัดส่ง โดยส่งแสตมป์มูลค่า 2.00 บาท จำนวน 3 ดวงต่อ 1 เล่ม 

 

ข้อมูลสื่อ

92-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 92
ธันวาคม 2529
โรคน่ารู้
พญ.เรณู โคตรจรัส