• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาปฏิชีวนะ

คำถาม
ควรใช้ "ยาปฏิชีวนะ" อย่างไร จึงจะพอเพียง : ได้ผลดี ไม่สิ้นเปลือง ไม่แพ้ และไม่ดื้อยา

ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบ (ฆ่าเชื้อ) คือ ยาที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย

ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาแก้อักเสบ (ฆ่าเชื้อ) หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น จึงจะเห็นตัวของแบคทีเรียได้

เชื้อแบคทีเรียนั้นมีมากมายหลายชนิดทั้งชนิดที่ทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิต และชนิดที่ไม่ทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิต เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อ เช่น โรคเจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ท้องเสีย อหิวาต์ บิดชนิดไม่มีตัว แผลฝีหนอง โรคขัดเบาหรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน เป็นต้น

โรคติดเชื้อเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด
อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในคน ก็มีมากมายหลายชนิดเช่นกัน ไม่ใช่มีแค่เชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ยังมีเชื้อโรคชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อโพรโตซัว เชื้อพยาธิ เป็นต้น
ตัวอย่างโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส งูสวัด เริม เอดส์ เป็นต้น

ส่วนตัวอย่างโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโพรโตซัว เช่น โรคมาลาเรีย โรคตกขาวจากเชื้อทริโคโมแนส โรคบิดชนิดมีตัว เป็นต้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าโรคติดเชื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อโพรโตซัว เชื้อรา และเชื้อพยาธิ ซึ่งถ้าใช้ยาแก้อักเสบ (ฆ่าเชื้อ) หรือยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย กับโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะได้ผลตรงเป้าหมาย แต่ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย และได้ใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะไม่ส่งผลดีในด้านการรักษา เรียกว่า ไม่มีประโยชน์ หรือเสียเปล่า

การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคไข้หวัดเป็นการสูญเปล่า
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นไข้หวัด ซึ่งมักจะมีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว มีน้ำมูก คัดจมูก และอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยไข้หวัดได้รับยาปฏิชีวนะด้วยจุดมุ่งหมายต้องการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อรักษาอาการเจ็บคอหรืออักเสบคอ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างไร เพราะโรคไข้หวัดมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส และยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสด้วย จึงเปล่าประโยชน์ เป็นการสูญเสีย และสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

การใช้ยาโดยไม่จำเป็น อาจเสี่ยงต่อการแพ้ยาได้
นอกจากเป็นการสูญเปล่า ไม่มีประโยชน์แล้ว ผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะก็อาจมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียง จากการใช้ยาปฏิชีวนะได้ เพราะยามีคุณอนันต์และโทษมหันต์ และยาปฏิชีวนะถือเป็นกลุ่มยาที่มีผู้ป่วยแพ้ยามากที่สุด มากกว่ายาชนิดอื่นๆ ตัวอย่างยาที่มีการแพ้มากที่สุด ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน (penicillins) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้กันบ่อยที่สุด
ยากลุ่มเพนิซิลลิน เช่น แอมพิซิลลิน (ampicillin) อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) คล็อกซ่าซิลลิน (cloxacillin) เป็นต้น

การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น อาจเสี่ยงต่อการดื้อยาได้
ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น อาจเสี่ยงต่อการดื้อยาได้ ซึ่งมีรายงานการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด เมื่อเชื้อเกิดการดื้อยาแล้ว ยาปฏิชีวนะชนิดนั้นก็จะใช้ไม่ได้ผลต่อผู้ป่วยคนนั้น ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ ซึ่งมักจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีราคาค่าใช้จ่ายแพงยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจมีอาการอันไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงได้รุนแรงหรือเกิดได้บ่อยกว่ายาเดิมอีกด้วย

ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา เช่น เชื้อแบคทีเรีย ชื่อ อีโคไล (E. coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ซึ่งพบได้บ่อยในเพศหญิง โดยมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ อั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปวดปัสสาวะบ่อยๆ) เชื้ออีโคไล มีการดื้อยาแอมพิซิลลินถึงร้อยละ 83 หรือเชื้อแบคทีเรียชื่อสแตฟฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคแผล ฝีหนอง มีการดื้อยาเพนิซิลลินจี ร้อยละ 100 เป็นต้น

ในประเทศไทยมีการดื้อยาได้บ่อยและมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เพราะมีการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น หรือโดยไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย จนปัจจุบันยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยาที่มียอดการค่าใช้จ่ายมากที่สุด สูงกว่ายาอื่นๆ

สาเหตุที่แท้จริงของการดื้อยาเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทั้งในด้านผู้ป่วยผู้ใช้ยา แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสุขภาพที่สั่งจ่ายหรือแนะนำการใช้ยา และร้านขายยาที่จำหน่ายยาตามความต้องการของผู้ซื้อยา ซึ่งจะต้องช่วยกันทำความเข้าใจในเรื่องการใช้ยาพอเพียง หรือการใช้ยาเท่าที่จำเป็น หรือไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ยา เพื่อช่วยชะลอการดื้อยาให้ช้าลง จะได้เก็บยาที่ดีเหล่านี้ไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็นเท่านั้น

ในอนาคต...อาจไม่มียาปฏิชีวนะให้ใช้
ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มียาปฏิชีวนะให้ใช้ หรือขาดแคลนยาปฏิชีวนะ แต่ในอนาคตอาจไม่มียาที่ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา เพราะนับวันเชื้อแบคทีเรียจะดื้อยามากขึ้นๆ ในขณะที่มีการค้นคว้ายาปฏิชีวนะใหม่มีจำนวนน้อยมาก ไม่ทันต่อการดื้อยา ซึ่งมีการดื้อยาอย่างมากขึ้นๆ จนอาจดื้อยาปฏิชีวนะทั้งหมดที่มีในโลกนี้ก็ได้ ถ้าไม่มีการใช้ยาอย่างพอเพียง ตั้งแต่บัดนี้

