• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้นจันทน์หอม

การจัดสร้างพระโกศของสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น ดำเนินการ โดยการใช้ไม้มงคลชั้นสูงซึ่งใช้ในงานพระราชพิธีที่มีมาแต่ครั้งโบราณยุคพุทธกาล ซึ่งในแต่กาลครั้งนั้นจะใช้จตุชาติสุคนธ์ คือของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่างจาก กฤษณา กระลำพัก จันทน์หอมและดอกไม้ หอมประพรมในพระราชพิธีต่างๆ

                                                 

ต้นจันทน์หอม
ยังมีชื่อเรียกกันตามถิ่นที่อยู่ที่เรียก ว่าชื่อท้องถิ่น เช่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์-พม่า แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่รู้กันหมู่นักพฤกษศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae

ตามความรู้ทางพฤกษศาสตร์ที่บันทึกกันไว้นั้นพบว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200 - 400 เมตร ลักษณะรูปร่างจะเติบโตเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ สูงได้ประมาณ 10 จนถึงประมาณ 20 เมตร ลักษณะของเปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว ในส่วนเรือนยอดเป็นลักษณะเป็นพุ่มและค่อนข้างโปร่ง

ลักษณะของลำต้นและเปลือกจันทน์หอม
ใบของต้นจันทน์หอม เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี แกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบเว้า เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นห่างๆ สำหรับในส่วนดอกจะเป็นดอกเล็กๆ มีสีขาวออกรวมกันเป็นช่อ สั้นๆ ตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ของทุกปี

สำหรับผลนั้น เป็นผลรูปกระสวย กว้าง 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีปีกรูปทรงสามเหลี่ยม หนึ่งปีกกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร

ผล
จะแก่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม การขยายพันธุ์ในธรรมชาติโดยเมล็ด ที่ไปกับลักษณะผลที่ปลิวได้ง่ายเพราะมีปีกดังกล่าว

สภาพที่เหมาะสมในการปลูกต้นจันทน์หอมคือปลูกได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด แสงแดดจัด แต่โดยธรรมชาติชอบขึ้นตามดินแถบเขาหินปูน ขึ้นในป่าดิบแล้ง ชอบขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200 - 400 เมตร ซึ่งบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งของต้นจันทน์หอม ตามธรรมชาติที่เหมาะกับการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของต้นจันทน์หอม จึงทำให้พบต้นจันทน์หอมขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นจำนวนมาก

เนื้อไม้จันทน์หอมโดยปกติมีกระพี้สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมัน

ต้นจันทน์หอมที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า ตายพราย กลิ่นหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอมและเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ซึ่งในเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมกว่าต้นที่ตัดไปใช้โดยที่ไม่ได้ยืนต้นตายในลักษณะนี้

บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี พบลักษณะต้นตายพราย เนื้อไม้แข็งแรง คุณภาพดี และเปลาตรงมีขนาดเหมาะสมตามที่กรมศิลปากรต้องการเพื่อนำมาจัดสร้างพระโกศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้คัดเลือกเพื่อการในพระราชพิธีนี้ 3 ต้น ได้แก่ ต้นแรก มีเส้นรอบวง 170 เซนติเมตร สูง 6 เมตร มีแก่นสีดำและมีกลิ่นหอม ต้นที่สอง มีเส้นรอบวง 100 เซนติเมตร สูง 5 เมตร มีแก่นสีดำและมีกลิ่นหอมมาก และต้นที่สาม มีเส้นรอบวง 117 เซนติเมตร สูง 6 เมตร มีแก่นสีเหลืองและมีกลิ่นหอม

การตัดต้นจันทน์ที่ตายพรายนี้ ตามพิธีโบราณที่ถูกต้องเชื่อว่าจะต้องขอจากป่าและรุกขเทวดาที่รักษาต้นไม้ก่อน โดยต้องเชิญพราหมณ์มาทำพิธีอ่านโองการเพื่อขอไปทำพิธีต่างๆ และตัดไปใช้ตามฤกษ์ยามและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ขอไป

นอกจากเนื้อไม้จะนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุปโภคต่างๆ แล้วยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

เป็นโชคดีของคนไทยที่ยังมีผืนป่าให้ต้นไม้ดีๆ และมีคุณค่าอาศัย อันเป็นผลพวงมาจากจิตสำนึกในการอนุรักษ์แหล่งป่าธรรมชาติดั้งเดิมบรรพบุรุษไทยของเรา สะท้อนภาพให้เห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่ของเราควร มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อให้มีแหล่งทรัพยากรให้ลูกหลานไทยในอนาคตได้ใช้กันต่อไป จะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่มีผืนป่าไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

ข้อมูลสื่อ

349-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
ต้นไม้ใบหญ้า
ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์