• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 2 (มัจจุราชที่มากับเลือด)

ตอนที่ 2 ( มัจจุราชที่มากับเลือด )

 

 

 

จากงานศึกษาค้นคว้าวิจัยของนายแพทย์ฟรายแลนด์ ช่วยพิสูจน์ว่าเชื้อโรคที่เรียกว่าเอดส์นั้น เป็นโรคที่ยากจะขยายตัวได้ ยกเว้นในกรณีของการติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่สุด แนวทางในการแพร่เชื้อเอดส์ก็คือ เลือด การร่วมเพศ และการมีลูก

นายแพทย์ฟรายแลนด์ทำงานของเขาท่ามกลางบรรยากาศของความตาย...และการรอวันตายในช่วงเวลาใดก็ตามจะมีคนไข้โรคเอดส์จำนวนถึง 20-30 คน อยู่ในศูนย์พยาบาลของเขาอยู่เสมอ และพากันหลั่งไหลมาเรื่อยไม่ขาดสาย การระบาดที่ได้เริ่มปรากฏเพียง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ป่วยถึง 22,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกถึง 270,000 คน ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในปลายฤดูใบไม้ร่วงของปี พ.ศ.2524 เมื่อแรกที่เขาเผชิญกับผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์อย่างใกล้ชิดฟรายแลนด์ไม่รู้อาการของโรคในทันที สิ่งที่เขาได้พบเห็นก็คือ ผู้ชาน 3 คนที่มีสุขภาพอนามัยดี หากแต่ระบบทางเดินหายใจกลับหยุดทำงานอย่างไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครอธิบายได้ เขาและเพื่อนร่วมทีม นายแพทย์โรเบิร์ต คลิ้น มีความเห็นร่วมกันว่า อาการของผู้ป่วยทั้ง 3 คนนี้ น่าจะเป็นโรคนิวโมซิส
ติส (pneumocystis) ที่ไม่พบบ่อยนัก นอกจากนี้อาการป่วยที่ปรากฏมาให้เห็นนั้น ช่างคล้ายกับโรคที่เขาเคยอ่านพบในวารสาร ซึ่งเขียนถึงเชื้อโรคลึกลับตัวใหม่ของเลือด ที่กำลังปรากฏในเมืองซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ค แต่ผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ชอบรักร่วมเพศ

คนไข้ทั้งสามต่างสาบานว่า พวกเขาไม่เคยมีการรักร่วมเพศกับผู้ชายด้วยกันเลย เพื่อนสาว ภรรยาและเด็กๆ ที่พากันมาเยี่ยมผู้ป่วย ต่างพากันยืนยันคำพูดของคนไข้
แพทย์ยังคงสงสัยและพยายามสอบถามพฤติกรรมการร่วมเพศของคนไข้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรเบิร์ต คลิ้น เขาแน่ใจว่า สามารถจับโกหกของคนไข้รายหนึ่งได้ เมื่อแพทย์ประจำบ้านถามว่า เขารู้สึกอย่างไร คลิ้นตอบอย่างมั่นใจว่า

“เพราะผู้ป่วยชายคนนี้ใส่ตุ้มหูนะสิ”

แพทย์ประจำบ้านถึงกับปล่อยเสียงหัวเราะออกมาอย่างยั้งไม่อยู่ เพราะตัวหมอเองก็ใส่ตุ้มหูเหมือนกัน ซึ่งนั่นเป็นเพียงความทันสมัยตามแฟชั่นของผู้ชายสมัยใหม่ ทั้งของผู้ชายปกติและพวกผู้ชายที่ชอบรักร่วมเพศ ที่เรียกกันว่า พวกเกย์ นั่นแหละเท่าที่ได้พบข้อเท็จจริง คนไข้ชายทั้งสามติดยาเสพติดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกับชายคนอื่นๆ พวกเขามิใช่เป็นเพียงคนไข้เท่านั้น แต่เป็นผู้แพร่เชื้อโรคนี้อีกด้วย เมื่อคนไข้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ฟรายแลนด์และทีมงานออกติดตามหาเพื่อนที่ร่วมใช้เข็มฉีดยากับคนไข้ทั้งสาม บางคนก็เป็นโรคเอดส์เช่นกัน ทีมงานของฟรายแลนด์ขยายการค้นหาเชื้อเอดส์ไปสู่ภรรยาและบรรดาเพื่อนสาวของคนไข้ ในที่สุดฟรายแลนด์ได้พบในรายแรก โดยการตรวจร่างกายของหญิงสาวคนหนึ่ง พบว่าต่อมน้ำเหลืองที่ต้นคอของเธอมีอาการบวมเป่ง ฟรายแลนด์รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะอาการที่เขาพบนั้น เป็นอาการที่เป็นดุจสัญญาณเตือนภัยเริ่มแรกของการเป็นโรคเอดส์

ข้อสรุปนี้ยังไม่สิ้นสุด โรคเอดส์ไม่ใช่เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ชายที่มีการรักร่วมเพศเท่านั้น คนติดยาเสพติดก็สามารถเป็นโรคเอดส์ได้จากการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด และนำเชื้อโรคนี้กลับไปบ้าน แพร่เชื้อสู่ภรรยาหรือเพื่อนสาว และบางครั้งก็แผ่ขยายถึงทารกที่อยู่ในครรภ์

ฟรายแลนด์และคลิ้น ได้อธิบายให้เห็นภาพของการระบาดของเชื้อโรคเอดส์ในอนาคต เป็นการแพร่ของเชื้อโรคที่น่ากลัวและยังผลให้เกิดอันตรายแก่บุคคลที่อยู่วงนอกเพิ่มจำนวนของผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว สิ่งที่เขากำลังมองเห็นอยู่เป็นเรื่องใหม่และยิ่งใหญ่เหลือเกิน มันเป็นเรื่องเลวร้ายและยากที่จะผ่านพ้นไปได้ง่าย

เมื่อคนไข้โรคเอดส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงในหน่วยบริการโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมอนติฟิออร์ที่ฟรายแลนด์ประจำอยู่ เขาเรียนรู้ความเชี่ยวชาญในยุคที่มีการใช้ยามากมายอย่างน่าพิศวง ดูเหมือนว่าไม่มีโรคอะไรที่จะรักษาไม่ได้ หากเราให้ยาที่ถูกต้องแล้วคนไข้ย่อมจะหายป่วยและกลับบ้านได้ในไม่ช้า พวกแพทย์มักไม่ค่อยคุ้นเคยกับโรคที่ไม่สามารถจะรักษาได้ และอาจเป็นโรคที่ทำให้คนไข้ตายได้ ระยะแรกที่โรคเอดส์ระบาดนั้นไม่ค่อยมีใครรู้สึกเกรงกลัวเท่าไรนัก แต่เมื่อการแพร่เชื้อระบาดหนักขึ้น การฉีดยาและเหตุการณ์ปกติในโรงพยาบาลก็กลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว แม้แต่อาการปวดหัวหรืออาการผื่นคันที่ปรากฏ ก็ทำให้คนไข้ตกใจกลัวคิดว่า นั่นเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเอดส์ คนทำงานในโรงพยาบาลเองก็หวาดเกรงที่จะเข้าใกล้ผู้ป่วยโรคเอดส์ จนผู้บริหารโรงพยาบาลต้องขู่จะพักงานหากใครปฏิเสธไม่ยอมเข้าใกล้คนไข้

ความกลัวขยายสู่บ้าน แม้แต่ภรรยาของฟรายแลนด์ก็เริ่มวิตก เธอถามเขาว่าแน่ใจหรือว่าจะทำงานนี้ต่อไปได้ ฟรายแลนด์ตอบว่า ทำได้ คำตอบของเขาทำให้ภรรยาไม่หยิบยกปัญหานี้มาถามอีก ฟรายแลนด์ไม่เคยแสดงความกลัวให้ปรากฏออกมา ในขณะที่ทีมงานของเขาได้ศึกษาและทำบันทึกไว้ว่า การอยู่ในห้องของผู้ป่วยโรคเอดส์นั้นดูจะปลอดภัยกว่ากำลังเดินอยู่ในชุมชนแออัดเสียอีก