การใช้ 'ยาปฏิชีวนะ'..อย่างพอเพียง : ได้ผลดี ไม่สูญเปล่า ไม่แพ้ ไม่ดื้อ
การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพอเพียง : ได้ผลดี ไม่สูญเปล่า ไม่แพ้ ไม่ดื้อ ด้วยหลักง่ายๆ ดังนี้
♦ ควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
♦ ควรเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะ ให้เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย
♦ หลีกเลี่ยงยาที่มีประวัติการแพ้ยา
♦ ควรกินตามคำแนะนำ และใช้ติดต่อกันครบจำนวนตามแพทย์สั่ง

ควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เมื่อมีการติดเชื้อชนิดอื่นๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เริม งูสวัด เป็นต้น เพราะ โรคติดเชื้อเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลดีแต่อย่างไร ซ้ำยังสิ้นเปลือง และอาจเสี่ยงต่อการแพ้ยา และการดื้อยาได้

ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะต่อการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ตัวอย่างเช่น อาการเจ็บคอที่มีอาการเจ็บอย่างมาก เจ็บทั้งวัน กลืนอาหารก็รู้สึกเจ็บ ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง (จากการดูคอของผู้ป่วย) หรือมีน้ำมูกเป็นสีเขียวข้น หรือมีเสมหะเป็นสีเขียวข้น ซึ่งล้วนแต่เป็นอาการที่แสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา

แต่ถ้าอาการเจ็บคอ มีเพียงเล็กน้อย เป็นร่วมกับไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยมีอาการเจ็บคอเหมือนคอแห้งๆ ตอนเช้าๆ เมื่อสายหน่อย อาการก็เริ่มดีขึ้น ไม่มีน้ำมูกสีเขียวข้น หรือไม่มีเสมหะสีเขียวข้น ไม่มีอาการทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ควรแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ พร้อมกับการพักผ่อนให้เต็มที่

ควรเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย
เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคติดเชื้อในคน มีเป็นจำนวนมาก และยาแต่ละชนิดก็ให้ผลต้านเชื้อได้ไม่เหมือนกัน จึงควรเลือกยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ที่ได้ผลดีต่อการติดเชื้อในลำคอคือ อะม็อกซีซิลลิน ที่ได้ผลดีต่ออาการเจ็บคอ (ไม่ควรใช้ถ้ามีการแพ้ยานี้) หรือยาปฏิชีวนะที่ได้ผลดีต่อการติดเชื้อแผลฝีหนองที่ผิวหนังคือ คล็อกซ่าซิลลิน ซึ่งได้ผลดี ถ้าไม่มีการแพ้ยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม กับโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อช่วยเลือกยาปฏิชีวนะให้ถูกชนิด ถูกวิธีใช้ และถูกขนาด ได้ผลดีต่อการใช้ยาได้ประโยชน์สูงสุด

หลีกเลี่ยงยาที่มีประวัติการแพ้ยา
ผู้ที่เคยแพ้ยาชนิดใดก็ตาม ควรรู้จักและบันทึกหรือจดจำชื่อยาชนิดนั้นไว้ เมื่อใดที่ต้องใช้ยา จะต้องแจ้งต่อผู้สั่งจ่ายยาทุกครั้ง ตนเองเคยแพ้ยาใด เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ เพราะยิ่งแพ้ยาบ่อยมากขึ้นเท่าใด อาการแพ้ยาก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

กินยาตามคำแนะนำ และใช้ติดต่อกันครบจำนวนตามแพทย์สั่ง
ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย จะต้องใช้ยาติดต่อกันจนครบจำนวนตามคำแนะนำ เพราะยาชนิดนี้จะไม่รักษาช่วยให้อาการดีขึ้นทันที เหมือนยาลดไข้แก้ปวด แต่จะออกฤทธิ์ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียให้น้อยลงๆ เรื่อยๆ ดังนั้นตอนเริ่มต้นใช้ยาในวันแรกๆ อาการอาจยังไม่ดีขึ้นจนเด่นชัด ต้องใช้ยาไปสักระยะหนึ่ง เช่น 3-5 วัน อาการจึงจะเริ่มดีขึ้น และอาการอาจจะหายไป

แต่การที่ไม่มีอาการแล้วนั้นจะแสดงว่าไม่มีเชื้อแล้ว ในขณะนั้นเชื้อยังไม่หมด (ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม) จึงจำเป็นต้องใช้ยาต่อจนครบจำนวนตามแพทย์สั่ง ซึ่งจะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำ (เพราะอาจมีเชื้อหลงเหลืออยู่) และลดการดื้อยาอีกทางหนึ่งด้วย

สุดท้ายนี้ ยามีคุณอนันต์และโทษมหันต์ จึงควรใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ถ้าติดเชื้อชนิดอื่นๆ ก็ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ควรเลือกยาที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบของยา ขนาด วิธีใช้ และจำนวน และที่สำคัญต้องไม่แพ้ยาชนิดนั้น เมื่อเริ่มใช้ยาควรใช้จนครบจำนวน ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการใช้ยาให้ได้ผลดี ปลอดภัย ไม่สิ้นเปลือง ไม่แพ้ยา และไม่ดื้อยา
 

ข้อมูลสื่อ

349-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด