• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การวินิจฉัยในเฉียบพลัน

การวินิจฉัยในเฉียบพลัน

 

                  


 เทคนิคใหม่โดยอาศัยแสงเลเซอร์ ทำให้แพทย์สามารถทราบชนิดของเชื้อโรคและจำนวนของเชื้อได้ ภายในเวลาไม่กี่นาที

**********************************************************************************************

หัวใจสำคัญของการรักษาโรคติดเชื้อคือ การหาว่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุคือเชื้อชนิดใด เพื่อที่แพทย์จะได้ตัดสินใจเลือกยาที่เหมาะสมเพื่อทำลายเชื้อที่เป็นต้นเหตุ

การค้นหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุนี้มีหลายวิธีนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิธีที่เชื่อถือได้ดีที่สุด คือการเพาะเชื้อจากตัวอย่างเลือด เสมหะ ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง หนอง และ ฯลฯ วิธีนี้มีข้อด้อยก็คือ ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะค้นพบเชื้อ บางครั้งสภาพอาการของผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยให้รอได้นานขนาดนั้น เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเสียก่อนที่จะรู้ว่า เชื้อต้นเหตุคืออะไร หรือโรคบางอย่างอาจทำให้เกิดความพิการแก่ผู้ป่วยได้มาก ถ้าไม่รีบให้การรักษาในทันที

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีเทคนิคที่สามารถค้นพบเชื้อได้เร็วที่สุด ที่ผ่านมาแพทย์อาศัยการย้อมสีตัวอย่างเสมหะ หนอง น้ำไขสันหลัง ฯลฯ ที่ได้จากผู้ป่วย เพื่อดูเชื้อว่าติดสีอะไรรูปร่างเป็นอย่างไร ข้อมูลแค่นี้นับว่าค่อนข้างหยาบ เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดที่ติดสีย้อม และมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน จึงไม่อาจใช้วิธีนี้จำแนกชนิดของเชื้อได้โดยละเอียด
เมื่อไม่รู้แน่ว่าเป็นเชื้อชนิดใด แพทย์ก็จำเป็นที่จะต้องให้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโดยกว้างขวาง และแน่นอน มักต้องใช้ยามากกว่า 1 อย่าง การใช้ยามากชนิดเท่าไรโอกาสที่จะเกิดพิษภัยจากยายิ่งมากขึ้นเท่านั้น และความสิ้นเปลืองก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคล่าสุดขึ้น ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติชื่อ ลอส อะลามอส (Los Alamos) สหรัฐอเมริกา โดยแพทย์ 2 ท่าน คือ นพ.แกรี่ ซอสแมน และ นพ.ชาลส์ เกร็ก เทคนิคนี้อาศัยแสงเลเซอร์ที่ปล่อยผ่านตัวโพลาไลเซอร์และโมดุลเลเตอร์ เพื่อหักเหแสงออกแล้วผ่านไปในตัวอย่างสิ่งตรวจที่เอามาจากตัวผู้ป่วย
แสงที่ผ่านตัวอย่างสิ่งตรวจที่มีเชื้อโรคอยู่กระจายออกในแบบต่างๆกัน ตามแต่ชนิดของเชื้อโรค การกระจายของแสงจะถูกตรวจสอบด้วยเครื่องสเปคโตรมิเตอร์
ด้วยวิธีนี้ทำให้แพทย์สามารถทราบชนิดของเชื้อโรคและจำนวนของเชื้อได้ ภายในเวลาไม่กี่นาที เทคนิคใหม่นี้เรียกว่า “INSTADIAGNOSIS” อาจแปลว่า “การวินิจฉัยในฉับพลัน”


คุณค่าของเทคนิคนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันเหตุการณ์เท่านั้น มันยังช่วยให้ลดเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้สั้นลงอีกมาก ซึ่งหมายถึงการประหยัดทรัพยากร และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้เข้ารับการรักษาได้จำนวนมากขึ้นด้วย


นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
จากรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สรอ.ฉบับที่ 13 ประจำเดือนสิงหาคม 2529

 

ข้อมูลสื่อ

89-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529