ในการเดินเยี่ยมคนไข้ ฟรายแลนด์ไม่สวมผ้าปิดหน้าหรือเสื้อคลุม เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ทีมงานทุกคนปฏิบัติตัวอย่างนี้เช่นกัน เพราะคนไข้โรคเอดส์มักจะมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง มิใช่เพียงความกลัวตายเท่านั้น ถ้าหากผู้รักษาคนไข้เกิดความกลัวขึ้นมาด้วย ก็ไม่อาจเป็นกำลังใจให้คนไข้ได้เลย ฉะนั้นถ้าแพทย์หรือพยาบาลเข้ามาตรวจเยี่ยมคนไข้ด้วยการแต่งตัวเสมือนต้องการคุ้มกันโรคอย่างแน่นหนา หรือเอาอาหารมาวางไว้แค่หน้าห้องของผู้ป่วย ย่อมจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของคนไข้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ฟรายแลนด์เองก็ระมัดระวังพอสมควร ดูเหมือนจะเป็นไปตามจิตใต้สำนึกมากกว่า บางครั้งดูว่าเขาล้างมือเกือบตลอดเวลา ฟรายแลนด์รู้ดีว่า เป็นความกลัวที่ไม่มีเหตุผล...แต่ความไม่มีเหตุผลก็มักเป็นส่วนหนึ่งที่ดำรงอยู่ในตัวคนเราเสมอ

ในขณะที่คนไข้ของเขามีจำนวนเพิ่มขึ้น การทำงานของฟรายแลนด์ยิ่งเผชิญกับความเศร้าโศก เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้รับการเตรียมตัวมาก่อนเลยเมื่ออยู่ในโรงเรียนแพทย์ คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ซึ่งเขาดูแลอยู่มักจะเป็นคนจรจัด คนเดินถนน บางคนอาศัยและมั่วสุมอยู่ในชุมชนยากจนแออัด แต่ฟรายแลนด์ก็ชอบคนไข้เหล่านั้น บางครั้งก็ออกจะชอบมากเกินไปเสียด้วยซ้ำสำหรับเขา คนไข้เหล่านี้เป็นคนไม่ใช่เป็นแค่ตัวอย่างของโรค เป็นคนไข้ที่มีความกล้าอยู่ในตัวแม้จะมีเงาของความตายครอบคลุมอยู่ อาทิเช่น ร็อกกี้ ชาโก้ และโรเบิร์ต

ร็อกกี้ เป็นคนไข้ที่มีลักษณะของชายชาตรี สมบุกสมบัน เขาเป็นคนหนึ่งในคนไข้ 3 ราย ที่ป่วยเป็นโรคนิวโมซิสติสจากการติดเชื้อ ร็อกกี้ได้รับการรักษาจนหายและกลับไปบ้าน แต่อีก 2-3 เดือนต่อมา เขาก็กลับมาเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง รูปร่างเขาผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ดูเหมือนกับไม้ตะเกียบทีเดียว พร้อมกับมีอาการหอบหายใจ แต่ที่โรงพยาบาลของฟรายแลนด์ไม่มีเตียงว่างเลยในขณะนั้น พวกคณะแพทย์จึงจับเขานั่งเก้าอี้เข็นและส่งไปโรงพยาบาลใกล้ๆซึ่งอยู่ติดกันนั่นเอง

มาได้ครึ่งทางก่อนจะถึงโรงพยาบาล เผอิญมีรถเข็นขายฮ็อทดอกผ่านมา ร็อกกี้ออกคำสั่งให้หยุด พวกคณะแพทย์ก็หยุดตามที่เขาบอก ร็อกกี้พยายามล้วงกระเป๋าและหยิบเงินออกมา ถามอย่างภาคภูมิใจว่า “ผมขอเลี้ยงอาหารกลางวันหมอได้ไหมครับ” ...เขาใกล้จะตายอยู่แล้ว น้ำใจที่แสดงออกและการขอได้ลิ้มชิมรสเล็กๆน้อยๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นสิ่งสำคัญในตัวเขา และสร้างความประทับใจกับคณะแพทย์ทุกคน

รายต่อมา...ชาโก้ เขาไม่เหมือนคนไข้รายอื่นๆ และเป็นคนไข้ที่ยากจะรักษา เขาเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว ดุดันและดื้อรั้นอย่างที่ฟรายแลนด์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ชาโก้ตะโกนโวยวายด่าคำหยาบคายและไม่ยอมกินอาหาร ทั้งไม่ยอมกินยาหรือฉีดยาสักอย่าง เขาทำให้แพทย์และพยาบาลต้องเผ่นหนีออกมาจากห้องเขาด้วยความกลัวอยู่เป็นประจำ

แต่ฟรายแลนด์ออกจะรู้สึกชอบชาโก้ ความโกรธที่เขาแสดงออกมาเป็นเสมือนการชูกำปั้นต่อสู้โรคและไม่ยอมให้โรคมากำหนดชีวิตของเขา...แม้ว่ามันกำลังจะพร่าชีวิตเขาไปก็ตาม ฟรายแลนด์คิดว่า ชาโก้ทำให้โรคกลัวคนไข้ คนไข้ที่แสดงความพ่ายแพ้เร็วและไม่ยอมต่อสู้อะไรเลยนั้นยิ่งจะพบความตายเร็วยิ่งขึ้น

และในรายของโรเบิร์ต
...เขาอายุ 30 ปี เป็นผู้ชายที่นิยมการรักร่วมเพศกับผู้ชายด้วยกัน และเขากำลังจะตายด้วยโรคท็อกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) ซึ่งเกิดจากพยาธิโปรโตซัว เป็นโรคที่น่าขยะแขยง ซึ่งโรคติดเชื้อพยาธินี้มักปรากฏให้เห็นเสมอในผู้ป่วยโรคเอดส์ มันเกาะกินสมองของผู้ป่วย เจ้าโรคนี้แหละที่ทำให้โรเบิร์ตต้องเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อหกเดือนที่ผ่านมา และขณะนี้เขาต้องกลับมาเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ด้วยอาการไข้สูง หนาวสั่นและปวดหัวอย่างรุนแรง ภาวะจิตใจและความนึกคิดของโรเบิร์ตกำลังก้าวสู่แดนสนธยาเพราะอาการจากโรคเอดส์ (AIDS dementia) ที่เขาเผชิญอยู่ อารมณ์ของเขาเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

แล้วในเช้าวันหนึ่ง...เมื่อกลุ่มแพทย์หนุ่มสาวที่ทำการรักษาโรเบิร์ต ได้เข้าไปตรวจเช็กดูอาการของเขาพร้อมกับฟรายแลนด์ ทุกคนพบว่าไม่มีอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว นอกจากการปล่อยให้คนไข้เตรียมอำลาชีวิต
แสงอาทิตย์สลัวรางสาดคลุมไปทั่วห้องคนไข้ เป็นบรรยากาศของความเศร้าและมืดมน พวกแพทย์จะต้องตัดสินใจว่าจะต่อสายเครื่องช่วยหายใจเพื่อประทังชีวิตของโรเบิร์ตต่อไปดีหรือไม่ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างล้มเหลวไปหมดแล้ว สำหรับครอบครัวของคนไข้ คงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยชีวิตของเขาจากไปโดยไม่พยายามเหนี่ยวรั้งไว้จนวินาทีสุดท้าย

อาการของโรเบิร์ตไม่ดีขึ้นเลย เลวลงเรื่อยๆ เขาไม่มีทางรอด...ฉันไม่อยากจะต่อเครื่องช่วยหายใจให้เขาอีกต่อไป...”

แพทย์ฝึกหัดหญิงให้ความเห็นด้วยเสียงที่หนักแน่นและเข้มแข็ง
ฟรายแลนด์ค่อนข้างจะเห็นชอบด้วยการต่อเครื่องช่วยหายใจอาจจะช่วยเพียงไม่ให้โรเบิร์ตทรมานกายเท่านั้น แม้พวกแพทย์จะมีความเห็นอย่างไร แต่พวกแพทย์ก็จะต้องอธิบายให้ครอบครัวของโรเบิร์ตรับรู้ และต้องเคารพในสิ่งที่ครอบครัวคนไข้ต้องการ

