• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แอมพิซิลลิน/อะมอกซีซิลลิน

แอมพิซิลลิน/อะมอกซีซิลลิน


 

ยาแอมพิซิลลิน และ อะมอกซีซิลลิน 2 ชนิดนี้ เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มเดียวกับเพนิซิลลิน แต่ได้รับการดัดแปลงสูตรโครงสร้าง ทำให้มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียกว้างขวางกว่าเพนิซิลลิน


แอมพิซิลลิน
แพทย์นิยมใช้แอมพิซิลลินเพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคช่องหูส่วนกลางติดเชื้อ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรค 2 ชนิดหลังเมื่อเป็นในเด็กเล็ก ถ้าใช้แอมพิซิลลินจะได้ผลดีกว่าเพนิซิลลิน นอกจากนี้ในโรคติดเชื้อของท่อน้ำดี ถุงน้ำดี และโรคไทฟอยด์ ก็ได้ผลดี

เหตุผลที่แอมพิซิลลิน เหมาะสมกว่าเพนิซิลลินสำหรับโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ ที่กล่าวมาคือ
1. แอมพิซิลลิน สามารถทำลายเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้ได้ดีกว่าเพนิซิลลินหลายท่าน และเชื้อบางชนิดในกลุ่มนี้ ดื้อต่อเพนิซิลลินโดยสิ้นเชิง

2. แอมพิซิลลิน สามารถแทรกซึมเข้าสู่อวัยวะต่างๆที่กล่าวมาได้ดี จึงเข้าถึงตัวเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะในปัสสาวะ ปรากฏว่าระดับยาสูงกว่าในเลือดถึง 100 เท่า

การใช้ยาแอมพิซิลลินเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ หลายชนิดที่กล่าวถึงข้างต้นอาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะ
เชื้อที่เป็นต้นเหตุ ดื้อต่อยาแอมพิซิลลิน ตัวอย่างเช่นโรคหนองใน สมัยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว การใช้แอมพิซิลลินขนาด 3.5 กรัม ร่วมกับยาโปรเบนนิซิด 1 กรัม เพียงครั้งเดียวสามารถรักษาโรคหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อนในผู้ชายได้ผลถึง 90% แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่า ถ้าใช้ยานี้จะได้ผลไม่ถึง 40% นั่นคือ ใน 10 คน จะรักษาหายเพียง 4 คนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะได้มีการใช้ยานี้โดยพร่ำเพรื่อ และไม่ครบระยะเวลาและขนาดที่เหมาะสม เชื้อหนองในจึงเกิดการดื้อยา นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีเชื้อหนองในชนิดที่สร้างเอนไซม์ทำลายยา แพร่ระบาดเข้ามาในเมืองไทยอีกด้วย

วินิจฉัยโรคผิด เช่น คนไข้มีอาการท้องร่วงที่เกิดจากเชื้ออะมีบา แต่แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นท้องร่วงชนิดบิดไม่มีตัวหรือชิเกลโลซิส จึงหลงรักษาด้วยแอมพิซิลลิน เช่นนี้โรคก็ไม่หาย เพราะยาแอมพิซิลลินทำลายเชื้ออะมีบาไม่ได้ หรือคนไข้ป่วยเป็นโรคหนองในที่มีภาวะแทรกซ้อน แต่แพทย์ให้การรักษาแบบชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยให้กินแอมพิซิลลินเพียงครั้งเดียว เช่นนี้ย่อมรักษาไม่หาย แม้เชื้อจะไวต่อยาก็ตาม

ดังนั้นก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษา หรือเลือกว่าจะใช้ยาอะไร จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นโรคอะไร เกิดจากเชื้ออะไร และขณะนั้นโรคมีระดับความรุนแรงแค่ไหน


⇒ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
1. ผื่นผิวหนัง ที่ไม่ได้เกิดจากภาวะภูมิแพ้

2. ท้องร่วง ตัวอย่างเช่น เด็กที่ท้องร่วงจากโรคบิดไม่มีตัว(ชิเกลโลซิส) เมื่อรักษาด้วยยานี้ จนท้องร่วงหยุดดีแล้ว ต่อมาอาจท้องร่วงอีก เพราะผลข้างเคียงจากยา หรือใช้แอมพิซิลลินรักษาโรคหูน้ำหนวกแล้วเด็กเกิดท้องร่วง อาจเป็นผลข้างเคียงนี้ก็ได้

3. ภาวะภูมิแพ้ แสดงออกโดยอาการคัน ลมพิษ ไข้

4. เส้นเลือดดำอักเสบ พบเฉพาะในคนที่ถูกฉีดยาเข้าเส้น คนไข้จะมีอาการปวด และปรากฏแนวแดงตามขาขาที่มีเส้นเลือดดำอักเสบ


⇒ข้อห้าม
ห้ามใช้ยาแอมพิซิลลิน เมื่อเคยมีอาการแพ้ยาเพนิซิลลินหรือยาในกลุ่มของเพนิซิลลิน เช่น แอมพิซิลลิน
อะมอกซีซิลลิน, คลอกซาซิลลิน, ไดคลอกซาซิลลิน เป็นต้น
เมื่อเกิดอาการแพ้ยา หรือผลข้างเคียงของยา ต้องรีบหยุดยาทันที แล้วรีบไปพบแพทย์พร้อมกับนำยาขวดบรรจุยา หรือฉลากยาติดตัวไปให้แพทย์ดูด้วยโดยด่วน
 

รูปแบบ / ขนาด / ราคา 

รูปแบบ

ขนาดบรรจุ

ราคาโดยประมาณ

แคปซูล

250 ม.ก./แคปซูล

500 ม.ก./แคปซูล

2 บาท/แคปซูล

3-4 บาท/แคปซูล

ผงละลายน้ำ

125 ม.ก./ช้อนชา

250 ม.ก./ช้อนชา

15-20 บาท/ขวด

20-25 บาท/ขวด

⇒ อะมอกซีซิลลิน
ยาชนิดนี้มีฤทธิ์เหมือนกับแอมพิซิลลินทุกประการ คุณสมบัติที่แตกต่างจากแอมพิซิลลิน คือ

1. ดูดซึมทางกระเพาะอาหารได้ดีกว่า กล่าวคือ เมื่อกินยาลงไปถึงกระเพาะอาหาร 75% ของยาทั้งหมดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ถ้าเป็นแอมพิซิลลินจะถูกดูดซึมเพียง 40% อีก 60% ถูกขับถ่ายออกไปกับอุจจาระ นอกจากนี้เมื่อกินยาพร้อมกับอาหาร หรือในขณะที่ท้องไม่ว่าง ยาอะมอกซีซิลลินยังคงดูดซึมได้ดีเช่นเดิม แต่ยาแอมพิซิลลินจะถูกดูดซึมน้อยลงมาก ดังนั้นจึงกินอะมอกซีซิลลิน พร้อมอาหารได้

2. ปริมาณยาที่ถูกขับถ่ายออกมาในทางเดินปัสสาวะมีมากกว่าแอมพิซิลลิน

3. ไม่มีชนิดฉีด มีแต่ชนิดกิน

4. ราคาแพงกว่า

5. กินทุก 8 ชั่วโมง ก็พอ ในขณะที่ต้องกินแอมพิซิลลินทุก 6 ชั่วโมง

วัตถุประสงค์ในการรักษาโรค ผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้ คล้ายกับแอมพิซิลลิน
รูปแบบ ขนาดบรรจุ เช่นเดียวกับแอมพิซิลลินชนิดกิน

 

ข้อมูลสื่อ

90-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 90
ตุลาคม 2529
108 ปัญหายา