• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เตตราซัยคลีน

เตตราซัยคลีน

ที่คลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่ง คุณโฉมเฉลาได้พาลูกสาววัย 8 ปีมาตรวจฟันกับคุณหมอวิฑูรย์

คุณโฉมเฉลา : คุณหมอคะ ลูกสาวดิฉันใช้ยาสีฟันคองเขกแปรงฟันทุกวัน เช้า-เย็น ทำไมฟันยังดำคล้ำเลยคะ
คุณหมอวิฑูรย์ : ไหนขอหมอตรวจดูหน่อยซิครับ อ๋อ! ฟันดำแบบนี้เป็นชนิดดำเข้าเนื้อแล้วล่ะครับ เกิดจากการที่ยาจำพวกเตตราซัยคลีนไปจับอยู่ในเนื้อฟัน อย่างนี้ทำอย่างไรก็หายคล้ำไม่ได้หรอกครับ แสดงว่าในระยะ 7 ปีแรกแกคงได้ยาชนิดนี้กินอยู่ระยะหนึ่ง หรือได้รับยาระหว่างที่อยู่ในครรภ์
ลูกๆของคุณหรือเด็กที่คุณรู้จักมีฟันดำมั๊ยเอ่ย?

สมัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อนโน้น เป็นระยะที่เริ่มมีการนำยาเตตราซัยคลีนมาใช้ใหม่ๆ วงการแพทย์ยังรู้จักพิษภัยของมันไม่มาก แต่ด้วยคุณสมบัติที่เป็นยาปฏิชีวนะซึ่งมีฤทธิ์กว้างขวาง (ชนิดครอบจักรวาลอย่างที่ร่ำลือกัน) หมอทั้งหลายเลยนิยมใช้กันมากเหมือนยาเซฟาโรสปอรินในสมัยนี้นั่นแหละ เลยปรากฏว่าเด็กในยุคนั้นจำนวนมากได้รับผลข้างเคียงของยานี้ กลายเป็นหนุ่ม-สาวฟันดำจำนวนมาก ในสมัยนี้
ปัจจุบันในวงการแพทย์ยังใช้เตตราซัยคลีนอยู่ แต่ไม่ฮือฮาเหมือนสมัยก่อนโน้นเสียแล้ว เพราะฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคหลายชนิดที่เคยได้ผลดีกลับไม่ได้ผลในปัจจุบัน (เพราะใช้กันพร่ำเพรื่อ) และแพทย์ก็ตระหนักถึงผลข้างเคียงของมันมากขึ้น จึงระมัดระวังในการใช้ยานี้มากขึ้น

เตตราซัยคลีนเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย การยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ ก็เลยถูกเม็ดเลือดขาวในร่างกายเราจับกินหมด
รูปแบบที่นิยมใช้กันคือ ชนิดแคปซูล ใช้กินมีสูตรหลายแบบ เช่น เตตราซัยคลีน ไฮโดรคลอไรด์, เตตราซัยคลีน ฟอสเฟตคอมเพล็ก, เตตราซัยคลีน, ออกซีเตตราซัยคลีน, ออกซีเตตราซัยคลีนไฮโดรคลอไรด์ เป็นต้น

โรคอะไรบ้างหนอที่เมื่อใช้เตตราซัยคลีนแล้วได้ผลดี?
โอ้โฮ มีแยะเลยครับ ตัวอย่างเช่น
- โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพองที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
- โรคหนองในเทียม, โรคแผลริมอ่อน, กามโรคของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
- โรคบูลเซลโลลิส, อหิวาตกโรค เป็นต้น

ที่แนะนำไว้นี้ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ไปซื้อยามาลองรักษาเองหรอกนะ เพราะการใช้ยาในแต่ละโรคยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ต้องเข้าใจและเรียนรู้ ซึ่งบทความนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแจกแจงถึงรายละเอียดเหล่านั้น

การดูดซึมและการกระจายของตัวยาในร่างกาย
เตตราซัยคลีนชนิดกิน ดูดซึมได้บางส่วนที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก การดูดซึมขณะท้องว่างจะดีกว่าเวลาที่มีอาหารอยู่ปนกันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ นั่นคือถ้ากินเวลาท้องว่างยาจะเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าถ้ากินพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร
ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาบำรุงเลือด วิตามินพวกแคลเซียมและนมจะขัดขวางการดูดซึมของยาเตตราซัยคลีน ดังนั้นถ้าต้องกินเตตราซัยคลีน ควรเว้นระยะห่างจากยาเหล่านี้หรือนานประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
เมื่อเตตราซัยคลีนเข้าสู่ร่างกายแล้ว มันสามารถแทรกซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ แทบทุกส่วนของร่างกายได้ดี ยกเว้นน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง ยานี้ผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้และปะปนออกมาในน้ำนมแม่ด้วยเช่นกัน


ผลข้างเคียงของเตตราซัยคลีนมีอะไรบ้างที่พบบ่อย?
1. อาการระคายท้อง
ในราว 1 ใน 10 ของคนที่เคยกินยาชนิดนี้มักเกิดอาการมวนท้อง, พะอืดพะอม, คลื่นไส้ (หรือบางรายถึงกับอาเจียน), ท้องเดิน ยิ่งกินตอนท้องว่างยิ่งมีอาการมาก

2. กระดูกและฟันหมองคล้ำ
เด็กตั้งแต่ช่วงยังอยู่ในครรภ์ จะทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและฟัน กล่าวคือ กระดูกและฟันจะหมองคล้ำ การเจริญเติบโตอาจผิดปกติ ฟันผุง่าย จะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าได้รับยามากน้อยแค่ไหน นานแค่ไหน เพราะฉะนั้นหญิงมีครรภ์ หญิงในระยะให้นมบุตรและเด็กวัยต่ำกว่า 8 ปี ไม่ควรใช้ยานี้
3. พิษต่อไต
3.1 กลุ่มอาการแฟนโคนี เกิดจากการได้รับยาเตตราซัยคลีนที่หมดอายุ (สังเกตได้จากผงที่ปกติสีเหลืองอ่อน เปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำหรือสีน้ำตาล) กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วยภาวะที่มีสารโปรตีน น้ำตาล กรดอะมีโน และฟอสฟอรัสรั่วออกมาในปัสสาวะมากผิดปกติ มีอาการอ่อนเพลีย มีภาวะเลือดเป็นกรด หายใจหอบ
3.2 โรคเบาจืด มีอาการปัสสาวะมากผิดปกติ ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เกิดจากการได้ยาดีเมธิลคอล เตตราซัยคลีน เมื่อหยุดยาอาการจะหายได้เอง

4. ปฏิกิริยาที่ผิวหนัง

- ผื่นลมพิษ ผื่นดำเป็นวงกลมเฉพาะที่
- ภาวะภูมิไวเกินต่อแสงแดด ปรากฏอาการที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกแสงแดดหรือมีรอยไหม้เกรียม


คำเตือน
- ถ้าไม่แน่ใจว่ายาเตตราซัยคลีนที่กำลังจะกินหมดอายุหรือยัง ให้แกะแคปซูลออกดูภายในว่าผงตัวยายังเป็นสีเหลืองอ่อนอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่สีเหลืองอ่อนให้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนกินยา
- ไม่ควรใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ สตรีในระหว่างให้นมบุตรและในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี

 

ข้อมูลสื่อ

92-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 92
ธันวาคม 2529
108 ปัญหายา