“โรเบิร์ตพยายามฆ่าตัวตายมา 2-3 ครั้งแล้ว” แพทย์ฝึกหัดอีกคนบอก

“นั่นเป็นสิ่งที่ผิดปกติมากสำหรับคนไข้โรคเอดส์...” ฟรายแลนด์กล่าว “...โดยปกติแล้วพวกเขาอยากจะมีชีวิตอยู่ และนั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผมยังทำหน้าที่นี้อยู่...” แพทย์หนุ่มสาวในคณะมีอาการเศร้าหมอง ทำให้ฟรายแลนด์พูดต่อไป “...พวกคุณได้ช่วยคนไข้รายนี้มากกว่าที่หลายๆคนจะทำอะไรให้ใครในชีวิตของเขา การไม่กลัวผู้ป่วยโรคเอดส์และช่วยรักษาพวกเขานั้นเป็นสิ่งดีงามและมหัศจรรย์ พวกคุณทำดีมากแล้ว...”

โรคเอดส์จะเป็นโรคที่คงอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ...การที่พวกคุณไม่หนีคนไข้ ไม่ยอมพ่ายแพ้และพยายามต่อสู้กับโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว...”

มาถึงขณะนี้ ร็อกกี้ได้ตายไปแล้ว ชาโก้ก็ตายตามไปแล้ว และอีกห้าวันต่อมาโรเบิร์ตก็สลบหมดสติไป สมองของเขาบวมเป่งและมีขนาดใหญ่กว่ากะโหลกศีรษะ ปอดและตับของเขากำลังหยุดทำงาน ดวงตาร่วงโรยแทบไม่มีแววตา ผิวเหี่ยวย่นและเหลือง มีอาการหอบไขว่คว้าอากาศมาหายใจ ซี่โครงของเขาดูเป็นคลื่น...แม่ของเขาและเพื่อนหญิงมาเฝ้าดูแล ตั้งใจสนองในสิ่งที่โรเบิร์ตต้องการ กระทั่งเที่ยงคืนไปแล้วจึงพากันกลับบ้าน

7.30 น. ของวันรุ่งขึ้น พวกคณะแพทย์ถูกเรียกตัวไปที่ห้องของโรเบิร์ต อาการของเขาทรุดหนัก หายใจเชื่องช้าและตื้น ชีวิตของเขากำลังก้าวสู่ความตาย ครอบครัวของเขาตัดสินใจไม่ให้ประทังชีวิตของเขาไว้อีกต่อไป เพราะไม่มีอะไรจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ดังนั้นหมอจึงดึงผ้าลงมาคลุมหน้าเขา เพื่อความมั่นใจว่าร่างกายของเขาจะอบอุ่น...รอความตายที่กำลังมาถึง

โดยปกติแล้วหมอมักจะปลีกตัวออกห่างจากญาติของผู้ตาย ในขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในอาการโศกเศร้า ความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลงทันทีที่คนไข้เสียชีวิต หลังจากที่หมอได้แจ้งให้ญาติคนไข้รับรู้ข่าวร้าย...หากแต่ขณะนี้ เมื่อญาติของโรเบิร์ตเดินเข้ามาในห้อง ฟรายแลนด์และคณะแพทย์ปลีกตัวออกไปไม่ทัน ทุกคนตกอยู่ท่ามกลาง ความวิปโยค เพื่อนสาวของโรเบิร์ตก้มลงจุมพิตใบหน้าที่ไร้วิญญาณของเขา ในขณะที่แม่ของเขาร่ำไห้โอบกอดซากชีวิตของลูก ญาติมิตรห้อมล้อมคนทั้งสอง และพยายามปลอบประโลมให้กำลังใจ

และที่มุมหนึ่งของห้อง...หมอสองคนเฝ้ามองดูภาพเบื้องหน้า คนหนึ่งมีประสบการณ์ช่ำชองต่อการตายของคนไข้ แต่อีกคนหนึ่งเพิ่งมีประสบการณ์พบเห็นความตายของคนไข้ที่เขารักษา...แต่คนทั้งสองก็กำลังร้องไห้เหมือนกัน!


                                                                                                                             (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

91-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 91
พฤศจิกายน 2529
มหาภัยเอดส์
ธีระ สุมิตร